คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

ชีวิต...คือการเรียนรู้


มีคนกล่าวว่า ชีวิตคนเราไม่ต่างจากละคร และโลกนี้ก็เหมือนละครโรงใหญ่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าละคร คือ การ แสดงที่ผู้แสดงไม่ต้องสร้างสรรค์อะไรมากนัก เพราะตัวละครทุกตัวจะเล่นไปตามบทที่ถูกที่เขียนไว้ และแสดงกิริยา อาการตามแต่ที่ผู้กำกับจะ ต้องการให้เป็น แต่ในชีวิตจริงทุกคนต้องสร้างสรรค์บท กำกับ และแสดงด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเราจะดำเนินชีวิตให้ประสบ ความสำเร็จและราบรื่น

สำหรับปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถดำเนินชีวิตได้ราบรื่นและประสบความสำเร็จก็คือ การเรียนรู้ทุกอย่างที่จำเป็นและเกี่ยว ข้องกับการดำเนินชีวิต โดยไม่เกี่ยวกับการเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญาหรือวุฒิบัตรต่างๆ แต่เป็นการเรียนรู้ในชีวิตจริงอาจซึ่งได้แก่ การเรียนรู้ ในสิ่งต่อไปนี้ 1)เรียนรู้ตนเอง 2)เรียนรู้ผู้อื่น 3)เรียนรู้สังคมและการเปลี่ยนแปลง 4)เรียนรู้จังหวะและโอกาส 5)เรียนรู้คุณธรรมและ จริยธรรม 6)เรียนรู้ความจริงแห่งชีวิต ผู้ที่เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้มากก็จะประสบปัญหาในชีวิตน้อย และมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก

เรียนรู้ตนเอง อยากให้ทุกคนลองถามตัวเองว่า ท่านรู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน เชื่อเลยว่าหลายท่านอาจไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง ว่า รู้จักตัวเองแค่ไหน รวมถึงผู้เขียนด้วยตรงนี้จำเป็นอย่างยิ่งเพราะ ถ้าเราไม่รู้จักตนเองก็จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น ถ้าเรารู้ตัวเองว่า หงุดหงิดง่าย ก็จะต้องเตือนตัวเองให้ใจเย็น หรือถ้าเป็นคนปากร้าย ก็จะต้องระวังคำพูด เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เรามีปัญหา กระทบกระทั่งกับผู้อื่นน้อยลง

เรียนรู้ผู้อื่น เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก มีครอบครัว มีสังคมในที่ทำงานและสังคมอื่นๆ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้คนที่อยู่รอบตัวเราโดย เฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราจะต้องปฏิสังสรรค์ด้วยเสมอในชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องรู้จักให้มาก เพราะการที่เรารู้จักคนเหล่านี้มากเท่าไรก็จะ ยิ่งทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ของการอยู่ร่วมกันได้มากเท่านั้น

เรียนรู้สังคมและการเปลี่ยนแปลง เราต้องตระหนักว่า สังคมและข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การที่เรามีข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบันย่อมช่วยให้สามารถตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ ของการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องและเที่ยงตรง

เรียนรู้จังหวะและโอกาส เราต้องเรียนรู้จังหวะชีวิต เพราะในการดำเนินชีวิตของเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ ดังนั้น การดำเนินชีวิตต้องอาศัยจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ต้องรู้จักรุกเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย และรู้จักถอยเมื่อโอกาสไม่เอื้ออำนวย ไม่ใช่รุกตลอด เวลา การที่เราพยายามทำอะไร ในบรรยากาศหรือสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย นอกจากจะต้องใช้ทรัพยากรมากแล้ว บางครั้งอาจนำมาซึ่งความ ขัดแย้งและผลเสียหายกับตนเองและผู้อื่น

เรียนรู้คุณธรรมและจริยธรรม ธรรมะค้ำจุนโลก เป็นคำกล่าวที่เป็นจริง เพราะผู้ที่ขาดซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมย่อมทำให้ตน เองและผู้อื่นเดือดร้อน ตัวอย่างย่อมมีให้พบเห็นเสมอ เช่น คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ หากขาดคุณธรรมในเรื่องของความรับผิดชอบก็ไม่อาจสามารถ เลี้ยงดูบุตรให้เติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ หรือหากใครที่ขาดคุณธรรมในเรื่องความเกรงกลัว และละอายต่อบาป ก็ย่อมจะไม่ยี่หระต่อการทำ ผิดศีลธรรม นั่นย่อมนำมาซึ่งความเดือดร้อนเสียหายแก่ตนเองหรือผู้อื่น

เรียนรู้ความจริงแห่งชีวิต ต้องรู้ว่าแห่งความเป็นจริงนั้นมีสองด้านเสมอ เช่น มีสุข - ทุกข์ มีสมหวัง - ผิดหวัง มีดีใจ - มีเสียใจ มีการให้ - มีการรับ มีสวย - มีขี้เหร่ มีรวย - มีจน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อสิ่งที่ประสบไม่เป็นไปอย่างที่คิดหรือคาดหวังก็ให้เข้าใจว่า นั่นคือความ จริงแห่งชีวิต ที่ต้องรับให้ได้ เพื่อที่จะปรับและแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์และชีวิตของเรา

สุดท้ายผู้เขียนอยากฝากบอกว่า ในกล้วยไม้หนึ่งช่อนั้น แต่ละดอกก็บานไม่พร้อมกัน ดังนั้นชีวิตคนเราเองก็คงไม่อาจ ประสบความสำเร็จได้พร้อมกันทั้งหมด ใครที่ถึงพร้อมด้วยเหตุและปัจจัยก่อน ย่อมประสบความสำเร็จไปก่อน เหมือน กล้วยไม้ดอกแรกของช่อที่สมบูรณ์พร้อมก่อนย่อมบานก่อน ดังนั้นการดำเนินชีวิตจะต้องอาศัยการเรียนรู้ดังที่กล่าวมา เพื่อสะสมเหตุและปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จให้เพียงพอ .

สุขระดับไหน...ที่เราต้องการ


พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้กล่าวถึงเส้นโค้งแห่งความสุขว่า ความสุขของมนุษย์จากการบริโภคทรัพย์นั้นเหมือนเส้นโค้ง ตัวความสุขนั้นไม่ได้พุ่งสูงขึ้นตามกำลังทรัพย์ในการซื้อหาอย่างที่หลายๆ คนคิด ในทางตรงกันข้ามยิ่งซื้อมากความสุขยิ่งลดลง ความอยากมีอยากได้ของคนในการหาทรัพย์สินเงินทองมาตอบสนองความสุขของตนนั้น หากไม่รู้จักพอดีความสุขนั้นจะค่อยๆ โค้งตกลงกลายเป็นความทุกข์ที่เข้ามาแทน

เราสามารถแบ่งความสุขจากการบริโภคทรัพย์เป็น 4 ประเภทคือ

  1. ความสุขแบบอัตคัดขัดสน ประเภทนี้ขอให้พ้นจากความหิวและมีความปลอดภัยในชีวิตก็พอใจแล้ว เงิน 10 บาทขึ้นไปก็สามารถซื้อหาความสุขได้
  2. ความสุขเพราะความสะดวกสบาย เมื่อขยับฐานะตัวเองมาเป็นพอกินพอใช้ นอกจากปัจจัย 4 ที่มีแล้ว ความอยากทำให้ต้องหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายต่างๆมาทำให้มีความสุขตนเองเพิ่มขึ้น เช่น ชื่อทีวี เครื่องเสียง เครื่องเล่น DVD เครื่องซักผ้า ประเภทนี้เงิน 1,000 บาทขึ้นไปจึงจะซื้อหาความสุขได้
  3. ความสุขเนื่องจากอยู่ดีกินดี เมื่อมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ชีวิตสะดวกสบายขึ้น การหาความสุขอาจใช้เงินเป็นแสน เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์
  4. ความสุขจากการเหลือกินเหลือใช้ ประเภทนี้เมื่อร่ำรวยเงินทองก็จะใช้ชีวิตอย่างหรูหนาฟุ่มเฟือย ความสุขจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากแต่ต้องใช้เงินหลักล้านในการแลกมา โดยส่วนใหญ่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วไม่ว่าจะใช้เงินมากมายสักเท่าใดก็ไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าตอนกินอยู่ตามอัตภาพหรือแบบพอกินพอใช้ได้ ถึงขั้นนี้ความสุขแบบเศรษฐีเงินล้านดูจะมีน้อยกว่าเงิน 10บาทสำหรับผู้หิวโหยในประเภทที่หนึ่ง

5.     เปรียบเหมือนเส้นกราฟที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการหาความสุขสบายจากการทำมาหากินสะสมทรัพย์สินเงินทองจนร่ำรวย แต่สักพักเส้นกราฟความสุขจะเริ่มโค้งต่ำลงเพราะความสุขจากทรัพย์นั้นมีขีดจำกัด ความสุขจากทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป้าหมายความสุขคือการกินอิ่มมีที่ซุกหัวนอนหรือมีความสะดวกสบายตามอัตภาพเท่านั้น แต่ถ้าต้องการใช้ทรัพย์เพื่อความอยู่ดีกินดี หรือเพื่อชีวิตร่ำรวยแบบฟุ่มเฟือยแล้ว ความสุขจะลดต่ำลงหรืออธิบายง่ายๆ คือ เมื่อมีความสุขอยู่ในขั้นสะดวกสบายแล้ว ถ้ายังแสวงหาทรัพย์หรือใช้ทรัพย์เพิ่มเพื่อให้มีความสุขยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาก็คือความสุขกลับลดลง

6.     เหตุที่ความสุขลดลงก็เพราะ ภาระในการดูแลทรัพย์มีมากขึ้นหากเป็นเศรษฐีร้อยล้านเพราะทำธุรกิจการสื่อสาร ก็ต้องดูแลคนงานนับพัน ต้องดูแลคอยเปิดทางให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน มีภาระต้องหมุนเงินมิให้ขาด มีหนี้ที่ผูกพันกับธนาคาร มีบ้านราคาหลายล้านที่ต้องดูแลรักษา ยิ่งถ้าเป็นเศรษฐีเพราะเป็นนักการเมืองทุจริตด้วยแล้ว ความวิตกกังวลยิ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่านัก เมื่อความต้องการในเรื่องอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ เข้ามาครอบงำ สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ยั่งยืนจะนำพาไปสู่ทุกข์... ทุกข์ที่อยู่บนกองเงินกองทอง ทุกข์จากความหวาดระแวง กลัวการที่จะต้องสูญเสียชื่อเสียง อำนาจบารมีของตน จะสังเกตได้ว่ายาแก้โรคกระเพาะ ยาแก้เครียดและยารักษาความดันจึงขายดีในหมู่คนรวย

7.     ดังนั้นเมื่อเสพวัตถุจนสบายถึงจุดหนึ่งแล้วก็ควรหยุดเสพไม่ให้เกินจุดนั้นไป หากเราสามารถหยุดเมื่อถึงจุดนั้นได้ เรียกว่า "รู้จักพอดี"จุดพอดี คือจุดที่เรามีความสุขสูงสุด ถ้าเราไม่รู้จักจุดนั้น เมื่อเสพจนเลยจุดนั้นไป ความสุขก็จะลดลงตามลำดับ หากเรารู้เท่าทันไม่ไหลตามกระแสบริโภคนิยมที่มีฤทธิ์กระตุ้นภาวะโลภ โกรธ หลง ภายในจิตใจเรา ให้เกิดความอยากมี อยากได้ โดยใช้วิธีคิด วิธีปฏิบัติตามแนวทางของพุทธศาสนา เช่น การถือศีล ทำสมาธิภาวนา การให้ทาน จะเป็นความสุขที่สงบ มีสติตื่นรู้ เบิกบานใจ ปราศจากข้อผูกมัด ความคาดหวังใดๆ จะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นขณะนั้นและยังคงสุขต่อไปหลังจากผ่านช่วงเวลานั้นไปแล้ว
ที่มา

ความสุขจากการให้อภัย


ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใครได้ เพราะการให้อภัยได้นั้นนับเป็นความเข้มแข็งแท้จริง ” มหาตมะคานธี

มาลองช่วยกันพิจารณาข้อความนี้นะครับ

หากคุณให้ความรัก ความไว้วางใจ ช่วยเหลือใครสักคน แต่ภายหลังเขากลับไปคบคิดกับคนอื่นให้ร้ายคุณ พูดถึงคุณในทางที่เสียหาย จนคุณต้องได้รับความอับอาย คุณจะให้อภัยเขาคนนั้นได้ไหม

๑. ให้อภัยได้ ถ้าคนนั้นได้รับโทษอย่าสาสมเสียก่อน

๒. ให้อภัยได้ เพราะเป็นสิ่งดีที่จะให้อภัย ดังเช่นที่พ่อแม่ หรือศาสนาสั่งสอนมา

๓. ให้อภัยได้ เพราะจะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

๔. ให้อภัยได้ เพราะเป็นการแสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข

ท่านผู้อ่านจะเลือกข้อใดที่ตรงใจท่านมากที่สุด

ผมได้ลองถามนักศึกษาแพทย์ปี ๕ ที่เรียนวิชาจิตเวชศาสตร์อยู่รวม ๓๓ คน คำตอบที่ได้จากลูกศิษย์แพทย์กลุ่มนี้น่าสนใจทีเดียวครับมีตอบข้อหนึ่งอยู่ ๑๓ คน ตอบข้อสองอยู่ ๑๒ คน ตอบข้อสามอยู่ ๕ คน และตอบข้อสี่อีก ๓ คน ที่กล่าวมานี้คงไม่ถึงกับเป็นโพลสำรวจนะครับ เพียงอยากจะให้เห็นว่าคนเราแต่ละคนมีมุมมองในเรื่องการให้อภัยที่แตกต่างกันมาก

มนุษย์มีแนวโน้มในจิตใจแต่กำเนิดที่จะโต้ตอบทางลบมากขึ้นต่อคนที่แสดงออกทางลบต่อเรา ธรรมชาตินี้เองเป็นที่มาของการแก้แค้นกันและตอบโต้กันจนไม่รู้จบสิ้น สิ่งนี้เกิดจากอะไร นอกจากมนุษย์แล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นมีพฤติกรรมการแก้แค้นเช่นมนุษย์หรือไม่ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบปรากฏการณ์ของการแก้แค้น เกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงบางชนิดด้วย เช่น ลิงชิมแปนซี และพบต่ออีกว่า เมื่อการแก้แค้นเกิดขึ้น การกระทำนั้นมักจะมีความรุนแรงมากกว่าที่ถูกกระทำในตอนแรก จึงมีแนวโน้มให้เกิดวงจรการล้างแค้น ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราพบเห็นตัวอย่างการโต้ตอบที่รุนแรงมากมายในสงครามและประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การให้อภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยตัดและลดทอนการแก้แค้น ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความสูญเสียทั้งสองฝ่าย

พัฒนาการ ของการให้อภัยผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางจิตใจด้วย พบว่า คนเราสามารถให้อภัยได้มากขึ้นตามอายุ คือคนในวัยสูงอายุจะให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายกว่าคนในวัยผู้ใหญ่และมากกว่าคนในวัยรุ่น ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในคนที่ผ่านชีวิตมานานกว่า มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้พัฒนาการของการให้อภัยยังมีลักษณะที่เป็นลำดับขั้นเหมือนที่มนุษย์เรามีพัฒนาการทางร่างกาย จากคลานเป็นนั่ง จนถึงการยืนและเดินตามลำดับ คือในขั้นต้น การให้อภัยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ที่กระทำผิดได้รับการล้างแค้นหรือการลงโทษอย่างสาสมเสียก่อน ขั้นกลาง คือ การให้อภัย เป็นสิ่งควรทำเนื่อง จากเป็นสิ่งที่สังคมและคำสั่งสอนของพ่อแม่หรือศาสนาสอนไว้ ในขั้นสูงคือ การให้อภัยควรทำเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมและในขั้นสูงสุดคือเป็นการแสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ( Unconditional love )

ความจริงแล้วการให้อภัยกลับกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ให้อภัยเอง เพราะการให้อภัยคือการปลดปล่อยตนเองจากซากอดีตที่เจ็บปวดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังที่ คอร์รี่ เทน บูม ( Corrie ten Boom ) ผู้ช่วยเหลือชาวยิวจากค่ายกักกันของนาซีได้กล่าวว่า การให้อภัยคือการปลดปล่อยนักโทษ และนักโทษผู้นั้นก็คือคุณนั่นเอง ” และจากประสบการณ์ตรงของเธอเองที่ได้บันทึกไว้ว่า ในท่ามกลางเหยื่อที่ถูกนาซีทำทารุณกรรมนั้น ผู้ที่สามารถสร้างชีวิตใหม่ได้ดีและสามารถดำรงชีวิตที่เป็นสุขได้คือ ผู้ที่สามารถให้อภัยต่อความเลวร้ายเหล่านั้น ”

ผลดีอีกประการคือผู้ที่มักให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายจะมีความเป็นปฏิปักษ์น้อย ไม่หลงตัวเอง ไม่ชอบครุ่นคิดวนเวียน เป็นคนที่มีนิสัยพูดง่าย ไม่เรื่องมาก ทำให้กังวลและซึมเศร้าน้อยกว่า ป่วยเป็นโรคประสาทน้อยกว่า มีลักษณะที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากกว่า การให้อภัยจึงเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันโรคทางจิต เพิ่มสุขภาพจิตที่ดีสำหรับตัวผู้ให้อภัยนั้นเอง ผมจึงอยากชวนท่านผู้อ่านได้ทบทวนไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและตั้งใจอย่างแน่วแน่ เพื่อที่จะช่วยกันปลดปล่อยความเคืองแค้นที่ยังฝังใจ เพื่อให้จิตใจได้รับอิสรภาพและเกิดความสุขสงบทางใจ

การที่จะให้อภัยแก่บุคคลผู้ที่เคยทำให้เราเจ็บปวด แม่ชีเทเรซ่าสอนว่า

เพื่อที่จะให้อภัยใครบางคนที่ทำให้เราปวดร้าว เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่กับผู้ที่เคยทำให้เราผิดหวัง เพื่อที่จะคงความเสียสละไว้แม้เคยถูกหลอกลวง เหล่านี้แม้หากจะเจ็บปวด แต่เป็นการให้อภัยและเป็นรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว”

Secret Box

• การให้อภัยเป็นเครื่องพัฒนาการของจิตใจ

• การให้อภัยที่สูงที่สุดเป็นการแสดงออกของความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

• จงเริ่มด้วยการตั้งจิตที่แน่วแน่ในการให้อภัยใครบางคนที่เคยทำให้เราเจ็บปวด

• การให้อภัยจะนำให้เกิดอิสรภาพและความสุขในชีวิต
ที่มา : นิตยสาร Secret


การทำดีต้องไม่มีพอ ต้องทำให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอเพราะไม่มีใครอาจประมาณได้ว่าเมื่อใดจะตกไปในที่มืดมิดขนาดไหน ต้องการแสงสว่างจัดเพียงใดถ้าไม่ตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมายนัก มีแสงสว่างมากไว้ก่อน ก็ไม่ขาดทุนไม่เสียหาย แต่ถ้าตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมาย แสงสว่างน้อย ก็จะไม่เพียงพอจะเห็นอะไรๆ ได้ถนัดชัดเจน การมีแสงสว่างมากจะช่วยให้รอดพ้นจากการสะดุดหกล้มลงเหวลงคู หรือตกเป็นเหยื่อของสัตว์ร้ายจนถึงตายถึงเป็น

อานุภาพของความดีหรือบุญกุศลนั้นเป็นอัศจรรย์จริงเชื่อไว้ดีกว่าไม่เชื่อ และเมื่อเชื่อแล้วก็ให้พากันแสวงหาอานุภาพของความดีหรือของบุญกุศลให้เห็นความอัศจรรย์ด้วยตนเองเถิด

ที่จริงนั้นใจบริสุทธิ์ผ่องใส กิเลสเข้าจับทำให้สกปรกไปตามกิเลส ปล่อยให้กิเลสจับมากเพียงไรใจก็สกปรกมากขึ้นเพียงนั้น นำกิเลสออกเสียบ้างใจก็จะลดความสกปรกลงบ้าง นำกิเลสออกมากใจก็ลดความสกปรกลงมาก นำกิเลสออกหมดสิ้นเชิงใจก็บริสุทธิ์สิ้นเชิงเป็นสภาพใจที่แท้จริง มีความผ่องใส

เมื่อใจกับความสกปรกหรือกิเลสเป็นคนละอย่างไม่ใช่อย่างเดียว อันเดียวกันทุกคนจึงสามารถจะแยกใจของตนให้พ้นจากกิเลสได้ คือสามารถจะนำกิเลสออกจากใจได้

การจะทำให้ใจเป็นสุขผ่องใสนั้นไม่มีใครจะทำให้ใครได้ เจ้าตัวต้องทำของตัวเองวิธีทำก็คือเมื่อเกิดโลภโกรธหลงขึ้นเมื่อใดให้พยายามมีสติรู้ให้เร็วที่สุด และใช้ปัญญายับยั้งเสียให้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้ช้า เพราะจะเหมือนไฟไหม้บ้านยิ่งดับช้าก็ยิ่งดับยากและเสียหายมากโดยไม่จำเป็น

ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรคือดีอะไรคือชั่ว ก็ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเชื่อตามที่ทรงสอน ก็จะรู้ว่าอะไรคือดีอะไรคือชั่ว ที่จริงแล้วทุกคนรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ไม่พยายามรับรู้ความจริงนั้นว่าเป็นความจริงสำหรับตนเองด้วยมักจะให้เป็นความจริงสำหรับผู้อื่นเท่านั้น ดังที่ปรากฏอยู่เสมอผู้ที่ว่าคนนั้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย โดยตัวเองก็หาได้ตำหนิตัวเองเช่นที่ตำหนิผู้อื่นไม่ ถ้าจะให้ดีจริงๆ ถูกต้องสมควรจริงๆ แล้ว ก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ท่านทรงสอนให้เตือนตนแก้ไขตน ก่อนจะเตือนผู้อื่นแก้ไขผู้อื่น

ทำความดีอย่างสบายๆ อย่างมีอุเบกขา คือทำใจเป็นกลางวางเฉยไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้น การตั้งความหวังในผลของการทำดีเป็นธรรมดาของสามัญชนทั่วไป ซึ่งก็ไม่ผิดแต่ก็จะถูกต้องกว่าหากจะไม่ตั้งความหวังเลย เมื่อรู้ว่าเป็นความดีก็ทำเต็มความสามารถของสติปัญญา ไม่เดือดร้อนให้เกินความสามารถ ไม่มุ่งหวังให้ฟุ้งซ่าน ไม่ผิดหวังให้เศร้าเสียใจ การทำใจเช่นนี้ไม่ง่ายแต่ก็เป็นสิ่งทำได้ ถ้าทำไม่ได้พระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงสั่งสอนไว้

การทำดีหรือทำบุญกุศลที่จะส่งผลสูงสุดต้องเป็นการทำด้วยใจว่างจากกิเลส คือความโลภโกรธหลงความผูกพันในผลที่จะได้รับเป็นทั้งความโลภและความหลงจึงไม่อาจให้ผลสูงสุดได้ แม้จะให้ผลตามความจริงที่ว่าทำดีจักได้ดี แต่เมื่อเป็นความดีที่ระคนด้วยโลภและหลงก็ย่อมจะได้ผลไม่เท่าที่ควร มีความโลภความหลงมาบั่นทอนผลนั้นเสีย

ทำดีไม่ได้ดีไม่มีอยู่ในความจริง มีอยู่ก็แต่ในความเข้าใจผิดของคนทั้งหลายเท่านั้น ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่นอนเสมอไป ที่มีเหตุการณ์ต่างๆ นานา ปรากฏขึ้นเหมือนทำดีไม่ได้ดีนั้นเป็นเพียงการปรากฏของความสลับซับซ้อนแห่งการให้ผลของกรรมเท่านั้น เพราะกรรมนั้นไม่ได้ให้ผลทันตาทันใจเสมอไป แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในใจแล้วกรรมให้ผลทันทีที่ทำแน่นอน เพียงแต่ว่าบางทีผู้ทำไม่สังเกตด้วยความประณีตเพียงพอจึงไม่รู้ไม่เห็น ขอให้สังเกตใจตนให้ดีแล้วจะเห็นว่าทันทีที่ทำกรรมดีผลจะปรากฏขึ้นในใจเป็นผลดีทันทีทีเดียว

ทำกรรมดีแล้วใจจักไม่ร้อน เพราะไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะได้รับผลไม่ดีต่างๆ ความไม่ต้องหวาดวิตกหรือกังวลไปต่างๆ นั้นนั่นแหละเป็นความเย็นเป็นความสงบของใจเรียกว่าเป็นผลดีที่เกิดจากกรรมดีซึ่งจะเกิดขึ้นทันตาทันใจทุกครั้งไป เป็นการทำดีที่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริง ส่วนผลปรากฏภายนอกเป็นลาภยศสรรเสริญต่างๆ นั้น มีช้ามีเร็วมีทันตาทันใจ แลไม่ทันตาทันใจ จนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดกันมากมาย ว่าทำดีไม่ได้ดีบ้างทำชั่วได้ดีบ้าง

ทำดีได้ดีแน่นอนอยู่แล้ว บรรดาผู้ทำความดีทั้งหลายซาบซึ้งในสัจจะคือความจริงนี้ ดังนั้นก็ไม่น่าจะลำบากนักที่จะเชื่อด้วยว่าควรทำดีโดยทำใจเป็นกลางวางเฉยไม่มุ่งหวังอะไรๆ ทั้งนั้น การที่ยกมือไหว้พระด้วยใจที่เคารพศรัทธาในพระรัตนตรัยสูงสุดเพียงเท่านี้ได้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าจะยกมือไหว้พร้อมอธิษฐานปรารถนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปด้วยมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง หรือ การจะบริจาคเงินสร้างวัดวาอารามด้วยใจที่มุ่งให้เป็นการบูชาคุณพระรัตนตรัยเพียงเท่านี้ก็ได้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าปรารถนาวิมานชั้นฟ้าหรือบ้านช่องโอ่อ่าทันตาเห็นในชาตินี้ หรือการจะสละเวลากำลังกายกำลังทรัพย์เพื่อช่วยเหลืองานพระศาสนาโดยมุ่งเพื่อผลสำเร็จของงานนั้นจริงๆ เพียงเท่านี้ก็ได้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าปรารถนาจะได้หน้าได้ตาว่าเป็นคนสำคัญเป็นกำลังใจให้เกิดความสำเร็จหรือการคิดพูดทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ด้วยใจที่มุ่งเทิดทูนรักษาอย่างเดียวเช่นนี้ให้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าหวังได้ลาภยศหน้าตาตอบแทน

ทุกวัน เรามีโอกาสทำดีด้วยกันทุกคน ดังนั้นจึงขอให้พยายามตั้งสติให้ดี ใช้ปัญญาใคร่ครวญ อย่าโลภ อย่าหลง อย่าทำความดีอย่างมีโลภมีหลงให้ทำความดีอย่างบริสุทธิ์ สะอาดจริงเถิด

มีวิธีตรวจใจตนเองว่าทำความดีด้วยใจปราศจากเครื่องเศร้าหมองคือ กิเลส โลภโกรธหลงหรือไม่ ก็คือให้ดูว่าเมื่อทำความดีนั้นร้อนใจที่จะแย่งใครเขาหรือเปล่ากีดกันใครเขาหรือไม่ ฟุ้งซ่านวุ่นวายกะเก็งผลเลิศในการทำหรือเปล่า ต้องการจะทำทั้งๆ ที่ไม่สามารถจะได้แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจหรือโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทอุปสรรคหรือเปล่าถ้าเป็นคำตอบปฏิเสธทั้งหมดก็นับว่าดี เป็นการทำดีอย่างมีกิเลสห่างไกลจิตใจพอสมควรแล้วและถ้าพิจารณาใจตนเองเห็นความสว่างไสว สบายใจเย็นใจในการทำความดีใดๆ ก็นับว่ามีกิเลสห่างไกลใจในขณะนั้นอย่างน่ายินดียิ่ง จะเป็นเหตุให้ผลอันจะเกิดจากกรรมดีนั้นบริสุทธิ์สะอาดและสูงส่งจริง

พอเป็นสิ่งหายากในหมู่คน โลภ

นิ่งเป็นสิ่งหายากในหมู่คน โกรธ

หยุดเป็นสิ่งหายากในหมู่คน หลง
ที่มา : http://www.kanlayanatam.com/sara/sara111.htm
 

ให้โอกาสผู้กระทำผิดแก้ตัว คือการละลดสิ่งขุ่นมัวออกจากใจ


       หลายครั้งที่เราจะมีเรื่องบาดหมาง ไม่เข้าใจกับใคร หรือกลุ่มบุคคลหรือแม้แต่องค์กร เพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งคนในครอบครัว เป็นธรรมดาที่จิตของมนุษย์ทุกคนย่อมมีความโลภ โกรธและหลงท่ามกลางความไม่เข้าใจกัน โกรธเคืองหรือพยาบาทภายใน ย่อมเป็นเชื้อไฟให้เราเกิดแต่ความทุกข์ขึ้นภายในใจไม่จบสิ้นหากเราไม่พยายามทำความเข้าใจปลดปล่อยความทุกข์ที่มีออกมา

       การให้โอกาสตัวเองและผู้อื่นได้แก้ตัวในสิ่งที่เราหรือเขาหรือว่าหน่วยงานองค์กร บริษัทมีโอกาสแก้ตัว แก้การกระทำ ให้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ในการตั้งใจกระทำ ย่อมเป็นการปลดปล่อยความทุกข์ความขุ่นมัวภายในของเราออกไปในระดับหนึ่ง ไม่ใช่การเก็บกด อัดอั้น ความเคียดแค้นในการกระทำผิดของบุคคลอื่นมาทำให้ภายในของเราจะต้องร้อนรุ่ม กังวลภายใน ไม่เคยจบสิ้นหากเราไม่พยายามทำภายในของเราให้สะอาดขึ้นด้วยการให้โอกาส เกิดบ่อจิตแห่งการอภัย แม้จะเคยกระทำชั่วมามากมายแค่ไหนหากเกิดบ่อจิตแห่งการสำนึกผิดบ้างย่อมเป็นทางในการนำตัวพ้นจากกรรมที่จะกระทำชั่วต่อเนื่องได้ ความคิดเป็นจุดเริ่มต้นภายในแม้จะยังไม่กระทำเมื่อคิดที่จะแก้ตัวแก้ไขในสิ่งผิดพลาดต่างๆข้าพเจ้าก็ชื่นชมในความคิด เมื่อการกระทำเกิดขึ้นแล้วด้วยข้าพเจ้าคิดว่าบุคคลนั้นย่อมน่าสรรเสริญ แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองมีสิ่งที่เคยผิดพลาดมากมายในอดีต มีความหลังที่จะต้องสำนึกผิด ไม่ใช่เกิดเป็นคนแล้วจะทำดีไปเสียทั้งหมด ย่อมมีบ้างที่เคยกระทำให้คนอื่นเสียใจ เคยกระทำผิดบาปมาบ้าง แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่มากมาย แต่แค่เราสำนึกในความผิดอันน้อยนิดที่เคยกระทำก็ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งจิตภายในที่เริ่มขัดเกลาให้ใสสะอาดได้ในกาลข้างหน้า

การให้โอกาสผู้กระทำผิดแก้ตัวข้าพเจ้าแยกออกเป็นสองประเด็นคือ

- ตัวเราที่กระทำผิด

การให้โอกาสตัวเราเองในการแก้ไขในหลายเรื่องที่เคยกระทำผิดพลาดมาย่อมเป็นพื้นฐานในเบื้องต้นนั่นคือการที่เราสำนึกแล้วในความผิดพลาด สำนึกในการกระทำอันกระทบต่อตัวเราผู้อื่นหรือสังคมที่ผ่านมา แม้เพียงน้อยนิดในความผิด ไม่ใหญ่โตมากมาย ก็ย่อมมีความสำคัญมากในด้านภายในที่จะเริ่มขัดเกลาตัวตน เพราะบางคนเกิดมามีบาปติดตัวมาน้อย บางคนมีบาปมามากมาย ยิ่งมาสร้างเพิ่มในชาตินี้อีกย่อมเพิ่มพูน ถ้าหากเกิดความสำนึกให้โอกาสตัวเราเองได้ย่อมเห็นทางสว่างในเบื้องต้น อย่างน้อยเราขัดเกลาภายในของเราได้ดีย่อมบอกกล่าวผู้อื่นได้อย่างมั่นใจ

- บุคคลอื่น องค์กร หน่วยงานหรือที่อื่นใดที่กระทำผิด

หากเกี่ยวข้องกระทำต่อตัวเราแล้วทำให้ภายในเราขุ่นมัว เคลือบแคลงสงสัยหรือโกรธเคือง หากเราให้โอกาสให้พวกเขาได้แก้ตัว ได้เปลี่ยนแปลงย่อมแสดงถึงน้ำจิตน้ำใจที่งดงาม ท่ามกลางความผิดบาปที่มากมีแม้จะมีคนดีเหลือน้อยมากในสังคม แต่ถ้าคนชั่วแค่เศษหนึ่งส่วนสี่ได้สำนึกผิดและมีโอกาสแก้ตัวแก้ไข ย่อมทำให้หนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้นได้ แค่น้ำใจหนึ่งหยดที่เราให้โอกาสในการสร้างความดีเปลี่ยนแปลงตัวตนย่อมเป็นบุคคลที่นับได้ว่าภายในเริ่มสว่างท่ามกลางความขุ่นมัวภายในที่ค่อยๆลดลง ทิฐิภายใน ความทุกข์ที่เริ่มพอกพูนอย่างไม่รู้ตัวย่อมค่อยๆปลดลดลงจากภายในเมื่อเราเปิดใจเปิดทางให้คนอื่นอย่างกล้าหาญ ไม่ใช่แค่การกล่าวด่าสาปแช่งหรือแสดงกิริยาเหยียดหยามรังเกลียดดูหมิ่นแต่เป็นน้ำใจอันมากมีที่มีอยู่ให้โอกาสและเวลาในการแก้ไขตัวตนของบุคคลอื่นหรือแม้แต่ที่ๆเราไม่พอใจ หรือคิดว่าพวกเขากระทำผิดได้มีโอกาสแก้ตัว

ดังเช่น นักโทษในเรือนจำ พวกเขายังมีโอกาสได้อภัยโทษ มีโอกาสได้แก้ไขสำนึกในบาปกรรมที่กระทำย่อมเป็นน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ ที่กรุณา ลูกที่เรารักมากหากทำผิดพลาดเช่นเกเร ติดยาเสพติด ก่อความเดือดร้อนมากมายพ่อแม่ทุกข์ใจมากมี หากเราให้โอกาสเขาแก้ตัว สำนึกผิด ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้คนชั่วกลับตัวเป็นคนดีได้ แม้จะดีได้เพิ่มอีกนิดนึงก็ยังดีกว่าไม่มีโอกาสให้พวกเขาเลย เพราะการขัดเกลาภายในของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามระยะเวลา แต่แค่เพียงโอกาสอันน้อยนิดที่เราให้อาจจะยิ่งใหญ่และมีค่ามากมายสำหรับบุคคลที่เคยกระทำผิด หากเขาพร้อมที่จะสำนึกแล้วแม้จะใช้เวลาบ้างก็ตาม แต่ทุกหนทางย่อมมีโอกาสที่จะเพิ่มความดีเข้าสู่สังคมตามวาระอันสู่ความสุขสงบได้ในกาลต่อไป

ท่ามกลางความทุกข์ภายในใจรับรู้ ไม่อุดอู้ดูโอกาสวาดให้เห็น

ให้โอกาสคนผิดคิดให้เป็น เปลี่ยนเฉกเช่นจากชั่วทำตัวดี

แม้เพียงน้อยนิดคิดสำนึก ย่อมเริ่มฝึกภายในใสขึ้นที่

การสำนึกตรึกไตร่ตรองคล้องความดี เกิดสิ่งที่เรียกว่าค่าของคน

แม้โอกาสจะมีดีให้ฝึก ในเบื้องลึกจะต้องมองให้พ้น

ให้ก่อเกิดดีตลอดรอดในตน ฝึกเป็นคนดีสะอาดไม่ขลาดเอย

ที่มา : http://www.bt-50.com/topic.php?q_id=25070

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

สิ่งที่ทำให้ท่านเป็นผู้นำที่แตกต่างจากคนอื่นได้


ความลับของการเป็นผู้นำที่ดีนั้น ผมคิดว่าใครๆ ที่ทำหน้าที่ผู้นำย่อมจะอยากได้ เพราะส่วนใหญ่คนที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำในองค์กรต่างๆ นั้น ต่างก็อยากจะเป็นผู้นำที่ดี แต่อาจจะไม่ทราบว่าผู้นำที่ดีนั้นจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร หรือต้องมีอะไรที่แตกต่างจากผู้นำคนอื่นๆ บ้าง กูรูเจ้าประจำที่มีชื่อว่า Ken Blanchard ก็ได้ให้แนวทางไว้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ท่านเป็นผู้นำที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้อื่นได้มีอยู่ 6 ปัจจัยด้วยกัน ดังนี้ครับ
  • Optimism แปลเป็นไทยว่า มองโลกในแง่ดี ผู้นำที่โดดเด่นกว่าคนอื่นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเสมอ แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เอามากๆ ผู้นำที่ดีก็จะมองโลกในแง่ดีเสมอ เพราะเขารู้ว่าการที่เขามองโลกในแง่ดีนั้น จะส่งผลทำให้ผู้ตามมองโลกในแง่ดีไปด้วย และจะทำให้การบริหารงานง่ายขึ้น เพราะการมองโลกในแง่ดีนั้นจะทำให้ทุกคนเกิดความเชื่อที่ดี เกิดความเชื่อในทางบวกมากกว่าทางลบ และความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการที่เรามัวแต่เชื่อในทางลบ
  • Judgment แปลว่า มีดุลยพินิจและการตัดสินใจที่เฉียบขาดและเที่ยงตรง ผู้นำที่แตกต่างจากคนอื่นนั้นจะมีสิ่งหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกกว่า Gut ซึ่งก็คือ มีความสามารถในการประมวลผล และหยั่งรู้ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างเที่ยงตรงและเฉียบขาด แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนตาม ผมคิดว่าสิ่งนี้สามารถสร้างขึ้นโดยอาศัยประสบการณ์ในการทำงาน และความชำนาญในงานนั้นๆ รวมทั้งมีตรรกะในการคิดและคาดการณ์ที่ดี ก็จะผิดกับผู้นำบางคนที่เป็นผู้นำ และขาดความมั่นใจในการตัดสินใจ ไม่กล้าที่จะฟันธง และมักจะรอข้อมูลที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งบางครั้งก็ช้าไปแล้วสำหรับการที่จะต้องตัดสินใจทำอะไรที่รวดเร็ว
  • Ownership มีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของงานที่ทำ มีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่แม้ว่า งานนั้นตนเองจะไม่ใช่เป็นทำเองกับมือก็ตาม คนที่เป็นผู้นำที่แตกต่างจากคนอื่นได้นั้น จะต้องมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำงานตามที่สั่งไว้เป๊ะๆ หรือแค่ทำให้เหมือนเดิมทุกปีไปเรื่อยๆ แบบนี้จะไม่มีโอกาสเป็นผู้นำที่แตกต่างจากคนอื่นได้เลยครับ เมื่อเรารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของงานที่เราทำอยู่นั้น จะยิ่งทำให้เราอยากที่จะสร้างผลงานที่ดีกว่าปกติ ยิ่งถ้าเราเป็นผู้นำทีม และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของงานอีก ก็จะยิ่งทำให้เราเป็นผู้นำที่ดีกว่าคนอื่นได้อย่างชัดเจน
  • Initiative ก็คือความคิดสร้างสรรค์ สามารถที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา ผู้นำที่แตกต่างและโดดเด่นจากผู้นำคนอื่นๆ จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ในบางตำราอาจจะเรียกว่ามีวิสัยทัศน์ ก็พอได้อยู่ เนื่องจากชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “ผู้นำ” แสดงว่าจะต้องเป็นคนที่คิดและสร้างสิ่งใหม่ๆ ก่อนคนอื่น เพราะถ้าคิดได้หลังคนอื่นก็คือ “ผู้ตาม” มากกว่า ไม่ใช่ผู้นำ
  • Courage มีความกล้าได้กล้าเสีย หรือ กล้าเสี่ยงที่จะตัดสินใจในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เนื่องจากคนที่เป็นผู้นำนั้นมักจะไม่ค่อยมีใครให้คำปรึกษา ตัวเองจะต้องสามารถที่จะถามและตอบตัวเองได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้นำที่ดีและโดดเด่นจากคนอื่นจะต้องสามารถที่จะสร้างกำลังใจ สร้างพลังให้กับตนเองได้ตลอดเวลา เพราะเขาเป็นคนที่อยู่สูงสุดแล้ว จะไปหากำลังใจจากที่อื่นก็คงจะยาก ดังนั้น เขาจะต้องสร้างพลังจากใจของตนเอง เพื่อที่จะได้ส่งต่อพลังที่ดีนี้ไปยังผู้ตาม เพื่อให้พลังนี้ส่งต่อไปเรื่อยๆ ทั้งองค์กร ผู้นำองค์กรบางแห่งขาดพลังตัวนี้ ก็จะทำให้พนักงานเกิดความระส่ำระส่าย และเกิดความกลัวอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้นำกลัว ผู้ตามก็เลยกลัวไปด้วยเช่นกัน
  • Servant hood ผู้นำที่ยอดเยี่ยมจะมีจิตใจที่อยากช่วยเหลือคนอื่นให้ประสบความสำเร็จด้วย ไม่ใช่ทำงานคนเดียว หรือ เอาหน้าคนเดียวโดยที่ไม่สนใจ หรือใส่ใจผู้อื่นที่ตนเองทำงานด้วย คนที่เป็นผู้นำที่แท้จริง มักจะช่วยให้คนอื่นประสบความสำเร็จในการทำงาน และทำให้คนอื่นรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความสำเร็จนั้น
ปัจจัย 6 ประการข้างต้น เป็นปัจจัยที่จะทำให้ท่านเป็นผู้นำที่แตกต่างจากคนอื่น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นหลักการหรือทฤษฎีอะไรเลย เป็นเรื่องจริงที่เขาศึกษามาจากคนที่เป็นผู้นำที่โดดเด่น ว่าแต่ละคนนั้นมีอะไรที่ทำให้เขาโดดเด่นอย่างแท้จริง ก็เลยเกิดปัจจัย 6 ประการนี้ขึ้นมาครับ
ท่านผู้อ่านจะเอาไปประยุกต์ปรับใช้กับตนเองก็ยิ่งดีนะครับ เพื่อที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้นำที่โดดเด่นกว่าคนอื่นได้
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก http://prakal.wordpress.com

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

อยากมีความสุข...จงทำตัวเหมือนน้ำ


บางครั้งการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ต้องรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน วัฒนธรรม ค่านิยม ฯลฯ หรือสภาพแวดล้อมภายใน ซึ่งได้แก่ ฐานานุรูป หรือสถานะทางสังคมของตัวเองและครอบครัว ความรู้ ฯลฯ

หลายคนเป็นทุกข์ หาความสุขไม่เจอ เพราะไม่สามารถ "ปรับตัว" ให้เข้ากับปัจจัยทั้ง 2 ประการได้ น้ำเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวเหล่านี้

1. รู้จักประมาณตัว

Water Being : น้ำ ไม่ว่าจะอยู่ในภาชนะรูปแบบไหน ๆ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติลักษณะใด ๆ ก็สามารถทำตัวกลมกลืนมีรูปร่างไปตามนั้น เช่น อยู่ในแอ่งเล็ก ๆ อยู่ในสระขนาดกลาง อยู่ในบึงกว้าง ๆ อยู่ในทะเลสาบขนาดใหญ่ หรือแม้แต่อยู่ในมหาสมุทร น้ำก็อยู่ได้

Being Water : คนเองก็ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับที่อยุ่หรือสิ่งแวดล้อมที่ห่อหุ้มชีวิต อยู่บ้านใหญ่ก็อยู่ได้ อยู่บ้านเล็กก็ปรับตัวให้เหมาะสม เศรษฐกิจดีก็ใช้เยอะ เศรษฐกิจแย่ก็ตัดรายจ่ายได้ ไม่ทุกข์ร้อนใจ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ตามภาษิต นกน้อยทำรังแต่พอตัวเบื้องต้น คนต้องรู้ตัวเองเสียก่อนว่าเป็นน้ำในอะไร บางคนเป็นแค่น้ำขังในกะลา ทว่าใช้ชีวิตเหมือน้ำในทะเลสาบ แน่นอนล่ะ ในที่สุดก็ต้องอัตคัตขัดสน หามาได้ก็ใช้หนี้ หมุนวนอยู่อย่างนั้น เพราะดำเนินชีวิตแบบ "เกินกำลัง" ของตัวเอง เมื่อรู้ตัวแล้ว ก็ต้องรู้สถานการณ์ มีแล้วค่อยใช้ ไม่มีให้เก็บออม คนสมัยนี้ชอบเอา "เงินอนาคต" มาใช้ เงินอนาคตหมายถึงอะไรน่ะหรือ ก็หมายถึงเงินหรือรายได้ที่คาดว่าจะได้ในวันข้างหน้า แต่ก็เลือกที่จะใช้เสียในวันนี้ เช่น ซื้อของเงินผ่อน กู้ หรือรูดบัตรเครดิตไปก่อน แล้วค่อยจ่ายทีหลัง มีจ่ายก็ดีไป ถึงเวลารายได้ไม่มาอย่างที่คิด ลำบากเอามาก ๆ

2. รู้จักถ่อมตน-เคารพคนอื่น

Water Being : น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ น้ำตกเกิดเพราะบนที่สูง บนยอดเขามีน้ำอยู่มาก ไม่ว่าอยู่บนผิวดินหรือใต้ดิน ถึงที่สุดก็ต้องไหลลงสู่ที่ต่ำ

Being Water : เปรียบดั่งคนที่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ติดยึดกับหัวโขนที่สวมอยู่ ว่าฉันเป็นมหาเศรษฐี ฉันเป็นอธิการบดี ฉันเป็นรัฐมนตรี ฉันเป็นกรรมการผู้จัดการ ฉันเป็นนายพล ฯลฯ แต่สามารถปรับตัวได้ตามกาลเทศะ พบผู้อาวุโสก็รู้จักนอบน้อม พบผู้อ่อนอาวุโสหรือด้อยฐานะกว่า ก็เคารพ ให้เกียรติ และมีเมตตา ไม่ดูถูก ไม่รังเกียจ

3. รู้จักยืดหยุ่น

Water Being : น้ำนั้นอ่อนนุ่ม แต่มีแรงปะทะมหาศาล ยามที่อยู่เฉย ๆ น้ำไม่ทำร้ายใคร แต่ยามที่น้ำไหลบ่าก็สามารถทำลายแม้กระทั่งขุนเขาขนาดมหึมา

Being Water : คนจึงต้องรู้จักอดทน อดกลั้น และข้ามผ่านช่วงเวลาที่ไม่น่าพอใจไปให้ได้ ด้วยการรู้จักยืดหยุ่น รู้เขารู้เรา รู้จักถอยเพื่อก้าว เมื่อได้ชัยชนะให้เกียรติคู่ต่อสู้ แข็งมาอ่อนกลับ ชนะจากภายในสู่ภายนอก จะชนะผู้อื่นได้จึงต้องทำตัวเหมือนน้ำทั้งกายภาพและจิตใจ ใช้ความอ่อนนุ่มสยบความแข็งกร้าว ว่าไปแล้วประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายร้อยหลายพันปีก็มีตัวอย่างมายืนยันความคิดนี้ ผู้ชายที่มีอำนาจอันแข็งแกร่งล้วนแต่พ่ายแพ้ต่อสตรีที่อ่อนโยนและเลอโฉมมาแล้วทั้งสิ้น
ที่มา : นิตยสาร First

ทำอย่างไรจึงจะอยู่อย่างมีความสุข


ความเอ๋ย ความสุข

ใครๆทุกคน ชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา

แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา

แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ

ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข

ถ้ามันเผา เราก็ สุกหรือเกรียมได้

เขาว่าสุข สุขเน้อ อย่าเห่อไป

มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอ่ยฯ

ท่านพุทธทาสภิกขุ

ความสุข เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ที่สามารถแสวงหาได้ ซึ่งแนวทางในการทำตัวให้มีความสุข มีดังต่อไปนี้

1. การรักษาสุขภาพทางกายให้แข็งแรง

สุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตมีอิทธิพลต่อกันและกัน คนที่มีสุขภาพกายดีย่อมส่งผลให้มีจิตใจร่าเริงเข้มแข็ง การทำให้สุขภาพแข็งแรง ได้แก่การรับประทานอาหารถูกส่วน การพักผ่อนเพียงพอ การรักษาความสะอาดของร่างกาย ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างพอเพียง

2. มีความสุขกับการทำงาน

การเลือกทำงานที่ชอบหรือการสร้างความพึงพอใจในงานที่ทำ หาวิธีการทำงานให้มีความสุข พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายหลายอย่างภายในขอบเขตที่สังคมยอมรับ ตามความสามารถของตนเอง และมองเห็นหนทางไปสู่ความสำเร็จได้ แล้วลงมือปฏิบัติอย่างตั้งใจก็ย่อมจะเกิดความสุข เกิดความปิติจากความสำเร็จในงานตามมา

3. รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง

ควรได้สำรวจตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร ต้องยอมรับว่าคนเรามีทั้ง ส่วนดีและส่วนเสีย เราต้องมองหาส่วนดี เห็นคุณค่า ชื่นชม พยายามพัฒนาส่วนดี พร้อมทั้งยอมรับในข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แล้วหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข คนที่มีความสุขนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่เคยพบอุปสรรค ข้อขัดแย้งในใจ หรือไม่เคยพบปัญหา แต่อาจจะเป็นคนที่บางครั้งแก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องใช้ความพยายาม ความอดทน ก็จะสามารถเผชิญปัญหาไปได้

4. มีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี

ควรมองหาความสุข ความเพลิดเพลิน เพื่อช่วยลดความตึงเครียดต่างๆ ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย การหัวเราะทำให้จิตใจเบิกบาน มีการกระเพื่อมของหน้าท้อง หัวใจปอดได้ออกกำลัง มีผลถึงกล้ามเนื้อหัวไหล่ แขน หลัง กระบังลม และขา เกิดความพึงพอใจในความสุข นอกจากนี้ไม่ควร มองโลกในแง่ร้าย เวลาจะทำอะไรต้องหาจุดดีของเรื่องนั้นให้พบ เมื่อพบแล้วทำความพอใจและชื่นชม ก็จะเกิดแต่ความดีงาม

5. ไม่ควรเก็บอารมณ์ขุ่นมัว

การเก็บกดอารมณ์ทำให้เกิดความ ขุ่นมัว สับสน วุ่นวายใจ เป็นการก่อให้เกิดความตึงเครียด ทางอารมณ์ ผลทำให้สีหน้าหม่นหมอง น่าเกลียด ขากรรไกรประกบกันแน่น ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอย เหี่ยวย่น ผมสีเทา-ขาว ผมร่วง โรคผื่นคัน พุพอง และสิวตามมา เราควรต้องหาทางระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัว โดยการแสดงออกในทางที่สังคมยอมรับและได้ตอบสนองตามความต้องการของเรา แต่ถ้าพบความยุ่งยากใจเพิ่มขึ้น ก็ควรหาวิธีหลีกเลี่ยงเสียก่อน เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์จะเผชิญความตึงเครียดทางอารมณ์ได้ถึง ขีดหนึ่งเท่านั้น จากนั้นต้องหาทางผ่อนคลาย ดังคำกลอนที่ว่า

เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง วุ่นก็ให้ว่าง ทุกอย่างก็สบาย

6. ควรมีงานอดิเรกและการพักผ่อนหย่อนใจ

ควรหาอะไรที่ชอบและพอใจทำ ทำในเวลาว่างที่เหลือจากกิจวัตรประจำวัน การทำอะไรในสิ่งที่พึงพอใจย่อมเกิดความสุขเพลิดเพลิน ทำให้ไม่มีเวลาว่าง ที่จะคิดกังวลเรื่องต่างๆ เป็นการฝึกการใช้เวลาว่างนั้นๆให้มีสมาธิในการทำสิ่งที่พอใจ ซึ่งจิตมีสมาธิจะเป็นจิตที่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวง่าย พบว่า งานอดิเรกที่เกี่ยวกับกีฬาจะช่วยให้มีความสุข สนุกสนาน ร่าเริง แจ่มใส นอกจากนั้นการได้ท่องเที่ยวไปกับธรรมชาติที่กว้างใหญ่ เช่น ท้องฟ้า ทะเล ป่าเขาลำเนาไพร จะก่อให้เกิดความปลอดโปร่ง สดชื่น มีความสุข และถ้าต้องการทำจิตให้เป็นสมาธิในทางศาสนาจะก่อให้เกิดความสงบสุขทางใจเป็นอย่างมาก

7. หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ

แต่ละชีวิตย่อมมีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันไป เราจึงควรหาเพื่อนหรือใครสักคนที่สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขได้ ค้นหาคนที่คุณรักและเขารักคุณ ช่วยเหลือเกื้อกูล ปลอบขวัญ บำรุงจิตใจซึ่งกันและกัน สามารถที่จะระบายทุกข์ ปรึกษาขอความคิดเห็น การแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือในที่สุดอาจจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะแนวและการบำบัดทางจิตโดยเฉพาะ ทั้งนี้ขึ้นกับปัญหาความซับซ้อน ซึ่งนับเป็นวิธีการแก้ปัญหาการปรับตัวตั้งแต่ต้นที่ชาญฉลาด

8. พร้อมที่จะเผชิญปัญหาและความกังวลใจ

เมื่อพบอุปสรรค พึงพิจารณาปัญหาอย่างใช้เหตุและผล โดยค้นหาข้อเท็จจริง มองปัญหานั้นๆและหาวิธีการต่างๆในการแก้ปัญหา ทำการตัดสินใจ แล้วปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจไว้ หรือถ้าปัญหารุมเร้ามากจนต้องการหลีกให้พ้น จงใช้ชีวิต อยู่เพื่อวันนี้เท่านั้นดังคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุว่า

สิ่งล่วงแล้ว แล้วไป อย่าใฝ่หา

ที่ไม่มา ก็อย่าพึง คนึงหวัง

อันวันวาน ผ่านพ้น ไม่วนวัง

วันข้างหน้า หรือก็ยัง ไม่มาเลย

หรือถ้าปัญหาต้อนท่านไปจนมุม ให้มองพิจารณาดูผลร้ายที่เกิดขึ้นแล้วทำใจให้ยินดีเผชิญกับสิ่งนั้นๆ เมื่อเวลาผ่านไปให้พิจารณาว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ทำลายความสุขแห่งชีวิตมามาก เพียงพอแล้ว แล้วหันกลับใช้เหตุผลในการพิจารณาแก้ไขสิ่งร้ายๆให้กลายเป็นดีด้วยใจสุขุมเยือกเย็น ท่านก็จะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

9. ใช้เวลาเป็นยารักษาความเจ็บปวด

เมื่อพบกับความผิดหวังจงใช้เวลาเป็นเครื่องช่วยเยียวยา เมื่อพลาดหวังแล้วจงอดทน และมีความหวังต่อไป ความหวังเป็นพลังหรือแรงจูงใจ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต เมื่อประสบความผิดหวัง ไม่ควรใช้วิธีถอยหนีหรือเลี่ยงปัญหา ควรคิดเสมอว่า ท้อแท้-หงอย ท้อถอย-แพ้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ไม่ควรแก้ปัญหาโดยใช้สิ่งเสพย์ติด เช่นสุรา หรือยาบางชนิด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลืมความทุกข์ ได้เพียงชั่วขณะ ไม่ทำให้เราพิจารณาใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เป็นการหลีกหนีปัญหาที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

10. ค้นหาเป้าหมายของชีวิต

การคิดฝันไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความคิดฝันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งความคิดฝันจะทำให้เรามีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ มีแรงจูงใจ มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตใกล้เคียง กับความสามารถที่แท้จริงและสอดคล้อง กับความเชื่อและอุดมคติ แล้วทำการลงมือปฏิบัติเพื่อไปสู่ เป้าหมาย ถ้าทำเช่นนี้ได้เราก็จะประสบความสำเร็จและความสมหวัง เกิดความสุขทางใจได้

จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการเสนอแนวทางในการปฏิบัติอย่างกว้างๆการทำตัวให้มีความสุขได้เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ต้องอาศัยการเรียนรู้ และหาวิธีการ แล้วนำไปดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการของผู้ต้องการแสวงหาความสุขนั่นเอง

ในท้ายที่สุดขอฝาก

อันทุกข์สุขอยู่ที่ใจ มิใช่หรือ ใจเราถือเป็นทุกข์ไม่สุกใส

ใจไม่ถือเป็นสุขไม่ทุกข์ใจ เราอยากได้ความทุกข์หรือสุขนา

ที่มา: จิรา เติมจิตรอารีย์

นับถือตัวเองให้ได้ ความสุขจะไปไหนเสีย

การนับถือตัวเอง หรือ self-esteem ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตให้เปี่ยมสุข

การนับถือตัวเอง หมายถึง บุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองมีความซื่อสัตย์ มีความภูมิใจในผลสำเร็จของงาน บุคคลซื่งมีความคิดริเริ่มและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและรับผิดชอบปัญหาที่จะเกิดตามมา เป็นคนที่คนอื่นรักและรักคนอื่น เป็นบุคคลที่สามารถควบคุมตัวเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงาน

สรุปแล้วคนที่นับถือตัวเองสูง คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบสูงและซื่อสัตย์ ตรงกันข้ามกับคนที่มี self-esteem ต่ำ หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่ามี "พฤติกรรมป้องกัน" (defensive) คนกลุ่มนี้ชอบพิสูจน์ตัวเอง วิจารณ์คนอื่น หรือใช้คนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง บางคนอาจจะแสดงออกในลักษณะของความเย่อหยิ่ง หรือดูถูกผู้อืน ทั้งที่จริงลึกๆ ข้างในไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ว่ามีคุณค่าหรือความสามารถ หรือได้รับการยอมรับหรือไม่ เพียงไร คนกลุ่มนี้จึงไม่กล้าทำอะไร เนื่องจากกลัวความล้มเหลวจึงแก้ปัญหาด้วยการวิจารณ์คนอื่นมากกว่าที่จะลงมือกระทำด้วยตัวเองที่สำคัญคือ ยังพบด้วยว่า คนที่นับถือตัวเองต่ำมักนำพาตนเองไปสู่ความเสี่ยงนานัปการ เช่น ชอบใช้ความรุนแรง ติดสุรา ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ฯลฯ นับถือตัวเอง ไม่ใช่หลงตัวเอง คนที่นับถือตัวเองสูง หรือเรียกได้ว่ามี selfesteem มักจะประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

  • มองโลกในแง่ดีเสมอ มองวิกฤตให้เป็นโอกาส เมื่อมีมืดต้องมีสว่าง มีร้ายต้องมีดี ขาวคู่กับดำ
  • ประเมินตัวเองให้มีคุณค่าอยู่เสมอ
  • เชื่อมั่นในความสามารถตัวเอง
  • มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ต้องการ

ขณะที่ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าตัวเองไม่มีความมั่นใจจะไม่มีความหวัง ไม่มีพลังในการต่อสู้ และในที่สุดจะเป็นคนที่ซึมเศร้า

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่า การนับถือตัวเอง คือเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่จะนำไปชีวิตไปสู่สุขภาวะและห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพนานัปการ ทั้งทางกายและทางใจ แล้วทำไมไม่หาเวลาทบทวนและก่อร่างสร้างพื้น ฐานอันสำคัญนี้ให้แข็งแกร่งอยู่คู่ตัวเรากันเล่า...
นับถือตัวเอง ต้องสร้างด้วยตัวเอง
รู้ไหมว่า...
ความเชื่อมั่นตนเองและรู้คุณค่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต
ลำพังความคิดอย่างเดียวไม่สามารถสร้างความมั่นใจในตัวเองได้
ความมั่นใจจะเริ่มสร้างตั้งแต่เด็กจนกระทั่งตาย
ความมั่นใจจะกระทบต่อการตัดสินใจ ดังนั้นทุกคนต้องสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างของความมั่นใจ เช่น หากคนจะเปลี่ยนอาชีพเขาจะต้องมั่นใจในตัวเองหรือมีคนอื่นเห็นถึงความสามารถของเขาที่จะทำให้สำเร็จ เมื่อมีความผิดหวังหรือความเครียดความมั่นใจหรือเชื่อมั่นในตัวเองจะช่วยให้แก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านไปด้วยดี
ผู้ที่มีความมั่นใจสูงมักจะไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ดื่มสุราหรือติดยาเสพติดเด็กหญิงวัยรุ่นที่มีความมั่นใจสูงมักจะไม่ประพฤติผิดประเพณี
ความมั่นใจเป็นลักษณะของแต่ละคนไม่สามารถที่จะให้กันได้แต่สามารถฝึกฝนได้
ในสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ คนที่มีความมั่นใจและมีความสามารถในการตัดสินใจ ความคิดริเริ่มใหม่ๆ การปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อให้เข้าใจเหมือนกัน คนเช่นนี้จึงจะอยู่รอดในสังคม

ต่อไปนี้คือแนวทางเสริมสร้างความนับถือตัวเอง เพื่อที่จะเป็นคนที่บรรลุซึ่งมีประสิทธิภาพสูง (Peak Performance)

  • หาเวลาสักหนึ่งชั่วโมงในตอนเช้าเพื่อพัฒนาตัวเอง อาจจะเป็นการนั่งสมาธิ หรือการพิจารณาตัวเองหรืออ่านหนังสือที่สร้างความเชื่อมั่น
    หรือฟังเทปคำสอนต่างๆ การเริ่มต้นที่ดีจะทำให้เกิดความมั่นใจและประสบผลสำเร็จ
  • มองปัญหาและมองโลกในแง่ดี เลิกบ่นสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง ลองหากระดาษสักแผ่นจดความคิดที่ดีๆ เกี่ยวกับตัวเองไว้ด้านหนึ่ง
    อีกด้านหนึ่งจดสิ่งที่ไม่ดีแล้วมาวิเคราะห์ ว่ามีสิ่งไม่ดีหรือสิ่งที่ดีมากว่ากัน หานามบัตรจดสิ่งที่ดี
    หรือคำขวัญที่ดีไว้กระตุ้นเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา
  • ทำบ้านให้ปราศจากความวุ่นวาย ฟังเพลงอ่านหนังสือ หรือคุยกับเพื่อนที่สนิท
  • หาวันละ 10 นาทีเพื่อพิจารณาจุดยืนของตัวเอง สิ่งที่สำคัญของชีวิตคืออะไร เราบรรลุหรือยัง เราเดินผิดแนวทางหรือไม่
  • ให้เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น เพราะเราต้องยอมรับว่าคนเราไม่มีใครที่สมบูรณ์ทุกด้าน
  • ให้จดสิ่งที่ดีเกี่ยวกับตัวคุณ เช่น ความซื่อสัตย์ความคิดริเริ่ม ความมุ่งมั่น ความเอื้ออาทร เป็นต้น ให้อ่านสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ
  • ควรคบหากับคนที่มองโลกในแง่ดี หรือคนที่มี self-esteem เพราะเพื่อนจะกระตุ้นให้เรามีความมั่นใจและความมุ่งมั่นเพิ่มขึ้น
    ตรงกันข้ามหากคบคนที่มองโลกในแง่ร้ายจะทำให้เรามองโลกในแง่ร้าย ความมั่นใจก็จะสูญเสียไป
ที่มา:คอมลัมภ์วิถีสุข วารสารต้นคิด

    วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

    อาร์คิว … ภูมิคุ้มกันทางใจ

    RQ - Resilience Quotient

    วิกฤติย่อมพลิกเป็นโอกาสได้เสมอ แต่การจะสร้างโอกาสในภาวะวิกฤตได้ จิตใจต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีมาก่อน มิฉะนั้นจะถูกวิกฤตโหมกระหน่ำ ทำร้ายจนหมดแรงกาย หมดพลังใจ

    อาร์คิว (RQ) ย่อมาจาก Resilience Quotient ซึ่งก็คือ พลังสุขภาพจิต หรือภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้ายๆ ไปได้ โดยมีการฟื้นฟูสภาพอารมณ์และจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ไม่จมอยู่กับความทุกข์ มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง และในบางคนที่มี อาร์คิว (RQ) ดี ก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อีกด้วย มีจิตใจเข้มแข็ง แกร่งกว่าเดิม

    อาร์คิว (RQ) เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลที่ทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างแข็งแกร่ง มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ อึด-ฮึด-สู้ กล่าวคือ

    อึด คือ มีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถทนทานต่อภาวะกดดันได้ดี จัดการความเครียดได้อย่างเหมาะสม ควบคุมอารมณ์ได้ดี ยิ้มสู้กับทุกสถานการณ์

    ฮึด คือ มีศรัทธาและกำลังใจที่ดี เชื่อว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆ ย่อมผ่านพ้นไปได้ สามารถให้กำลังใจตัวเอง และได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง

    สู้ คือ สามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคอย่างชาญฉลาด มีทักษะในการแก้ไขปัญหาดี หาทางออกได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้

    หลักคิดในการพัฒนาตนเองให้มีอาร์คิว (RQ) ที่ดี มีเทคนิคสำคัญคือ 4 ปรับ 3 เติม คือ ปรับอารมณ์ ปรับความคิด ปรับพฤติกรรม ปรับเป้าหมาย เติมศรัทธา เติมมิตร และเติมจิตใจให้กว้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมให้พร้อมก่อน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันทางใจ เสมือนการฉีดวัคซีน ซึ่งต้องทำก่อนที่โรคระบาดจะมา เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันก็สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ เช่นเดียวกัน เมื่อจิตใจมีภูมิคุ้มกัน ก็สามารถต่อสู้กับเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ได้

    ปรับอารมณ์ คือ การตั้งสติ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่โกรธแค้นหรือโทษใคร

    ปรับความคิด คือ การคิดในมุมบวก มองให้ลึกถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

    ปรับพฤติกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่

    ปรับเป้าหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

    เติมศรัทธา คือ ความเชื่อที่ว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อผ่านพ้นความมืดตอนกลางคืนไปแล้ว พระอาทิตย์ย่อมขึ้นมาให้ความสว่างเสมอ

    เติมมิตร คือ มิตรสหาย และครอบครัว ที่คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจเพื่อช่วยหาทางออก

    เติมจิตใจให้กว้าง คือ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มองไปให้ไกลออกจากตัวเรา ในขณะที่เรามีความทุกข์ยากลำบาก ก็ยังมีคนอื่นๆ ที่มีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา บางคนอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ

    การสร้างอาร์คิว (RQ) เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และผ่านพ้นไปได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถทำได้โดยช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นส่วนสำคัญของครอบครัวและสังคม ที่อุดมด้วยความรัก ความห่วงใย ให้กำลังใจกันเสมอ ปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เน้นการมีส่วนร่วมในการคิด และตัดสินใจเรื่องต่างๆ ร่วมกับพ่อแม่ จุดประกายความฝัน สร้างเป้าหมายในอนาคต แม้ว่าโตขึ้นจะไม่เป็นไปตามนั้น แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความหวังต่ออนาคต

    เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ถ่ายทอดประสบการณ์ของพ่อแม่ให้ลูกฟัง ชี้แนะและฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา และการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมให้กับเด็ก ฝึกให้เด็กรู้จักพูดคุยเล่าความรู้สึกนึกคิด ระบายความทุกข์ใจ ไม่เก็บกดไว้ ฝึกมุมมองความคิดในด้านบวก ไม่มองโลกในแง่ร้าย

    IQ ช่วยให้สามารถเรียนรู้และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีเหตุผล

    EQ ช่วยให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

    RQ ช่วยให้สามารถเอาชนะอุปสรรคได้อย่างแข็งแกร่ง