คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

คมวาทะเจ้าสัว ..

ผมบอกพนักงานอยู่เสมอ
คือในโลกนี้ ไม่มีคนไหนเก่งไปตลอดกาล
วันนี้คุณอาจเก่ง แต่พรุ่งนี้ อาจมีคนเก่งกว่าคุณ
เพราะฉะนั้น คนใดก็ตามที่ภูมิใจว่า ตนเองเก่ง
จงจำเอาไว้ได้เลยว่า ความหายนะใกล้มาถึงตัวคุณแล้ว
ความโง่คืบคลานมาใกล้ตัวคุณแล้ว

----------------------------------------- ธนินท์ เจียรวนนท์

ผมพร้อมจะเป็นน้ำนิ่ง อาจมีเขื่อนมาขวางหน้า
แต่ถ้าวันใด ที่เขื่อนนั้นเปราะบาง และโอกาสแห่งการสำแดงพลังมาถึง
ผมก็พร้อมจะกลายเป็นกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก
โหมกระหน่ำใส่ทุกสิ่งที่ขวางกั้น
แม้กระทั่งเขื่อนที่ครั้งหนึ่งผมเคยสยบยอมก็ตาม

------------------------------------------- เจริญ สิริวัฒนภักดี

ผมจะก้าวหน้าไปสักก้าว ก็ต้องเจออะไรมากระทบ
แต่เราก็พยายามที่จะก้าวใหม่ อีกย่างหนึ่ง
แบงค์กรุงเทพฯเคยถูกกระทบตลอดเวลา และไม่เคยท้อถอย

-------------------------------------------- ชาตรี โสภณพนิช

เจี้ย ยู่ เล้ง โจ้ว ซื่อ ยู่ โฮ้
แปลเป็นไทยได้ความว่า
กินข้าวต้องเร็วเหมือนมังกร
ทำงานต้องทำให้เหมือนเสือ
และก็ไม่แต่ผมคนเดียวเท่านั้น ลูกๆ ทุกคนก็ปฏิบัติอย่างนี้

-------------------------------------------- บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา

ถ้าคุณอดทน เพื่อจะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ
คุณจำเป็นอย่างมากที่จะต้องลงมือศึกษาเรื่องนั้นๆ อย่างเป็นจริงเป็นจัง
แต่ถ้าคุณไม่อดทน โอกาสที่คุณจะผิดพลาดก็ย่อมมีสูงเช่นกัน

------------------------------------------ อนันต์ กาญจนพาสน์

จงเดินไปหาภูเขา อย่าให้ภูเขาเดินมาหาเรา
เพราะผมคิดว่า ปกติผู้บริหารทั่วไป มักจะเรียกพนักงานมาประชุมกับเรา
มันเหมือนเราย้ายพนักงานทั้งกองทัพมาหาเรา
แต่สำหรับผมผมจะเดินไปหาเขา
ผมบอกลูกน้องของผมว่า
เราต้องเดินไปหาลูกค้า อย่าให้ลูกค้ามาหาเรา
------------------------------------------- พรเทพ พรประภา

ในเรื่องของการพิจารณา ความดีความชอบ
ผมจะฟังเสียงตอบรับจากลูกค้าเป็นหลักว่า
ลูกน้องแต่ละคนทำงานลงไปแล้ว
ลูกค้าพอใจแค่ไหนอย่างไร ผมจะไม่เชื่อหัวหน้าอย่างเดียว
เพราะถ้าเกิดหัวหน้าบางคนไม่ชอบลูกน้อง
อาจเกิดกรณีหัวหน้าแกล้งลูกน้องได้

------------------------------------------------ ประกิต อภิสารธนรักษ์

ผมมีหลักของอาจารย์ที่สอนผมอย่างหนึ่งว่า
มนุษย์เกิดมาไม่มีใครเก่งที่สุด ดีที่สุด
หรือแม้แต่เลวที่สุด
เพราะคนที่ดีสุดและเลวที่สุด
ได้ตายจากโลกนี้นานแล้ว
คนที่เหลืออยู่จึงเป็นเพียง ชีวิตที่มีขึ้นมีลงอย่างเดียว

----------------------------------------------- ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ

ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม
คุณต้องศึกษาให้รู้แจ้งเสียก่อน ก่อนที่จะลงมือทำ
และเมื่อลงมือทำแล้ว ก็ต้องทำให้จริงๆ จังๆ
ให้มันรู้ไปเลยว่า เราทำไม่ไหวแล้ว

----------------------------------------------- ชวน ตั้งมติธรรม

มีหลักในการบริหารงาน ไม่กี่ประการ
1. ต้องลับคมอยู่เสมอ
2. ไม่กลัวงาน เมื่อคิดจะทำอะไรต้องทำทันที และ
3. ต้องรักษาคำพูด

-----------------------------------------------คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

เวลามีปัญหาในองค์กร ปัญหาชีวิตและสุขภาพ
จะมีทางแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายหลายรูปแบบ
แต่ที่สำคัญต้องมีสติ และมีความรักเป็นพื้นฐานสำคัญ
จากนั้นจึงค่อยใช้ปัญญา เพราะปัญญาช่วยให้มองเห็นหนทาง
ของการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนที่สุด

----------------------------------------------- ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

1. จงเผชิญกับความจริงอย่างที่เป็นอยู่ มิใช่อย่างที่คุณอยากเป็น
2. จริงใจกับทุกคน
3. อย่าเป็นแค่นักบริหารแต่จงออกไปนำทัพ
4. จงเปลี่ยนแปลงก่อนที่เหตุการณ์จะบังคับให้ต้องเปลี่ยน
5. ถ้าท่านไม่มีจุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบจงอย่าแข่งกับเขา
6. จงคุมชะตาด้วยตนเองมิฉะนั้น ผู้อื่นจะมาคุมแทน

----------------------------------------------ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์

ในการทำงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง หรือนายจ้าง
ควรจะรับฟังความคิดของผู้ร่วมงานเสมอ
การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
คือเป็นการเพิ่มประสบการณ์อื่นเป็นความรู้
นอกเหนือจากที่ได้รับมาจากการเอาเปรียบผู้อื่น
ไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง

-------------------------------------------- โพธิ์พงษ์ ล่ำซำ

ที่ชอบเป็นพิเศษ คือคำพูดของซุนวู่
ที่บอกว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
ผมฟังปุ๊บ รู้สึกประทับใจทันที
และเข้าใจว่า คนเราถ้าอยู่ใกล้ใคร มักอยากเป็นแบบนั้น
ตอนนั้นจำได้ว่าผมอยากเป็นนักเขียนมาก แต่ที่ได้รับคำแนะนำ
ว่าถ้าคุณอยากเขียนหนังสือจงเริ่มต้นจากสิ่งที่คุณรู้ก่อนเป็นอันดับแรก

------------------------------------------ อมรเทพ ดีโรจนวงศ์

บทความจาก tamdee.net

ความสุข...

..น้ำในตากับฝนโปรยปราย
ดอกไม้กำลังบานใต้แสงตะวัน
แม่น้ำลำคลองเอ่อล้นจนเต็มริมฝั่ง

เสียงดนตรีหรือสายลมโชย
ใบไม้ร่วงโรยกับเมฆสีดำ
ชีวิตนั้นจะชอกช้ำหรือสวยงามแค่ไหน
แต่สุดท้ายแล้วมันก็ผ่านไป
เกิดขึ้นมาก็มีวันจบไป

โลกยังคงหมุนเวียนและเปลี่ยนไป
สุดแต่ใครที่จะเข้าใจในเรื่องนี้

โมโหโกรธากับฟ้าคะนอง
ชื่อเสียงเงินทองลาภยศรางวัล
ชีวิตนั้นจะโศกสันต์หรือรื่นเริงแค่ไหน

แต่สุดท้ายแล้วมันก็ผ่านไป
เกิดขึ้นมาก็มีวันจบไป
โลกยังคงหมุนเวียนและเปลี่ยนไป
สุดแต่ใครที่จะเข้าใจในเรื่องนี้

จึงอยากบอกเธอนะคนดี
ใช้ชีวิตให้มีความสุข
ด้วยวันและเวลาที่เธอมี

เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ผ่านไป
เกิดขึ้นมาก็มีวันจบไป
โลกยังคงหมุนเวียนและเปลี่ยนไป
สุดแต่ใครที่จะเข้าใจในเรื่องนี้..

โดย - นภ พรชำนิ (Ost. ความสุขของกะทิ) by บอย โกสิยพงษ์

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

หลักการแบ่งเวลาของขงเบ้ง

เมื่อขงเบ้งสอนเล่าปี่เกี่ยวกับเทคนิคการบริหารเวลา
 
ทุกวันทุกคนบนโลกใบนี้มีเวลาเท่าเทียมกันคือ 24 ชม. อย่างไรก็ดี มองจากแง่มุมของเศรษฐศาสตร์ เวลาของทุกคนมีคุณค่าไม่เท่ากัน การบริหารเวลาของแต่ละคนจึงหมายถึงความแตกต่างระหว่างความสำเร็จกับความพ่ายแพ้
ค่า ของเวลาเกี่ยวข้องกับสมรรถภาพ ซึ่งในแง่ธุรกิจคือต้นทุน ฉะนั้นสถาบันศึกษาทุกแห่งที่สอนวิชาการบริหารธุรกิจจึงมีหลักสูตรเกี่ยวกับ การบริหารเวลา
ครั้งหนึ่ง เล่าปี่ ขอขงเบ้งให้แนะนำวิธีสร้างตนเป็นอภิมหาเศรษฐีแห่งดินแดน ขงเบ้ง ว่างานใหญ่เช่นนี้ต้องวางแผนและรู้จักบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
เล่าปี่ กล่าวว่า "ข้าฯ เห็นด้วยในหลักการแต่ทว่าข้าฯมีงานมากมายที่ต้องทำทุกวันจนเวียนเกล้าเวียน ศีรษะ ไม่เคยมีเวลาพอที่จะจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างได้เลย"
ขงเบ้ง บอกให้ลูกน้องไปเตรียมก้อนหิน ก้อนกรวด ก้อนทราย และน้ำจำนวนหนึ่ง พร้อมถังเหล็กใหญ่หนึ่งใบ
เล่าปี่ถามด้วยความแปลกใจ "ท่านเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่ออะไร?"
ขงเบ้งยิ้มอย่างมีเลศนัย พร้อมกับตอบด้วยคำถามว่า "ท่านบริหารเวลาด้วยวิธีใด?"
เล่าปี่ตอบว่า "ข้าฯเคยคิดว่า ข้าฯมีเทคนิคที่ดีอยู่แล้ว คือใช้วิธีมอบหมาย ข้าฯมีผู้ช่วยอยู่รอบด้านตั้งแต่กวนอู เตียวหุย เจ้าหยุน ฯลฯ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ด้านต่างๆ แต่งานทั้งหลายก็ยังพันกันอีรุงตุงนัง ไม่สามารถปรับให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นได้ เดิมข้าฯคิดว่าคือแมลงวันไม่มีหัวอยู่ตัวเดียว แต่หลังการใช้ระบบมอบหมายงาน กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันบริษัทมีแมลงวันหัวขาดเป็นฝูง!!
ขงเบ้งฟังแล้วจึงเริ่มอธิบายว่า "เทคนิคการบริหารเวลาสามารถแบ่งเป็น สูง กลาง และต่ำ สามขั้น
ขั้นต่ำเน้นการใช้เศษกระดาษบันทึก

ขั้นกลาง เน้นการใช้แผนดำเนินงาน และตารางโปรแกรมประจำวันซึ่งสะท้อนความสำคัญของการวางแผน

ส่วน ขั้นสูง เน้นการจัดการโดยแบ่งแยกประเภทของหน้าที่การงานตามดีกรีความสำคัญของงาน เพื่อพิจารณาลำดับความเร่งด่วนในการจัดการงานดังกล่าว

ทั้งสามขั้นอันดับต่างมีเรื่องการมอบหมายงานเกี่ยวข้องอยู่ด้วยตามความต้องการของปริมาณและลักษณะเฉพาะของงานแต่ละชิ้น
เล่า ปี่สารภาพว่า "หากพิจารณาตามการแบ่งขั้นของเทคนิคการบริหารเวลาแล้ว ข้าฯยอมรับว่าวิธีของข้าฯอยู่ที่ขั้นต่ำ เพราะใช้แค่ส่งสลิปบันทึก ขงเบ้งชี้ไปที่ถังเหล็กกับกองวัสดุที่ผู้ช่วยได้เตรียมเสร็จไว้มุมห้องพร้อม กล่าวว่า
"คำตอบของการบริหารขั้นสูงอยู่ในถังเหล็กใบใหญ่นี้แหละ!

ความจุของถังนี้เปรียบเสมือนขีดความสามารถของคนๆ หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง

ก้อนกรวดเปรียบได้กับงานที่สำคัญและเร่งด่วน

ก้อนหินคือภาระที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน

เม็ดทรายเปรียบได้กับภาระที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ

และน้ำคือหน้าที่ที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน"


งานไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ (ก้อนหิน)
-โครงการใหม่หรือการริเริ่มใหม่ (นวตกรรม)
-กฎระเบียบ
-การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
-การสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน
-มาตรการในการป้องปราม

งานสำคัญและเร่งด่วน (ก้อนกรวด)
-วิกฤตการณ์
-ปัญหาที่ประชิดตัว
-งานที่มีกำหนดเวลาแน่นอน
งานเร่งด่วน แต่ ไม่สำคัญ (เม็ดทราย)
-รับรองแขกที่ได้ไม่รับเชิญ
-จัดการกับจดหมาย เอกสาร โทรศัพท์ทั่วไป
-ประชุมทั่วไป
-กิจกรรมทั่วไป ที่ไม่สำคัญ
งานไม่เร่งด่วน และ ไม่สำคัญ
-งานจุกจิกทั่วไปที่ทำไม่ทำก็ได้
-งานเลี้ยงสังสรรค์ทั่วไปที่ไม่จำเป็น
-กิจกรรรมที่น่าสนใจทั่วไป
"ปกติท่านเน้นงานประเภทใด?" ขงเบ้งถาม
"ก็ต้องเป็นประเภท "ก." เล่าปี่ตอบอย่างไม่ลังเล "แล้วงานประเภท ข. ล่ะ?" ขงเบ้งถามต่อไป
เล่าปี่ตอบว่า "ข้าฯตระหนักถึงความสำคัญของงานประเภท ข. แต่ก็ไม่มีเวลาพอที่สนใจมัน"
"เป็นอย่างนี้ใช่ไหม" ขงเบ้งถาม พราง

ใส่กรวดลงไปในถังเหล็กจนเต็มแล้วพยายามใส่ก้อนหินเข้าไปซึ่งใส่ไม่ได้
 


เล่าปี่ตอบว่า "ใช่!"
"และหากเปลี่ยนวิธีบรรจุใหม่ล่ะ?" ขงเบ้งถามต่อ พลางใส่ก้อนหินทีละก้อนเข้าไปในถังก่อนจนใส่ไม่ได้ แล้วจึงถามเล่าปี่อีกว่า "ตอนนี้ถังเหล็กเต็มแล้วจะใส่อะไรลงไปอีกไม่ได้ใช่ไหม?" ซึ่งเล่าปี่ตอบว่า "ใช่"
"จริงหรือ?" ขงเบ้งถามแล้วหยิบก้อนกรวดใส่เข้าไปข้างบนถังแล้วเขย่าให้ก้อนกรวดตกลงไปในถังจนหมด "บัดนี้ถังเหล็กใบนี้ใส่อะไรลงไปอีกได้หรือไม่?" ขงเบ้งพูดพรางเทเม็ดทรายลงไปอีกจนหมด
"แล้วทีนี้ละ? ใส่อะไรลงไปอีกได้ไหม?" ขงเบ้งถามต่อไป
แต่ก่อนที่เล่าปี่มีโอกาสตอบ ขงเบ้งก็ตักน้ำที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในถังเหล็กอีกจนหมด "ตอนนี้ท่านเข้าใจความหมายของการทดลองนี้แล้วหรือยัง?"
เล่าปี่ตอบว่า "เข้าใจแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านกล่าวถึงเมื่อสักครู่เกี่ยวกับการจัดการแบบแยกประเภท และเลือกการจัดการก่อนหลังใช่ไหม?"
ขงเบ้ง ตอบว่า "ใช่แล้ว การทดลองชี้ให้เห็นว่าหากถังเหล็กตั้งแต่แรกก็เติมเต็มไปด้วยก้อนกรวด ทราย และน้ำ ก็คงไม่มีโอกาสใส่ก้อนหินลงไปได้

แต่ ถ้าใส่ก้อนหินลงไปก่อนในถังยังมีเนื้อที่ที่จะใส่สิ่งอื่นๆ เข้าไปได้อีก ดังนั้น การบริหารเวลาที่ได้ผลต้องดูว่า อะไรคือก้อนหิน อะไรคือก้อนกรวด เม็ดทราย และน้ำ ฯลฯ และไม่ว่าจะเป็นประการใดก็ต้องใส่ก้อนหินลงไปในถังเป็นอันดับแรก"
เล่าปี่ยังถามว่า "แล้วการวิเคราะห์แยกแยะเรื่องต่างๆ ออกเป็นสี่หมวดนี้มีผลอย่างไรล่ะ?"
ขงเบ้งตอบว่า "บุคคลจำพวกที่ว่าวุ่นอยู่กับเรื่องราวประเภทก้อนกรวด ย่อมมีความรู้สึกถูกเวลากดดันและวนเวียนอยู่ในแดนวิกฤตจนอ่อนล้า

พวกที่เน้นเรื่องประเภทเม็ดทรายจะขาดพลังสร้างสรรค์ ชอบฟังคำพูดเพราะหู คบคนแบบผิวเผิน

พวกที่นิยมเรื่องราวประเภทน้ำมักบกพร่องเรื่องสำนึกรับผิดชอบ แม้กระทั่งเรื่องสารทุกข์สุกดิบของตนเอง"
เล่าปี่ถามว่า "เป็นไปได้ไหมที่ว่าถ้าเน้นก้อนหินมากเกินไปจะมองข้ามก้อนกรวด เพราะก้อนกรวดมากับความเร่งด่วน?"
"ท่านทราบไหมว่าก้อนกรวดมาจากไหน? ก็มาจากก้อนหินที่แตกสลายไง!" ขงเบ้งตอบ

"คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องประเภทก้อนหินจะมีก้อนกรวดน้อย คนที่เน้นก้อนกรวดก็จะมีก้อนกรวดเยอะตลอด"

ขงเบ้ง สอนต่อไปว่า "คนที่อิงเรื่องประเภทก้อนหินเป็นคนมีประสิทธิภาพ เพราะเขาจะเก่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ เวลา และสิ่งแวดล้อม สามารถจับประเด็นหลักของปัญหา สามารถจัดการกับเรื่องเร่งด่วนและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกินกว่าเหตุ กล้าฟันธงและใช้มาตรการป้องปราม บุคคลจำพวกนี้จะมีวิสัยทัศน์ มีอุดมการณ์ เคารพระเบียบ สามารถควบคุมตัวเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย และสามารถทำงานชิ้นใหญ่ได้
เล่าปี่ชื่นชอบทฤษฎี "วัตถุในถัง" ของขงเบ้งเป็นอย่างมาก พร้อมกับสารภาพว่า "มาวันนี้ข้าฯถึงเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า การต่อสู้ของข้าฯทำไมจึงยังลุ่มๆ ดอนๆ เพราะแม้ว่าข้าฯมีขุนพลเก่งๆ เช่น กวนอูและเตียวหุย แต่พวกเขาจะก้าวหน้าได้อย่างไรตราบใดที่คนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างพวกเขาจมปลักอยู่กับเรื่องจิ๊บจ๊อย กับทำงานลักษณะ "เก็บเม็ดงาแต่ทิ้งแตงโม" (เจี่ยนเลอจือหมา ติวเลอซีกวา) ขืนดำเนินตามวิธีนี้ต่อไป ความพยายามของข้าฯที่จะเป็นอภิมหาเศรษฐีนัมเบอร์วันในแผ่นดินก็คงเป็นได้แค่ ความฝัน !"
ที่มา คอลัมน์ คลื่นความคิด  โดย สารสิน วีระผล  มติชนรายวัน  ฉบับที่ 9886
(ยกตัวอย่างในปัจจุบัน

วิธีเปลี่ยนมุมคิดอย่าง “มีสุข”

จงตระหนักว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในชีวิตคือรางวัลที่จักรวาลส่งมาให้เรา อยู่ที่เราจะพบคุณค่านั้นหรือไม่
เมื่อประสบกับความล้มเหลวในชีวิต ต้องลุกขึ้นยืนให้ได้อีกครั้ง แล้วจะพบว่ามีสิ่งดีๆรอคุณอยู่
เมื่อมีความทุกข์ ให้คิดว่าทุกข์อยู่กับเราไม่นาน เดี๋ยวสุขก็ตามมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
จำไว้ว่าความผิดพลาดคือบทเรียนให้เราพัฒนาตนเอง
เมื่อเกิดความท้อแท้ใจ จงย้ำกับตัวเองว่า ไม่มีใครให้กำลังใจเราได้ดีเท่าตัวเราเอง
ทำวันนี้ ขณะนี้ของชีวิตให้ดีที่สุด เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง
จงอย่าเอาชีวิตตัวเองไปแขวนไว้กับความคาดหวังของคนอื่น
จงใช้เวลาว่างที่มีในแต่ละวันพิจารณากาย พิจารณาใจตัวเอง แทนที่จะเพ่งมองแต่ผู้อื่น













ขอบคุณข้อมูลจาก Secret

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

บริหาร จิต ให้เป็น เพื่อชีวีมีสุข


สมองคนเราสามารถพัฒนาให้ ไอคิว ให้เก่งและฉลาดได้ ทำไมจะพัฒนาให้ จิตใจ อีคิว ของเราสุขสงบไม่ได้หล่ะ

แต่หลาย ๆ คนก็ยังมีปัญหา จิตใจว้าวุ่นเพราะเรื่องต่าง ๆ ที่ประดังเข้ามา ตั้งแต่เรื่องเรียน การทำงาน ครอบครัว ทำให้คนเราทุกข์ได้เรื่อย ๆ เหมือนกัน

    ทั้งนี้เพราะสมองของเรา ถูกใช้งานไปกับงานการเรียน หรือเรื่องที่ต้องให้คิดต่าง ๆ มากกว่าที่จะมาคิดทบทวนตัวเอง เลยพาลทำให้จิตใจของเราย่ำแย่ เหนื่อยล้าได้ง่าย ๆ ส่งผลให้จิตใจเรารู้สึก ไม่ค่อยสบายเหมือนคนป่วย

    ลองมาเช็คดูกันอีกซักนิด ว่าเพราะเหตุใด เราถึงได้รู้สึก ทุกข์กันเหลือเกิน
สมอง กับกระบวนการผลิต ความทุกข์

    มาดูว่า สมองเราคิดอะไรบ้าง

1.สมองมักสั่งให้จิตเรา มองข้ามสิ่งดีที่อยู่ใกล้ตัว เหตุเนื่องจากความเหนื่อยล้าในชีวิตประจำวัน ทำให้เราต้องไขว่คว้าหาสิ่งที่คิดว่าทำให้เรามีความสุข จนบางครั้งมองข้ามสิ่งที่มีค่าที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดไป บางทีความสุขของเราอาจจะเป็นอะไรที่ง่าย ๆ ที่ทำแล้วสบายใจก็ได้

2.สมองมักสั่งให้จิตเรา คิดเปรียบเทียบ เขากับเรา เรามักชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ โดยมักมองสิ่งที่ดีของคนอื่นมาเปรียบเทียบกับตัวเราจนทำให้รู้สึกตัวเองด้อยค่า แทนที่จะคิดว่า แท้จริงแล้วคนเรานั้นต่างกัน ลองหันกลับมาค้นหาข้อดีของตัวเอง แล้วพัฒนาตัวเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ดีกว่าหรือ

3.เรามักจะปรุงแต่ง จิต ของตน ความคิดกับความรู้สึก มักไปด้วยกันตลอดเวลา เหมือนคบเพื่อน ถ้าคบเพื่อนดี เค้าจะชักนำพาชีวิตเราไปในทางที่ดี แต่ถ้าคบเพื่อนนิสัยเสีย ก็จะพาให้เราจมอยู่กับเรื่องร้าย ๆ ถ้าเราคิดบวก ความรู้สึกเราจะถูกโน้มน้าวให้รู้สึกดี มีความสุข สบายใจ ในทางกลับกันถ้าใจเรากำลังรู้สึก โกรธหรือกังวล ก็จะชักนำในความคิดเราคิดไปในทางร้าย ๆ อยู่เสมอ หากขาดสติ ปล่อยให้ความรู้สึกชักนำ อาจทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ จนเป็นสาเหตุนำไปสู่การทำร้ายตนเอง รวมถึงผู้อื่นด้วย
แต่ถ้าเราเปลี่ยนกระบวนการคิด บริหารจิตของเราให้สมดุลด้วย สติ ก็สามารถทำให้เราสามารถผลิตความสุขให้กับตัวเองได้เหมือนกัน

สมอง กับกระบวนการผลิต ความสุข

    สมองเราสามารถสร้างให้เรามีความสุขได้เหมือนกันนะ

1.การคิดทางบวก หรือมองโลกในแง่ดี สามารถสร้างพลังแห่งความรู้สึกบวกได้อย่างมากมายมหาศาล หากเรามองว่าปัญหาที่เราเจอเป็นเพียงอุปสรรคที่เราต้องฟันฝ่าและแก้ปัญหา เป็นบททดสอบชีวิต เพื่อพิสูจน์ตัวเรา ก็จะทำให้มีกำลังใจมากขึ้น เหมือนกำลังเล่นเกม ที่เราจะต้องชนะให้ได้ เพียงแค่ท่องไว้ จำให้ให้ขึ้นใจว่า ไม่มีอะไรที่เราจะฟันฝ่าไปไม่ได้ แค่นี้ก็จะมีพลังในการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขเหลือเฟือแล้ว

2.สร้างศิลปะของการใช้ชีวิตให้เป็นสุข การหาความสุขโดยใช้เงินให้น้อยที่สุดหรือไม่เสียเงินเลย เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ คนที่ไม่มีความสุข ไม่ใช่ว่าเขาไม่เจอกับความสุขเลย พวกเขาเจอแล้ว แต่มิได้ให้เวลาไปกับการดื่มด่ำและสัมผัสกับความสุขนั้นให้เต็มที่ คนบางคนแค่ได้ยินเสียงนกร้อง เห็นพระอาทิตย์ทอแสงยามเช้า ก็มีความสุขไปทั้งวันแล้ว แต่คนส่วนมาก กลับรู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้สนใจสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา กลับไปค้นหาความสุขโดยการจ่ายเงินซื้อวัตถุต่าง ๆ ที่ซื้อเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ ดังนั้นการสร้างศิลปะการใช้ชีวิตให้เป็นสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการบริหารจิตของเรา

3.รู้จักปล่อยวาง แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงทนยั่งยืน เหมือนชีวิตที่ทุกคนเกิดมาแล้ว ท้ายที่สุดก็ต้องดับไป ตามเหตุปัจจัยที่ควรเป็น เป็นคิดได้อย่างนี้ จิตของเราจะปล่อยวางจากความยึดมั่น ใจเราจะเป็นทุกข์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวน้อยลง

    ลองบริหารจิตของเราให้นิ่ง แล้วจะรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเราเอง เพื่อให้ชีวิตของเรา เป็นชีวิตที่มีความสุขสงบในทุก ๆ วัน

ขอขอบคุณ http://www.never-age.com/lifestyle

อยู่อย่างสง่า

ตั้งใจจะมีชีวิตอยู่อย่างคนมีค่าและมีชีวิตชีวา...
ความตั้งใจที่จะมีชีวิตอยู่เช่นนี้มีความสำคัญมาก
ทำให้ชีวิตมีจุดเป้าหมาย และอยู่อย่างคนกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา
เหมือนนั่งเครื่องบินแล้วรูว่าจะไปลงที่จุดหมายปลายทางที่ใด
ถ้าขาดความตั้งใจที่จะอยู่อย่างคนมีค่า ชีวิตจะมีแต่การเล่นสนุกไปวัน ๆ
มีทั้งกินเล่น นอนเล่น เดินเล่น ทำงานเล่น ๆ เรียนเล่น ๆ
และมักปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ทำให้ไม่น่ารัก ขาดสมดุล และไม่สร้างสรรค์
ถ้าตั้งใจจะมีชีวิตอยู่อย่างคนมีค่าแล้ว เราจะเลือกและจัดสรรเฉพาะสิ่งที่ดี ๆ มีคุณค่าให้กับชีวิตตนเอง ทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกาย การคบเพื่อน การทำงาน การเลือกคู่ครอง การอบรมบุตรหลาน
จะรู้จักเลือกกินอาหารที่พอดี นอนหลับให้เพียงพอ ดื่มนําให้มากพอ
มีอารมณ์ขัน มีจิตใจรักเพื่อนมนุษย์ มองไกล ใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย รู้จักทำตัวให้คนรัก รู้จักทำงานเพื่อให้ตนเองมีค่า มีศาสนาไว้ยึดเหนี่ยวโดยเฉพาะในยามตกอับ
ชีวิตก็จะเหมือนเครื่องบินที่บินขึ้นไปแล้ว และรู้ว่ามีสนามบินเตรียมพร้อมให้ลงได้อย่างปลอดภัย
การทำตัวให้มีชีวิตชีวา กระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ จะทำให้ต่อสู้กับความชราได้ดีมาก
ถ้าขาดความตั้งใจจะมีชีวิตอยู่แล้ว มักจะปล่อยปละตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง ทอดทิ้งตัวเอง จิตใจก็ไม่ดี เหนื่อย เซ็ง ท้อใจ เสมอ
และมักจะไม่ชอบตัวเองด้วย
แล้วใครจะชอบบุคคลที่ทอดทิ้งตัวเองเล่า ?

มาตั้งใจจะมีชีวิตอยู่อย่างคนมีค่าและมีชีวิตชีวาดีกว่า แค่นึกก็สนุกแล้วชีวิตนี้

จากหนังสือ
"อยู่อย่างสง่า"ของศ.ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ขอบคุณสิ่งที่มีอยู่

เรามักจะเอ่ยคำว่า ขอบคุณเมื่อมีใครทำอะไรให้ ดูจะเป็นการตอบแทนทางวาจา จนกลายเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามีความสำคัญกับเราได้มากแค่ไหน
คนเรามักจะมองออกไปข้างหน้าและพูดถึงสิ่งที่เรายังไม่มี ถ้าพูดในแนวของ กฎแห่งการดึงดูดความรู้สึกของการไม่มีนั้น จะดึงดูดความขาดแคลนเข้ามามากขึ้น

ฟังดูไม่ดีเลยใช่มั้ย แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย น่าตกใจมั้ยเล่า แต่มันจะเป็นการโกหกตัวเองมั้ย ถ้าเราจะบอกว่า เรามีทั้งๆ ที่ไม่มี
ลองมองดูอีกมุมหนึ่ง นั่นคือเราไม่ได้มองสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เราลืมมันไป และบอกว่าเราไม่มี แล้วมันก็ยิ่งดึงดูดความไม่มีเข้ามา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิจ เพราะเป็นทาสตัณหา

ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองวิ่งตามตัณหา คือ ความอยากอยู่ตลอดเวลา เราจะเหนื่อยมากเลย เพราะจะไม่เคยวิ่งทันมันสักที มันสนุกที่จะล่อให้เราวิ่งไปเหมือนที่เขาผูกไม้ยาวไว้ที่หัวม้าแล้วผูกอาหารไว้ที่ปลายไม้ให้ม้าเห็น มันก็วิ่งไล่จะงับอาหารอยู่นั่นแหละ หรือเหมือนคนวิ่งไล่จับเงาตัวเองจนเหนื่อย ทั้งๆ ที่เพียงแต่หยุดยืนเฉยๆ หรือนั่งลง เงาก็จะอยู่กับเราแล้ว
จึงมีคำที่เราได้รับคำสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า จงพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่และในที่นี้เราพอใจได้ด้วยการขอบคุณสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว และพลังงานของกฎแห่งการดึงดูด ก็จะนำสิ่งต่างๆ มาให้เราเพิ่มขึ้น เพื่อให้เราได้ขอบคุณอีก แต่ก่อนหน้านั้น เพียงแต่เรารู้สึกขอบคุณสิ่งที่เรามี เราก็ได้ความสุขใจมาก่อนแล้วละ

เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่ง หลังจากที่ฉันกินข้าวหมูแดงจนคลายความหิวซ่กไปแล้ว ก็ยังคงนั่งอ้อยอิ่งอยู่ในร้าน ซึ่งข้างๆ มีสวนเล็กๆ น่ารักๆ อยู่ด้วย นั่งมองแสงแดดบนใบไม้แล้ว ฉันก็ลองนึกถามตัวเองสนุกๆ ว่าเอาละ ลองขอบคุณดูสิ มีอะไรบ้างที่เราต้องขอบคุณ

ขอบคุณข้าวหมูแดงอร่อยๆ จานนี้ ขอบคุณเจ้าของร้าน ขอบคุณแม่ครัว ขอบคุณหมู เออ...ใช่ ขอบคุณหมู ขอบคุณคนเลี้ยงหมูด้วย

ขอบคุณข้าว ขอบคุณดินในนา ขอบคุณฝน ขอบคุณแสงแดด สายลม ขอบคุณชาวนา ขอบคุณโรงสี ขอบคุณคนขับรถบรรทุกข้าว ขอบคุณน้ำมันรถด้วย
ฮ่า ฮ่า โอ๊ะ เพิ่งนึกได้ว่ากว่าจะได้กินข้าวสักจานนี่ มันมายาวไกลแท้ น้อ ฉันนึกขำในใจ ขอบคุณอย่างนี้ก็ดี ทำให้เรามองกว้างขึ้น เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น

มันให้ความรู้สึกที่ดีว่า เรามีอะไรให้ขอบคุณมากมาย เราไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่ดีเลิศที่สุดเสียก่อนจึงจะขอบคุณได้ สิ่งที่เรามีอยู่แล้วนั่นแหละ คือสิ่งที่เราควรขอบคุณและมองมันด้วยความรู้สึกดีๆ

พุทธพจน์ : ไม่ควรมองหาความผิดผู้อื่นหรือธุระที่เขาทำแล้วหรือยังไม่ทำ ควรตรวจดูเฉพาะสิ่งที่ตนทำหรือยังไม่ทำเท่านั้น

เคยมีการคุยกันในหมู่คนทำงานด้วยกัน มักจะบอกว่า ไม่มีเงินเลย ฉันบอกว่านั่นเป็นการมองถึงสิ่งที่ยังไม่มี ถ้าคุณไม่มีเงินเลย ทำไมคุณมีเงินผ่อนบ้านทุกเดือน มีเงินผ่อนรถทุกเดือน มีเงินค่าเล่าเรียนลูก มีเงินค่าอาหารกลางวันลูก มีข้าวเช้าข้าวเย็นให้ครอบครัวได้กินกัน เสื้อผ้าคุณเก่าจนขาดหรือ...

ไม่ใช่นี่ ยังมีเสื้อดีๆ ใส่อยู่ คุณควรขอบคุณสิ่งที่คุณมีอยู่แล้วบ้างนะ จะได้มีอะไรเข้ามาให้คุณได้ขอบคุณได้อีก ถ้าคิดว่านั่นเป็นการไม่จริงใจ เป็นการขอบคุณเพื่อหวังผล คุณก็เพียงจริงใจกับการขอบคุณของคุณ

เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คุณมีอยู่แล้วจริงๆ ไม่ใช่หรือ และมันได้ทำหน้าที่ของมันเพื่อคุณอยู่ทุกวันไม่ใช่หรือ ดังนั้นอย่างน้อยมันก็ควรได้รับคำขอบคุณ

ดีพัค โชปรา ได้ให้คำจำกัดความว่าความปล่อยวางนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหลือเฟือ ความยึดมั่นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความขาดแคลน

ฉันเคยรู้สึกขาดแคลนอยู่ในใจมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา คงเป็นเพราะฉันมีหน้าที่การงานอยู่กับการปลดหนี้ของบริษัท มันยาวนานจนฝังเข้าไปในใจของฉัน เมื่อมองเข้าไปในใจฉันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกขาดแคลน เมื่อฉันได้อ่านคำจำกัดความนี้ ฉันก็เกิดสว่างขึ้นมาในใจว่า อ๋อ นี่ฉันเองเป็นคนยึดเอาความขาดแคลนนี้ไว้ไม่ยอมปล่อยเองหรอกหรือ วินาทีนั้นเองที่ฉันปล่อยมันไป
ตอนนี้ทุกครั้งที่มองเข้าไปในใจ ฉันพบกับความรู้สึกเหลือเฟือวางอยู่ที่นั่น มันเป็นความรู้สึกที่ดีจริงๆ .. ขอบคุณ ดีพัค โชปรา

น้องคนหนึ่งบอกว่า ผมไม่มีเงิน แต่ผมมีความสุขใจ เพราะผมพอใจในตัวของผมเอง

ขอบคุณสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว และพอใจในตัวเราเอง นั่นคือความสุขในมือเรา เมื่อเราพอใจ ใจมันก็พอ.
เขียนโดย ขวัญ เพียงหทัย จากหนังสือ สุขใสใส นำมาจาก เว็บ ruendham.com

มีและเป็นอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์

ชีวิตคนเราส่วนใหญ่หมุนเวียนไปตามความอยาก มีความอยากเป็นตัวผลักดันให้โลดแล่นไป ความอยากของคนเรานั้น จะว่าไปก็หนีไม่พ้นความอยากมี กับความอยากเป็น เช่น อยากมีเงินมีทอง อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออยากเป็นคนเด่นคนดัง เป็นนักกีฬา เป็นดารา แต่ไม่ว่าจะมีอะไร หรือเป็นอะไร ถ้าอยากมีอยากเป็น แล้วก็ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกข์เพียงเพราะมีความอยากเท่านั้น แม้ได้มี ได้เป็นสมอยาก ในที่สุดก็ทุกข์เช่นกัน
ทันทีที่มีความอยากขึ้นมา ใจก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะว่ายังไม่ได้สมอยาก ระหว่างที่ดิ้นรนขวนขวายไปหาสิ่งนั้นมา ก็ทุกข์อีก ต้องเจออุปสรรคมากมายกว่าจะฟันฝ่าจนได้มา ครั้นได้มาแล้วก็ทุกข์ ในการที่ต้องรักษา ต้องดูแล กลัวคนจะมาแย่งเอาไป ครั้นสิ่งที่หามาได้เกิดเสื่อมไป หรือถูกคนแย่งชิงไป ก็ทุกข์อีก
เห็นได้ว่า ทุกขั้นตอนของความอยาก เริ่มจากการมีความอยาก ไปจนถึงการตอบสนองความอยาก และรักษาสิ่งที่ตนอยากเอาไว้ ล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์ เราทุกข์ เพราะกลัวความพลัดพรากสูญเสีย จึงต้องดิ้นรนเพื่อป้องกันการพลัดพรากสูญเสียเอาไว้ แต่บ่อยครั้งก็ไม่สามารถป้องกันไว้ได้ เพราะความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต
แต่ถึงแม้ความพลัดพรากสูญเสีย ยังไม่เกิด ทรัพย์สมบัติของเรายังคงอยู่ในสภาพเดิม เราก็หนีความทุกข์ไม่พ้น แต่คราวนี้ทุกข์เพราะ อยากได้อันใหม่ที่ดีกว่า คนที่มีรถราคาแพงหลายล้านบาท ยากนักที่จะพอใจกับรถคันเดิม ส่วนใหญ่อยากได้รถคันใหม่ ที่แพงหรือแรงกว่าเดิม อาหารอร่อยก็เช่นกัน แม้ว่าจะชอบแค่ไหน แต่เมื่อกินไปทุกวันๆ ๆ ก็เบื่อได้ ทั้งๆ ที่รสชาติก็เหมือนเดิม
มีอะไรก็ตาม ถ้าเรามีไม่เป็น ก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น
พระพุทธองค์ เคยตรัสกับนางวิสาขาซึ่งเศร้าโศกเสียใจที่หลานสาวตาย พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าคนในกรุงสาวัตถีน่ารักเหมือนหลานของนาง นางจะรักเขาเหมือนหลานไหม นางวิสาขาตอบว่ารัก พระองค์จึงถามต่อว่า คนในกรุงสาวัตถีตายวันละกี่คน นางตอบว่ามากจนนับไม่ได้ พระองค์จึงถามว่า ถ้าเช่นนั้นนางไม่ต้องเศร้าโศกทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ
แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า วิสาขาเอย ผู้ใดมีสิ่งที่รักร้อยสิ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์ร้อย ผู้ใดมีสิ่งที่รักเก้าสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์เก้าสิบ ผู้ใดมีสิ่งที่รักแปดสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์แปดสิบ ผู้ใดมีสิ่งที่รักเพียงหนึ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์หนึ่ง ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีความคับแค้นใจ
การมีสิ่งที่น่าพึงพอใจ คือสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะเมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องมีจากพราก เป็นธรรมดาของโลก ถ้าไปยึดในความมี หรือยึดติดถือมั่นในสิ่งที่มีแล้ว ก็เตรียมใจทุกข์ได้เลย มีอะไรก็ตาม ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็อย่าไปยึดมั่นในสิ่งนั้น คือมี โดยใจไม่ได้เข้าไปยึดครอง พูดอีกอย่างหนึ่ง ให้เรามี เหมือนกับไม่มี
ทีนี้เราลองหันมาดู ความเป็น บ้างใคร ๆ ก็อยากเป็นคนเก่ง แต่พอรู้ว่ามีคนอื่นเก่งกว่า ก็ไม่สบายใจ เกิดความอิจฉาริษยา ถ้ามีใครมาวิจารณ์ว่า ไม่เก่ง ก็โมโห หรือเล่นกีฬาแล้วแพ้ ก็เป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่การแพ้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกข์เพราะว่า ฉันเป็นคนเก่ง คนเก่งต้องไม่แพ้ ในทำนองเดียวกัน ใครที่เป็นคนเด่นคนดัง แต่ถ้าไปไหนไม่มีคนทักหรือคนรู้จัก ก็เป็นทุกข์
แม้แต่ความเป็นแม่เป็นพ่อ ทันทีมีความสำนึกขึ้นมาว่า ฉันเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ อยากจะให้ลูกเคารพเชื่อฟัง ไม่อยากให้โต้เถียงเรา นี่เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ติดมากับ ความเป็นแม่หรือความเป็นพ่อ แต่พอลูกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ก็เป็นทุกข์ เรียกว่าความเป็นแม่ความเป็นพ่อ มันกัดเรา
มีตัวอย่าง แม่คนหนึ่งที่กลุ้มใจเรื่องลูก ลูกเอาแต่เล่นเกมออนไลน์ การบ้านไม่ทำ การเรียนไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เรียกให้มากินข้าว ก็ไม่กิน นอนก็ไม่เป็นเวล่ำเวลา พอแม่ว่ากล่าวมากๆ ลูกก็ไม่พอใจตามประสาวัยรุ่น จนถึงกับปั้นปึ่ง ไม่พูดกับแม่ แม่ก็น้อยอกน้อยใจว่า อุตส่าห์เลี้ยงลูกมาด้วยความรัก แต่ลูกมาทำกับแม่อย่างนี้ จึงยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่พูดด้วย แม่จะโดดตึก แล้วลูกก็ไม่พูดกับแม่จริงๆ แม่เสียใจมาก จึงกระโดดตึกตายจริง ๆ
อย่างนี้เรียกว่า ถูกความเป็นแม่ทำร้ายเอา คือไปยึดถือกับความเป็นแม่มาก สำคัญว่าฉันเป็นแม่ ดังนั้นลูกต้องเชื่อฟังฉัน ต้องไม่เย็นชากับฉัน แต่เมื่อไม่ได้รับสิ่งนั้นจากลูก ก็น้อยเนื้อต่ำใจ หัวใจสลาย จนทำร้ายตัวเอง
ไม่ว่าเป็นอะไรก็ตาม ย่อมทุกข์ได้ทั้งนั้น เพราะว่าเรามักจะเป็นกันไม่ถูก นั่นคือไปยึดความเป็นนั่นเป็นนี่เอาไว้ ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่สมมุติ
เด็กนักเรียนที่สอบได้ที่ 1 จากโรงเรียนในชนบท อาจจะคิดว่าตัวเองเก่ง แต่ที่จริงมันเป็นแค่สมมุติ ที่หาความแน่นอนไม่ได้ เพราะพอไปเรียนในกรุงเทพ ฯ กลับสอบได้อันดับท้ายๆ แต่ถ้าหากว่าเรารู้ทันว่า ความเป็นคนเก่งนั้น เป็นเรื่องสมมุติ เราก็พร้อมที่จะปล่อยวางได้ และไม่ไปเป็นทุกข์กับมัน ยามมันเสื่อมสลายไป หรือในยามที่คนอื่น เขาไม่รับรู้สมมุติเหล่านั้น
จะมีอะไร ก็ต้องมีให้ถูก คือไม่ยึดมั่นถือมั่น พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและความพลัดพรากสูญเสีย จะเป็นอะไร ก็เป็นให้ถูก คือรู้ว่าสิ่งที่เป็นนั้น เป็นแค่สมมุติ จะเป็นคนเก่ง คนดัง คนใหญ่คนโต เป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง หรือผู้อำนวยการ ก็ล้วนเป็นสมมุติที่พร้อมจะแปรเปลี่ยนไป ไม่มีวันยั่งยืนได้ และถึงแม้จะยังไม่แปรเปลี่ยน แต่มันก็เจือไปด้วยทุกข์
แต่ถ้าให้ดีที่สุด ก็คือว่าไม่สำคัญมั่นหมายว่ามีหรือเป็นอะไรเลย
เคยมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง เห็นพระพุทธองค์ว่ามีผิวพรรณวรรณะผ่องใส จึงถามพระองค์ว่า ท่านเป็นเทวดาหรือ พระพุทธองค์ทรงตอบปฏิเสธ พราหมณ์ถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นท่านคงเป็นคนธรรพ์ พระองค์ก็ปฏิเสธอีก พราหมณ์จึงพูดต่อว่า ท่านคงจะเป็นยักษ์แน่ พระองค์ก็ปฏิเสธ พราหมณ์จึงพูดว่า ท่านคงจะเป็นมนุษย์กระมัง พระพุทธองค์ทรงตอบว่าไม่ได้เป็น สุดท้ายพราหมณ์ก็เลยถามว่า ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นอะไร
พระองค์ทรงตอบว่า กิเลสที่เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า เป็นเทวดาก็ดี เป็นคนธรรพ์ก็ดี เป็นยักษ์ก็ดี เป็นมนุษย์ก็ดี เราได้ละหมดแล้ว สุดท้ายพระองค์ก็ตรัสกับพราหมณ์ว่า จงถือว่าเราเป็นพุทธะเถิด
พระพุทธองค์ไม่ทรงถือว่า พระองค์เป็นอะไรเลย แต่หากจะเรียกขาน ก็ขอให้เรียกพระองค์ว่าพุทธะ ทั้งนี้เพราะพระองค์ตระหนักว่า การเป็นอะไรก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องสมมติ ถ้าเข้าไปยึดมั่นสำคัญหมาย ก็ทำให้เป็นทุกข์ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นจะมีหรือเป็นอะไรก็ตาม อย่าเผลอเข้าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่า นั่นเป็นตัวเรา หรือของเราจริงๆ มิฉะนั้นจะถูก ตัวกู ของกูกัดเอาจนหาความสุขไม่ได้
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล เป็นบทความใน น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ นำมาจาก เว็บ visalo.org

ถือ (ก็) หนัก วาง (ก็) เบา

เคยมีคนไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า และขอให้พระพุทธเจ้าตอบให้เหลือเพียงสั้นๆ
ทว่าครอบคลุมใจความทั้งหมดแห่งพระพุทธศาสนา
พระองค์ตรัสว่า หากจะให้สรุปเช่นนั้นก็ขอสรุปว่า ใจความแห่งคำสอนขึ้นอยู่กับประโยคที่ว่า

สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ ใดใดในโลกอันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น

ทำไมจึงไม่ควรยึดติดถือมั่น เพราะที่ใดมีความถือมั่น ที่นั่นก็มีความทุกข์
ความทุกข์ขยายตัวตามระดับความเข้มข้นของความยึดติด
ยึดมาก ติดมาก จึงทุกข์น้อย ไม่ยึด ไม่ติด จึงไม่ทุกข์
ความไม่ยึดติดถือมั่น กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ความปล่อยวาง
ทำไมจึงต้องปล่อยวาง
เพราะทุกอย่าง มีความว่างมาแต่เดิม
คนที่หลงกอดความว่างโดยคิดว่าเป็น ความมีทำไมจะไม่ทุกข์ ?
พระบวชใหม่รูปหนึ่ง เดินบิณฑบาตผ่านชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้คนจอแจ
ขณะเดินสำรวมก้มหน้าแต่พอประมาณเพื่อเดินผ่านชุมชนไปอย่างช้าๆ นั้นเอง
จู่ๆ ก็มีชายวัยกลางคนคนหนึ่งใส่สูท ผูกเนคไท สวมแว่นตาดำเดินเข้ามาหาท่าน
พร้อมทั้งชี้หน้าด่าท่านอย่างสาดเสียเทเสีย พระรูปนั้นตกตะลึง รีบเดินหนี
แต่แม้ท่านจะเดินหนีชายคนนั้นพ้นแล้ว แต่เสียงด่าของเขายังคงก้องอยู่ในโสตประสาทอย่างชัดถ้อยชัดคำ
เมื่อกลับถึงวัด พลันที่คิดถึงเหตุการณ์ที่ตนถูกชี้หน้าด่ากลางฝูงชน
พระหนุ่มก็รู้สึกโกรธจนหน้าแดงก่ำ ยิ่งคิดต่อไปว่าชายคนนั้นมาชี้หน้าด่าตนซึ่งเป็นพระ
และตนเองก็จำได้ว่า ตั้งแต่บวชเข้ามาในพระธรรมวินัย ก็ยังไม่เคยทำอะไรผิด
คิดมาถึงขั้นว่า ตนไม่ผิด แต่ทำไมตนต้องถูกด่า ยิ่งเจ็บ ยิ่งแค้น
วันที่ท่านถูกด่ากลางชุมชนนั้น เป็นวันศุกร์ แต่ตกถึงเช้าวันจันทร์ ท่านก็ยังไม่หายโกรธ
เช้าวันจันทร์นั้น พระบวชใหม่ประคองบาตรเดินผ่านชุมชนนั้นเหมือนเดิม
ท่านพยายามสอดส่ายสายตามองหาชายคนเดิม ตั้งใจว่าวันนี้จะต้องถามให้รู้เรื่องว่า
เหตุใดจึงมาชี้หน้าด่าตนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ยิ่งพยายามค้นหา กลับยิ่งไม่พบ
ท่านจึงเดินสำรวจรับอาหารบิณฑบาตต่อไป จนได้อาหารเต็มบาตรแล้ว จึงเดินกลับวัด
ระหว่างทางกลับวัด โดยไม่คาดฝัน พระหนุ่มทอดสายตาไปพบกับชายคนหนึ่งสวมสูท ผูกเทคไท ใส่แว่นตาดำ
ท่านอุทานในใจว่า อ๋อ เจ้าคนนี้เองที่ด่าฉันเมื่อวันศุกร์
ภาพที่เห็นก็คือ ชายแต่งตัวดีคนนั้นนอนหลับหมดสติอยู่ข้างศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ข้างๆ ตัวมีขวดเหล้าล้มกลิ้งอยู่
พอท่านเดินเข้าไปมองใกล้ๆ เขาจึงเริ่มรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา พอเห็นท่านเท่านั้น ชายคนนั้นก็ร้องขึ้นมาว่า
ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นกล้าฯ บัดนี้พระองค์ทรงกลับมาครองอยุธยาอีกครั้งหนึ่งแล้วกระนั้นหรือ...
ว่าแล้วก็ลุกขึ้นรำเฉิบๆ
พลันที่ท่านประเมินว่า ชายแต่งตัวดีคนที่ชี้หน้าด่าท่านเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เป็นคนบ้าที่มาในร่างของคนแต่งตัวดีเท่านั้นเอง
ความโกรธที่ก่อตัวเป็นเมฆดำทะมึนอยู่ในใจของท่านมานานถึงสามวัน ก็พลันอันตรธานไปอย่างง่ายดายชนิดไร้ร่องรอย
ทำไม เราจึงปล่อยวางต่อคนบ้าได้ง่ายดายเหลือเกิน ?
แต่กับคนปกติ ทำไม เราจึงมีความรู้สึกว่า ต้องเอาเรื่องราวให้ถึงที่สุด ?
ความทุกข์แท้ๆ อายุสั้น แต่เรามักต่ออายุให้มันด้วยความคิดวนเวียนซ้ำซากธรรมสวัสดี
เขียนโดย ว.วชิรเมธี จาก เว็บสถานีธรรมะออนไลน์

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

คิดอย่างไรให้ใจสู้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของชีวิต..
หลายคนคงผ่านบทเรียนแห่งชีวิตมานับไม่ถ้วน..
ทั้งบทเรียนแห่งความผิดหวัง..
บทเรียนแห่งความท้อแท้..แพ้ชีวิต..
บทเรียนแห่งความสำเร็จ..

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนใด ๆ ก็ตาม..
เมื่อเราเกิดความผิดหวัง...ท้อแท้..ในชีวิต..
เราต้องพยายามปรับใจ..วางใจให้ถูก..
ด้วยวิธีการคิดที่จะปรับเปลี่ยน..ชีวิตของเรา..
ให้มีกำลังใจ..สู้ต่อไป..

๔ วิธีคิดที่จะสร้างพลังใจให้สู้ คือ..
วิธีที่ ๑ คิดแบบตรงกันข้ามกับความรู้สึกในขณะนั้น เช่น

....ถ้าทุกข์ ก็คิดสร้างสุข
....ถ้ายากก็คิดแบบง่าย...
ถ้าเกิดปัญหา ก็คิดแก้ปัญหา..

วิธีที่ ๒ คิดแบบสร้างกำลังใจ เช่น
ปลุกปลอบใจตนเอง...ทุกครั้งที่เกิดความท้อแท้..ผิดหวัง
บอกตนเองเสมอว่า..เราต้องทำได้..เราต้องทำได้อย่างแน่นอน..
เราต้องทำได้แน่นอนที่สุด..ไม่มีคำว่า..ทำไม่ได้..
ท่องไว้ในใจว่า..ไม่มี ไม่เป็น ไม่เหนื่อย...
….ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ ไม่หนี ไม่มีปัญหา...


วิธีที่ ๓ คิดแบบมีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอน มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว..
หากยังไม่ประสบความสำเร็จ..
ก็จะไม่เลิก ลด ละ ความเพียรพยายาม..
จงสู้ต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ..
แม้จะเป็นวินาทีสุดท้ายของลมหายใจก็ตาม..


วิธีที่ ๔ คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก
มองปัญหาออก..แก้ปัญหาเป็น..
คิดการใหญ่...ใช้คนเป็น..รู้เห็นตามความถูกต้อง..
มุ่งปรองดอง...รักษาน้ำใจ..สร้างมิตรภาพ..
อย่าลืมว่า..ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ...
ต้องคิดดี..ทำดี..พูดดี..ทุกที่ทุกเวลา...

ดังนั้น..
ถ้าท้อแท้..หมดหวังในชีวิต..
จงพยายามคิดให้ใจสู้...
อย่าเชื่อว่า...เราทำไม่ได้..ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ..
อย่าท้อแท้..ตราบใดที่เรายังไม่ได้พยายาม..
อย่าสิ้นหวัง...ตราบใดที่เรายังมีกำลังใจ..
อย่าแพ้ชีวิต...ตราบใดที่ใจของเรายังมีหวัง..
จงอย่าทำลายความหวัง...เพียงเพราะ....
การดูหมิ่นตนเองว่า...ทำไม่ได้”...


บทความโดย ธรรมะไทย http://www.dhammathai.org

ถ้าท้อเป็นเพียงถ่าน... ถ้าผ่านจึงเป็นเพชร

ไฟล์:Brillanten.jpg


     เพชรมีค่ามากกว่าถ่านหลายล้านเท่า ทั้งๆ ที่เพชรเป็นธาตุคาร์บอนเหมือนกัน
ไม้ผ่านการอบการเผา ไม่นานก็กลายเป็นถ่าน
แต่เพชรผ่านความร้อน ไม่ต่ำกว่า 5,000 องศาฟาเรนไฮต์
ได้รับความกดดันมากกว่า 1 ล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ด้วยระยะเวลาอันยาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นเพชร
เพชรที่เป็นเครื่องประดับอันงดงาม
พร้อมๆ กับเป็นของที่มีความแข็งมากที่สุดในโลก
ถ้าท่านกำลังได้รับความกดดันอยู่ จงอดทน จงอดทน
ถ้าท่านกำลังถูกเคี่ยวถูกสับ ให้คิดว่าเพียงแค่นี้ จะทำให้เป้าหมายเราสั่นคลอนได้
หรือ?ถ้าสถานการณ์กำลังบีบคั้น แสดงว่าชัยชนะกำลังรออยู่ข้างหน้า
ถ้ายังถูกโหมกระหน่ำอีกให้รู้ตัวว่า ท่านกำลังใกล้จะเป็นเพชรเต็มที่แล้ว....
ในสถานการณ์เช่นนี้ หากหยุดคิดพิจารณาอย่างมีสติย่อมจะเกิดปัญญาพบหน
ทางสว่างได้เสมอ จงมุ่งมั่นอาจหาญสง่างาม เสมือนดั่งเพชร
       แม้เพชรจะตกอยู่ในสภาวะทุกข์ยากลำบาก อ้างว้างและโดดเดี่ยว
แต่เพราะเพชรไม่เคยย่อท้อต่อสู้เรื่อยไป
ให้ถือว่าทุกอย่างเป็นบทเรียนและบทฝึกตัวเองเสมอ จนกาลเวลาผ่านไป
เพชรจึงภูมิใจในตัวของมันเอง และด้วยความอดทนถึงที่สุดนั่นเอง
เพชรจึงเป็นอัญมณีล้ำค่า ควรแก่การประดับมงกุฎของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่
จากอดีต... ปัจจุบัน....ตลอดไปในอนาคต

เขียนโดย - วีระยุทธ เล็กตระกูล ที่มา : http://www.jobpub.com

ความสมบูรณ์แบบของชีวิต

At what point in a flower’s life, from seed to full bloom, has it reached perfection?
-Thomas Sterner
flower
        คำถามนี้เขาถามว่า ณ จุดๆไหนของดอกไม้ ตั้งแต่ตอนเป็นเมล็ดจนถึงดอกไม้บานเต็มที่ ที่ถือว่ามันสมบูรณ์แบบ  คำถามนี้น่าคิดเพราะว่า ถ้าเราจะดูกันจริงๆ ดอกไม้ก็สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนที่เป็นเมล็ด จนเป็นต้น ออกดอกตูม และเบ่งบาน เราคงไม่บอกว่าดอกไม้จะสมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อดอกบานเต็มที่เท่านั้นเพราะเรารู้ว่าดอกไม้จะบานได้ ก็ต้องโตมาจากเมล็ด จากต้นอ่อน และจากดอกตูมก่อน เราคงไม่ว่าดอกไม้ว่าผิดที่ยังเป็นแค่เมล็ดแล้วทำไมยังไม่ออกดอกซะที  ใช่ไหม  ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมเราถึงได้ว่าตัวเองอยู่ตลอดว่าเราไม่สมบูรณ์แบบ ว่าเราดีไม่พอ ทั้งๆที่ในความจริงแล้ว เราก็เหมือนกับดอกไม้นั่นแหละ ถึงแม้ว่าเราจะยังเป็นแค่ต้นอ่อน แต่ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบในช่วงเวลานี้ เพียงแต่รอวันเวลาที่จะก้าวหน้าและเติบโตขึ้นไป  เวลาที่คนเราต่างก็พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ แต่ในใจกลับเต็มไปด้วยความรู้สึกว่าตัวเราไม่สมบูรณ์แบบ ทำเท่าไหร่ก็ไม่ดีพอ อยากให้ลองหยุดมองดอกไม้ แล้วลองคิดว่า เรานั้นก็สมบูรณ์ในทุกๆช่วงจังหวะชีวิตของเรา เช่นเดียวกับดอกไม้เหมือนกัน
ขอขอบคุณ http://www.kru-mon.com

5 ทัศนคติดี ๆ ที่ควรมีในที่ทำงาน

1. ไม่เป็นไร ผิดพลาดกันได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่
ทำงานผิดพลาดแล้วยังจะมานั่งโทษตัวเองให้เหนื่อยทำไม ให้กำลังใจตัวเองเพื่อทำงานชิ้นต่อไปดีกว่า ยิ่งเรามัวจมกับความผิดพลาดเดิม ๆ เราก็จะทำงานอื่นต่อไม่ได้ สู้เอาความผิดพลาดมาทำให้ถูกต้องในงานชิ้นใหม่ดีกว่า สัจธรรมของชีวิตที่ต้องจำไว้อย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีใครจำเรื่องของคนอื่นนานหรอก ถึงใครจะว่าเรามากมายแค่ไหน แต่พอเดินพ้นหน้าเราไปเขาก็ต้องคิดเรื่องอื่นแทนแล้วเราจะมาลงโทษตัวเองอยู่ทำไม


2. งานไม่ได้หนักทุกวันสักหน่อย เดี๋ยวก็ได้พักแล้ว
เวลางานล้นมือเราอาจท้อ แต่ท้อไปงานก็ไม่เสร็จ ลุกมาทุ่มเททำให้เสร็จๆ ไปดีกว่า เหนื่อยแค่ไหนเดี๋ยวก็ได้พัก และสิ่งที่เราต้องทำเมื่องานเยอะ คือ จัดระเบียบเส้นตายของงานแต่ละชิ้น เจรจาต่อรอง ถ้าคิดว่าจะไม่เสร็จตรงเวลา แล้วก็ค่อยๆ ทำไปทีละงาน เดี๋ยวดีเอง


3. ถึงจะไม่เก่งงานนี้ แต่เราก็พยายามเต็มที่แล้ว
บ่อยครั้งที่เราได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัด ก็คิดเสียว่าไม่เป็นไรทำให้เต็มที่ แต่ก่อนทำก็บอกคนที่มอบหมายหน่อยว่าไม่ค่อยถนัดนะ แต่จะทำเต็มที่ ผิดพลาดอะไรก็บอกได้ เขาจะได้ไม่คาดหวังมาก แต่ถ้าทำออกมาแล้วดีก็ถือเป็นกำไร อย่าเสียใจที่ทำงานบางประเภทไม่เก่ง เพราะเราก็อาจจะเก่งในงานประเภทอื่นก็ได้ จำไว้ว่าปลาอาจจะว่ายน้ำเก่งกว่าลูกสุนัข แต่ปลาก็วิ่งไม่ได้เหมือนกัน ถ้าปลาตัวหน่งจะโดดขึ้นมาบนบกแล้วคืบคลานจนถลอกปอกเปิกก็คงไม่มีใครว่าอะไรเพราะมันเป็นปลาจริงไหม


4. ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็พอแล้ว
เคยได้ยินคนพูดเรื่องการติดฉลากไหม การติดฉลากก็คือการประทับตราว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพื่อให้ง่ายต่อการจัดประเภท ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าติดฉลากถูกก็ดีไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ติดฉลากผิด สิ่งนั้นก็จะไม่ใช่สิ่งที่เป็นตามฉลากก็เท่านั้น ในหลักการเดียวกัน ถ้าใครมาว่าคุณสารพัดเรื่อง แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นอย่างเขาบอก ก็ไม่เห็นจะต้องคิดมากกับฉลากที่เขาเอามาติดไว้ถ้าคุณเป็นน้ำตาลแล้วเขาเอาฉลากน้ำปลามาติดให้ก็ไม่ใช่ปัญหาของคุณ เขาเองต่างหากที่คิดผิด


5. ให้เกียรติงานที่ทำด้วยการทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ อย่าบ่นว่าไม่ชอบงาน
นึกถึงกระเป๋ารถเมล์ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสสิแล้วเปรียบเทียบกับเราที่นั่งบ่นอยู่นั่นแล้วว่าเหนื่อย ไม่สนุก ถามว่างานหรือเปล่าที่ทำให้เราทุกข์ จริงๆ แล้วเราต่างหากที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ เพราะนั่งพร่ำบ่นกับสิ่งที่ไม่ได้ดังใจ ถ้าใครได้ทำงานที่ชอบก็ดีไป แต่อย่าลืมว่างานที่ชอบก็มีด้านที่ทำให้เราเหนื่อยได้เหมือนกัน ใช่ว่าหนทางการทำงานจะปูด้วยกลียกุหลาบเสมอไป สิ่งที่เราควรคิดก็คืองานคือสิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า อย่าดูถูกงานของตัวเอง ไม่เช่นนั้นเราก็ดูถูกตัวเองด้วยที่เลือกทำงานนั้น อย่าลืมว่าเราต่างหากที่เป็นคนเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ ดังนั้นทำงานที่เราเลือกในเวลานั้นๆ
ขอขอบคุณ http://www.thaijobbox.com/

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

การจัดลำดับความสำคัญของงาน

       งานยุ่ง งานเยอะ งานล้นมือ ผลที่ตามมาคือ ทำงานไม่ทัน ปัญหาที่ใคร ๆ มักจะประสบพบเจอ จนถือว่าเป็นเรื่องปกติของการทำงาน แต่วันนี้มีทริคเล็ก ๆ น้อยมาฝากกัน ให้บรรดาเหล่าคนทำงานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานได้ง่ายมากขึ้น
John C. Maxwell ผู้เขียนหนังสือ Buiding Leadership in you กล่าวถึงการจัดลำดับความสำคัญของงาน พูดง่าย ๆ ว่าถ้างานเรามี 100 อย่าง ถ้าดูดีๆ จะพบว่า มีงานสำคัญๆ อยู่ 20% ที่ทำแล้ว ให้ผลลัพทธ์ถึง 80% ของงานทั้งหมด ในขณะที่ งานอีก 80% ที่เหลือ ถึงทำเสร็จ ก็จะให้ผลแค่ 20 % เท่านั้น
เราจึงควรจะแบ่งงานออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
(A) สำคัญ และ เร่งด่วน : ฝากใครทำไม่ได้ ต้องทำเอง ทันที เร่งด่วน รอช้าไม่ได้ และต้องสำเร็จด้วย
(B) สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน : ฝากใครทำไม่ได้ ต้องทำเอง แต่ไม่ด่วนมาก ต้องจัดสรรเวลามาทำ และต้องสำเร็จด้วย
(C) ไม่สำคัญ แต่ เร่งด่วน : ฝากคนอื่นทำได้ แต่ต้องทำทันที ไม่ควรช้า เช่น บิลค่าไฟ มาแล้ว ไม่จ่ายจะถูกตัดไฟ เป็นต้น
(D) ไม่สำคัญ และ ไม่เร่งด่วน : ฝากใครทำก็ได้ ถ้าว่างจริงๆแล้วจะทำ งานอย่างนี้ ถ้าจัดดีๆ อาจจะถูกผลัดไปได้ และบางครั้ง กลับมาดูอีกครั้ง ก็ไม่สำคัญว่าจะเสร็จ หรือไม่ก็ไม่เสียหายอะไร
นอกจากเรื่อง เวลากับงานแล้ว ยังใช้กับกลุ่มคนได้ด้วย เช่น ในองค์กร จะมีผู้ที่มี อิทธิพล กับคนทั้งกลุ่ม อยู่ 20% และ ถ้าคน 20 % นี้เห็นอย่างไร คนที่เหลือ 80% ก็จะคล้อยตามด้วย ให้ลองทำดูก็ได้ โดยเขียนรายชื่อคนทั้งหมดในหน่วยงาน หรือ ในงานของคุณ แล้วนึกดูทีละคนว่า "ถ้าคนๆนี้ ต่อต้านเรา จะมีปัญหากับชีวิตเราหรือไม่" ถ้ามี ให้ทำเครื่องหมายไว้ด้านหน้า ถ้าไม่มี ก็ไม่ต้องทำ เมื่อเสร็จแล้ว ก็มักจะมีอยู่ประมาณ 20% ที่มีอิทธิพลในกลุ่มนั่นเอง
ตาราง การแบ่งแยกประเภทของงานในแต่ละวัน ที่ทำได้ง่าย ๆ เพียง ก่อนเริ่มการทำงานอย่างจริงจัง คุณลองใช้เวลาสัก 10-15 นาที นั่งคิดว่า วันนี้เรามีงานอะไรต้องทำบ้าง แล้วเขียนเป็นตารางตามตัวอย่าง
To do (เราต้องทำอะไร)
Minor
Priority
Done
Legend

จำนวน
%
ทำ summary report
1
A

A
งานสำคัญและเร่งด่วน
6
24
ตอบ e-mail
2
A
1
B
งานสำคัญ ไม่เร่งด่วน
12
48
สรุปรายงานการแก้ไข
3
A
1
C
งานไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน
5
20
แก้ไขงาน ตาม requirement เพิ่มเติม
4
A

D
งานไม่สำคัญ ไม่เร่งด่วน
2
8
รวม
25
งาน
เสร็จแล้ว
2
งาน

จากการเรียงลำดับของงานเช่นนี้ ทำให้รู้ว่า
มีงานค้างค่อนข้างเยอะ ต้องรีบสะสาง (งาน B เยอะ 48% แต่งาน A ประมาณ 24% ก็ยังพอได้) ทำงาน A เสร็จเกือบหมดแล้ว ก็มีเวลาสลับมาทำงาน B และ C ได้ ทำให้ไม่เครียด ไม่พลาดงานบางอย่าง เช่นไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น งานบางอย่างให้คนอื่นทำได้ ก็ให้ทำ (งาน C) แต่ถ้ายังพอมีเวลา อยากทำเองก็ทำได้
ท้ายสุดของความคิด ต้องคิดให้ได้ว่า งานก็คืองาน ซึ่งมันก็คือสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ มีงานที่ต้องทำ ควรทำ และอยากทำ คนเราก็มักจะเลือกทำงานที่ ชอบทำก่อน งานที่ควรทำ และ ต้องทำ ก็เลย ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เขาว่ากันว่า สิ่งที่ยากที่สุดในเรื่องนี้คือ ทำให้คนทำสิ่งที่ต้องทำตามลำดับความสำคัญนั่นตะหากที่ยากของจริง
ขอบคุณข้อมูลดี ๆจาก http://th.jobsdb.com

โลกนี้ไม่มีอะไรดีเด็ดขาด ไม่มีอะไรร้ายสิ้นเชิง



       ผู้เฒ่าซ่ายเป็นคนที่เข้าใจโลกและชีวิตดีมากคนหนึ่ง เขามีความเห็นว่า เรื่องราวบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องดีโดยเด็ดขาด และไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องโชคร้ายโดยสิ้นเชิง ทุกอย่างจะต้องมองสองด้านเสมอ ดังนั้นเมื่อเขาพบกับเคราะห์ร้ายก็ไม่โศกเศร้า เมื่อพบกับโชคดีก็ไม่ดีอกดีใจจนเกินไป มีท่าทีต่อเรื่องต่างๆ ที่ตนประสบพบด้วยความสวบนิ่ง มีอยู่วันหนึ่งม้าตัวหนึ่งของเขาวิ่งหายไป เพื่อนฝูงของเขาเมื่อรู้ข่าวต่างพากันมาเยี่ยมปลอบใจเขา แต่ผู้เฒ่าซ่ายกลับบอกว่า

ขอบคุณทุกท่านที่มีน้ำใจ แต่ทว่าข้าพเจ้ากลับไม่เสียใจด้วยเรื่องนี้ เสียม้าไปแล้ว ไม่แน่อาจเป็นเรื่องดีเรื่องหนึ่งก็ได้

ผ่านไปไม่กี่วัน เจ้าม้าตัวนั้นได้กลับมาเองและยังพาม้าพันธุ์ดีล้ำค่ากลับมาด้วยอีก 1 ตัว เพื่อนฝูงทราบต่างพากันมาแสดงความยินดี แต่เขาพูดว่า
ไม่มีอะไรที่มีคุณค่าจนจำเป็นต้องแสดงความยินดี ได้ม้ามาอีกตัว ไม่แน่อาจเป็นคราวเคราะห์อย่างหนึ่งก็ได้

ลูกชายของผู้เฒ่าช่าย ชอบม้าพันธุ์ดีตัวนั้นมาก มักขี่ออออกไปเที่ยวเล่นเสมอ ม้าตัวนั้นก็วิ่งเร็วมาก มีอยู่คราวหนึ่งลูกชายของผู้เฒ่าช่ายตกจากหลังม้าจนขาพิการข้างหนึ่ง เพื่อนของผู้เฒ่าช่ายพากันมาแสดงความเสียใจกับเขา ผู้เฒ่าช่ายพูดตอบกลับเพื่อนๆ ด้วยท่าทีสงบเยือกเย็นอย่างยิ่งว่า

ขาพิการไปข้างหนึ่ง ถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องเคราะห์ร้ายหรือโชคดี ยังตัดสินได้ยาก

ต่อมาไม่นานเกิดสงครามระหว่างประเทศจีนกับชนเผ่าหู ชายฉกรรจ์ทั้งประเทศต่างถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารปกป้องประเทศ สงครามคราวนั้นเกิดรบกันอย่างดุเดือดติดพันยาวนาน คนหนุ่มจำนวนมากได้ตายในสนามรบ แต่เนื่องจากลูกชายของผู้เฒ่าช่าย เนื่องจากขาพิการจึงไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร พำนักอยู่ในบ้านดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข

        สรรพสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยง มีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา มีลาภเสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ โลกธรรมทั้ง๘ นี้ ต่างหมุนเวียนเปลี่ยนไป โบราณจึงบอกว่า เมื่อเจอเรื่องดีใจก็ให้ยิ้มเพียงมุมปากเดียว อย่าถึงกับหัวเราะฮาๆ ไม่อย่างนั้น ถึงคราวพบเรื่องเสียใจจะต้องร้องไห้โฮๆ และเมื่อเราพบความยากลำบากขออย่าได้ท้อถอย ให้ถือคติว่า ยิ่งมืดยิ่งดึก ยิ่งดึกยิ่งใกล้สว่างกัดฟันค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละเปลาะด้วยดวงใจที่เยือกเย็น มั่นคง ยึดมั่นในความดี มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง สุดท้ายปัญหาจะคลี่คลายไป เรื่องร้ายจะกลับดีในที่สุด
ภูเขาศิลาล้วนตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวเพราะแรงลมฉันใด
ผู้ที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว ก็ย่อมมีจิตใจตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ฉันนั้น
(พุทธพจน์)


ที่มา : หนังสือมังกรสอนใจ โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฒโฑ MD.,Ph.D.