คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

องค์ประกอบของความสำเร็จในชีวิตเรา

ทุกคนเกิดมาแล้วล้วนแต่อยากจะประสบความสำเร็จกันทั้งสิ้น ไม่มีใครหรอกครับ ที่ไม่อยากประสบความสำเร็จ มีใครบ้างที่อยากยากจน อยากไม่มีงานทำ หรืออยากอยู่ในสถานภาพเดิมๆ ไปตลอดชีวิต ผมเชื่อว่าไม่มี แต่ทำไมคนแต่ละคนจึงประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน บางคนสถานภาพทางสังคมไม่แตกต่างกัน ฐานะไม่แตกต่างกัน อีกทั้งยังเรียนหนังสือมาเหมือนๆ กัน แต่สุดท้าย คนสองคนนี้กลับประสบความสำเร็จในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำไม?
นึกขึ้นมาได้ว่า เคยอ่านหนังสือที่ชื่อ The 8th Habit ของ Stephen R. Covey ได้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนถึงองค์ประกอบของคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง ดังต่อไปนี้ครับ
  • Vision วิสัยทัศน์ คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีเป้าหมายของชีวิต มีการมองภาพในอนาคตของตนเองได้อย่างชัดเจนว่า ตนจะต้องไปเป็นอะไร ทำอะไร หรือประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างไร องค์ประกอบนี้ถือเป็นสิ่งแรกที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับคนที่อยากจะประสบความสำเร็จ เพราะถ้าเรายังไม่รู้ หรือมองไม่เห็นว่าเราอยากเป็นอะไร หรืออยากจะประสบความสำเร็จอย่างไร เราก็คงไม่รู้วิธีการไปถึงความสำเร็จนั้นได้เลย เป็นไปได้ว่าคนบางคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตสักที อาจจะเกิดจากการที่เขายังไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร และอยากที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร บางคนก็ลอยไปลอยมา แต่ใจคิดอยากรวย อยากประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่ตัดสินใจว่าตนเองชอบ หรือ รักงานอะไร สุดท้ายก็ได้แต่คิดอย่างเดียวเท่านั้น
  • Discipline วินัย องค์ประกอบที่ 2 ของคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ก็คือการมีวินัยในตนเอง หลังจากที่เราสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ และมองภาพอนาคตของตนเองออกแล้ว สิ่งถัดไปที่จะต้องทำก็คือวางแผนว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จากนั้นก็ต้องสร้างวินัยในตนเองแล้วล่ะครับ เพราะถ้าไม่มีวินัย เราก็จะเลิก หรือไม่ก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เพราะชีวิตของคนเรานั้นเรารักความสบายอยู่แล้ว การที่เราจะใช้ชีวิตแบบเรื่อยๆ สบายๆ ไปวันๆ แล้วอยากจะประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่เราตั้งไว้ ก็คงจะยากหน่อยนะครับ คนที่มีวินัยในตนเองจะมีลักษณะที่ขยันขันแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เป็นคนประเภทกัดไม่ปล่อยจนกว่าจะประสบความสำเร็จนั่นเองครับ
  • Passion มีไฟในตัวเอง องค์ประกอบที่ 3 ของคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับเป้าหมายของตนเองแล้ว มีวินัยมุ่งมั่นที่จะลงมือทำจริงแล้ว สิ่งถัดไปก็คือ จะต้องมีไฟในตัวเองอยู่เสมอ มีความอยากที่จะประสบความสำเร็จ และรักษาไฟในตัวเองให้ยังคงมีอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย บางคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะมีไฟในช่วงต้นๆ จากนั้น ไฟที่เคยมีก็มอดหมด แล้วชีวิตก็กลับมาเหมือนเดิมที่เคยเป็นอีกครั้ง
3 องค์ประกอบนี้ ถ้าเรารักษาความคงเส้นคงวาไว้ให้ได้ ไม่ให้มันลดลง อย่างน้อยก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ แต่อาจจะใช้เวลาหน่อย แต่คนที่เพิ่มวินัย และสร้างไฟในตัวให้ลุกโชนอยู่เสมอนั้น จะประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าอย่างแน่นอน
อ่านจบแล้วลองประเมินตนเองดูก็ได้นะครับว่าในแต่ละองค์ประกอบนั้น ตัวเราเองมีสักเท่าไหร่ ให้คะแนนเล่นๆ ก็ได้ ถ้าให้แต่ละองค์กรประกอบเต็ม 10 ตอนนี้เรามีอยู่สักเท่าไหร่ ถ้ารวมคะแนนออกมาแล้วได้ตั้งแต่ 27 ขึ้นไป แสดงว่าท่านพร้อมอย่างมาก และความสำเร็จอยู่ไม่ไกลแล้วล่ะครับ ถ้าอยู่ในช่วงตั้งแต่ 18-26 ก็เรียกกว่ากลางๆ อาจจะต้องจุดไฟ หรือไม่ก็สร้างวินัยในตนเองให้มากขึ้น แต่ถ้าใครต่ำกว่า 18 อาจจะต้องเพิ่มความพยายามอย่างสูง เพราะท่านเป็นคนที่รักสบายมากๆ ดังนั้นถ้าอยากประสบความสำเร็จ ก็คงต้องสร้างวินัยให้มากกว่าเดิมเป็น 3 เท่าเลยครับ
ผมเองก็เชื่อไปทางเรื่องของการมีวินัย คนที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องเริ่มลงมือทำทันที ไม่รอ ไม่เลื่อน ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง และพอเริ่มลงมือทำแล้ว ก็ต้องมีวินัยที่จะทำมันไปตลอดให้ได้ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยใหม่ แต่ความมีวินัยอาจจะไม่พอ เราก็ต้องสร้างไฟ สร้างแรงจูงใจในตนเอง เพื่อให้วินัยของเรานั้นยังคงอยู่ตลอดไปครับ
ผมเชื่อว่าถ้าเราทำจริงๆ จังๆ ความสำเร็จก็คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://prakal.wordpress.com

คุณกำลังจะโต หรือกำลังจะตาย



จำได้ว่าผมเคยเขียนเรื่องราวของภาวะผู้นำว่า ผู้นำที่ดีนั้นจะต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา ใครที่ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็คือ คนที่กำลังถอยหลัง ก็ขอยกคำพูดของ Ken Blanchard มาอีกสักครั้ง เขาเขียนได้จับใจมากครับ
“Growth is what separates living things from dying things.
Growth brings energy, vitality, life, and challenge.
Without growth, we’re just going through the motions.”
แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ชีวิตคนเรานั้น ถ้าไม่มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเติบโตต่อไป ก็เหมือนกับว่าเรากำลังจะตาย การเติบโตเป็นสัญญานของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีแต่พลัง มีแต่ความสดใส มีความท้าทายใหม่ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชีวิตของเราไม่ต้องอยู่กับที่หรือถอยหลังไปเรื่อยๆ ดังนั้นคนที่ไม่เรียนรู้ หรือเติบโต ก็เหมือนกับคนที่กำลังจะตาย และมีชีวิตอยู่แค่เคลื่อนไหวไปมาเท่านั้น
อ่านจบแล้วซึ้งเลยครับ แล้ววันนี้ท่านผู้อ่านเองกำลังเติบโตอยู่ทุกวันหรือเปล่าครับ
Ken Blanchard ได้ให้คำถามไว้ 8 ข้อเพื่อถามตัวเองว่าตอนนี้คุณกำลังเติบโตหรือเปล่า ดังนี้ครับ
  • คุณสามารถประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวคุณเองจริงๆ โดยไม่เข้าข้างตัวเอง?
  • คุณหาโอกาสที่จะทำงานที่ท้าทายใหม่ๆ โดยไม่ปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงการทำงานใหม่ๆ?
  • คุณพูดกับตัวเองในความเป็นจริงเสมอ ไม่มีการโกหก หรือหลอกตัวเอง?
  • คุณชอบสอบถามเพื่อนให้ช่วยให้ Feedback ในทางลบของคุณเอง เพื่อนำไปปรับปรุง?
  • คุณเป็นคนที่มีวินัยในตนเองสูง และชอบที่จะลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน?
  • คุณสามารถนั่งฟังคนอื่นพูดด้วยความสนใจ แม้ว่าเรื่องนั้นคุณจะรู้ดีมากก็ตาม?
  • คุณชอบที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นในสิ่งที่คุณเพิ่งได้เรียนรู้มา?
  • คุณไม่ชอบทำอะไรที่อยู่ในกรอบเดิมๆ มักจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิตของตนเองเสมอ?
ใน 8 ข้อ ถ้าคุณตอบใช่ มากกว่า 6 ข้อ แสดงว่าเป็นคนที่ชอบการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และชอบทำให้ตนเองเติบโต โดยการพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อจะได้มาพัฒนาตนเอง รวมทั้งพยายามหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเคยรู้แล้วก็ตาม ก็ไม่ปิดกั้นตนเอง พยายามมองหาโอกาส และต่อยอดความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ
แบบนี้ล่ะครับที่เรียกว่า Growth ก็คือ มีการพัฒนาและเติบโตอยู่เสมอ ผิดกับบางคน มักจะมีความหยิ่งทะนงตนว่ารู้หมดแล้ว เมื่อไหร่ที่เราคิดว่าเรารู้หมดแล้ว เราก็จะไม่มีการพัฒนาตนเองอีกเลย เพราะไปฟังใครพูดอะไร เราก็จะคิดแค่ว่าเรารู้แล้ว เมื่อไหร่ที่เราคิดแบบนี้ก็จะเหมือนกับที่ Ken Blanchard พูดไว้ว่า นี่คือ เรากำลังจะตายนั่นเองครับ
วันนี้คุณเติบโตขึ้นกว่าเมื่อวานหรือเปล่าครับ
ขอบคุณบทความจาก http://prakal.wordpress.com

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เทคนิคการมอบหมายงานให้ได้ผล

เคยมั้ยครับ ที่มอบหมายงานให้กับลูกน้องแล้ว แต่ลูกน้องกลับทำงานออกมาไม่ได้ดั่งใจเรา หรือไม่ได้ตามที่เราต้องการ จนบางครั้งเราต้องออกปากตำหนิลูกน้องเราว่า ทำไมทำไม่ได้อย่างที่สั่ง จริงๆ แล้วหัวหน้าหรือลูกน้องกันแน่ที่จะต้องปรับปรุงตัวเอง
ส่วนใหญ่จะตอบว่า “ลูกน้อง” จะต้องปรับปรุงตัวเองให้มากกว่านี้ โดยการฟังให้เข้าใจ ตั้งใจฟัง ไม่ใช่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาออกไป ฯลฯ แต่เชื่อหรือไม่ครับ การที่ลูกน้องไม่สามารถทำงานได้ตามที่เรามอบหมายได้นั้น จริงๆ แล้วถ้าจะให้ได้ผล จะต้องแก้ไขที่ตัวหัวหน้าเองมากกว่าครับ ก็คือ หัวหน้าจะต้องมั่นใจ และแน่ใจว่า สิ่งที่ตนเองได้สั่งการและมอบหมายไปนั้น ลูกน้องเราเข้าใจจริงๆ ว่าผลงานที่ต้องการนั้นคืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร
ถ้าเรามัวแต่ไปแก้ไขที่ลูกน้อง ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ไม่มีทางจบแน่นอนครับ เพราะลูกน้องแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จะให้เปลี่ยนทุกคนเข้ามาหาเรามันยากมากนะครับ ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าเราเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับลูกน้องแต่ละคนน่าจะง่ายกว่าครับ
อย่างไรก็ดี เทคนิคในการที่จะมอบหมายงานให้ลูกน้องเพื่อให้ลูกน้องทำงานตามที่เราสั่งให้ได้ผลมากที่สุดก็มีดังนี้ครับ
  • บอกว่างานนี้ต้องทำอะไรบ้าง ให้ชัดเจน คำว่าชัดเจนนี้หมายความว่า ลูกน้องจะต้องมองเห็นภาพผลงานในแบบเดียวกับหัวหน้านะครับ เช่น “ผมอยากให้คุณรับผิดชอบโครงการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานในปีนี้” ก็คือ บอกให้ชัดเจนว่าจะให้เขาทำอะไร
  • บอกรายละเอียดในการทำงานเพิ่มเติมว่าต้องทำอย่างไร (คร่าวๆ) แต่ไม่ต้องบอกทุกขั้นตอนนะครับ เพราะแบบนั้นไม่ต้องจ้างเขาแล้วครับ ทำเองดีกว่า สิ่งที่ควรจะชี้แจงก็คือ งานที่จะให้ทำนั้นมีรายละเอียดในการทำงานอย่างไรบ้าง เช่น ผมอยากให้คุณรับผิดชอบโครงการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานในปีนี้ โดยให้ไปหาบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ให้เขามานำเสนอแนวทางการทำงานกับเราก่อน แล้วเราค่อยมาช่วยกันพิจารณาคัดเลือกกัน”
  • บอกกำหนดเวลาที่ต้องเสร็จ สิ่งที่หัวหน้าจะต้องบอกให้ชัดเจนก็คือ งานที่มอบหมายนั้นจะต้องเสร็จเมื่อไหร่ ถ้าสามารถระบุวันที่ได้เลยยิ่งดี เพราะนี่คือการทำให้พนักงานเห็นเส้นตายสุดท้ายที่งานนี้จะต้องเสร็จและส่ง ไม่ใช่สั่งแค่ว่า “ทำให้เร็วที่สุด” “ด่วนที่สุด” หรือ “ราวๆ เดือนหน้า” ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ล้วนแต่แสดงให้เราเห็นถึงความไม่ชัดเจน เร็ว หรือด่วน ของหัวหน้า มันไม่เหมือนกับของพนักงานแน่นอนครับ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเข้าใจกันผิด เราควรระบุเวลาให้ชัดเจนไปเลย เช่น ผมอยากให้คุณรับผิดชอบโครงการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานในปีนี้ โดยให้ไปหาบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ให้เขามานำเสนอแนวทางการทำงานกับเราก่อน แล้วเราค่อยมาช่วยกันพิจารณาคัดเลือกกัน คุณช่วยประสานงานเพื่อให้บริษัทที่ปรึกษา 3 แห่ง เข้ามานำเสนองานกับเราในวันที่ 5 มีนาคมนี้นะครับ”
  • บอกถึงความหมายและความสำคัญของงานนี้ให้ลูกน้องเราทราบด้วย การที่เราสั่งงานโดยที่ไม่ได้บอกลูกน้องเราว่างานนี้สำคัญแค่ไหนต่อหน่วยงาน หรือองค์กร จะทำให้ลูกน้องเราไม่มีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของงานนี้ หรือ “ไม่อิน” กับงานที่เรามอบหมายไปนั่นเอง เขาก็จะไม่ค่อยอยากทำ เพราะไม่รู้ว่าทำไปทำไม ดังนั้นหัวหน้างานจะต้องแจ้งให้ลูกน้องทราบด้วยว่างานที่กำลังมอบหมายอยู่นี้นั้น มันมีความสำคัญอย่างไรบ้าง คราวนี้ลองเอาทุกข้อมารวมกันนะครับ ผมอยากให้คุณรับผิดชอบโครงการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานในปีนี้ โดยให้ไปหาบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ให้เขามานำเสนอแนวทางการทำงานกับเราก่อน แล้วเราค่อยมาช่วยกันพิจารณาคัดเลือกกัน คุณช่วยประสานงานเพื่อให้บริษัทที่ปรึกษา 3 แห่ง เข้ามานำเสนองานกับเราในวันที่ 5 มีนาคมนี้นะครับ งานนี้มีความสำคัญมากนะครับ เพราะจทำให้เรารู้ว่าพนักงานคิดอย่างไรกับบริษัท เราจะได้นำผลการสำรวจมากำหนดแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน สุดท้ายก็จะทำให้ผลงานขององค์กรเราดีขึ้นอีก…..”
ผมคิดว่าถ้าเรามอบหมายงานให้กับพนักงานด้วยความชัดเจน แน่นอน และทำให้พนักงานมองเห็นภาพผลลัพธ์เดียวกับเราได้ เขาจะทำงานให้เราด้วยความถูกต้อง และไม่ผิดพลาด เราเองก็จะควบคุมงานด้วยความสบายใจ เพราะลูกน้องเข้าใจในสิ่งที่สั่งให้ทำ ไม่ต้องมาเสียเวลาอธิบายใหม่หลายๆ รอบ เพราะไม่เข้าใจสักที
ผมว่ายอมเสียเวลามากกว่าเดิมสักนิดในช่วงมอบหมายงาน เอาให้เข้าใจกันไปเลย แล้วต่อจากนั้น เราจะมาเสียเวลากับการสร้างผลงานดีกว่าที่จะมาเสียเวลากับการสั่งการใหม่รอบแล้วรอบเล่าครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://prakal.wordpress.com

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เพียงคำปรารภจากท่าน ว.วชิรเมธี ในหนังสือ "เรียนรู้ทุกข์ ได้สุขเป็นกำไร"

แนะนำหนังสือน่าอ่าน  "เรียนรู้ทุกข์ ได้สุขเป็นกำไร"






พลิกเข้าไปอ่านภายในตัวเล่ม ไม่มี "คำนำ" มีแต่ "คำปรารภ" ของท่านอาจารย์ ว.วชิรเมธี ดังนี้ครับ


คำปรารภ


ตมและน้ำสามารถแปรเปลี่ยนตัวเองเป็นดอกบัวอันงดงามได้ฉันใด ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ใครคนใดคนหนึ่งก็มีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนเป็นธรรมะหรือปรีชาญาณได้ฉันนั้นเหมือนกัน
พระธรรมมีอยู่ทุกที่ ผลิบานอยู่ทุกแห่งหน

สำหรับคนที่มีปัญญาจักษุย่อมจะตระหนักรู้ถึงสัจธรรมข้อนี้เป็นอย่างดี
ให้หลักธรรมสำคัญเรื่องอริยสัจ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"ทุกฺข อริยสจฺจ
ความทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ"

เนื่องเพราะเมื่อความทุกข์ปรากฎตัวขึ้นมา ความทุกข์มักจะนำเอาประสบการณ์ที่ทรงคุณค่ามามอบให้กับเราด้วยเสมอ
ปัญหามีเพียงว่า เราขาดการฝึกฝนที่จะพิจารณาจนมองเห็นแง่งามของความทุกข์นั้นต่างหาก
การเจริญสติ การพัฒนาปัญญา คือ มรรควิธีอันทรงความสำคัญยิ่งในการฝึกตนให้สามารถมองเห็นแง่ดีแง่งามของความทุกข์ จนความสุขความสว่างเรืองของปัญญารุ่งโรจน์โชตนาขึ้นมาในระหว่างวัน และหากสืบต่อปรีชาญาณแห่งการเห็นธรรมนี้ให้ต่อเนื่อง เราจะพบว่า ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ล้วนมีธรรมะผลิบานดารดาษอยู่ทั่วไป

ในมุมมองของพุทธศาสนา ความทุกข์ เป็นสิ่งที่มีคุณูปการต่อชีวิต เพราะความทุกข์ เป็นต้นทางของการค้นพบความสุขที่ยิ่งใหญ่
ดังนั้น ยามใดก็ตามที่ชีวิตพบกับความทุกข์ หากไม่มัวแต่เป็นทุกข์ ทว่าเรียนรู้ที่จะมองดูความทุกข์อย่างมีสติ อย่างแยบคาย อย่างเป็นผู้ดู ไม่ได้เป็นผู้เป็น ความทุกข์จะทอประกายแห่งความสุขออกมาให้เห็น
สำหรับคนที่เห็นสุขได้แม้ตกอยู่ท่ามกลางความทุกข์ คนเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว

เมื่อไม่กลัวความทุกข์ การใช้ชีวิตก็เป็นเรื่องง่าย การหาความสุขท่ามกลางความทุกข์ก็เป็นเรื่องน่ารื่นรมย์
"เรียนรู้ทุกข์ ได้สุขเป็นกำไร"
ควรเป็นคติธรรมสำหรับการดำรงชีวิตของเราทุกคน


ว.วชิรเมธี
ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

แก้วที่ไม่เคยพอ




เรามักถูกสอนให้มองด้านดีว่า แก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วนั้น มีน้ำเหลือตั้งครึ่งแก้ว มากกว่าที่จะมองว่าน้ำหายไปครึ่งแก้ว แต่จะมองด้านไหนก็ตาม ก็ทำให้เราคิดว่าแก้วยังขาด พร่อง ยังต้องหาน้ำมาเติมให้เต็ม

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราจะรู้สึกว่า เรายังมีไม่พอ ต้องมีนั่น มีนี่ เสียก่อน แล้วเราจะอิ่ม จะเต็ม สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยถูกสอนก็คือ ไม่ว่าเราจะพัฒนาความสามารถ ในการหาเงิน หาของ หาความรัก ให้ได้มากสักเท่าไหร่ก็ตาม น้ำในแก้วก็ไม่มีวันเต็ม เพราะความอยากในใจเราไม่เคยหยุด แก้วของเราก็จะโตขึ้น ไปเรื่อยๆ ไม่เคยพอ

เมื่อก่อนที่เราคิดว่า ถ้าเรามีเงินล้าน เราจะมีความสุข พอเรามีเข้าจริงๆปริมาณความต้องการ มาตรฐานการครองชีพ ความเป็นอยู่ของเราก็โตรุดหน้าไป จนเราต้องหาเพิ่มตลอดเวลา ซึ่งอย่าว่าแต่คนมีเงิน 10 ล้าน 100 ล้าน ขนาดคนที่มีเป็นหมื่นล้าน ยังหาเงินอย่างไม่รู้จักอิ่มรู้จักพอ รวมทั้งคนที่เรารักหนักหนา ยากลำบากกว่าจะได้มา พออยู่กันไปนาน ๆ ใจเราก็เรียกร้อง มากขึ้นๆ เห็นจุดอ่อนข้อบกพร่อง ไม่อิ่ม ไม่เต็มได้ตลอดเวลา แก้วน้ำหรือความอยากในใจเรา ไม่เคยหยุดโต หาเท่าไหร่ก็ไม่เคยเต็ม

เคล็ดลับของความสุขก็คือ เราพยายามอย่างเต็มที่ในการหาเงิน หาความรัก เหมือนหาน้ำมาใส่แก้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับขนาดของแก้วให้พอดีกับน้ำ ให้ใจเราสามารถที่จะมีความสุขสงบพอใจกับขณะนี้ เดี๋ยวนี้ โดยไม่ต้องรออนาคต ถ้าเรามีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว แต่เราสามารถลดขนาดของแก้วน้ำลง จนเหลือเพียง 1 ใน 4 น้ำที่มีครึ่งแก้ว ก็จะล้นมีเกินอยู่อีกเท่าตัว มีเกินพอสำหรับเรา และ พอที่จะแบ่งให้คนอื่นเมื่อเราเต็ม เราก็ไม่ต้องไปวิ่งหาน้ำมาเติมอีก มีเวลาเหลือเฟือให้คนที่เรารัก ให้กับสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตเราอย่างแท้จริง

การลดขนาดของแก้วน้ำก็คือ การที่เราหมั่นตามรู้ ตามดูจิตใจ ความรู้สึก ความคิดของเราแต่ละขณะที่เรารู้ทันใจเราที่อยากได้ อยากให้คนอื่นคิดให้ถูกใจเราทุกขณะที่เรารู้ทัน ความอยากจะทำงานไม่ได้ เราก็ได้ลดขนาดของแก้วลงทุกขณะ ที่เรามีความรู้สึกตัว ชีวิตเราก็จะเป็นแก้วที่อิ่มเต็มพอดี พอเพียงมีความสุขมั่นคง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.pattanakit.net

การคิดในแบบของอดีต ปัจจุบันและอนาคต



ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada

10 วิธีในการคิดของแอปเปิ้ล - สตีฟ โทบัก

สตีฟ โทบัก เป็นนักที่ปรึกษา นักเขียน และผู้บริหารระดับอาวุโสของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของสหรัฐฯ เขาคร่ำหวอดในวงการมานานกว่า 20 ปี ได้ทำการศึกษาบุคคลที่ร่วมงานกับแอปเปิล เขาได้สรุป รูปแบบวัฒนธรรมของแอปเปิล ออกมาเป็น 10 วิธีที่คิดต่างในแบบแอปเปิล ที่ทำให้บริษัทนี้ โดดเด่นกว่าบริษัทอื่นๆ และพลิกฟื้นจากบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย มาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเป็นอันดับสองของโลก

1. เสริมสร้างให้พนักงานคิดต่าง

พนักงานคนหนึ่งของแอปเปิลกล่าวว่า สตีฟ จ็อบส์มักจะพูดเสมอว่าเราต้องทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น และเขาเชื่อว่าพวกเราทำได้




2. สิ่งที่สำคัญคือการให้คุณค่า อย่าใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อย

พนักงานของแอปเปิลทุกคนเห็นว่าออฟฟิศเป็นสถานที่ที่สนุกที่จะทำงาน ดังนั้นพวกเขาจึงอยู่กันอย่างไร้กฎระเบียบ ใครจะทำอะไรก็ได้ แต่ว่างานต้องเสร็จเรียบร้อย ซึ่งโทบักเคยเข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารของแอปเปิล ที่มาร่วมประชุมด้วยเท้าเปล่า ที่น่าแปลกก็คือไม่มีใครสังเกตเห็นซะด้วยซ้ำ



3. รักและใส่ใจกับผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

เมื่อใส่ใจกับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการพัฒนาเพื่อหาสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นไป



4. ทำทุกสิ่งที่สำคัญ และทำจากใจ

โทบักตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารงานของแอปเปิลนั้นจะไม่มีการแยกฝ่ายกันอย่างชัดเจน ทุกอย่างต้องทำภายใต้การรับผิดชอบร่วมกัน



5. ดูแลการตลาดอย่างใกล้ชิด

จ็อบส์ให้ความสำคัญกับการทำการตลาดเป็นอย่างมาก โดยแอปเปิลจะไม่มีการจ้างบริษัทอื่นเพื่อมาทำการวิจัยทางการตลาด แต่พวกเขามีทีมเป็นของตัวเองในการรับผิดชอบเรื่องนี้



6. ควบคุมสาส์นที่จะสื่อออกไปถึงผู้บริโภค

ซึ่งแอปเปิลจะมีวิธีการในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการประชาสัมพันธ์บริษัทที่แตกต่างจากบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด



7. สิ่งเล็กๆน้อยๆก็อาจสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้

พนักงานของแอปเปิลรู้ซึ้งถึงแนวคิดนี้เป็นอย่างดี ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ระหว่างการเปิดตัวไอโฟน 4 ซึ่งเป็นช่วงที่พนักงานทุกคนทำงานอย่างหนัก ผู้บริหารก็สั่งอาหารอย่างดีมาให้ บางสาขาถึงกับลงทุนจ้างพนักงานนวดมาเพื่อนวดคลายเส้นให้แก่พนักงานของแอปเปิลโดยเฉพาะ



8. อย่าปล่อยให้คนทำงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องปล่อยให้พวกเขาทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

จ็อบส์เคยกล่าวเอาไว้ว่า หน้าที่หลักของเขาคือทำยังไงให้พนักงานทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคำตอบก็คือ เขาจะต้องคอยผลักดันให้พนักงานทุกคนก้าวหน้า



9. เมื่อคุณค้นพบว่าสิ่งนั้นทำแล้วได้ผล จงทำต่อไปเรื่อยๆ

แอปเปิลเป็นบริษัทที่ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด และพัฒนาจนสิ่งนั้นๆล้ำหน้ากว่าคนอื่น



10. การคิดต่าง

จ็อบส์เคยกล่าวไว้ในงานวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า อย่าปล่อยให้เสียงหรือความคิดของคนอื่น ดังกว่าเสียงหรือความคิดของตัวคุณเอง ดังนั้น ไม่ว่าสิ่งที่คุณคิดจะแตกต่างจากคนอื่นแค่ไหน จงเชื่อมั่นและทำต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=wbj&month=18-02-2012&group=4&gblog=41

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรามีเวลาจำกัด : ว.วชิรเมธี

พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ "เรามีเวลาจำกัด" เป็นการเรียนรู้ความตายของ สตีฟ จ็อบส์ ชายผู้เกิดมาเขย่าโลก


ผมได้มีโอกาสอ่านตอนชื่อเดียวกับหนังสือ ประทับใจมากครับ
จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอในบันทึกนี้


เรามีเวลาจำกัด


ดูเหมือนว่า สตีฟ จอบส์ จะเตรียมใจสำหรับวาระสุดท้ายของเขาเอาไว้ล่วงหน้าแล้วพอสมควร ดังนั้น ในสุนทรพจน์ของเขาที่กล่าว ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในปี ๒๐๐๕ จึงพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างคนที่เข้าใจธรรมดาของชีวิตอย่างลึกซึ้ง เพราะแม้แต่ความตาย เขาก็ยังมองให้เห็นด้านที่เป็นบวกต่อชีวิต






"ตอนผมอายุสิบเจ็ด ผมอ่านคำคมประโยคหนึ่งที่ว่าไว้ทำนองนี้ 'ถ้าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวันเหมือนเป็นวันสุดท้ายของคุณแล้วละก็ วันหนึ่งคุณจะพบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้อง' ผมรู้สึกประทับใจกับประโยคนี้มาก ตั้งแต่นั้นมานานกว่าสามสิบสามปี ผมมองหน้าตัวเองในกระจกทุกวันแล้วถามตัวเองว่า 'ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของผม ผมจะอยากทำสิ่งที่ผมกำลังจะทำในวันนี้หรือเปล่า' แล้วเมื่อไหร่คำตอบคือ ไม่ ติดกันหลายวัน ผมจะรู้ตัวเองว่าผมต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างบ้างแล้ว

"ความสำนึกว่าผมจะต้องตายในไม่ช้า เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเท่าที่ผมรู้จักที่ผมใช้ในการตัดสินใจสำคัญ ๆ ของชีวิต เพราะเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง ความภูมิใจ ความกลัวการหน้าแตก และความผิดพลาดทั้งหลาย ล้วนไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความตาย เหลือเพียงสิ่งที่สำคัญที่สุดจริง ๆ เท่านั้น มรณานุสติเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ผมรู้ ที่จะหลุดพ้นจากบ่วงความคิดที่ว่า เรามีอะไรต้องเสีย เราทุกคนเปล่าเปลือยอยู่แล้ว"

"ประมาณหนึ่งปีก่อน หมอบอกว่าผมเป็นมะเร็ง ผมไปเข้าเครื่องสแกนเวลาเจ็ดโมงครึ่งตอนเช้า ผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายที่ตับอ่อนของผม ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตับอ่อนคืออะไร หมอบอกว่าเขาค่อนข้างแน่ใจว่าผมเป็นมะเร็งแบบที่รักษาไม่หาย และผมไม่น่าอยู่ได้นานเกินสามถึงหกเดือน หมอบอกให้ผมกลับบ้าน ไปสะสางเรื่องต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ ก็เป็นโค้ดของหมอที่แปลว่าให้ไปเตรียมตัวตายนั่นแหละครับ แปลว่าให้พยายามบอกลูก ๆ ภายในไม่กี่เดือนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่คนปกติมีเวลาสิบปีที่จะบอก แปลว่าให้เก็บความรู้สึกทุกอย่างให้เรียบร้อย ให้ครอบครัวไม่ยุ่งยากใจ เมื่อเวลามาถึง แปลว่าให้เอ่ยคำลา"

"ผมหมกอยู่กับคำวินิจฉัยนั้นทั้งวัน เย็นวันนั้นผมไปเข้ากระบวนไปออปซี คือ หมอต้องหย่อนกล้องเอ็นโดสโคปลงไปในคอผมผ่านกระเพาะไปยังลำไส้ เอาเข็มฉีดยาแทงเข้าตับอ่อน ดูดเซลล์มะเร็งบางเซลล์ออกมา ตอนนั้นผมอยู่ได้เพราะฤทธิ์ยาชา ภรรยาซึ่งอยู่ในห้องด้วยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเซลล์มะเร็ง หมอหลายคนถึงกับร้องไห้ เพราะปรากฎว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดหายากที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด หลังจากนั้น ผมก็เข้ารับการผ่าตัด ตอนนี้ผมสบายดีแล้วครับ"

"นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตผมเข้าใกล้ความตายมากที่สุด ผมหวังว่า มันจะไม่มาใกล้กว่านี้ และในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า เพราะผมได้ประสบด้วยตัวเอง ผมเลยสามารถเล่าสิ่งต่อไปนี้ให้น้อง ๆ ฟังด้วยความมั่นใจกว่าตอนที่ความตายเป็นแค่นามธรรมสำหรับผม"

"ไม่มีใครอยากตายหรอกครับ ขนาดคนที่อยากไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนไปถึง ถึงกระนั้นเราทุกคนก็ต้องตายทั้งนั้น ไม่มีใครรอดพ้นจากมัน แต่นั่นเป็นสัจธรรมที่ควรจะเป็น เพราะความตายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติให้เรามา เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กำจัดของเก่าเพื่อสละพื้นที่ให้กับของใหม่ ตอนนี้น้อง ๆ ทุกคนเป็นของใหม่ แต่อีกไม่นานนับจากนี้ น้อง ๆ จะกลายเป็นของเก่าที่ธรรมชาติต้องกำจัด ขอโทษอาจฟังดูเวอร์นะครับ แต่มันเป็นความจริง"

"เวลามีจำกัด ดังนั้น อย่าทำให้เปล่าประโยชน์ด้วยการใช้ชีวิตของคนอื่น อย่าตกเป็นทาสของกฎเกณฑ์ นั่นคือ การใช้ชีวิตตามความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงของทัศนคติคนอื่นดังกลบเสียงของหัวใจของเราเอง และที่สำคัญที่สุดคือ จงมีความกล้าที่จะเดินตามสิ่งที่หัวใจและสัญชาตญาณเรียกร้อง เพราะสองสิ่งนี้รู้อยู่แล้วว่าน้อง ๆ อยากเป็นอะไร ทุกอย่างที่เหลือเป็นเรื่องรองลงมาทั้งนั้น"

........................................................................

เติมคำลงในช่องว่าง "ความคิด"


คนเรามักจะละเลยในการใช้ชีวิต หลายครั้งที่เราปล่อยผ่านเวลาอย่างน่าเสียดาย หลายคน "ทิ้งเวลา" ไว้อย่างนั้น ไม่ได้เสียดายเวลาที่เสียไป บางคน "ทิ้งโอกาส" อันน้อยนิด เพราะเห็นว่ามันน้อยเกินไป จึงไม่ทำ แต่ลืมคิดไว้ว่า แล้วเมื่อไหร่โอกาสจะกลับมาอีกครั้ง หรือชั่วชีวิตอาจจะไม่มีโอกาสก็ได้
เวลาเดินไปข้างหน้า ไม่เคยมีย้อนหลังกลับไปได้ โปรดได้ใช้เวลาของชีวิตเราให้คุ้มค่ามากที่สุด ก่อนที่เวลาจะหมดลง

เพราะว่า...

"เรามีเวลาจำกัด"


ขอบคุณหนังสือธรรมดี ๆ

ว.วชิรเมธี (นามแฝง).  เรามีเวลาจำกัด.  กรุงเทพฯ : ปราณ, ๒๕๕๕
ขอบคุณบทความดี ๆจาก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/478295

"อย่าใช้เวลากับความรู้สึกเสียดายนานเกินไป" ... (ความสุขโดยสังเกต : นิ้วกลม)

 "นิ้วกลม" เขาเล่าถึงความโชคไม่ดีของตัวเองที่ต้องเสียของรักถึง ๓ ชิ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งก็ได้แก่ ไอพ็อดที่เก็บเพลงและภาพถ่ายจากเซี่ยงไฮ้ เจ้าหูเงิน รถยนต์ประจำตัวที่เกิดอุบัติเหตุทำให้เสียหาย และโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ที่ถูกน้ำหกใส่
และบังเอิญ "นิ้วกลม" ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ชื่อ "มองทุกอย่างจากทุกมุม" ที่เขียนโดย ณัฐ AF4 หรือ ณัฐ ศักดาทร ในบท "ราคาของความเสียดาย"
 ณัฐ เขียนคำว่า ...
 "Opportunity Cost" หรือ "ต้นทุนค่าเสียโอกาส"
 ฟังดูคล้ายศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ แต่แท้จริงมันคือ ศัพท์ของวิชาชีวิต (นิ้วกลมเค้าว่าอย่างนั้น)
"นิ้วกลม" อธิบายต่อว่า คอนเซ็ปต์ของมันมีง่าย ๆ ว่า ถ้าเรามีทางเลือกสองทางที่ไม่สามารถทำได้พร้อมกัน สิ่งที่ไม่ได้ทำย่อมเป็น "ค่าเสียโอกาส"
สมมติว่า ช่องสามกำลังมีละครเจนี่ ช่องเจ็ดมีละครอั้ม ถ้าเราไม่ได้เอาทีวีสองเครื่องมาตั้งคู่กันเหมือน รปภ.ตามอาคารต่าง ๆ เราก็คงเลือกดูได้เพียงหนึ่งช่องในเวลานั้น ถ้าเลือกอั้ม เราก็ต้องพลาดเจนี่ และเจนี่ก็จะเป็น "ค่าเสียโอกาส" ของเราในสถานการณ์นั้น
 ณัฐ บอกว่า ด้วยวิธีคิดนี้ เขาจึงไม่เคยเสียดายอะไรที่ได้ทำลงไปแล้ว หรือที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในชีวิต
ถ้าชีวิตคนเราแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต
เหมือนร้านสามร้าน
เราจะเลือกเดินเข้าไปใช้เวลาในร้านใดร้านหนึ่งได้แค่ร้านเดียวในหนึ่งช่วงเวลา
ถ้าเรามัวแต่นั่งเสียดายอยู่ในร้าน "อดีต" เราก็จะไม่มีเวลามาลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ไม่มีเวลามานั่งฟังเพลง นั่งกินขนมเค้ก ไม่มีเวลามามีความสุขในร้าน "ปัจจุบัน" ได้เลย
เมื่อเราใช้เวลาเสียดายกับ "สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว" ต้นทุนค่าเสียโอกาสก็คือ "ห้วงเวลาในปัจจุบัน" ที่เราสามารถนำไปสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ โอกาสใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย
สู้เอาเวลาเสียดายสิ่งที่พลาดไปแล้วมาทำปัจจุบันให้ดีขึ้นยังจะดีกว่า
เพราะต่อให้เสียดายต่อไปอีกนานแค่ไหนก็แก้ไขอดีตไม่ได้อยู่ดี
 "นิ้วกลม" เล่าต่ออีกว่า คงจะเสียดายกว่า ถ้ามัวแต่ใช้เวลามานั่งเสียดายในสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
คนมองโลกในแง่ดี อาจมิใช่คนที่มองว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดีงาม หรือมองเห็นความสวยในความซวยได้ในทุกสถานการณ์ แต่ผมว่า คนมองโลกในแง่ดีคือ คนที่มองเห็นวันพรุ่งนี้มากกว่าที่จะจมจ่ออยู่กับเมื่อวาน และเชื่อว่าเรายังสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นได้
"เสีย" กับ "สร้าง" เป็นของคู่กัน
และสิ่งแรกที่ต้องสร้างขึ้นมาก่อนคือ กำลังใจที่ดี
การใช้เวลากับความรู้สึกเสียดายนานเกินไปนั้นเป็นอะไรที่น่าเสียดาย
พอผมอ่านถึงตรงนี้แล้ว ก็คิดถึงเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นโดยตรงกับตัวเอง และยอมรับว่า ยังเสียดายสิ่งดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอยู่ เหมือนอยู่ในภวังค์ ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ตัวเองยังความฝังใจกับอะไรบางอย่าง แบบสลัดทิ้งไม่ออก
อ่านจบ จึงค้นพบ ...
"ความสุขเกิดขึ้นเมื่อปล่อยวางอดีตและมองไปข้างหน้า"
จริงอย่างที่ "ณัฐ AF4" และ "นิ้วกลม" ว่าไว้จริง ๆ
นิ้วกลม (นามแฝง).  ความสุขโดยสังเกต.  พิมพ์ครั้งที่ ๔.  กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๔.
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/477609

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

7s ของ McKinsey

การบริหารองค์การ ควรจะมีการประเมินก่อน ซึ่งเครื่องมือหรือแบบจำลอง 7s ของ McKinsey ก็เป็นการวิเคราะห์องค์การของเราเองว่าปัจจัยต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ 7s มี ดังนี้

1. กลยุทธ์ (Strategy) คือ การวางแผนกิจกรรมภายในองค์กร โดยให้แผนที่วางขึ้นมานั้นได้สอดคล้องและเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก และภายในองค์กร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ช่วยสนับสนุนให้องค์กรมีขีดความสามารถเหนือคู่แข่งขัน

2. โครงสร้างองค์กร (Structure) ลักษณะของโครงสร้างองค์กรมีประโยชน์ต่อการจัดทำกลยุทธ์ขององค์กร เป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างขององค์กรจะเป็นตัวรองรับแผนกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกันด้วย ถ้าโครงสร้างขององค์กรมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์แล้ว ก็จะเป็นจุดแข็งขององค์กร แต่ถ้าโครงสร้างขององค์กรไม่เหมาะสมสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร ก็จะทำให้เกิดเป็นจุดอ่อนขององค์กร ตัวอย่างเช่น บริษัท Intel มีปัญหาในความไม่เหมาะสมระหว่างโครงสร้างขององค์กรกับกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่ง Intel ได้ใช้กลยุทธ์การเจริญเติบโตและขยายกิจการ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่โครงสร้างองค์กรนั้นยังเป็นลักษณะที่รวมอำนาจในการตัดสินใจ จึงทำให้การบริหารและควบคุมเป็นไปอย่างขาดประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าหาการใช้แผนกลยุทธ์ที่จะเติบโตขยายกิจการ องค์กรก็ควรที่จะมีการกระจายอำนาจ เพื่อให้การบริหารและควบคุมนั้นเกิดประสิทธิภาพ

3. สไตล์ (Style) สไตล์ในการทำงานของผู้บริหารนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงแล้ว จะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของพนักงานภายในองค์กร มากกว่าคำพูดของผู้บริหาร ซึ่งถ้าหากผู้บริหารมีความมุ่งมั่นในการทำงาน มีความสามารถในการจูงใจ เป็นแบบอย่างในการทำงานที่ดี ซึ่งสไตล์เหล่านี้จะเป็นผลในการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างยิ่ง

4. ระบบ (System) เป็นการวิเคราะห์ถึงระบบงานขององค์กรในทุก ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องระบบการบริหารจัดการ ระบบการปฏิบัติงาน เช่น ระบบสารสนเทศ ระบบการวางแผน ระบบงบประมาณ ระบบการควบคุม ระบบการจัดซื้อ ระบบในการสรรหาและคัดเลือกพนักงาน ระบบในการฝึกอบรม ตลอดจนระบบในการจ่ายผลตอบแทน หากว่าองค์กรมีระบบงานที่ดีก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ดังนั้นระบบงานขององค์กรจะได้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์และโครงสร้างขององค์กรด้วย

5. ทรัพยากรมนุษย์/สมาชิกภายในองค์กร (Staff) งานหรือกิจกรรมขององค์กรที่เกิดจากแผนกลยุทธ์ขององค์กร มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ปฏิบัติงานให้ตรงตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นองค์กรเองก็จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานที่เข้ามาทำหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ปฏิบัติงานนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถ มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะและ แรงจูงใจในการทำงาน ก็จะทำให้เกิดผลสำเร็จลงได้ ที่สำคัญคือการจัดคนภายในองค์กรให้เหมาะสมกับงาน เช่น คนที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็ควรที่จะให้ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือคนที่มีความรู้ทางด้านการตลาดก็ควรให้ทำงานด้านการตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นจุดแข็งขององค์กรและทำให้งานนั้นออกมามีประสิทธิภาพ

6. ทักษะ (Skill) เป็นการพิจารณาถึงทักษะหรือความเชี่ยวชาญขององค์กรโดยรวม ว่ามีความเชี่ยวชาญหรือมีความชำนาญในด้านใด เช่น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ดังนั้น แผนกลยุทธ์ของบริษัทปูนซีเมนต์ก็จะมุ่งไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้บริษัท ประสบผลสำเร็จได้มากกว่าการขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มงานที่ปูนซีเมนต์ไม่มีความชำนาญ

7. ค่านิยม (Shared Value) เป็นการวิเคราะห์ถึงค่านิยมร่วม ความเชื่อร่วมขององค์กร นั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้เกิดปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในการบริหารธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น ซึ่งมักจะไม่ได้เขียนขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นเพียงแนวคิดพื้นฐานขององค์กรแต่ละแห่ง รวมทั้งสิ่งที่จะต้องให้องค์กรเป็นในอนาคต ดังนั้นก็หมายถึงเป้าหมายสูงสุดขององค์กร (Super ordinate) ซึ่งไม่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร องค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารนั้นทุกคนในองค์กรนั้นมักมีค่านิยมร่วมกัน จึงทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จขององค์กร

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ผลักออก หรือดึงเข้า

          ปกติถ้าท่านจะเดินเข้าห้างสรรพสินค้า ข้างหน้าท่านมีประตูกระจกที่เป็นทางเข้าขวางอยู่ ปกติท่านจะผลัก หรือดึงประตูนั้นครับ??

โดยปกติคนเรามักจะผลักประตูออกมากว่าดึงเข้าหาตัว น้อยคนนักที่จะดึงประตูเพื่อเปิด เปรียบเทียบเหมือนกับคนเราที่เวลาเจอปัญหาต่างๆก็มักจะผลักออกจากตัว ไม่ค่อยมีใครที่จะมองกลับมาที่ตนเองซักเท่าไรสมมุติว่าท่านกำลังขับรถอย่างรวดเร็ว และจี้ติดรถคันหน้า
พอรถคันหน้าเบรก ท่านเบรกไม่ทันชนท้ายรถคันหน้าเข้า สิ่งที่ท่านคิดอยู่ขณะนี้คือ ใครผิด คนส่วนใหญ่ก็จะโทษไปที่รถคันหน้าว่า “ขับรถยังไง ไม่เบรกให้ดีๆ หน่อย” รถคันหน้าก็จะหันมาโทษรถคันหลังว่า “ขับรถยังไง มาชนท้ายคนอื่น” จะมีใครมองบ้างหรือเปล่าว่า นี่เป็นความผิดของเราเอง ถ้าเราขับดีกว่านี้ ก็คงจะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้น หรือในกรณีของการบริหารงานในองค์กร
พนักงานที่เราดูแลอยู่นั้น ทำงานไม่ดีนัก ผลงานไม่ค่อยออก ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าของเขา ท่านจะโทษใคร ผมเชื่อเลยว่า ส่วนใหญ่จะกล่าวโทษไปที่พนักงานว่า พนักงานสมองไม่ดีบ้าง เรียนรู้ช้าบ้าง หรือไม่ตั้งใจบ้าง แต่ถามหน่อยว่าแล้วท่านในฐานะหัวหน้านั้น ท่านมองกลับมาที่ตัวท่านเองบ้างหรือเปล่าว่า ที่ลูกน้องทำผลงานได้ไม่ดีนั้น

เกิดจากตัวท่านด้วยที่ไม่สอนงาน ควบคุมงาน และไม่ให้คำแนะนำที่ดีแก่เขา
ปกติคนเรามักจะกล่าวโทษคนอื่นไว้ก่อน และมองตัวเองดีเสมอ ไม่ค่อยมีใครเห็นตัวเองว่าไม่ดี

ดังนั้นไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีอะไรเกิดขึ้นกับเรา เราจะไม่ค่อยโทษตัวเราเองสักเท่าไร

สิ่งที่เราจะหาสาเหตุก็คือ มองออกไปที่คนอื่น หรือไม่ก็มองออกไปข้างนอกตัว มากกว่ามองเข้าหาข้างในตัวเราเองผมได้อ่านนิทานเรื่องหนึ่งซึ่งเมื่ออ่านจบแล้วผมเกิดความรู้สึกวูบๆ ในใจ ลองอ่านดูนะครับ ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร
            กาลครั้งหนึ่งมีหญิงสาวคนงานตาบอดคนหนึ่งเลิกงานตอนดึกมากแล้วจะกลับบ้าน เจ้านายก็เลยนำเอาไฟนำทางมาให้เพื่อให้เธอส่องทาง
แต่หญิงสาวกลับพูดว่า “ดิฉันตาบอดจะเอาโคมไฟไปทำอะไร”
เจ้านายก็ตอบว่า “ที่ให้ถือโคมไฟ ก็เพื่อให้คนอื่นที่เดินผ่านไปมามองเห็นตัวเธอไง จะได้ไม่เดินมาชนไงล่ะ”
พนักงานสาวตาบอดฟังแล้วรู้สึกว่ามีเหตุผล จึงรับโคมไฟมาถือ จากนั้นก็เดินคลำทางไปเรื่อยๆ เพื่อกลับบ้าน
พอเดินถึงครึ่งทาง เธอก็ได้เดินชนกับคนคนหนึ่งเข้าอย่างจัง
“นี่ ไม่มีตาหรือไง ไม่เห็นโคมไฟที่ฉันถือมาหรือไง สงสัยตาจะบอดนะ” หญิงสาวต่อว่าด้วยความโกรธ
“เธอน่ะสิที่ตาบอด โคมไฟไม่เห็นจะมีไฟเลย” ชายคนนั้นตอกกลับอย่างโกรธๆ เช่นกัน

         อ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ปกติคนเรามักจะรู้เรื่องของตนเองแบบไม่ค่อยจริงจังซักเท่าไร แต่ชอบทำตนเป็นผู้รู้ดีในเรื่องของคนอื่น ชอบที่จะว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นๆ ไปทั่ว แต่ลืมที่จะมองกลับมาที่ตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราเองรู้จริงๆ หรือไม่จริงกันแน่ ยิ่งไปกว่านั้นยังชอบที่จะมองว่าคนอื่นนั้นโง่กว่าตนอีกด้วยครับ

ขอขอบคุณ https://prakal.wordpress.com

ทำให้แต่ละวันเป็นวันที่ดีของคุณทุกวัน

เราสามารถทำทุกวันของเราให้เป็นวันที่ดีได้ทุกวัน ซึ่งผมได้อ่านเจอในบล็อกต่างประเทศถึงเรื่องของการทำให้แต่ละวันเป็นวันที่ดีของเราได้ทุกๆ วัน มีวิธีอะไรบ้างลองติดตามกันดูนะครับ
  • ให้ระลึกไว้ในใจเสมอว่า เรามีทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ ไม่ว่าจะเกิดสิ่งที่ดี หรือไม่ดีขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความรัก ครอบครัว ฯลฯ เราสามารถเลือกที่จะตอบสนองกับสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นได้ โดยเลือกตอบสนองในทางที่ดีกว่าได้เสมอ สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ เลือกที่จะคิดแต่สิ่งดีๆ ครับ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเองทันที ไม่ต้องรออะไรเลยครับ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราก็ตาม และสิ่งนั้นจะร้ายแรงเพียงใดก็ตาม เราสามารถที่จะควบคุมความคิดของเราเองได้เสมอ ให้คิดแต่สิ่งที่ดี มองโลกในแง่ดี เราจะทำให้ตัวเองเครียดไปทำไมล่ะครับ จริงมั้ยครับ
  • ตื่นนอนตอนเช้าด้วยการคิดบวก ทุกเช้าตอนตื่นนอนให้คิดบวกเสมอ เช่นวันนี้จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเรา สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ ตื่นตอนเช้าด้วยรอยยิ้ม ยิ้มให้กับตัวเองนี่แหละครับ และบอกกับตัวเองว่า วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่จะมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตของเรา สูดหายใจเข้าลึกๆ สร้างพลังในการเริ่มต้นวันใหม่ในแต่ละวัน โดยคิดดีตั้งแต่เช้า แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นกับเราทั้งวันครับ
  • เลือกใช้คำที่เป็นแง่บวกกับตัวเองเสมอ เวลาที่จะพูด หรือคิด ให้พูดและคิดในแง่บวก และระมัดระวังการเลือกใช้คำ โดยหลีกเลี่ยงคำที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี เช่น คำต่างๆ ต่อไปนี้ “เซ็ง” “น่าเบื่อ” “ทำไมมีแต่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา” “แย่มาก” “ไม่ได้เรื่อง” “ไม่อยากทำอะไรเลย” ฯลฯ เพราะถ้าเราเลือกใช้คำในแง่ลบมากๆ จิตใต้สำนึกของเราก็จะจำแต่สิ่งที่ไม่ดี และจะเป็นการดึงดูดสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาหาเราทั้งวัน หรือถ้าชีวิตของเรามีแต่คำพูดที่ไม่ดี ทั้งชีวิตเราก็จะเกิดแต่สิ่งที่ไม่ดีแบบที่เราคิดครับ
  • เปลี่ยนกรอบความคิดให้เป็นมุมบวกอยู่เสมอ ทุกเรื่องในชีวิตเราจะมีทั้งมุมบวก และมุมลบ ทำไมเราจะต้องคิดในมุมลบ เพื่อให้จิตใจของเราเครียด และไม่สบายใจ ให้เราเลือกที่จะคิดในมุมบวกจะดีกว่าครับ เช่น โดนนายด่ามา ก็คิดใหม่ว่า ได้รับข้อคิดเห็นดีๆ จากนาย เพื่อจะได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น จะได้ไม่โดนด่าซ้ำอีก หรือ เซ็งว่ารถติดมากมาย ก็คิดใหม่ว่า รถติดทำให้เรามีเวลาที่จะคิดและทบทวนสิ่งต่างๆ หรือใช้เวลาที่รถติดนั้นทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเราได้ เช่นฝึกภาษา ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ หรือ ขับรถอยู่ดีๆ ก็มีรถขับตัดหน้า ก็คิดใหม่ซะว่า เขาอาจจะรีบ เมียอาจจะใกล้คลอด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเปลี่ยนมุมความคิดของเราให้เป็นแง่บวก เราจะได้ไม่เครียดมากขึ้นนั่นเองครับ บางคนบอกว่านี่เป็นการหลอกตัวเอง แต่ผมกลับคิดว่า เป็นเรื่องที่ทำให้เราไม่เครียดมากกว่า เพราะเหตุการณ์นั้นๆ อาจจะทำให้เราเครียดมากพอแล้ว ยิ่งเราเอาความคิดของเราเข้าไปคิดต่ออีก มันจะยิ่งทำให้เราแย่ไปมากกว่าเดิมครับ
  • ก่อนนอนให้คิดแต่สิ่งดีๆ ก่อนที่เราจะเข้านอนให้คิดถึงแต่สิ่งที่ดีๆ เช่นกัน หรือ หาหนังสือที่เป็นเรื่องราวของการสร้างกำลังใจ หรือเรื่องราวชีวิตความสำเร็จของอื่นๆ อ่านก่อนนอน เพื่อให้ตนเองเกิดแรงบันดาลใจ และเกิดพลังที่ดีก่อนที่จะหลับ เพราะพลังใจที่ดีเหล่านี้ จะเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราขณะที่เรานอนหลับ และจะทำให้เราตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น และมีพลังในการเริ่มต้นชีวิตในแต่ละวันครับ
ลองเอาไปใช้ดูนะครับ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเลยครับ เราเองเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง ดังนั้นเราก็น่าจะควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แต่ตนเองได้ครับ แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเราทุกวันครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://prakal.wordpress.com