สิ่งที่คนเก่งชั้นแนวหน้าทุกคนมีเหมือนกัน
คำสอนที่มีชื่อเสียงของ "เหลาจื่อ" บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "ความดีอันสูงสุดเปรียบเสมือนกับน้ำ" ความดีอันสูงสุด หมายถึง การดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นก็เปรียบเหมือนกับน้ำ
โดยทั่วไปแล้วคนเรามักต้องการให้ผู้อื่นชื่นชมและยกย่องตนเอง ทุกครั้งที่เราพบปะผู้คนจึงพยายามแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น
ทว่าตรงกันข้ามกับน้ำที่มักพาตัวเองไหลลงสู่ที่ต่ำ จึงไม่มีการแข่งขันกับใคร จุดเด่นของน้ำคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความพยายามที่จะพาตัวเองลงสู่ที่ต่ำ และมีความยืดหยุ่นพร้อมเปลี่ยนแปลงตนเองได้ทุกรูปร่าง และนั่นคือ วิถีการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งเหลาจื่อสอนไว้
ตามปกติ เมื่อคนเราประสบความสำเร็จจากการทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือมีผลงานในระดับหนึ่งแล้ว ก็มักหยิ่งทะนงตนว่า "เราเก่งถึงได้ประสบความสำเร็จ" และอยากโอ้อวดความสามารถ ตำแหน่ง และผลงานเหล่านั้น
ทว่าเมื่อเราตกอยู่ในสถานภาพที่ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้เราไม่ย้อนกลับมามองวิธีการดำเนินชีวิตของตนเอง จนไม่อาจเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งได้
ในทางกลับกัน คนที่ก้าวไปถึงระดับชั้นแนวหน้าแล้วจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน จึงย้อนกลับมามองตนเองอยู่เสมอ และสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แล้วความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ว่านี้เกิดขึ้นมาจากไหนกัน ผมคิดว่า ต้นกำเนิดของความอ่อนน้อมถ่อมตนมาจาก 2 สิ่งสำคัญ ต่อไปนี้ สิ่งแรกคือ "จิตวิญญาณแห่งการขอบคุณ" ซึ่งเกิดจาก "ความรู้สึกขอบคุณจากใจจริงที่เกิดขึ้นพร้อมกับความสงบเสงี่ยมเจียมตัว" คือการไม่คิดว่า "เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยกำลังของตนเอง" แต่คิดว่า "เรามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะน้ำ อากาศ และดวงอาทิตย์ เพราะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ และเพราะผู้คนมากมายที่มีโอกาสได้มาพบกัน"
ความรู้สึกขอบคุณนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่ว่า "เพราะเกิดเรื่องดี ๆ แล้วถึงรู้สึกขอบคุณ" แต่เป็นความรู้สึกที่ว่า "การดำรงชีวิตอยู่ได้ในขณะนี้ก็นับเป็นเรื่องที่น่าขอบคุณแล้ว" ซึ่งเป็นความรู้สึกขอบคุณที่ไร้เงื่อนไข เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกขอบคุณอันหาที่สุดมิได้ผู้ที่มีจิตวิญญาณเช่นนี้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ก็จะไม่คิดว่าเป็นฝีมือของตนเองอยู่เพียงคนเดียว แต่จะรู้สึกขอบคุณเพราะคิดว่าสิ่งนั้นคือ หน้าที่หรือภารกิจของตนเอง และมีจิตสำนึกว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะปัจจัยหลาย ๆ สิ่ง การได้ทำหน้าที่ของตัวเองเช่นนี้ช่างมีความสุขจริง ๆ เราอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่เพื่อตอบแทนบุญคุณของสังคม"เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่คิดว่าคนอื่นเป็นคู่แข่ง หรือแม้จะได้เป็นที่หนึ่งแล้วก็จะรู้สึกพอและหยุดได้เพียงเท่านั้น อาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่มีจิตสำนึกเช่นนี้ที่จะสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
(มันเป็นการขอบคุณด้วยหัวใจของตัวเราเอง ไม่ใช่ ขอบคุณเพราะเป็นเพียงกุศโลบาย เพื่อหวังประโยชน์ในภายภาคหน้าเท่านั้น : ผู้เขียนบันทึก)
ต้นกำเนิดแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่สอง คือ "ความมั่นใจอย่างแท้จริง"
เมื่อเราขาดความมั่นใจในตัวเอง เราก็จะพยายามแต่งเติมตัวเองด้วยความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่นั้นใช้ไม่ได้ จึงต้องการรวบรวมหลักฐาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
และคิดว่าหลักฐานเหล่านั้น (ยศถาบรรดาศักดิ์ ผลงาน และความสามารถ) เป็นส่วนหนึ่งของตัวเองโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ คิดว่าเอกลักษณ์ (ลักษณะที่แสดงความเป็นตนเอง) ของตน อยู่ที่ความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน
ดังนั้นจึงพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะให้ได้มาซึ่งความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงานเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเอง และเมื่อได้สิ่งเหล่านั้นมาอยู่ในมือ ก็จะจมอยู่กับภาพลวงตาที่ว่า "เราเป็นคนเก่งแล้ว" ในกรณีนี้เขาจะคิดว่า "เรามีคุณค่าเพราะมีความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน" ทำให้เขาดูถูกคนที่ยังไม่สิ่งเหล่านั้น และห่างไกลจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจนกลายเป็นคนอวดดีไปในที่สุด
ในทางกลับกัน คนที่มีความมั่นใจอย่างแท้จริงจะรู้สึกว่า "ไม่ต้องพึ่งพาความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือผลงาน เพราะคิดว่าตัวเราก็เป็นสิ่งที่วิเศษ" จึงไม่มองว่าตัวเองและความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือผลงานเป็นสิ่งเดียวกัน แม้จะประสบความสำเร็จ มีความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงานอยู่ในมือแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่หลงงมงายว่า "เราเป็นคนเก่งแล้ว" ตรงกันข้ามกลับรู้สึกขอบคุณว่า "น่าขอบคุณจริงที่เราได้รับสิ่งต่าง ๆ มากมาย"
ความมั่นใจอย่างแท้จริงนี่เองที่ทำให้เขามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกต่ำต้อย แต่เปล่งประกายอยู่ภายใต้ความสงบเสงี่ยมเจียมตัวที่คนรอบข้างสามารถรับรู้ได้
(เมื่อความสำเร็จมากองอยู่ตรงหน้าหลายครั้ง คนเรามักจะหลง เสพ และ ติดได้อย่างง่ายดาย และมักจะติดสินใจเหยียบหัวใครก็ได้ที่มาคิดไม่ตรง คิดขัดแย้งกับตนเอง : ผู้เขียนบันทึก)
ไนติงเกล กล่าวไว้ในผลงานของเธอว่า "เวลาที่คนเราได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่นคือ เวลาที่อันตรายที่สุด" และในคัมภีร์ไช่เกินถาน ก็มีคำกล่าวที่มีความหมายคล้ายคลึงกันว่า "ยิ่งชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีเท่าใด ก็ยิ่งต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวมากขึ้นเท่านั้น"
เวลาที่ชีวิตเราดำเนินไปได้ด้วยดีและได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากคนรอบข้าง เรามักจะลืมความอ่อนน้อมถ่อมตนไป ดังนั้น เราจึงควรตระหนักในข้อนี้ไว้อยู่เสมอ
(การยกย่อง สรรเสริญ เป็นสิ่งดี แต่หากเราให้มากเกินไป ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอ เพราะจะทำให้คนเรายกย่อง สรรเสริญนั้น หลงตัวเอง อวดดี ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้ตั้งใจ คิดแต่ว่าเพื่อให้กำลังใจเขา เพื่อให้เขาสบายใจในสิ่งที่เขาคิด ไม่ต่างอะไรไปจากการเลี้ยงลูกแล้วตามใจ ตามใจจนเสียความเป็นคนดีไป สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้เขาเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนเดิมที่เราเคยรู้จัก)
ทางตรงกันข้าม เมื่อเราพบกับความยากลำบากหรือภาวะวิกฤตในชีวิต อาจพูดได้ว่า นั่นเป็นโอกาสอันดีที่เราจะทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นโอกาสทำให้เราได้รู้ซึ้งว่าการมีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างปกตินั้นเป็นเรื่องน่าขอบคุณแค่ไหน และยังเป็นโอกาสให้เราได้ย้อนกลับไปมองวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง และเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งด้วย
ในชีวิตจริง หากเรามี "ความอ่อนน้อมถ่อมตน" ทั้งในเวลาที่ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีหรือแม้ในภาวะวิกฤตได้ เราก็อาจเป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่า เป็นคนเก่งชั้นแนวหน้าเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/453301