คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยเรื่อง บัว 4 เหล่า

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว แต่เนื่องจากพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงเกิดความท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรมโปรดมหาชน ต่อมาท่านได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ดังนั้นแล้วจึงดำริที่จะแสดงธรรมเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป
บัว ๔ เหล่า ได้แก่

๑.พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)
๒.พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปจิตัญญู)
๓.พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)
๔.พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)

กระบวนการสอนแนะ(Coaching)

Coaching หมายถึง การสอนแนะ  ซึ่งการสอนแนะเป็นเทคนิคหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร ทั้งนี้จะเรียกผู้สอนงานว่า “Coach” โดยปกติผู้เป็น Coach สามารถเป็นได้ทั้งผู้บริหารระดับสูง (Top Management level ) เช่น ผู้อำนวยการ  ระดับกลาง ( Middle Management level ) เช่น ผู้จัดการฝ่าย    และระดับต้น  ( Low Management level ) เช่น หัวหน้างาน ส่วนผู้ถูกสอนแนะโดยปกติจะเป็นลูกน้องที่อยู่ภายในทีม หรือกลุ่มงานเดียวกันเรียกว่า  Coachee
การสอนแนะคือ วิธีการในการพัฒนาสมรรถภาพการทำงานของบุคคลโดยเน้นไปที่การทำงานให้ได้ตามเป้าหมายของงานนั้น หรือ การช่วยให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่และ/หรือ ได้รับการอบรมมาไปสู่การปฏิบัติได้
            จากความหมายของการสอนแนะที่ได้ประมวลมา อาจสรุปได้ดังนี้
1. มีลักษณะเป็นกระบวนการ  คือ ประกอบด้วยวิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ ที่วางแผนไว้อย่างดี ดำเนินการตามขั้นตอน จนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย
2. มีเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง 3 ประการ คือ
2.1 การแก้ปัญหาในการทำงาน
2.2 พัฒนาความรู้ ทักษะหรือความสามารถในการทำงาน
2.3 การประยุกต์ใช้ทักษะหรือความรู้ในการทำงาน    
3. มีลักษณะปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนแนะกับผู้รับการสอนแนะ คือ เป็นกลุ่มเล็กหรือรายบุคคล (one-one-one relationship and personal support) และใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
4. มีหลักการพื้นฐานในการทำงาน ได้แก่
4.1  การเรียนรู้ร่วมกัน (co-construction) คือ ไม่มีใครรู้มากกว่าใคร จึงต้องเรียนไปพร้อมกัน
4.2 การให้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง 
4.3 การเสริมพลังอำนาจ (empowerment) เป็นการช่วยค้นหาพลังในตัวบุคคล เมื่อค้นเจอก็คืนพลังนั้นให้เขาไป
5. เป็นกระบวนการที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพ  กล่าวคือ ในการพัฒนาวิชาชีพต้องมีความสัมพันธ์กับวิธีการพัฒนาอื่น ๆ ลำพังการสอนแนะอย่างเดียวไม่อาจทำให้การดำเนินงานสำเร็จได้
            การสอนงานจัดได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่หัวหน้างานใช้เพื่อเสริมสร้าง และพัฒนาลูกน้อง  ให้มีความรู้ ( Knowledge ) ทักษะ (Skills) และคุณลักษณะเฉพาะตัว( Personal Attributes ) ในการทำงานนั้น ๆ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดขึ้น  ซึ่งเป็นเป้าหมายหรือผลงานที่หัวหน้างานต้องการหรือคาดหวังให้เกิดขึ้น (Result-Oriented) โดยจะต้องตกลงและยอมรับร่วมกัน                            ( Collaborative ) ระหว่างหัวหน้างานและลูกน้อง ทั้งนี้ การสอนงานนอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลการปฏิบัติงานของลูกน้อง ( Individual Performance ) ในปัจจุบันแล้ว การสอนงานยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพ ( Potential ) ของลูกน้อง เพื่อให้ลูกน้องมีพัฒนาการของความรู้ ทักษะและความสามารถเฉพาะตัว และมีศักยภาพในการทำงานที่สูงขึ้นต่อไป   เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอันนำมาซึ่งตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต ตัวอย่างวิดีโอการสอนแนะ(coaching)

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อชา - “คนเลี้ยงไก่”

มีคนเลี้ยงไก่ 2 คน

คนที่ 1 ทุกเช้าจะเอาตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ แล้วก็เก็บ "ขี้ไก่" ใส่ตะกร้ากลับบ้าน!!
แล้วทิ้งไข่ไก่ให้เน่าไว้ในโรงเรือน เมื่อเขาเอาขี้ไก่กลับถึงบ้าน ทั้งบ้านก็เหม็นหึ่ง ไปด้วยกลิ่นขึ้ไก่ !!! คนทั้งบ้านต้องทนกับกลิ่น
เหม็น!!!

คนเลี้ยงไก่คนที่ 2 เอาตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ เก็บ "ไข่ไก่" ใส่ตะกร้าเอากลับบ้าน
เขาเอาไข่ไก่ลงเจียว กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบ้าน คนทั้งบ้านได้กินไข่เจียวแสนอร่อย ไข่ไก่ที่เหลือเขาก็ เอาไปขาย แล้วได้เงินมาใช้จ่ายในบ้าน ทุกคนในบ้านมีความสุขมาก.....

ในชีวิตของเรา พวกเรา เป็นคนเก็บ "ไข่ไก่" หรือ เก็บ"ขี้ไก่"

เราเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่" โดยเฝ้าแต่เก็บเรื่องร้ายๆ แย่ๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเราไว้ในหัวของเรา และมีความทุกข์ตลอดเวลาที่คิดถึงมัน!!!

หรือเราเป็นคนที่เก็บ "ไข่ไก่" เราจดจำสิ่งที่ดีๆที่เกิดในชีวิตของเรา และมีความสุขทุกครั้งที่คิดถึงมัน!!

คนเราส่วนใหญ่ชอบเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่" เราถึงต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลา เรื่องความเสียใจ ความผิดพลาด ความเจ็บใจ ฯลฯ มักจะติดอยู่ในใจ ของเรานานเท่านาน

ถ้าเราอยากมีความสุขในชีวิต เลือกเก็บ "ไข่ไก่" กับชีวิต
ทิ้ง "ขี้ไก่" ไปเถอะ ชีวิตของเราจะได้มีความสุขซักที ..

การดำรงชีวิตที่ถูกต้องตามธรรมชาติพื้นฐาน

     ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตตามแบบวิทยาศาสตร์หมายถึง ความที่ยังสดอยู่ได้ของใจกลางของเซลล์หนึ่ง ๆ   ส่วนชีวิตในแบบชาวบ้านหมายถึง ยังไม่ตาย ชีวิตในรูปคำบาลี ว่าอาชีโว อาชีวะ แปลว่าดำรงชีวิต เมื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้องก็เรียกว่ามีชีวิตอันถูกต้อง การกระทำที่ให้ชีวิตรอดอยู่ได้ไม่ให้ตาย ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายว่า เป็นสิ่งที่มีปัญหาหรือมีความทุกข์  ตัวความทุกข์ในชีวิตนั่นแหละคือตัวชีวิต ซึ่งจะต้องจัดการให้มีการดำรงอยู่ในลักษณะที่พอทนได้ หรือไม่เป็นทุกข์ ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย  แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ตลอดจนขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเช่นนี้ การได้นำหลักคำสอนทางพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้สำหรับดำเนินชีวิตน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง
      ชีวิตควรมีอยู่โดยไม่ยึดเอาความทุกข์มาเป็นของตน  ให้มีชีวิตอยู่เป็นไปธรรมดาสามัญจะทำให้ไม่เป็นทุกข์เลยโดยเฉพาะพุทธศาสนาหรือพระธรรมมุ่งหมายที่จะทำความรู้สึกที่เป็นทุกข์ให้หมดไป ทุกชีวิตต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น  ซึ่งการไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักพื้นฐานทั่วไป  ดังนั้นแม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ควรจะมีความรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นไว้เป็นพื้นฐาน  ให้ตั้งตนอยู่ในสภาพที่ถูกต้องหรือพอดี  ผู้ใหญ่ก็ยิ่งจะต้องมีความรู้เรื่อง  ในความไม่ยึดมั่นถือมั่น  การดำรงชีวิตชนิดมีหลักพื้นฐานถูกต้องเราจะต้องรู้จักจัด รู้จักทำให้ชีวิตนี้มีการพักผ่อน ซึ่งหมายถึงความสงบ  และจะต้องเป็นอยู่โดยยึดอริยมรรค หากเราปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักที่บัญญัติไว้ จะทำให้เป็นหนทางการดำรงชีวิตถูกต้อง 
      อริยมรรค คือความถูกต้อง 8 ประการก็คือสิ่งที่เรียกว่า ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ซึ่งในทางปฏิบัติ  ปัญญามาก่อนศีลและสมาธิ เพราะปัญญารู้อะไรเป็นอย่างไร กระทั่งปัญญาสูงสุดที่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้  และปัญญาก็จูง ศีล  สมาธิให้ได้ทำหน้าที่ยิ่ง ๆ ขื้นไปจนกระทั่งหลุดพ้น  แต่กว่าจะหลุดพ้นในเรื่องชีวิตมีการต่อสู้เหมือนกับการทำสงคราม คือทำสงครามระหว่างความทุกข์กับจิตที่มีปัญญา  นอกจากธรรมที่กล่าวก็ยังมีธรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นหลักดำรงชีวิตถูกต้องโดยพื้นฐานซึ่ง เราชินหู ชินตามานานแล้วได้แก่กายกรรม 3 อย่าง  วจีกรรม อย่าง  มโนกรรม 3 อย่าง ที่เรียกว่ากุศลกรรมบถ 10 ก็คือความถูกต้องทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ หากเราลองเจริญกุศลกรรมบถ 10 ให้ถูกต้องมันก็จะไปจนถึงสมาธิได้ด้วย
      ดังนั้นจึงขอฝากข้อคิดกับผู้ที่สนใจว่า จงมีชีวิตชนิดที่เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามหลักพื้นฐานของธรรมชาติ  อยู่โดยอริยมรรค 8,  อยู่โดย ศีล สมาธิ ปัญญา  และอยู่ในกุศลกรรมบถ 10 รวมทั้งปฏิบัติโดยหลักที่ถูกต้องคือปฏิบัติโดยวิธีไม่ต้องเกิดความรัก โกรธ เกลียด กลัว  วิตกกังวล อย่าให้ผิดกฎจะเป็นผู้ที่ได้ดีที่สุด และอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์   จึงขอให้ทุกคนได้ระวังกาย วาจา ใจให้ดี อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นครอบงำได้ ก็จะมีความเย็น และมีการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามธรรมชาติพื้นฐาน
ที่มา ท่านพุทธทาสภิกขุ  จาก  หนังสือการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง

เรียนรู้ที่จะมองโลกในแง่ดี

      การมองโลกในแง่ดีทำให้เรารู้จักมองหาแง่ดีหรือข้อโดดเด่นของคนที่เรากำลังโกรธ  หรือเป็นต้นตอ      ให้เราโกรธ ดังนั้นการดับความโกรธ ความโมโห โดยการให้ลองหลับตาแล้วนึกถึงคนที่เป็นต้นตอ    แห่งความโกรธคนนั้นให้ดี แล้วถามตัวเองดูสิว่าเขามีดีอย่างไร เขาคอยช่วยเหลือเกื้อกูลเรามาเท่าไหร่  หมั่นนึกถึงความดีงามของเขาเอาไว้ แล้วความโกรธจะค่อย ๆ เบาบางลงไปทีละน้อย ๆ เหมือนน้ำแข็งที่เกาะกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ถ้าเราหยิบน้ำแข็งก้อนนั้นออกมาจากตู้เย็นแล้วนำมาวางไว้ข้างนอก น้ำแข็งก้อนนั้นก็จะค่อย ๆ ละลายสลายตัวเองลงทีละน้อยจนในที่สุดก็ไม่เหลืออะไรเลย เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะยักย้ายถ่ายเทน้ำแข็งแห่งความโกรธออกมาบ้าง ในยามที่โกรธอย่าปล่อยให้น้ำแข็งแห่งความโกรธของเราเกาะตัวอยู่นาน  เป็นอันขาด มิฉะนั้นแล้วมันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างมากมาย     
       ดังนั้นเมื่อเรารู้จักตัวโกรธหรืออุปนิสัยความโกรธในตัวคุณเอง เราต้องรู้จักดับความโกรธรู้เท่าทันความโกรธของตนเองและรู้เท่าทันคนที่ทำให้ตนโกรธ  เราต้องคิดเพียงว่า เป็นความว่างและเห็นความโกรธเป็นแต่เพียง อารมณ์แปลกปลอมอันเป็นมายาชั่วขณะหนึ่งเหมือนพยับแดดเท่านั้นก็จะสามารถปล่อยวางทั้งความโกรธและคนที่ตนโกรธได้อย่างง่ายดาย ยินดีสละทิ้งความโกรธออกไปจากใจตนเหมือนคน  บ้วนน้ำลายทิ้ง เมื่อความโกรธไม่มีฐานที่มั่นอีกต่อไป จิตใจก็เป็นอิสระ เบาบาง สดชื่น แจ่มใส และบรรลุถึง  สติภาวะคือความสงบร่มเย็นเป็นสุข อยู่เป็นนิตยกาลเท่านั้นเอง
โกธํ
  ฆตฺวา  สุขํ  เสติ  ฆ่าความโกรธได้แล้วนอนหลับสบาย
ที่มา ท่าน ว.วชิรเมธี  จาก
  ธรรมะหลับสบาย

เข็มทิศชีวิต

      การที่คนคนหนึ่งจะฟื้นจากวิกฤตชีวิตได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ การนำเอาประสบการณ์ความทุกข์ของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ปัญหานั้นมิใช่ว่าจะบั่นทอนชีวิตจิตใจสถานเดียว หากยังสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นปัญญาสรรค์สร้างชีวิตได้ด้วย แม้ความสิ้นหวังอับจนจะผ่านพ้นไปนานแล้ว แต่คุณฐิตินาถสามารถนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาจุดประกายความหวังให้แก่ผู้คนจำนวนมากได้อย่างน่าชื่นชม ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตให้หมดไปกับการแสวงหาและสะสมสิ่งนอกตัว หมกมุ่นกับอดีตและอนาคต จนแทบไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตนเอง ผู้คนพากันคิดว่าเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ คือสิ่งที่ชีวิตต้องการ          แต่ได้มาเท่าไรก็ไม่มีความสุขเสียที ลึกลงไปในใจเราอาจกำลังทักท้วงตั้งคำถามกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ จิตใจ       ส่วนลึกของเราอาจกำลังเพรียกหาความสุขที่แท้ อันได้แก่ความสงบเย็นและเป็นอิสระ
      ชีวิตของเราทุกคนนั้นเป็นอิสระและผาสุกได้นั้นมีอยู่แล้วที่ใจของเราเอง  เพียงแต่หันกลับมาดูที่ใจให้ความรู้ตัวมาแทนที่ความหลงและเปลี่ยนจากยึดมาเป็นคลาย จากแบกมาเป็นวาง จากวุ่นมาเป็นว่าง จากวิ่ง      มาเป็นหยุด ความทุกข์ก็จะกลายเป็นความไม่ทุกข์และนำไปสู่ความสุขในที่สุด
ที่มา: ฐิตินาถ  ณ พัทลุง. เข็มทิศชีวิต

การคิดเชิงสร้างสรรค์จากหนังสือ ผู้ชนะสิบคิด : การคิดเชิงสร้างสรรค์ ( Creative Thinking)

ทัศนคติที่ไม่ถูกต้องจะเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้
การคิดเชิงสร้างสรรค์จากหนังสือ ผู้ชนะสิบคิด : การคิดเชิงสร้างสรรค์  ( Creative  Thinking) โดยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ นักจิตวิทยาค้นพบว่า ทุกคนสามารถฝึกฝนให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นมีพรสวรรค์หรือไม่ และไม่ได้ถูกจำกัดโดยสภาพของชีวิตแล้ว ความคิดสร้างสรรค์หากจะมองในแง่ของความหมายก็อาจจะแยกได้เป็น 3 ความหมาย คือ
ความหมายที่ 1 ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ความคิดแง่บวก หรือ Positive thinking
ความหมายที่ 2 ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง การกระทำที่ไม่ทำร้ายใคร หรือ Constructive thinking
ความหมายที่ 3 ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ Creative thinking
ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน
ทางที่ 1 เกิดจาก จินตนาการ แล้วย้อนสู่ความจริง
ทางที่ 2 เกิดจาก ความรู้ที่มี แล้วคิดต่อยอดสู่สิ่งใหม่เหตุใดเราจึงต้องคิดเชิงสร้างสรรค์
1. ช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ลงตัวกับปัญหา2. ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่หยุดยั้ง
3. ช่วยให้เราทำสิ่งที่ดีกว่า แทนการจมอยู่กับสิ่งเดิมๆ4. เป็นองค์ประกอบสำคัญของความฉลาดเรามาลองพัฒนาทัศนคติและนิสัยนักคิดสร้างสรรค์กันดูโดยจะมี 9 ข้อห้าม และ 9 ข้อปฏิบัติ1. อย่า   คิดแง่ลบ  ต้องคิดแง่บวก เพราะพลังความคิดแง่บวกจะช่วยสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น
2. อย่า   ชอบพวกมากลากไป  ต้อง กล้าคิดเองและเชื่อมั่นในตัวเองกล้าเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตนเองเพื่อพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง
3. อย่า  ปิดตนเองในวงแคบ ต้อง  เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆเพราะความรู้ใหม่ จะช่วยให้เกิดมุมมองที่แตกต่างและต่อยอดสู่ความคิดใหม่ๆ
4. อย่า รักสบาย ทำไปเรื่อยๆ ต้องลงแรง บากบั่น มุ่งความสำเร็จเพราะความสำเร็จใดๆ ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน
5. อย่ากลัว  ต้องกล้าเสี่ยง ต้องฝึกตนเองให้เป็นคนท้าทายตนเองให้คิดสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ6.อย่าหมดกำลังใจเมื่อไม่พบคำตอบ     ต้องอดทนต่อความคลุมเครือ
7. อย่าท้อใจกับความผิดพลาด  ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว
ความผิดพลาดเป็นครู เพื่อที่จะได้เรียนรู้ในก้าวต่อไป8.อย่าละทิ้งความคิดใดๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์  ต้องชะลอการตัดสินใจเพราะบางความคิดเห็นอาจจะยังใช้ไม่ได้ในตอนนี้ แต่อาจนำไปใช้ได้ในสถานการณ์อื่น
9.อย่ากลัวการเผยแพร่ผลงาน ต้อง กล้าเผยแพร่ผลงานแตกต่าง  เพราะหลายครั้งที่การค้นพบใหม่ๆ มักมาจากการคิดแหวกแนว ทัศนคติจะเป็นตัวบ่งบอกตั้งแต่เบื้องต้นว่า เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์มากน้อย หรือไม่สร้างสรรค์ทัศนคติที่ไม่ถูกต้องจะเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ แม้จะรู้เทคนิควิธีการคิดสร้างสรรค์มากมายเพียงใด
        ดังนั้นในก้าวแรก จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับการเป็นนักคิดสร้างสรรค์ก่อนดังนั้นหากเราเรียนรู้วิธีการคิดอย่างสร้างสรรค์และกล้าที่จะใช้ประโยชน์จากมันจะพบว่าความคิดสร้างสรรค์นี่เองที่จะนำเราไปพบกับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า และการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น การคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนา ทั้งพัฒนาสติปัญญาของตนเอง พัฒนางานและพัฒนาสังคม

คนเหนือคน

หนังสือชื่อ "คนเหนือคน" ซึ่งมีความหมายที่ดี
เป็นหนังสือที่ดีมาก มีข้อคิด มีสิ่งที่คอยเตือนสติ คอยสอนใจ
ให้เรารู้จักใช้ชีวิต อย่างมีคุณค่า ยึดมั่นในจริยธรรม ศีลธรรม ความดีงาม
ไม่ใช่แค่ใช้ชีวิตให้เอาตัวรอดไปวันๆเท่านั้น

เกิดเป็นคนก็นับว่าดีแล้ว
แต่...การเกิดเป็นคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
ทั้งกายและใจนั้น มันมีองค์ประกอบมากมาย
ไม่ว่า ความดี ความฉลาด ความมีปัญญา ความเมตตา ความอดทน ฯลฯ
ในหนังสือเล่มนี้เป็นแนวทางที่ดี
ให้กับทุกคนที่บางครั้งยังไม่เข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิต
หรือยังมองไม่เห็นค่าของตัวเอง หรือคนที่อาจจะยังหลงทางในชีวิตอยู่
ให้กลับมาเข้าใจตัวเองและใช้ชีวิตได้ถูกต้องมากขึ้น

"ให้กลายเป็นคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา"

ขอยกตัวอย่างข้อคิดที่น่าสนใจ
ในหนังสือเล่มนี้มาสักหนึ่งตอนจากหลายๆตอน ดังนี้
"จงเป็นคนมองโลกในแง่ดี และอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันให้มากที่สุด
มองหาความสุขที่แวดล้อมตัวอยู่ทุกๆวันให้พบ เพราะความสุขนั้นมีอยู่แล้ว
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น

พลังแห่งความคิดคนเรานั้น สามารถผลักดันให้คนๆนั้นเป็นไปตามที่คิดไว้ได้
พลังความคิดนี้ถ้าใช้ในทางที่ถูกจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้มหาศาล
แต่ถ้าใช้ผิดทาง ผลที่ได้รับนั้นไม่คุ้มค่าเลย

พลังความคิดจะเป็นเสมือนเข็มทิศชี้ทางให้เราไปสู่สิ่งนั้น
พลังความคิดจะคอยผลักดันให้เราไปสู่แนวทางที่คิดไว้
ชีวิตของคนเรามักโน้มเอียงไปสู่สิ่งที่เราคิดถึงเสมอๆ

ดังนั้นความรู้ดีที่สุด คือ การยอมรับว่ามีเรื่องอีกมากมายที่เรายังไม่รู้
ด้วยการยอมรับเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดการใฝ่รู้
และอยากแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้นต่อไปอีก

ด้วยความไม่เข้าใจในสภาพธรรมที่ล้อมรอบตัวเรา
เราจึงมักจะยอมจำนนอยู่เสมอ การยอมรับ กับ ยอมจำนน
ต่างกันตรงผลที่ติดตามมา การยอมรับด้วยความเข้าใจในเหตุผล
ย่อมทำให้จิตใจเบาสบาย แต่การยอมจำนนนั้น เป็นการฝืนใจรับ
มีผลติดตามมาเป็นความทุกข์ของจิตใจ ทำให้ใจรู้สึกอึดอัด
ไม่พอใจ ไม่แจ่มใส และเกิดโรคทางกายได้ง่ายด้วย
เป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการเก็บกด อารมณ์ทุกข์ร้อนหม่นหมองไว้นานๆนั่นเอง

ทุกๆชีวิตย่อมมีความทุกข์เสมอ ไม่มากก็น้อย
ทุกชีวิตมีความทุกข์เพราะทุกชีวิตมีปัญหา
ปัญหาไม่ได้เกิดจากการทำงานมาก หรือทำงานน้อย
คนอยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไรเลย อาจมีปัญหาชีวิตมากกว่าคนที่ทำงานมากๆก็ได้
แต่...ปัญหาก็มีประโยชน์ เพราะ ทำให้เกิดปัญญาและเกิดความสำเร็จได้
จึงไม่ควรกลัวปัญหา และหนีปัญหา"

ที่มา : หนังสือคนเหนือคน หน้าที่ 19-20

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จัดสรรทุกข์และแบ่งปันสุข

สุขและทุกข์มรดกประจำชีวิตคน
ทุกคนเกิดมาไม่มีใครมีแต่ความสุข ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเกิดมามีแต่ความทุกข์ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทุกข์หรือสุขมากกว่ากัน ใครจะทุกข์หรือสุขนานกว่ากัน ใครจะมีทุกข์ก่อนหรือสุขก่อนเท่านั้นทุกข์ก็ไม่แน่นอน สุขเองก็ไม่ยั่งยืน ดังนั้นสิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ทุกคนจะต้องเจอทั้งความทุกข์และความสุข
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุขหรือทุกข์หมุนเวียนกันเข้ามาในชีวิตของคนเราตลอดเวลา
ความสุขนั้นมี 2 ประเภท
สุขแท้ คือ ความสุขจริงที่เกิดความอิ่มเอิบอิ่มใจจากภายใน และความสุขประเภทนี้จะอยู่กับเรานาน ไม่
เปลี่ยนแปลงหรือจางหายไปกับกาลเวลา นึกทีไรก็ทำให้มีความสุข เช่น ความสุขที่เกิดจากการให้การทำบุญ การ
ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น
สุขเทียม คือ ความสุขที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และจางหายไปตามกาลเวลาหรือตามระดับความ
ต้องการ เช่น ความสุขเมื่อถูกหวย (ความสุขจะลดลงเมื่อเงินหายหมดไป) เป็นต้น
เหรียญบาทจะไม่มีค่า ถ้ามีเพียงด้านเดียว ชีวิตจะไม่มีคุณค่า
ถ้ามีสุขหรือทุกข์เพียงด้านเดียวตลอดชีวิต
เทคนิคการบริหารความเสี่ยงในชีวิต
อย่ายึดติดและยึดมั่นมากเกินไป
การที่เราจะดำรงชีวิตอยู่บนโลกแห่งการสมมตินี้ได้อย่างปกติสุขนั้น เรา เรายึดหลักของการ
เผื่อเหลือเผื่อขาด ไว้บ้าง อย่าตึงหรือหย่อนจนเกินไปเพราะจะทำให้ชีวิตเราไม่ราบรื่น กล่าวง่ายๆ
คือ เราต้องเดินทางสายกลาง เราควรประเมินดูว่าเราควรจะเว้นช่องว่างสร้างช่องทางเผื่อไว้สำหรับสิ่ง
ที่ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้บ้างหรือไม่ เราจำเป็นต้องเผื่อใจไว้สำหรับความผิดหวังและความ
ล้มเหลวบ้าง ซึ่งอย่างน้อยก็อาจจะช่วยเป็นกันชนให้ชีวิตของเราได้บ้าง
จงสำรองใจไว้เผื่อไว้สำหรับความผิดหวังและความล้มเหลวบ้าง
จงคิดถึงตัวเองเวลาอยู่คนเดียว
เราควรจะเอาเวลาที่อยู่คนเดียวมาใช้ในการทบทวนตัวเองใช้ในการวางแผนชีวิต ทั้งในแง่มุม
ของการปรับปรุงตนเอง การพัฒนาตนเอง รวมถึงการวางแผนในการปกป้องและรับมือกับความเสี่ยง
ที่ต้องเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราไว้ล่วงหน้า เป็นการซ้อมพาจิตใจเดินทางไปกับชีวิตใน
อนาคตล่วงหน้าว่า ถ้าเราเจอกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ จิตใจของเราพร้อมที่จะรับมือกับมัน
เวลาในชีวิตจะมีค่า ถ้าใช้ให้ถูกที่ถูกคน
การนำไปประยุกต์ใช้
1. ต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยงทั้งที่หลีกเลี่ยงได้และไม่ได้ เช่น ความเจ็บป่วย การตาย การ
สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
2. เราควรมีชีวิตที่พอเพียง เช่น การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง
3. มีการวางแผนชีวิตในประจำวัน
4. อย่าดิ้นรนหาความสุขบนกองทุกข์ที่เพิ่มขึ้น
5. นำมาใช้ในชีวิตการทำงานว่าอย่ายึดติดยึดมั่นมากเกินไป

จุดเทียนยังไง? ให้ชีวิต




















































เรื่องราวและภาพประกอบจาก http://www.athingbook.com/detail-fair.php?dd=29

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อิทธิบาท 4 ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน สู่ความสำเร็จ

ในโลกของการทำงาน คนรุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหลายต่างก็เฝ้าหาทฤษฎีแห่งความสำเร็จมากมาย มาใช้แก้ปัญหาและหาหนทางเจริญก้าวหน้า แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ และเจอประตูสู่ความสำเร็จ งั้นลองมาดู ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน เพื่อให้คุณประสบความสำเร็จในการทำงาน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ นั่นคือ อิทธิบาท 4 ธรรมแห่งความสำเร็จ
      อิทธิบาท 4 ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน ประกอบด้วย...
           1. ฉันทะ คือ ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่
           2. วิริยะ คือ ขยันหมั่นเพียรกับงาน
           3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่รับผิดชอบงาน
           4. วิมังสา คือ การพินิจพิเคราะห์ หรือ ความเข้าใจทำ

       ฉันทะ : ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่
           อันดับแรกต้องสำรวจตนเองว่า มีความชอบหรือศรัทธางานด้านใด แล้วมุ่งไปในเส้นทางนั้น อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ฉันทำงานเพื่ออะไร ฉันมีความสุขหรือไม่หากงานที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่รักเสียทีเดียว เผื่อเราจะได้มีเวลาค้นหาและปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือปรับศรัทธาของตัวเองให้เข้ากับงานที่ทำอยู่

           อย่างไรก็ตาม เชื่อเถอะว่างานแต่ละอย่างนั้น ไม่มีทางที่ใครจะชื่นชอบไปทั้งหมดทุกกระบวนการ ดังนั้น ถ้าคุณพอใจที่จะทำ และมีความสุขกับงาน เชื่อว่างานที่คุณทำอยู่ต้องออกมาดีแน่ ๆ

       วิริยะ : ขยันหมั่นเพียรกับงานที่มี

           งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ความวิริยะจึงเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จได้ ยิ่งคุณขยันเท่าไรผลตอบแทนที่คุณจะได้รับมันก็มีมากเท่านั้น ที่สำคัญความวิริยะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความรักในงานจากฉันทะนั่นเอง และความวิริยะไม่ใช่การทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการหมั่นฝึกฝนตนเองต่างหาก

           ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตสำหรับคนทำงานร่วมกันคือ จะต้องขยันด้วยกันทั้งหัวหน้าและลูกน้อง ยิ่งผู้เป็นหัวหน้ายิ่งสำคัญมาก ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน คิดกินแรงอย่างเดียว ลูกน้องก็มักขยันไปได้ไม่กี่น้ำ เดี๋ยวก็รามือกันหมด แต่ถ้าหัวหน้าเอาการเอางาน ก็จะสามารถดึงลูกน้องให้ขยันขันแข็งขึ้นด้วย
       จิตตะ : เอาใจใส่รับผิดชอบกับงานที่ทำ
           จิตใจที่จดจ่อกับงานล้วนเกิดผลดีต่องานที่ทำ จิตตะเป็นธรรมะที่แสดงถึงสติ ความรอบคอบและความรับผิดชอบที่จะตามมา ซึ่งในสังคมการทำงานปัจจุบันนี้ มุ่งเน้นแย่งชิงตำแหน่งกัน และขัดขาจนลืมคิดไปว่า งานที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้นคือสิ่งใดกันแน่ จิตตะจึงมีความสำคัญในการทำงานโดยไม่วอกแวกออกไปนอกลู่นอกทาง ดังนั้น เมื่อคุณมีทั้งฉันทะและวิริยะแล้ว จิตตะจะเป็นเสมือนรั้วของเส้นทางที่ไม่ให้ไขว้เขวออกนอกทางสู่ความสำเร็จได้

           อย่างไรก็ดี ปกติคนที่โตเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบ มักจะใส่ใจกับงานอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติจะทำให้หยุดคิดยาก แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบคิดเจ้ากี้เจ้าการแต่เรื่องงานของคนอื่น คอยติ คอยสอดแทรก คอยวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่ธุระของตัวกลับไม่คิดไม่ดู ซึ่งไม่ส่งผลให้งานของเราดีขึ้น พระพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้เป็นนักตรวจตรางาน คือให้มีจิตตะ แล้วก็ทรงให้โอวาทสำทับไว้ด้วยว่า "ควรตรวจตรางานของตัวเอง ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ"

       วิมังสา : การพินิจพิเคราะห์และใช้ปัญญาตรวจสอบงาน
           สุดยอดของวิธีทำงานให้สำเร็จอยู่ในอิทธิบาทข้อสุดท้ายนี้ วิมังสา แปลว่า การพินิจพิเคราะห์ หมายความว่า ทำงานด้วยปัญญา ด้วยสมองคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน บากบั่นเพียงใด หรือเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าขาดการใช้ปัญญาพิจารณางานด้วยแล้ว ผลที่สุดงานก็คั่งค้างและผิดพลาดจนได้

           เราอาจลองทบทวนตัวเองนิ่ง ๆ ว่าวันนี้ทั้งวันเราทำอะไรบ้าง สรุปกับตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เราจะได้มีกำลังใจต่อในวันต่อ ๆ ไป และไม่ทำผิดซ้ำซากอีกเช่นเดิม พร้อมกันนั้นเราจะสามารถเห็นหนทางได้ว่า เส้นทางไหนที่จะนำเราสู่ความสำเร็จได้จริง ๆ
           จะเห็นได้ว่า หลักธรรมะที่ใช้ในการทำงาน เป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว หากเรานำ อิทธิบาท 4 มาปรับใช้ในการทำงาน รักงานที่ทำ ขยันทำงาน รับผิดชอบงาน และรู้จักไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ทางแห่งความสำเร็จคงไม่เกินเอื้อม...เชื่อเถอะ คุณก็ทำได้ ทุกอย่างอยู่ที่ "ใจ"
ขอขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารลิซ่า

ลดลงแต่กลับเพิ่มมากขึ้น...

หากลดบางอย่างให้น้อยลง เราจะได้บางอย่างมากขึ้น
ลดความโกรธให้น้อยลง...เราได้สติกลับมามากขึ้น
ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง...เราได้เก็บเงินมากขึ้น
ลดความคิดที่จะหาคนที่ถูกน้อยลง...
เราได้คำตอบสำหรับทำเรื่องที่ถูกต้องมากขึ้น
ลดการพูดให้น้อยลง...เราทำหลายอย่างได้มากขึ้น
คิดถึงคนที่เรารักน้อยลง...เราเข้าใจคนที่เรารักมากขึ้น
รักตัวเราเอง ให้น้อยลง...คนอื่นรักเรามากขึ้น
พูดให้ร้ายคนอื่นให้น้อยลง...มีคนพูดถึงเราในแง่ดีมากขึ้น
แสดงความฉลาดให้น้อยลง...เราได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น
ออกนอกบ้านให้น้อยลง...เราได้ความอบอุ่นในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น
นอนให้น้อยลง...เราทำหลายอย่างได้มากขึ้น
คิดเรื่องเครียดให้น้อยลง...เรายิ้มได้มากขึ้น
ลดความอายให้น้อยลง...เราได้ความกล้ามากขึ้น
ดูละครให้น้อยลง...เราอ่านหนังสือได้มากขึ้น
เราวิ่งให้ช้าลง...เรามองเห็นคนข้างหลังมากขึ้น
เชื่อให้น้อยลง...เรามองเห็นอะไรได้มากขึ้น
ลดทิฐิให้น้อยลง...เรารู้จักให้อภัยมากขึ้น
กระโดดให้น้อยลง...เราเดินได้มั่นคงมากขึ้น
กินให้น้อยลง...เราอิ่มมากขึ้น
ก้มหน้าให้น้อยลง...เรามองเห็นได้ไกลขึ้น
พักเหนื่อยให้น้อยลง...เรารู้จักความสบายมากขึ้น
เห็นแก่ตัวน้อยลง...มีคนรอดชีวิตมากขึ้น
แบกของหนักให้น้อยลง...ชีวิตเราเบามากขึ้น
ทะเลาะกับเด็กให้น้อยลง...เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
ทะเลาะกับผู้ใหญ่ให้น้อยลง...เราได้รับการเอ็นดูมากขึ้น
เป่าลมออกให้น้อยลง...เราสูดลมเข้าได้มากขึ้น
แอบฟังให้น้อยลง...เราได้ยินอะไรมากขึ้น
เราคิด เราถามให้น้อยลง...เราเห็นคำตอบมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าเราลดบางอย่างลง...แต่เรากลับได้บางอย่างเพิ่มมากขึ้นจริง ๆ

ให้อภัย... ให้ที่ว่างกับใจตน

การให้อภัย เป็นการให้ที่ว่างกับใจตนเอง
เพื่อไม่ต้องแบกความรู้สึกไม่ดีไว้กับตนเอง
เหนื่อยไหมกับการต้องแบกอะไรไว้ในใจมากมาย
คนที่เคยทำให้คุณเจ็บช้ำ คนที่เคยทำผิดต่อคุณ

ถึงแม้ว่าเวลาอาจรักษาแผลใจได้
แต่ไม่อาจทำให้ความผิด
ของคนๆนั้นหายไปจากใจคุณได้

แต่การให้อภัยจะเป็นการลบความผิดนั้นออกจากใจ
ไม่ต้องให้คุณสร้างแผลใจให้กับตัวเอง
เพราะคนที่ทำผิดกับคุณ
เขาอาจไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับคุณหรอก....


ให้อภัยเป็นการให้ที่วิเศษ
เพราะเป็นการให้สองทาง
นอกจากจะเป็นการปลดปล่อยความผิดของใครบางคน
ก็ยังเป็นการให้ที่ว่างกับใจตนเอง
เพื่อไม่ต้องแบกความรู้สึกไม่ดีไว้กับตัวเอง

การให้อภัย ไม่ใช่การยอมรับความผิดของใครบางคน
แต่เป็นการให้อิสระแก่ใจตัวเอง
เพื่อหลุดพ้นจากความพยาบาท

คนอื่นทำอะไรผิดๆ กับคุณมากมาย
ถ้าคุณให้อภัยเขาเหล่านั้นได้

บางทีคุณควรจะนึกย้อนถึงตัวคุณเองบ้าง
ยังมีสิ่งใดที่ยังค้างคาอยู่ในใจคุณบ้าง
สิ่งที่คุณรู้สึกผิด หรือคุณอาจจะแก้ไขไม่ได้

หลายๆครั้งที่ความผิดของเราเอง
เป็นตัวกีดกั้นเราจากความกล้าที่จะเดินไปข้างหน้า
สิบเท้ายังรู้พลาด
เราเองก็คนธรรมดาคนหนึ่ง
อาจถึงเวลาที่คุณจะให้อภัยตัวเองได้แล้ว

Values ค่านิยมคืออะไร สำคัญอย่างไร

ค่านิยมองค์กร (Corporate Values)  หมายถึงเกณฑ์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใช้ในการตัดสินว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำเพื่อให้ได้รับผลอันพึงปรารถนาร่วมกัน ซึ่งค่านิยมเป็นสิ่งที่กำหนดถึงพฤติกรรมและผลที่ติดตามมา นอกจากค่านิยมจะเป็นบาทฐาน (Basis) ของการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรแล้ว ค่านิยมยังมีประโยชน์อื่นๆอีกได้แก่
ทำให้บุคคลรู้ว่า องค์กรคาดหวังอะไร : ผลงานแบบใด ด้วยวิธีการใด
ช่วยสร้างบรรยากาศที่กลมเกลียวและกลมกลืนในการทำงาน
ช่วยทำให้บุคคลมีแนวทางในการปรับตัวเพื่อให้เกิด Organizational fit

วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture)
หมายถึง วิถีแห่งการดำเนินชีวิตการงานของตน ซึ่งอยู่รวมกันในองค์กรหนึ่งองค์กรใดโดยเฉพาะ ซึ่งวัฒนธรรมจะแสดงให้เห็นถึง พฤติกรรมของการแสดงออกของคนในองค์กรที่สะท้อนถึงความเชื่อร่วมกันของคนในองค์กร และแสดงถึงความต่อเนื่องของประเพณีที่คนในองค์กรกระทำร่วมกันอยางต่อเนื่อง ทั้งนี้วัฒนธรรมองค์กรเป็นผลที่ได้มาจากค่านิยมของคนในองค์กร

ความเชื่อ (Beliefs)
หมายถึงข้อสรุปของสมาชิกองค์กรจำนวนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ต่อพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ต่างๆว่าเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง

บรรทัดฐาน (Norms )
หมายถึงมาตรฐานของพฤติกรรมที่คนจำนวนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่คาดหวังหรือสนับสนุนให้สมาชิกของกลุ่มปฏิบัติตาม

พฤติกรรม (Behavior)
หมายถึงการกระทำหรือการแสดงออกของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คนจำนวนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ในองค์กรที่ประพฤติปฏิบัติในลักษณะเดียวกันอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาหนึ่ง
           
ถ้าเราเปรียบเทียบกับต้นไม้ต้นหนึ่ง
ความเชื่อจะเปรียบเสมือนรากแก้วที่หยั่งลึกลงไปในดิน เพื่อพยุงส่วนต่างๆของต้นไม้ไว้ไม่ให้ล้ม หรือเอียงลงไปตามแรงลม หรือถูกโค่นล้มได้ง่ายเมื่อถูกแรงภายนอกกระทำ บรรทัดฐานเปรียบเสมือนลำต้นที่จะตั้งตรงสง่าอย่างเปิดเผยและแข็งแรง ค่านิยมเปรียบเสมือนกิ่งก้านสาขาของต้นที่แยกออกจากลำต้นแผ่ไพศาลออกไปเพื่อแสดงถึงการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน พฤติกรรมเปรียบเสมือนใบไม้ที่ปกคลุมเป็นพุ่มไม้ที่เล็กและใหญ่ ให้เห็นต้นไม้ที่ใหญ่โตแข็งแรงสูงสง่ามองเห็นได้โดยเด่นชัด หรืออาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลหรือสังคมภายนอกจะมองเห็นถึงลักษณะ หรือตัวตนของเราได้อย่างชัดเจน

(จากเรื่อง ค่านิยมคืออะไรและสำคัญอย่างไร ในหนังสือ spirit บ้านเรา )

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม” ในการดำเนินชีวิต

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เป็นวิธีคิดหนึ่งใน โยนิโสมนสิการที่สำคัญและมีประโยชน์มาก แต่อาจจะเพราะหลักการพื้นๆของแนวคิด ทำให้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลายๆคนมองข้ามไปในการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันซึ่งมีความสับสนวุ่นวายมาก โดยเฉพาะการพัฒนาของระบบการทำงาน และการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยให้การดำเนินการต่างๆ สะดวก รวดเร็วมากขึ้น ทั้งองค์การ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ล้วนต้องการความรวดเร็วในการทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อทำเร็วขึ้นๆ จึงอาจหลงลืมตนเอง และสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตบางอย่าง

หลักการพื้นฐานของคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม คือ การพิจารณาเกี่ยวกับการใช้สอยหรือบริโภค เป็นวิธีคิดเพื่อสกัดหรือบรรเทากิเลส ใช้มากในชีวิตประจำวันเพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง
คุณค่าแท้ หมายถึง คุณค่า หรือ ประโยชน์ ที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงามความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวืตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งตนเองและผู้อื่น โดยอาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่า
คุณค่าเทียม หมายถึง คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา หรือเพื่อเสริมขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ โดยอาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่า
                                                            (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต, 2551)

ยกตัวอย่างเช่น  นาฬิกาข้อมือ จริงๆถ้าจะซื้อกันเรือนหนึ่ง ร้อยกว่าบาทก็ดูเวลาได้ อันนี้คือคุณค่าแท้ของมัน แต่ว่าปัจจุบันนาฬิกาเรือนหนึ่งก็ราคาเป็นหลักล้านก็มี เครื่องประดับที่มันไม่ใช่คุณค่าของมันในการดูเวลา ไปติดที่คุณค่าเทียมของมัน ที่จริงการสอนศาสนาให้คนตั้งอยู่ในคุณธรรม ให้คนอยู่ในสัมมาอาชีวะ  ให้คนเป็นคนดี มันก็เป็นคุณค่าแท้ของสังคม แต่ว่างานทางด้านนี้ค่อนข้างจะอัตคัดขาดแคลน แต่ว่าในบางอาชีพมันไม่มีคุณค่าอะไรต่อสังคม แต่ได้รับการสนับสนุนมากมาย ถ้าเผื่อว่าไปชนะมาอะไรอย่างนี้ ก็จะได้เงินเยอะ

          ความสุขก็เหมือนกัน ก็มีความสุขอย่างแท้จริง ความสุขอย่างเทียม เพราะฉะนั้น ถ้าอยากคิดแบบนี้ให้สมบูรณ์ ให้เป็นประโยชน์ก็ต้องวิเคราะห์ให้ได้ ดูให้ออกว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้ อะไรเป็นคุณค่าเทียม

          ความสุขเทียมก็เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ ถ้าใช้เป็นศัพท์ก็น่าจะเป็น อามิสสุข สุขที่มีเหยื่อ หรือถ้าพูดอย่างชาวบ้านหน่อย ให้มันชัดออกมาหน่อยก็สุขจากอบายมุข มันก็เป็นสุขเทียม นั่งเล่นไพ่ทั้งคืน เฮกันไป ดูว่ามีความสุข อย่างนี้มันเห็นง่าย

          แต่สุขแท้สุขเกิดจากคุณธรรม สุขจากการบำเพ็ญความดี บำเพ็ญกุศล ขยันหมั่นเพียร มันเป็นความสุขที่แท้ แต่มันเห็นยาก ต้องมีปัญญาจักษุหน่อยมันถึงจะมองเห็น หนุ่มๆนั่งรถไปหาสาวๆอยู่ไกลก็ขึ้นรถ รถก็แน่นยืนโหนไปเป็นชั่วโมง แต่ใจก็ยังมีความสุขอยู่ ทั้งๆที่ยืนเมื่อย เหน็บกินแล้วกินอีก ก็ยอมทุกข์ โดยมองว่าเป็นความสุข เพื่อให้ได้สุขที่คาดหวังเอาไว้

กล่าวโดยสรุป เป็นการพิจารณาถึงคุณค่าในการบริโภค หรือ การกระทำต่างๆ ว่าอะไร หรืออย่างไหนที่มีคุณค่าแท้(ต่อการดำเนินชีวิต) และอะไร หรืออย่างไหนที่มีคุณค่าเทียม ทั้งนี้คุณค่าแท้ มักจะเป็นสิ่งที่เกื้อกูลการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต แต่คุณค่าเทียม เป็นสิ่งที่มักถูกปรุงแต่งขึ้น อาจเกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิตและมักแฝงด้วยหลุมพรางบางอย่าง เป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นแต่ต้องการ

ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/247253

คุณลักษณะที่ช่วยให้พ้นจากความล้มเหลว

ในบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จในชีวิตและในธุรกิจทั้งหลายนั้น เขาเหล่านั้นมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่จะนำพาช่วยให้เขาพ้นจากความล้มเหลว  ทำให้เขามีรายได้ที่เพิ่มพูนและมีความสุข
คุณสมบัตินั้นคือ “ความกระตือรือล้น”

ความหมายของความกระตือรือล้น ถ้าจะให้คำจำกัดความ ก็หมายถึง ความขมีขมัน ความที่มีใจฝักใฝ่เร่งร้อน เร่งรีบ หรือสรุปง่ายๆ หมายถึงบุคคลที่มีความ Active มีไฟหรือมีพลังในการทำงานอยู่ในตัวของเขา ตลอดเวลา
ประโยชน์ของการมีความกระตือรือร้น     
  1.ทำให้เราเป็นคนมีความรับผิดชอบ ทำงานได้เสร็จทันตามเวลาหรือที่ได้รับมอบหมาย    
  2.ชีวิตและหน้าที่การงานประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้า
  3.เป็นคนขยันขันแข็ง มีความอดทน คล่องแคล่วว่องไวในการทำงาน
  4.รู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่า สร้างประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
  5.สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง มีความสุข ความร่าเริง เบิกบาน เป็นที่รักของคนอื่น
  6.พยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อันเกิดประโยชน์สำหรับชีวิต
  7.ฝึกให้ตัวเองเป็นคนมีระเบียบวินัย
โทษของการไม่มีความกระตือรือร้น         
   1.กลายเป็นคนเฉื่อยชา มีนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง งานหรือกิจการต่าง ๆ เกิดความเสียหายไม่เสร็จ ตามกำหนดเวลา
   2.ชีวิตและหน้าที่การงาน อาจล้มเหลว
   3.ชีวิตไม่มีความสุข เกิดความท้อแท้ในชีวิต และหน้าที่การงาน
   4.ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มหรือสังคม

ความกระตือรือล้น เป็นคุณสมบัติที่เพาะขึ้นได้ไหม หรือจะต้องมีมาแต่กำเนิดเท่านั้น ขอตอบว่า เป็นสิ่งที่เพาะขึ้นได้ ดังที่วิธีการที่นักเดินตลาดขายกรมธรรม์ประกันชีวิตนาม Frank Bettger ในอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักขายประกันชีวิตจนมีฐานะร่ำรวย ที่สามารถพลิกฟื้นจากความล้มเหลวจากงานอื่นๆที่ผ่านมา เขาได้ทำจนเป็นผลสำเร็จ เขาได้เป็นมนุษย์หุ่นยนต์ไป ด้วยการ บังคับ ให้ตัวเองทำงานอย่างกระตือรือร้นทุกๆวัน

ส่วนหนึ่งของการฝึกของเขาก็คือเขาจะจดข้อความสั้นเพื่อที่จะใช้กระตุ้นตนเองในเรื่องของความกระตือรือล้นใส่กระเป๋าเสื้อ  แล้วก็ท่อง หรือใช้วิธีการพูดย้ำกับตัวเองวันละหลายๆครั้งเท่าที่เป็นไปได้  เมื่อมีโอกาสเขาก็จะหยิบข้อความนั้นมาอ่านหรือท่องจำให้ขึ้นใจ  ตลอดระยะเวลาสักสามสิบวัน แล้วสิ่งที่พูดย้ำกับตนเองบ่อยครั้งนั้น จะฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกของคนเรา แล้วจิตใต้สำนึกนั้นจะสั่งการให้สมองกระทำการนั้น  ด้วยความกระตือรือล้น และเมื่อถูกตอกย้ำในเรื่องของความกระตือรือล้นย้ำบ่อยเข้าทุกๆวัน สิ่งที่ตอกย้ำนั้นก็จะกลายเป็นอุปนิสัยของคนผู้นั้นตลอดไป

ความกระตือรือล้น เป็นคุณลักษณะที่มีค่าสูงสุดในโลก ทั้งนี้ บางทีอาจเป็นเพราะความกระตือรือล้น เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง แต่ก็เป็นคุณลักษณะที่ติดต่อกันได้ง่ายที่สุด  ถ้าท่านรู้สึกกระตือรือล้นแล้วผู้ฟังท่านพูดก็จะรู้สึกกระตือรือล้นไปด้วย ถึงแม้ว่าท่านจะแสดงความคิด ที่โง่ๆในบางเรื่องออกมาก็ตาม ถ้าท่านพูดขายสินค้าของท่านโดยไม่กระตือรือล้นเลย คำพูดของท่านก็จะจืดชืดไม่มีรส
ถ้าผู้ใดมีความกระตือรือล้นมากจนกลายเป็นความตื่นเต้นได้ก็ยิ่งดี ถ้าคนขายของมีความรู้สึกตื่นเต้น เขาก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นตามไปด้วย และแล้วเขาก็จะขายของได้
ความกระตือรือล้น ไม่ใช่อาการที่แสดงออกมาภายนอกเท่านั้น พอท่านเริ่มรู้สึกกระตือรือล้น ความกระตือรือล้นก็จะทำงานภายในตัวท่านทันที ท่านอาจจะกำลังนั่งอยู่ในบ้านของท่าน....ท่านเกิดมีความคิดอย่างหนึ่ง....ความคิดนั้นเริ่มขยายตัว....ในที่สุดท่านก็จะเต็มไปด้วยความกระตือรือล้น....และแล้วก็จะไม่มีสิ่งใดที่จะรั้งท่านไว้ได้
ความกระตือรือล้นจะช่วยให้ท่านเอาชนะความขี้กลัวให้ได้ผลดีในการงาน ให้ได้เงินมากขึ้น มีอนามัยมากขึ้น ร่ำรวยขึ้น และมีความสุขยิ่งขึ้น
   แล้วเมื่อไรเล่า ท่านจึงจะตั้งต้น จงตั้งต้นเสียแต่บัดนี้เถิด  จงพูดกับตัวเองว่า “นี่เป็นสิ่งที่ฉันทำได้”
   ท่านจะตั้งต้นอย่างไร  มีกฎอยู่กฎเดียวว่า
   “จงกระทำด้วยความกระตือรือล้น...แล้วท่านก็จะกลายเป็นคนกระตือรือล้น”
จงปฎิบัติตามกฏข้อนี้สักสามสิบวัน แล้วเตรียมตัวที่จะประสบผลอันแปลกประหลาดของมัน ถ้าท่านทำได้ดังนั้น ชีวิตของท่านอาจจะเปลี่ยนไป อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

  ทุกๆเช้า จงยืนตรง แล้วท่องข้อความต่อไปนี้ด้วยท่าทางเอาจริงเอาจังและด้วยความกระตือรือล้นเต็มที่
  “จงบังคับตัวของตัวเองให้กระทำ ด้วยความกระตือรือล้น แล้วท่านจะกลายเป็นคนกระตือรือล้น”
http://www.oknation.net/blog/choudej/2008/01/20/entry-2