คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

7 Habits: อุปนิสัยที่ 2 Begin with the end in mind


 บทความจาก Prakal's Blog
              เมื่อวานนี้ได้เขียนอุปนิสัยที่ 1 ของ 7 อุปนิสัยแห่งคนที่มีประสิทธิผลสูง ซึ่งก็คือ เรื่องของ Proactive ครับ วันนี้จะมาต่อในอุปนิสัยที่ 2 ก็คือ Begin with the end in mind ก็คือการเริ่มต้นจากเป้าหมายสูงสุดของชีวิตเรา  การที่เราจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องใดๆ ก็ตาม สิ่งที่เราจะต้องมีก่อน ก็คือ นิสัยแบบ Proactive จากนั้นก็มาต่อด้วยการที่เราจะต้องมีเป้าหมายสูงสุดของชีวิตเราเองว่า จริงๆ แล้วเป้าหมายนั้นคืออะไร สิ่งที่ผู้เขียนเขาแนะนำก็คือ ให้คิดดูว่า ถ้าเราเสียชีวิตไปแล้ว เราอยากให้คนอื่นๆ พูดถึงเราว่าอย่างไร อยากให้เขามองเราว่าเป็นอย่างไร ดีอย่างไร
ผมคิดว่าเรื่องของเป้าหมายของคนเรานั้นเป็นเรื่องที่จะต้องกำหนดให้ ชัดเจนก่อนเลย ว่าเราต้องการจะประสบความสำเร็จอะไร อย่างไร แล้วเราจะเริ่มต้นวางแผนจากเป้าหมายนั้นถอยกลับมาว่า ถ้าเราอยากจะบรรลุเป้าหมายนั้นๆ จริงๆ เราจะต้องทำอะไรบ้าง และทำอย่างไร โดยกำหนดเป็นขั้นตอนให้ชัดเจน
จะว่าไปผมว่าก็เป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งที่คนเรามักจะไม่ค่อยใส่ใจมาก นัก กล่าวคือ เรามักจะมีเป้าหมาย อยากเป็นโน่น เป็นนี่ อยากจะประสบความสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ เราทุกคนล้วนมีความฝันที่อยากจะเป็นในสิ่งที่ดีกว่าวันนี้ แล้วเราก็ได้แค่ฝัน เราไม่ยอมตื่นขึ้นมาเพื่อทำฝันของเราให้เป็นจริง ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกแห่งความฝัน ว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็น จะได้ในสิ่งที่เราฝัน โดยที่เราไม่ได้คิดจะเริ่มลงมือทำอะไรเลย
แต่อุปนิสัยที่ 2 ของ 7 Habits นั้น สอนเราว่า
  • กำหนดภาพเป้าหมายของเราให้ชัดเจน ต้องฝันให้ชัดๆ เลยนะครับ ว่าเราจะต้องการเป็นอะไร บรรลุอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ยิ่งทำให้ภาพเป้าหมายชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างพลังและแรงจูงใจให้เราได้มากขึ้นเท่านั้น
  • เริ่มต้นวางแผน และกำหนดขั้นตอนให้ไปตามเป้าหมายที่เราฝันไว้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ตื่นจากความฝันที่เราวาดไว้ แล้วเริ่มต้นลงมือทำฝันให้เป็นจริงซะ โดยการกำหนดวิธีการแผนงาน และขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อที่จะทำให้เราบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  • เริ่มต้นลงมือทำทุกวัน ผมว่าข้อนี้คือสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราไปถึง หรือไม่ถึงเป้าหมายที่เราวางไว้ ก็คือ การเริ่มต้นลงมือทำวันละนิดหน่อย สะสมไปเรื่อยๆ หลายๆ วันเข้าก็จะกลายเป็นความสำเร็จขึ้นมาได้
  • ต้อง Proactive ในทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องมีอุปนิสัยที่ 1 ก็คือ Proactive เป็นตัวผลักดันตนเองอยู่เสมอ มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะเริ่มกลับมารักความสบายแบบเดิมๆ ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แต่อยากประสบความสำเร็จ ซึ่งมันก็คงจะเป็นไปได้ยาก
         ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนล้วนมีความฝันที่เราต้องการ แต่สิ่งที่ต้องถามตัวเองก็คือ ความฝันนั้น เป็นเป้าหมายสูงสุดของเราจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่สิ่งที่เราต้องการแบบว่า ได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าเป็นแบบนี้ ก็คือว่าฝันนั้นอาจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของเรา
คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างดีนั้น จะต้องไม่ลืมที่จะกำหนดเป้าหมายที่เราต้องการอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางของ 7 Habits หรือตำราในการพัฒนาตนเองอื่นๆ ที่เขียนๆ กันในโลกนี้ ล้วนแต่สอนให้เราต้องมีการกำหนดเป้าหมายของเราอย่างชัดเจน
การที่เราไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนกับเราขับรถโดยที่ไม่รู้ว่าจะไปไหน ขับไปเรื่อยๆ วนเวียนไปเรื่อย เปลืองน้ำมันอีกต่างหาก ชีวิตเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เราก็จะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ วนเวียนไปมาแบบเดิมๆ ซึ่งก็เปลืองเวลาในชีวิตของเราเอง  เป้าหมายมีหลายอย่างครับ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องของความร่ำรวยเพียงอย่างเดียวครับ เราอาจจะตั้งเป้าหมายทางด้านการเงิน การทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ฯลฯ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการ
วันนี้คุณมีเป้าหมายในชีวิตของคุณแล้วหรือยังครับ

7 Habits of highly effective people : Be Proactive


บทความจาก Prakal's Blog
           เห็นชื่อบทความวันนี้แล้วไม่ต้องแปลกใจนะครับ สัปดาห์นี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ 7 อุปนิสัยของคนที่มีประสิทธิผลสูง ของ Stephen R. Covey ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่านผู้นี้ถือเป็นอาจารย์ท่านแรกๆ ที่ผมรู้จักในเรื่องของแนวคิดการพัฒนาตนเองในสมัยที่ผมเพิ่งเรียนจบ ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบในช่วงสองถึงสามปีแรกของการทำงาน และได้นำเอาแนวคิดเหล่านี้ไปใช้จริงๆ ในการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว ใช้บ้าง ลืมบ้าง แต่ก็ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงๆ ก็เลยอยากจะเขียนบทความถ่ายทอดอุปนิสัยทั้ง 7 เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับ Stephen R. Covey ด้วย ผมเชื่อว่ามีท่านผู้อ่านหลายท่านที่เคยอ่านแล้ว และอาจจะมีบางท่านที่ยังไม่เคยอ่านมาก่อน ก็ถือว่าเป็นการทบทวน และได้ความรู้ใหม่ไปในตัวนะครับ
ผู้เขียนได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า นิสัยทั้ง 7 นี้ ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราเป็นบุคคลที่มีประสิทธิผลสูง ซึ่งจากผลการสำรวจของบริษัทของผู้เขียนเอง จะเห็นว่ามีหลายๆ คนที่สามารถประสบความสำเร็จได้ โดยอาศัยอุปนิสัยทั้ง 7 นี้
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงนิสัย แปลว่า เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงนิสัยของเราบางอย่าง อะไรที่เป็นสิ่งที่เราเคยชิน และไม่ได้ทำให้เรามีประสิทธิผลสูงขึ้น นิสัยเหล่านี้นก็จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนนิสัยนี้เป็นสิ่งที่ยากมากทีเดียวครับ แต่ถ้าใครทำได้ นั่นก็คือ เขากำลังที่จะเข้าสู่การเป็นบุคคลที่มีประสิทธิผลสูงนั่นเอง เราลองมาดูนิสัยที่ 1 กันดีกว่าครับว่า Stephen R. Covey เขาว่าอย่างไรบ้าง
อุปนิสัยที่ 1 Be Proactive
ในหลักการของ 7 อุปนิสัยที่กำลังจะเล่าให้อ่านกันนี้ 3 อุปนิสัยแรก จะเป็นการเอาชนะตัวเองก่อน จากนั้นอีก 3 อุปนิสัยถัดมา ถึงเป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น และนิสัยสุดท้ายก็คือ การพัฒนาต่อยอดและการรักษานิสัยทั้งหมดนี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป
อุปนิสัยแรก ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Proactive นั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้ภาษาไทยว่าอะไร พูดกันง่ายๆ ก็คือ เป็นคนที่ไม่ Reactive ก็คือ ไม่ทำตนลอยไปลอยมาตามสถานณ์ที่พาเราไป คนที่ proactive จะไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างภายนอก แต่เขาจะยืนหยัดในสิ่งที่เขาเห็นว่าถูกต้อง และทำให้เราสามารถควบคุมตนเองได้
นิสัยแรกนี้ ผู้เขียนเขาเปรียบเทียบให้ฟังว่า คนเราที่ต่างกับสัตว์ทั่วไปก็ตรงที่ คนเรานั้นมีสิทธิที่จะเลือกที่จะตอบสนองได้ ไม่เหมือนสัตว์ที่ตอบสนองตามสัญชาติญานเท่านั้น เช่น ถ้าเรานั่งรถติดอยู่ในรถนานๆ เราจะเลือกอารมณ์เสีย พาลด่าคนอื่นไปทั่ว แล้วก็ทำให้เราเองเสียสุขภาพจิตไปด้วย หรือเราจะเลือกที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์จากรถที่ติด โดยเลือกคิดในทางบวกมากกว่า เช่น ติดนานๆ ก็ดี จะได้มีเวลาคุยกับแฟนเยอะหน่อย หรือ หาซีดี เรียนภาษาต่างประเทศมาเปิดเพื่อนั่งฟังไปด้วยในขณะที่รถติด ฯลฯ เราสามารถที่จะเลือกตอบสนองต่อสถานณ์การต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ นี่คือตัวอย่างของนิสัยที่ 1 Proactive ครับ
ผมเองคิดเสมอว่านี่คือนิสัยแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จเลยครับ เพราะถ้าเราขาดสิ่งที่เรียกกว่า Proactive ก็จะทำให้เราไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองเลย ทำอะไรก็เป็นไปตามสถานการณ์พาไป เข้าข่ายที่ว่า “ปล่อยให้ลมพาไป จะพัดพาเราไป จะไปไหนก็แล้วแต่สายลม” นี่คือนิสัยแบบ Reactive ก็คือ ไม่เป็นนายของตัวเอง แต่ให้สิ่งแวดล้อมภายนอกมาเป็นนายของเรา คนแบบนี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร จริงมั้ยครับ
ผมนั่งนึกถึงนิสัยที่ไม่ Proactive ก็มีดังนี้ครับ
  • อกหัก กินเหล้า ทำร้ายตัวเอง โดยอ้างว่าเสียใจมาก
  • เลือกที่จะเล่นมากกว่าเรียน พอใกล้วสอบก็มาบ่นว่าทำข้อสอบไม่ได้เลย
  • มีคนขับรถปาดหน้า ทนไม่ได้ต้องขับไปปาดกลับให้จงได้ มิฉะนั้นนอนตายตาไม่หลับ
  • สอบไม่ได้ ทำงานไม่สำเร็จ ผลงานไม่ดี ก็ไปโทษฟ้าโทษดิน ปีนี้ปีชงบ้าง ดาวศุกร์เข้าดาวเสาร์แทรก ฯลฯ
ถ้าคนที่มีนิสัยแบบ Proactive จะไม่เลือกที่จะทำให้ตนเองทำอะไรไปตามสถานการณ์ แต่จะเป็นคนที่ควบคุมตนเองเพื่อเอาสถานการณ์นั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง มากกว่าไม่ว่าจะอกหัก หรือ ทำงานไม่สำเร็จ หรืออะไรก็แล้วแต่ คนที่ Proactive จะไม่เลือกที่จะทำร้ายตนเองเป็นอันขาด
เลือกที่จะคิดดี ทำดี ทำให้ตนเองสบายใจ และมีความสุข แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ลำบากสักแค่ไหน ก็เลือกที่จะทำให้ตัวเองสบายใจได้ครับ แบบนี้แหละครับที่เขาเรียกกว่า Proactive
ตัวอย่างอีกเรื่องที่เห็นภาพเลยก็คือ ถ้าเราตั้งเป้าหมายบางอย่างไว้ เราก็ต้องเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายนั้น นิสัยแบบนี้ก็คือ Proactive เช่น ถ้าเราตั้งใจว่าจะลดความอ้วน เราก็จะมีการวางแผนไว้ว่าจะต้องตื่นแต่เช้ามาออกกำลังกาย แต่พอถึงเวลานาฬิกาปลุกตอนเช้าดังขึ้น คนที่ Reactive ก็จะกดทิ้งแล้วก็นอนต่อไป เพราะคิดเอาสบายไว้ก่อนตามที่เคยสบาย แต่ถ้าคนที่ Proactive ก็จะกดทิ้งแล้วลุกขึ้นทันที เพื่อที่จะออกไปออกกำลังกาย เพื่อที่จะได้ลดความอ้วนให้ได้ตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้นั่นเองครับ
แล้ววันนี้ คุณเลือกที่จะ Proactive หรือ Reactive ครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ทุกวัน




ในการทำงานทุกอย่างย่อมมีการเริ่มต้น สิ่งดีดีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าเราไม่ลงมือทำ บางคนอาจประสบความสำเร็จตั้งแต่ลงมือทำเป็นครั้งแรก แต่ถ้ามันยังไม่สำเร็จก็คงมีสักครั้งที่เราไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ในการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอกับงานที่ห่างไกลกับความสำเร็จนั้นก็ต้องอาศัยความอดทนเป็นที่ตั้ง เมื่อใดที่เหนื่อยและท้อ จงบอกตัวเองว่าเรายังอดทนไม่พอ

“เป้าหมายที่ยาวไกล ต้องอาศัยความอดทนเป็นที่ตั้ง”

วิธีทำงานที่ได้ประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุดคือ ในเวลาการทำงานอย่าเอาใจไปอยู่ที่คนอื่น อย่าเอาใจไปอยู่ที่งาน ให้เอาใจไว้ที่ตัวเอง


เมื่อไหร่ที่เอาใจไปไว้ที่คนอื่น ความพอใจหรือความไม่พอใจย่อมเกิด ก็อาจพาให้งานสำเร็จช้าลง ยิ่งถ้าเกิดการไม่พอใจ นอกจากทำให้เป้าหมายห่างไกลกว่าเดิมแล้ว บางครั้งอาจละทิ้งเป้าหมายนั้นได้ แม้เกิดความพอใจก็ใช่จะดี เพราะความพอใจย่อมเกิดการโอนอ่อนผ่อนตามงานก็อาจเสียได้เช่นกัน

เมื่อไหร่ที่เอาใจไปไว้ที่งาน บางที่เป้าหมายนั้นยังอีกไกลก็อาจท้อได้ ใจที่พะวงอยากไปให้ถึงเป้าหมายไวๆความสนุกในการทำงานก็จะไม่เกิด

การเอาใจไว้ที่ตนเองนั้นจะเป็นการทำงานอย่างมีสติ ยิ่งถ้าเรารู้หลักแล้ว การทำงานทุกงานเป็นการฝึกสติ “สติมาปัญญาเกิด” งานที่ทำด้วยปัญญาจะเกิดข้อผิดพลาดได้อย่างไร งานก้าวหน้าไปถึงไหนก็จะรู้ สติปัญญาจะพาให้งานดำเนินการไปได้ด้วยดี งานจะเสร็จไว ถ้าใจเรามีสติ

วิธีหนึ่งที่ให้ถีงเป้าหมายโดยไวคือลองปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนวิธีทำ ใช้แรงเท่ากันอาจได้งานไม่เท่ากัน บางครั้งเนื้องานอาจเห็นไม่ชัดเจนในรูปธรรม การปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนวิธีทำ ในเวลาเท่ากันเราอาจได้งานมากกว่าเดิม นั่นคือเราก็จะมีเวลาเพิ่มขึ้น เราจะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น มีเวลาชื่นชมธรรมชาติมากขึ้น มีเวลาพักใจมากขึ้น ใจที่ได้หยุกพักจะเกิดความสงบ แล้วความสุขก็จะอยู่ในกำมือของเรา

ในหลายๆครั้งที่เราไม่อาจพบกับความสำเร็จได้โดยไว อย่างที่ใจอยากให้เป็น เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะเป็นที่มาของความทุกข์ ให้เรามองดูทุกวันของเรา ถ้าเรามีรอยยิ้มในทุกวัน และสามารถทำให้คนรอบข้างยิ้มได้ นั้นแหละเป็นความสำเร็จในชีวิตที่เราคาดไม่ถึง


เป้าหมายเล็กๆของใครบางคน ที่ทำให้คนรอบข้างของตัวเราเองยิ้มได้ทุกวัน ย่อมสูงค่ากว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียน้ำตา

หมั่นพิจารณาการกระทำของตนเองให้ดีๆ ในการกระทำของเราหนึ่งครั้ง เราไม่อาจทำให้คนถูกใจคนได้ทุกคน หากแต่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียน้ำตาเราจะสามารถแหงนหน้ามองฟ้าได้อย่างเต็มภาคภูมิเช่นนั้นรือ เมื่อรู้ว่าทำแล้วไม่ดี จะหาความดีจากที่ใด ถ้าเราไม่รู้จักเตือนตนเองแล้ว จะไปให้ใครมาเตือน เป็นคนที่รู้จักเตือนตนนั่นแหละดี เพราะบางทีมีคนมาเตือนก็พาลโกรธเขาไปอีก “ความสำเร็จย่อมเกิดกับผู้ที่ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ” จงเตือนตนเองว่าเราต้องลงมือทำ อย่างสม่ำเสมอ ตั้งเป้าเอาไว้แล้ววางมันลง หัดยิ้มให้กับตนเอง ยิ้มให้กับคนรอบๆตัวเราเสียบ้าง ....เป้าหมายอาจเป็นเพียงกำไร ถ้าเรายิ้มได้ทุกวัน ....

แล้วคุณมองเห็นความสำเร็จของคุณเองในทุกๆวันหรือยัง ถ้ายังไม่เห็นก็จงทำมันเสียเถิด

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พูดอย่างไรให้คนรัก/ดร.แพง ชินพงศ์

การติดต่อสื่อสารสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคนเราด้วยกัน ซึ่งคนเรามักจะติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลาผ่านทั้งทางการพูด-การฟัง การเขียน-การอ่าน การแสดงกิริยาท่าทาง แต่การติดต่อสื่อสารที่เป็นพื้นฐานที่สุดของคนเราก็คือการพูดและการฟังนั่นเอง การพูดนั้นดูจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แต่การพูดให้คนฟังเกิดความรู้สึกที่ดี ประทับใจ จนสามารถทำให้คนรักหรือรู้สึกมีทัศนคติที่ดีกับเราได้นั้น อาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลายๆคน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอวิธีว่าควรพูดอย่างไรที่จะทำให้มีแต่คนรัก ดังนี้

1.สร้างภาษากายให้ดูดี

บุคลิกลักษณะมีความสำคัญต่อการสนทนาเป็นอย่างมาก เพราะหากมีบุคลิกลักษณะที่ดีก็ทำให้คนอยากจะร่วมสนทนากับเรา ที่ว่า “ดูดี” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการวางมาด หรือวางท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะคงไม่มีใครที่ชอบคนลักษณะเช่นนี้ แต่การสร้างภาษากายที่ดูดี คือ เวลาสนทนากันควรมีบุคลิกภาพที่ดีเหมาะสม ไม่นั่งกอดอกหรือเอามือล้วงกระเป๋า มองคู่สนทนาด้วยสายตาเป็นมิตร สบตาคู่สนทนาเป็นระยะๆ และไม่มองจ้องหน้าคู่สนทนามากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความอึดอัด อีกทั้งไม่ทำสีหน้าบึ้งตึง รำคาญ หรือเบื่อหน่าย รวมถึงควรแสดงออกถึงความสนใจกับคนที่เราพูดคุยด้วยการตั้งใจฟังในสิ่งที่คู่สนทนาพูด โดยการยิ้มรับ พยักหน้า หรือตอบแสดงการรับรู้ว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” โดยพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นควรให้เป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการดูแลรักษาสภาพร่างกายของตัวเองด้วยการแต่งกายที่สะอาด สุภาพเรียบร้อย ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาษากายให้ดูดีได้

2.พูดจาสุภาพ

ทุกคนชอบคนที่พูดจาสุภาพอ่อนโยน การพูดจาสุภาพหมายถึงการพูดเพราะ พูดจามีหางเสียงลงท้าย ครับ ค่ะ จ๊ะ จ๋า รวมถึงการไม่พูดจาขัดคอคู่สนทนาและไม่พูดคำหยาบคาย อันนี้สำคัญมาก เพราะคนที่พูดจาหยาบคายนั้นมักเป็นที่รังเกียจของคนส่วนใหญ่ แต่เด็กๆ วัยรุ่นมักชอบพูดคุยกันด้วยคำหยาบเหมือนเป็นเรื่องปกติ บางทีเด็กวัยรุ่นผู้หญิงก็เรียกสรรพนามกันว่ากู - มึง พูดคำด่าคำ ฟังแล้วก็ตกใจ นอกจากนี้ ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่พอเหมาะโดยไม่ควรพูดตะเบ็งเสียงดังจนเกินไป อีกทั้งไม่ควรพูดไปหัวเราะไป เพราะนั่นคือการแสดงออกถึงความไม่สุภาพต่อคู่สนทนา

3.พูดชัดถ้อยชัดคำ

เป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม แต่แท้ที่จริงแล้วการเป็นคนพูดชัดถ้อยชัดคำคือเสน่ห์ในการพูดอย่างหนึ่ง การพูดชัดถ้อยชัดคำหมายถึง การพูดจาฉะฉานชัดเจนน่าฟัง มีการพูดเน้นจังหวะและเว้นจังหวะที่พอเหมาะ คือ ไม่พูดเร็วและรัวเกินไปจนผู้ฟังตามไม่ทันหรือฟังไม่รู้เรื่อง อีกทั้งไม่พูดช้าเกินไปจนพาให้ง่วงนอน นอกจากนี้ ควรพูดออกเสียงคำควบกล้ำอักขระ ร.เรือ ล.ลิง.ให้ถูกต้องชัดเจนซึ่งควรฝึกตั้งแต่เด็กๆ เพราะเมื่อติดในการพูดไม่ชัดไปจนถึงโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องที่แก้ได้ยากมาก ผู้เขียนเห็นคนที่มีชื่อเสียงบางคนพูด ร.เรือ ล.ลิง หรือพูดคำที่มีตัวอักษร ส.เสือไม่ชัด ทำให้เสียบุคลิกในการพูดเป็นอย่างมาก

4.พูดให้ถูกกาลเทศะ

หมายถึง การที่เราต้องดูว่าเราพูดกับใคร พูดเรื่องอะไร หัวข้ออะไร พูดที่ไหน เป็นการพูดสนทนาแบบกันเองหรือแบบจริงจัง การพูดให้ถูกกาลเทศะต้องคำนึงถึงเนื้อหาสาระในการพูดเป็นหลัก โดยการพูดต้องพูดอย่างมีสาระ มีขอบเขตและเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการสื่อสารกับผู้ฟังว่าอย่างไร และเรื่องอะไร อย่าพูดจาเลอะเทอะเรื่อยเปื่อย เพราะจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญและเบื่อหน่าย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการพูดที่ถูกกาลเทศะ ก็คือ การพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เช่น เมื่อพูดกับคนที่อาวุโสกว่า เราต้องพูดด้วยน้ำเสียงสุภาพนอบน้อม และคำพูดที่ควรมีให้ติดปากอยู่เสมอคือ “สวัสดี…ขอบคุณ…ขอโทษ”

5.เรื่องที่ไม่ควรพูดเมื่อเจอกับคู่สนทนาเป็นครั้งแรก

- คุยแต่เรื่องของตัวเองมากจนเกินไป ควรให้ความสำคัญกับคู่สนทนาอย่างจริงใจคือเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี

- หัวข้อที่สนทนานั้นควรเริ่มจากเรื่องรอบตัวทั่วๆไป เช่นเรื่องดินฟ้าอากาศ เรื่องสถานที่ท่องเที่ยว เรื่องอาหาร เรื่องเพลง เรื่องภาพยนตร์ เพื่อประเมินความสนใจของคู่สนทนา

- อย่านินทาผู้อื่น อย่าพูดจาก้าวร้าว วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น อีกทั้งไม่ควรพูดจาลามกหรือนำปมด้อยของคู่สนทนาหรือผู้อื่นมาพูด เช่น ตัวอ้วน ตัวดำ หัวล้าน เพราะนอกจากจะไม่ตลกแล้ว ยังทำให้คู่สนทนารู้สึกรังเกียจเราตั้งแต่ครั้งแรกที่มีโอกาสพูดคุยกัน

- อย่าคุยเรื่องส่วนตัว ข้อพึงระวังในการสนทนาครั้งแรก คือการไม่ควรถามซอกแซกในเรื่องส่วนตัวที่ทำให้คู่สนทนาเกิดความรู้สึกเหมือนถูกคุกคามและเกิดความอึดอัดไม่สบายใจ

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ การพูดโกหก พูดตลบตะแลง พูดจาส่อเสียด หรือพูดจาสองแง่สามง่าม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะนอกจากจะไม่มีใครอยากจะสนทนากับเราแล้ว ยังอาจเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นจนไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วยก็เป็นได้ ดังนั้น หากจะพูดสิ่งใดออกไปควรที่จะคิดตรึกตรองเสียก่อนเพื่อที่ว่าสิ่งที่ออกไปจากปากเรานั้นมันไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ พูดดีจึงเป็นศรีแก่ตัวและสามารถทำให้คนอื่นประทับใจในตัวเราได้ เหมือนในคำกล่าวที่ว่า “ที่จะตอบให้เหมาะสมก็เป็นความชื่นบานแก่คน คำเดียวที่ถูกกาลเทศะก็ดีจริงๆ” (สุภาษิต15:23)

เทคนิคในการฝึกฝนตนเองให้เป็นคนตรงต่อเวลา


เรื่องของการตรงต่อเวลานั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำธุรกิจนอกจากจะบ่งบอกว่าคุณให้เกียรติและมีมารยาทกับผู้ที่คุณนัดเอาไว้ ยังแสดงถึงความรับผิดชอบของคุณอีกด้วย วันนี้เรามีเทคนิคในการฝึกฝนตนเองให้เป็นคนตรงต่อเวลามาฝาก

1. ปรับตัวเองให้ตื่นตามเวลา และควรตั้งนาฬิกาทุกเรือนให้เวลาตรงกัน และฝึกให้ตนเองมีวินัยโดยตื่นทันทีที่เสียงนาฬิกาปลุก อย่านอนต่อเด็ดขาด

2. หากคุณแยกปฏิทินนัดหมายงานกับส่วนตัวออกจากกัน ให้รวมเข้าเป็นชุดเดียวกัน ทำให้เห็นตารางการนัดหมายทุกเรื่องอย่างชัดเจน จะไม่ทำให้เกิดการนัดซ้ำซ้อน และทำให้เห็นถึงนัดครั้งต่อไปว่าใกล้จะถึงวันนัดแล้ว จะได้มีการเตรียมตัวและไปให้ถึงเวลานัดเล็กน้อย

3. ควรใช้ปฏิทินในโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์ เพราะปฏิทินอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะเป็นเครื่องเตือนได้เป็นอย่างดี และจดบันทึกนัดหมายต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ทำให้แน่ใจว่าคุณจะไม่พลาดนัดสำคัญ

4. หาวันว่างๆ สังเกตตัวเองว่าคุณใช้เวลาในการทำสิ่งต่างๆ นานแค่ไหน เสียเวลาไปกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ? เพื่อจะได้วางแผนนับถอยหลังเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางไว้ด้วย และควรถึงก่อนเวลานัดหมาย 15 นาที ที่สำคัญ ควรวางแผนเตรียมเอกสาร หรือของที่ต้องใช้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แม้แต่เสื้อผ้าที่จะใส่ในวันรุ่งขึ้นก็ตวรเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเข้านอน ตื่นเช้าขึ้นมาจะได้แต่งตัวออกจากบ้านอย่างรวดเร็ว แนะนำว่าให้คิดถึงเวลาก่อนออกเดินทางให้มากกว่าเวลาถึงที่หมาย

เทคนิคง่ายๆ แบบนี้คุณก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนตรงต่อเวลาและไม่ผิดนัดสำคัญๆ อีกด้วย

คำดี ๆ จากหนังสือ “อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก” โดย วินทร์ เลียววาริณ

…ถ้าอยากจะอ่านบทความสั้น ๆ แนวเสริมสร้างกำลังใจที่แฝงไปด้วยแง่คิด มุมมองใหม่ ๆ เรื่องราวดี ๆ ที่หลากหลายแนว แนะนำเลยครับ หนังสือชุดเสริมกำลังใจ ของ วินทร์ เลียววาริณ ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
ชีวิตที่ใช้ได้คือได้ใช้
อย่าให้ตัวเลขอายุหยุดความเป็นเด็กในตัวคุณ
อย่าให้คนอื่นใช้ชีวิตให้คุณ
จุดหมายไม่สำคัญเท่าสองข้างทาง
หนึ่งปัญหาที่ไม่แก้ไขในวันนี้ มักกลายเป็นหลายปัญหาในวันพรุ่งนี้
เสียเวลาไปกับการวิตก เท่ากับว่าเวลาที่จะใช้ชีวิตลดลง
ใช้ชีวิตทีละนาที และใช้นาทีนี้ให้ดีที่สุด
คนฉลาดเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น แล้วสร้างทางของตัวเอง
อย่าเพิ่งคิดเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นก่อน
ปุ๋ยที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตคือการใช้ชีวิต
เราทุกคนได้รับของขวัญจากธรรมชาติเหมือนกัน คือร่างกายและลมหายใจ
เราเลือกแบบร่างกายไม่ได้ แต่เราเลือกวิธีการใช้ชีวิตได้
ความพ่ายแพ้ส่วนใหญ่ในโลกนี้เกิดขึ้นก่อนในหัวใจ
ไม่มีอุปสรรคใดในโลกที่ขวางปัญญาบวกความอดทน
ความพยายามมีราคาของมัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มเสมอ
พื้นที่สมองมีจำกัดเกินกว่าที่จะเสียไปจดจำเรื่องไม่ดีของคนอื่น
ชีวิตก็เช่นชิงช้าสวรรค์ เป็นการหมุนเวียนของขึ้นกับลง
ขึ้นได้ก็ลงได้ แล้วก็ขึ้นได้อีก
ขอบคุณ: หนังสือเสริมกำลังใจ ชุด 4 “อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก” โดย วินทร์ เลียววาริณ

เพิ่มความสุข เพียงลดบางสิ่ง : Mihiro Matsuda

หนังสือ "เพิ่มความสุข เพียงลดบางสิ่ง"ที่เขียนโดย Mihiro Matsuda
เขียนไว้ในหน้า ๑๑๐ - ๑๑๑ เกี่ยวกับ "การหวังผลตอบแทน" ไว้ว่า...


พลังแห่งการเลิก


เลิก"หวังผลตอบแทน"

เพราะฉันให้ของขวัญไปแล้ว
ก็น่าจะได้อะไรตอบแทนกลับคืนมาแน่นอน
เพราะฉันส่งจดหมายไปแล้ว
ก็น่าจะเขียนจดหมายตอบกลับมา
เพราะฉันสนับสนุนไปแล้ว
ก็ต้องได้รับการสนับสนุนบ้างในครั้งหน้า
ความคิดเช่นนี้
ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในจิตใจคนเรา
แต่คุณรู้ไหมว่าคนที่ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน
ช่างมีเสน่ห์กว่าคนที่ทำแล้วค่อยแต่หวังผลตอบแทนอยู่ร่ำไป
ลองเลิก"หวังผลตอบแทน" ดูสิ


พลังแห่งการเริ่ม


เริ่ม"ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน"

เพราะต้องได้รับบางสิ่งกลับมา ก็เลยทำให้
เพราะมีผลตอบแทน ก็เลยทำ
ทิ้งความคิดเหล่านี้ไป
แล้วลองทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทนดูสิ
เพียงเท่านี้คุณจะิอิ่มเอมใจ
และจะไม่รู้สึกเครียดกับท่าทีตอบรัรบของอีกฝ่าย
เพียงแค่ลองทำด้วยความรู้สึกที่อยากทำให้จากใจจริงดู


[ก้าวแห่งการเริ่ม]


"แม้ว่าทำดีไปแล้วจะไม่ได้รับคำขอบคุณกลับมาก็ตาม
ก็กระซิบคำว่า"ขอบคุณ" กับตัวเองก็ได้"

"ผู้ให้" ย่อมมีหัวใจที่ใหญ่กว่า"ผู้รับ" เสมอ

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความทุกข์แท้ๆ อายุสั้น




ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่า
"ความทุกข์แท้ๆ อายุสั้น
แต่เรามักต่ออายุให้มันด้วยความคิดวนเวียนซ้ำซาก"


แหม อ่านแล้วก็ขำ
ตอนที่เราเกิดปัญหานั้น
เราเป็นแบบที่ ท่าน ว.วชิรเมธี ว่าเอาไว้เลย
ก็คิดแต่เรื่องเก่าๆวนเวียนซ้ำซาก
แล้วมันจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร

เมื่อมีปัญหาก็ไม่ควรหมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไป
ลองหากิจรรมที่สนุกๆทำเพื่อให้ตัวเราเองผ่อนคลาย
อาจไปดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง คาราโอเกะเสียงดังๆ
การออกกำลังกายเป็นการผ่อนคลายที่ถูกที่สุด
ทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงก็อยู่ที่ตัวเราเองทั้งนั้น

ลองหัดเล่นโยคะ หัดถักเน็ตติ้ง หัดวาดรูป

เอาเวลามาถักหมวกไหมพรมดู
หนึ่งวันที่เราเฝ้าแต่คิดวนเวียนซ้ำซาก
เราอาจถักหมวกดีๆได้หนึ่งใบ

ในบางครั้งลองเปิดใจและปรึกษา
คนที่เราไป "ปรึกษา" ก็ควรเลือกด้วย
หากผู้ที่ให้คำแนะนำมีความคิดในทางด้านบวก
เราก็จะได้รับคำแนะนำที่ดี
ได้กำลังใจที่ดี

หนึ่งวันที่เราเฝ้าแต่พร่ำบ่นซ้ำซาก
ถ้าคนฟังเป็นคนเดิมๆ เขาก็อาจเบื่อได้
แรกๆเขาอาจคอยให้กำลังใจ
ถ้าเราพร่ำบ่นซ้ำซาก คิดว่าเขาจะเบื่อไหม
นั้นเท่ากับเราเพิ่มความทุกข์ให้กับคนอีกหนึ่งคนโดยไม่ได้ตั้งใจ

ปรึกษาเพื่อหาหนทางแก้ไข
หากมัวแต่เล่าเรื่องเก่าๆ เล่าปัญหาเก่าๆซ้ำซาก
ก็เท่ากับเราผูกตัวเองไว้กับความทุกข์
การเลี่ยงที่จะไม่เล่า
ไม่พูดถึงความทุกข์ก้อนนั้นจึงเป็นวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาที่ดีที่สุด
จงจำไว้ว่ายิ่งพูดถึงมันก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์
เอาเวลาที่พูดเรื่องเก่าซ้ำซากมาสรรสร้างสิ่งใหม่ๆที่ดีกันดีกว่า

ระยะที่เกิดปัญหาใหม่ๆนั้นจะมีความทุกข์มาก
ควรอยู่ให้ห่างคนที่คิดลบเข้าไว้
ใครชวนไปกินเหล้านี่ต้องอยู่ให้ห่างๆ
เพราะมันไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
เหล้ามันจะทำให้ปัญหาอย่างอื่นตามมา

คำแนะนำต่างๆเราควรรู้จัก"เลือกรับ"และนำมาปรับปรุง
ประสบการณ์มันจะสอนเราเอง
หากบางครั้งเมื่อรู้จักสังเกตุ
ก็เอาประสบการณ์ของคนอื่นมาเรียนรู้
เราจะได้ไม่ต้องไปเจอเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เราไม่ต้องการ

ปัญหาบางอย่างมันหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก็ต้องรู้จักยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ใครจะรู้ว่า อีก10ปีข้างหน้าเราอาจต้องขอบคุณเหตุการณ์ร้ายๆในวันนี้

หนทางที่ดีในการตั้งหลักรับมือกับปัญหาคือการอดออม เผื่อเอาไว้วันข้างหน้า
ใครจะรู้ว่าคนที่รักกันในวันนี้ พรุ่งนี้อาจเป็นอื่น
ความรักเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมันไม่เป็นอย่างที่เราหวัง ก็ต้องยอมรับ
เมื่อเกิดปัญหา หากเรามีเงิน เราอาจหยุดพัก ท่องเที่ยวแบบตามใจตัวเองสักระยะ
แล้วค่อยกลับมาสู้ต่อ
เงินไม่ใช่ทุกคำตอบ แต่ปลอบใจเราได้

พยายามเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
อะไรที่เลี่ยงได้ก็เลี่ยง
อะไรที่เลี่ยงไม่ได้ก็ปรับปรุง
ถ้ามันทำอะไรไม่ได้เลย ก็มองดูมันเฉยๆ
อย่าเอามาเป็นอารมณ์

จุดจบของทุกสิ่งคือ "ต้องจาก"
คนเรา ไม่ว่าจะรักกัน หรือชังกัน ก็ต้องจากกันทั้งนั้น

ในความรักนั้น ถ้าเราสามารถเดินออกมาจากมันได้แล้ว
หากคิดจะย้อนกลับไปจุดเดิมอีก เหตุการณ์เดิมๆ ก็ฉายซ้ำ
เราอาจลองปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่กับสถานะการณ์นั้นให้ได้
และเปลี่ยนแล้วเราต้องมีความสุขด้วย
ไม่เช่นนั้นเราก็ควรเรียนรู้ที่จะหยุดพัก
เราไม่ควรเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร
เราควรเปลี่ยนตัวเอง เพื่อตัวเอง