คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

สิ่งที่คนเก่งชั้นแนวหน้าทุกคนมีเหมือนกัน

สิ่งที่คนเก่งชั้นแนวหน้าทุกคนมีเหมือนกัน

คำสอนที่มีชื่อเสียงของ "เหลาจื่อ" บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "ความดีอันสูงสุดเปรียบเสมือนกับน้ำ" ความดีอันสูงสุด หมายถึง การดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นก็เปรียบเหมือนกับน้ำ
โดยทั่วไปแล้วคนเรามักต้องการให้ผู้อื่นชื่นชมและยกย่องตนเอง ทุกครั้งที่เราพบปะผู้คนจึงพยายามแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น
ทว่าตรงกันข้ามกับน้ำที่มักพาตัวเองไหลลงสู่ที่ต่ำ จึงไม่มีการแข่งขันกับใคร จุดเด่นของน้ำคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความพยายามที่จะพาตัวเองลงสู่ที่ต่ำ และมีความยืดหยุ่นพร้อมเปลี่ยนแปลงตนเองได้ทุกรูปร่าง และนั่นคือ วิถีการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งเหลาจื่อสอนไว้

ตามปกติ เมื่อคนเราประสบความสำเร็จจากการทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือมีผลงานในระดับหนึ่งแล้ว ก็มักหยิ่งทะนงตนว่า "เราเก่งถึงได้ประสบความสำเร็จ" และอยากโอ้อวดความสามารถ ตำแหน่ง และผลงานเหล่านั้น
ทว่าเมื่อเราตกอยู่ในสถานภาพที่ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้เราไม่ย้อนกลับมามองวิธีการดำเนินชีวิตของตนเอง จนไม่อาจเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งได้
ในทางกลับกัน คนที่ก้าวไปถึงระดับชั้นแนวหน้าแล้วจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน จึงย้อนกลับมามองตนเองอยู่เสมอ และสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
 แล้วความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ว่านี้เกิดขึ้นมาจากไหนกัน ผมคิดว่า ต้นกำเนิดของความอ่อนน้อมถ่อมตนมาจาก 2 สิ่งสำคัญ ต่อไปนี้ สิ่งแรกคือ "จิตวิญญาณแห่งการขอบคุณ" ซึ่งเกิดจาก "ความรู้สึกขอบคุณจากใจจริงที่เกิดขึ้นพร้อมกับความสงบเสงี่ยมเจียมตัว" คือการไม่คิดว่า "เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยกำลังของตนเอง" แต่คิดว่า "เรามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะน้ำ อากาศ และดวงอาทิตย์ เพราะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ และเพราะผู้คนมากมายที่มีโอกาสได้มาพบกัน"
ความรู้สึกขอบคุณนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่ว่า "เพราะเกิดเรื่องดี ๆ แล้วถึงรู้สึกขอบคุณ" แต่เป็นความรู้สึกที่ว่า "การดำรงชีวิตอยู่ได้ในขณะนี้ก็นับเป็นเรื่องที่น่าขอบคุณแล้ว" ซึ่งเป็นความรู้สึกขอบคุณที่ไร้เงื่อนไข เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกขอบคุณอันหาที่สุดมิได้ผู้ที่มีจิตวิญญาณเช่นนี้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ก็จะไม่คิดว่าเป็นฝีมือของตนเองอยู่เพียงคนเดียว แต่จะรู้สึกขอบคุณเพราะคิดว่าสิ่งนั้นคือ หน้าที่หรือภารกิจของตนเอง และมีจิตสำนึกว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะปัจจัยหลาย ๆ สิ่ง การได้ทำหน้าที่ของตัวเองเช่นนี้ช่างมีความสุขจริง ๆ เราอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่เพื่อตอบแทนบุญคุณของสังคม"เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่คิดว่าคนอื่นเป็นคู่แข่ง หรือแม้จะได้เป็นที่หนึ่งแล้วก็จะรู้สึกพอและหยุดได้เพียงเท่านั้น อาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่มีจิตสำนึกเช่นนี้ที่จะสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
(มันเป็นการขอบคุณด้วยหัวใจของตัวเราเอง ไม่ใช่ ขอบคุณเพราะเป็นเพียงกุศโลบาย เพื่อหวังประโยชน์ในภายภาคหน้าเท่านั้น : ผู้เขียนบันทึก)
 ต้นกำเนิดแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่สอง คือ "ความมั่นใจอย่างแท้จริง"
เมื่อเราขาดความมั่นใจในตัวเอง เราก็จะพยายามแต่งเติมตัวเองด้วยความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่นั้นใช้ไม่ได้ จึงต้องการรวบรวมหลักฐาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
และคิดว่าหลักฐานเหล่านั้น (ยศถาบรรดาศักดิ์ ผลงาน และความสามารถ) เป็นส่วนหนึ่งของตัวเองโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ คิดว่าเอกลักษณ์ (ลักษณะที่แสดงความเป็นตนเอง) ของตน อยู่ที่ความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน
ดังนั้นจึงพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะให้ได้มาซึ่งความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงานเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเอง และเมื่อได้สิ่งเหล่านั้นมาอยู่ในมือ ก็จะจมอยู่กับภาพลวงตาที่ว่า "เราเป็นคนเก่งแล้ว" ในกรณีนี้เขาจะคิดว่า "เรามีคุณค่าเพราะมีความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน" ทำให้เขาดูถูกคนที่ยังไม่สิ่งเหล่านั้น และห่างไกลจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจนกลายเป็นคนอวดดีไปในที่สุด
ในทางกลับกัน คนที่มีความมั่นใจอย่างแท้จริงจะรู้สึกว่า "ไม่ต้องพึ่งพาความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือผลงาน เพราะคิดว่าตัวเราก็เป็นสิ่งที่วิเศษ" จึงไม่มองว่าตัวเองและความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือผลงานเป็นสิ่งเดียวกัน แม้จะประสบความสำเร็จ มีความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงานอยู่ในมือแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่หลงงมงายว่า "เราเป็นคนเก่งแล้ว" ตรงกันข้ามกลับรู้สึกขอบคุณว่า "น่าขอบคุณจริงที่เราได้รับสิ่งต่าง ๆ มากมาย"
ความมั่นใจอย่างแท้จริงนี่เองที่ทำให้เขามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกต่ำต้อย แต่เปล่งประกายอยู่ภายใต้ความสงบเสงี่ยมเจียมตัวที่คนรอบข้างสามารถรับรู้ได้
(เมื่อความสำเร็จมากองอยู่ตรงหน้าหลายครั้ง คนเรามักจะหลง เสพ และ ติดได้อย่างง่ายดาย และมักจะติดสินใจเหยียบหัวใครก็ได้ที่มาคิดไม่ตรง คิดขัดแย้งกับตนเอง : ผู้เขียนบันทึก)

 ไนติงเกล กล่าวไว้ในผลงานของเธอว่า "เวลาที่คนเราได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่นคือ เวลาที่อันตรายที่สุด" และในคัมภีร์ไช่เกินถาน ก็มีคำกล่าวที่มีความหมายคล้ายคลึงกันว่า "ยิ่งชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีเท่าใด ก็ยิ่งต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวมากขึ้นเท่านั้น"
เวลาที่ชีวิตเราดำเนินไปได้ด้วยดีและได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากคนรอบข้าง เรามักจะลืมความอ่อนน้อมถ่อมตนไป ดังนั้น เราจึงควรตระหนักในข้อนี้ไว้อยู่เสมอ
(การยกย่อง สรรเสริญ เป็นสิ่งดี แต่หากเราให้มากเกินไป ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอ เพราะจะทำให้คนเรายกย่อง สรรเสริญนั้น หลงตัวเอง อวดดี ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้ตั้งใจ คิดแต่ว่าเพื่อให้กำลังใจเขา เพื่อให้เขาสบายใจในสิ่งที่เขาคิด ไม่ต่างอะไรไปจากการเลี้ยงลูกแล้วตามใจ ตามใจจนเสียความเป็นคนดีไป สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้เขาเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนเดิมที่เราเคยรู้จัก)

ทางตรงกันข้าม เมื่อเราพบกับความยากลำบากหรือภาวะวิกฤตในชีวิต อาจพูดได้ว่า นั่นเป็นโอกาสอันดีที่เราจะทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นโอกาสทำให้เราได้รู้ซึ้งว่าการมีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างปกตินั้นเป็นเรื่องน่าขอบคุณแค่ไหน และยังเป็นโอกาสให้เราได้ย้อนกลับไปมองวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง และเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งด้วย

ในชีวิตจริง หากเรามี "ความอ่อนน้อมถ่อมตน" ทั้งในเวลาที่ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีหรือแม้ในภาวะวิกฤตได้ เราก็อาจเป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่า เป็นคนเก่งชั้นแนวหน้าเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/453301

มีชีวิตอยู่ด้วยความซื่อสัตย์และทำด้วยความตั้งใจจริง

คุณโยชิโนริ โนงุจิ ได้เล่าให้ฟังในตอนต้น ๆ ของหนังสือว่า ...

คุณทสึรึทาโร คาทาโอกะ เป็นนักแสดงและยังเป็นจิตรกรชื่อดัง เมื่อครั้งที่ผมมีโอกาสได้กินข้าวกับเขา จึงได้ทราบว่าคุณทสึรึทาโรเพิ่งเริ่มชื่นชอบการวาดภาพเมื่ออายุย่าง 40 ปีแล้วก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยสัมผัสกับการวาดภาพเลย และไม่เคยแม้แต่จะไปหอศิลป์ จนกระทั่งช่วงแรกที่เขาเริ่มรู้จักการวาดภาพ และได้พบกับอาจารย์ยูทากะ มูราคามิ จิตรกรชื่อดัง อาจารย์ยูทากะบอกกับเขาว่า
"เราไม่ต้องวาดภาพให้งดงาม วาดแบบไม่ช่ำชองก็ได้ แต่ขอให้วาดภาพตามความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา"
 คุณทสึรึทาโรเล่าว่า ในเวลานั้นคำพูดนี้เป็นกำลังใจสำคัญให้เขาซึ่งกำลังไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองเป็นอย่างมาก
เมื่อเราทำสิ่งใด เรามักจะพยายามทำให้ดีที่สุด ทำอย่างฉลาดและสง่างาม แต่เราก็ยังย่ำเท้าอยู่กับที่ จนกระทั่งเมื่อเราคิดว่า "ไม่ต้องทำให้ดีก็ได้ แค่ทำตามสิ่งที่เรารู้สึกเท่านั้นก็พอ" กลับจะทำให้เรามีกำลังใจขึ้นไป
 ผมขอเล่าเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วคุณทสึรึทาโรเป็นคนถนัดขวา ใช้มือขวาจับตะเกียบและปากกา แต่ขณะที่วาดภาพเท่านั้นที่จะใช้มือซ้ายจับพู่กัน เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าใช้มือขวา เขาจะพยายามวาดให้สวยจนทำให้มือที่จับพู่กันนั้นคล่องแคล่วเกินความจำเป็น
ทว่าการใช้มือซ้ายกลับทำให้เขาค่อย ๆ วาดภาพที่เห็นด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ และเพราะคุณทสึรึทาโรตั้งใจวาดภาพด้วยความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเองนี่เอง จึงทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงความอบอุ่นและพลังที่มีอยู่ในภาพและผลงานของเขา
(รู้สึกเหมือนการเขียนบันทึกสักบันทึกหนึ่งไหมครับ อย่างที่ผมเคยเขียนเป็นบทกวีไว้ว่า การเขียนไม่จำเป็นต้องมีไวยากรณ์ก็เขียนได้)
 สังคมในทุกวันนี้ ผู้คนมักให้ความสำคัญกับผลที่เกิดขึ้นซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ "ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพและชาญฉลาด"  แน่นอนว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งการเรียนรู้กลยุทธ์ วิธีการ และทักษะก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่า
อย่างไรก็ตาม เราควรคำนึงว่า การให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและประสิทธิภาพมากจนเกินไปจะทำให้เรามองข้าม "ความเป็นตัวเอง" ตัวอย่างเช่น หากเรามุ่งเน้นไปที่การใช้กลยุทธ์ วิธีการ และทักษะเพียงอย่างเดียว ย่อมลืมนึกถึงความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเอง พูดได้ว่าเรากำลังพลาดโอกาสสำคัญที่จะเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่ง
(นับวันที่เราเติบโตขึ้น เราก็มักจะคิดแต่ผลที่เกิดขึ้นมากกว่าประสบการณ์ระหว่างทาง)
 ในหนังสือ "วัฏจักรของจิตใจ" เขียนโดย ชินอิจิ นาคาซาวะ สำนักพิมพ์โคดังฉะ ชินโช กล่าวไว้ว่า
"คนฉลาดมักแสวงหาความสบาย ทำให้จมอยู่กับความเกียจคร้านในที่สุด การเป็นคนฉลาด หมายความว่า การทำตัวให้เหนือกว่าคนรอบข้างเล็กน้อย อาจยืนล้ำหน้ากว่าผู้อื่นสัก 2 - 3 ก้าว แล้วใช้ความฉลาดเป็นต้นทุนในการสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้ตนเอง"
 "การเป็นคนฉลาด" ที่คุณชินอิจิ กล่าวถึง อาจตีความได้ว่า "การมีชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาความรู้และภูมิปัญญา"
การที่คนเราพึ่งพาความรู้และภูมิปัญญาจะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวและคิดแต่เพียงว่า "ทำอย่างไรจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างเฉลียวฉลาดและสบาย" แล้วในที่สุดชีวิตก็จะดำเนินไปเพื่อค้นหาแต่ความสบาย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วชีวิตของเราก็จะยิ่งห่างไกลจาก "การเติบโตในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่ง" และ "ความมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยว"
(ผมอยู่ในสังคมมหาวิทยาลัย ซึ่งมีแต่ Professional ทั้งนั้นเลย ดังนั้นหลายคนที่ผมเห็น เขาเป็นแบบนี้เลย)
 ในวรรณคดีจีนเล่มหนึ่ง ชื่อ หานเฟยจื่อ มีคำกล่าวว่า "เล่ห์กลไม่เสมอเหมือนความสัตย์" ซึ่งหมายถึง "หากมองในช่วงเวลาอันสั้น เล่ห์กล (วิธีการที่ใช้ความสามารถพิเศษและแผนการต่าง ๆ) อาจเป็นวิธีที่ให้ผลรวดเร็ว แต่ถ้าหากมองในระยะยาว ความสัตย์ (วิธีการที่ใช้ความซื่อสัตย์ ความตรงไปตรงมา แม้จะดูไม่เชี่ยวชาญ) ต่างหากที่จะมีชัยในที่สุด"
 นอกจากนี้ ในคัมภีร์ไช่เกินถาน ยังมีคำกล่าวว่า "เขียนด้วยความไม่ชำนาญ ฝึกฝนด้วยความไม่ชำนาญ คำว่าความไม่ชำนาญหนึ่งคำนี้มีความหมายมากมายนับไม่ถ้วน" ซึ่งหมายความว่า "วิธีการเขียนหนังสือนั้น ใช่ว่าต้องพยายามเขียนให้ดีด้วยเทคนิค แค่เขียนอย่างคนไม่ชำนาญ (อย่างไม่เชี่ยวชาญและไม่เติมแต่ง) ก็เพียงพอแล้ว เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม คนที่ไม่ชำนาญมักจะฝึกฝนได้ผลดีมากกว่า ดังนั้น คำว่า "ไม่ชำนาญ" หนึ่งคำนี้จึงมีความหมายอันลึกซึ้งมากมายนับไม่ถ้วน"
(กระบวนการคิดของคัมภีร์ไช่เกินถานประเด็นนี้ อาจจะเปลี่ยนมุมมองของใครหลายคนได้)
 ไคชู คัตสึ วีรบุรุษของญี่ปุ่นกล่าวไว้ว่า
"คนที่จะทำการใหญ่ได้สำเร็จต้องเป็นคนซื่อตรง หากใช้ความรู้ความสามารถอย่างเดียวย่อมไม่ประสบความสำเร็จ"
 และซงโทคุ นิโนะมิยะ ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า
"ไม่ควรเคารพคนที่ความรู้และวาจา หากแต่ความซื่อสัตย์สุจริตต่างหากที่เราควรเคารพยกย่อง"
(คนมีความรู้และพูดดี แต่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ควรนับถือใด ๆ เลย คุณเคยเจอคนแบบนี้หรือยังครับ ผมเจอแล้วนะ)
 เรียวคัง พระสงฆ์ลัทธิเซนได้ตั้งชื่อตัวเองว่า "เรียวคัง ผู้โง่เขลา" หรือเรียกตัวเองว่าเป็น "คนโง่เง่าเต่าตุ่น" ท่านได้ปล่อยวางจากการยึดติดในการมีชีวิตอยู่บนความเห็นแก่ตัว ความโลภ แต่ตั้งมั่นอยู่บนความซื่อตรงตลอดชีวิตของท่านเอง

หากเราปฏิบัติตามวิธีการดำเนินชีวิตตามที่วรรณคดีและวีรบุรุษในอดีตสอนไว้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับผลลัพธ์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาจมองเห็นความวิเศษของคำสอนเหล่านั้นได้ยากในระยะเวลาอันสั้น
ทว่าหากมองในระยะยาวแล้ว คำสอนเหล่านั้นเปรียบเสมือนป้ายบอกทางที่ช่วยชี้แนะให้เรามีชีวิตที่มีคุณค่าได้อย่างแท้จริง
ถึงเวลานี้ คุณคงพร้อมที่จะตั้งใจและทุ่มเททำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจอย่างที่สุดกันนะครับ
ขอบคุณบทความจาก http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/453301