คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อิทธิบาท 4 ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน สู่ความสำเร็จ

ในโลกของการทำงาน คนรุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหลายต่างก็เฝ้าหาทฤษฎีแห่งความสำเร็จมากมาย มาใช้แก้ปัญหาและหาหนทางเจริญก้าวหน้า แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ และเจอประตูสู่ความสำเร็จ งั้นลองมาดู ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน เพื่อให้คุณประสบความสำเร็จในการทำงาน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ นั่นคือ อิทธิบาท 4 ธรรมแห่งความสำเร็จ
      อิทธิบาท 4 ธรรมะที่ใช้ในการทำงาน ประกอบด้วย...
           1. ฉันทะ คือ ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่
           2. วิริยะ คือ ขยันหมั่นเพียรกับงาน
           3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่รับผิดชอบงาน
           4. วิมังสา คือ การพินิจพิเคราะห์ หรือ ความเข้าใจทำ

       ฉันทะ : ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่
           อันดับแรกต้องสำรวจตนเองว่า มีความชอบหรือศรัทธางานด้านใด แล้วมุ่งไปในเส้นทางนั้น อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ฉันทำงานเพื่ออะไร ฉันมีความสุขหรือไม่หากงานที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่รักเสียทีเดียว เผื่อเราจะได้มีเวลาค้นหาและปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือปรับศรัทธาของตัวเองให้เข้ากับงานที่ทำอยู่

           อย่างไรก็ตาม เชื่อเถอะว่างานแต่ละอย่างนั้น ไม่มีทางที่ใครจะชื่นชอบไปทั้งหมดทุกกระบวนการ ดังนั้น ถ้าคุณพอใจที่จะทำ และมีความสุขกับงาน เชื่อว่างานที่คุณทำอยู่ต้องออกมาดีแน่ ๆ

       วิริยะ : ขยันหมั่นเพียรกับงานที่มี

           งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ความวิริยะจึงเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จได้ ยิ่งคุณขยันเท่าไรผลตอบแทนที่คุณจะได้รับมันก็มีมากเท่านั้น ที่สำคัญความวิริยะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความรักในงานจากฉันทะนั่นเอง และความวิริยะไม่ใช่การทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการหมั่นฝึกฝนตนเองต่างหาก

           ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตสำหรับคนทำงานร่วมกันคือ จะต้องขยันด้วยกันทั้งหัวหน้าและลูกน้อง ยิ่งผู้เป็นหัวหน้ายิ่งสำคัญมาก ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน คิดกินแรงอย่างเดียว ลูกน้องก็มักขยันไปได้ไม่กี่น้ำ เดี๋ยวก็รามือกันหมด แต่ถ้าหัวหน้าเอาการเอางาน ก็จะสามารถดึงลูกน้องให้ขยันขันแข็งขึ้นด้วย
       จิตตะ : เอาใจใส่รับผิดชอบกับงานที่ทำ
           จิตใจที่จดจ่อกับงานล้วนเกิดผลดีต่องานที่ทำ จิตตะเป็นธรรมะที่แสดงถึงสติ ความรอบคอบและความรับผิดชอบที่จะตามมา ซึ่งในสังคมการทำงานปัจจุบันนี้ มุ่งเน้นแย่งชิงตำแหน่งกัน และขัดขาจนลืมคิดไปว่า งานที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้นคือสิ่งใดกันแน่ จิตตะจึงมีความสำคัญในการทำงานโดยไม่วอกแวกออกไปนอกลู่นอกทาง ดังนั้น เมื่อคุณมีทั้งฉันทะและวิริยะแล้ว จิตตะจะเป็นเสมือนรั้วของเส้นทางที่ไม่ให้ไขว้เขวออกนอกทางสู่ความสำเร็จได้

           อย่างไรก็ดี ปกติคนที่โตเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบ มักจะใส่ใจกับงานอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติจะทำให้หยุดคิดยาก แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบคิดเจ้ากี้เจ้าการแต่เรื่องงานของคนอื่น คอยติ คอยสอดแทรก คอยวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่ธุระของตัวกลับไม่คิดไม่ดู ซึ่งไม่ส่งผลให้งานของเราดีขึ้น พระพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้เป็นนักตรวจตรางาน คือให้มีจิตตะ แล้วก็ทรงให้โอวาทสำทับไว้ด้วยว่า "ควรตรวจตรางานของตัวเอง ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ"

       วิมังสา : การพินิจพิเคราะห์และใช้ปัญญาตรวจสอบงาน
           สุดยอดของวิธีทำงานให้สำเร็จอยู่ในอิทธิบาทข้อสุดท้ายนี้ วิมังสา แปลว่า การพินิจพิเคราะห์ หมายความว่า ทำงานด้วยปัญญา ด้วยสมองคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน บากบั่นเพียงใด หรือเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าขาดการใช้ปัญญาพิจารณางานด้วยแล้ว ผลที่สุดงานก็คั่งค้างและผิดพลาดจนได้

           เราอาจลองทบทวนตัวเองนิ่ง ๆ ว่าวันนี้ทั้งวันเราทำอะไรบ้าง สรุปกับตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เราจะได้มีกำลังใจต่อในวันต่อ ๆ ไป และไม่ทำผิดซ้ำซากอีกเช่นเดิม พร้อมกันนั้นเราจะสามารถเห็นหนทางได้ว่า เส้นทางไหนที่จะนำเราสู่ความสำเร็จได้จริง ๆ
           จะเห็นได้ว่า หลักธรรมะที่ใช้ในการทำงาน เป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว หากเรานำ อิทธิบาท 4 มาปรับใช้ในการทำงาน รักงานที่ทำ ขยันทำงาน รับผิดชอบงาน และรู้จักไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ทางแห่งความสำเร็จคงไม่เกินเอื้อม...เชื่อเถอะ คุณก็ทำได้ ทุกอย่างอยู่ที่ "ใจ"
ขอขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารลิซ่า

ลดลงแต่กลับเพิ่มมากขึ้น...

หากลดบางอย่างให้น้อยลง เราจะได้บางอย่างมากขึ้น
ลดความโกรธให้น้อยลง...เราได้สติกลับมามากขึ้น
ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง...เราได้เก็บเงินมากขึ้น
ลดความคิดที่จะหาคนที่ถูกน้อยลง...
เราได้คำตอบสำหรับทำเรื่องที่ถูกต้องมากขึ้น
ลดการพูดให้น้อยลง...เราทำหลายอย่างได้มากขึ้น
คิดถึงคนที่เรารักน้อยลง...เราเข้าใจคนที่เรารักมากขึ้น
รักตัวเราเอง ให้น้อยลง...คนอื่นรักเรามากขึ้น
พูดให้ร้ายคนอื่นให้น้อยลง...มีคนพูดถึงเราในแง่ดีมากขึ้น
แสดงความฉลาดให้น้อยลง...เราได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น
ออกนอกบ้านให้น้อยลง...เราได้ความอบอุ่นในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น
นอนให้น้อยลง...เราทำหลายอย่างได้มากขึ้น
คิดเรื่องเครียดให้น้อยลง...เรายิ้มได้มากขึ้น
ลดความอายให้น้อยลง...เราได้ความกล้ามากขึ้น
ดูละครให้น้อยลง...เราอ่านหนังสือได้มากขึ้น
เราวิ่งให้ช้าลง...เรามองเห็นคนข้างหลังมากขึ้น
เชื่อให้น้อยลง...เรามองเห็นอะไรได้มากขึ้น
ลดทิฐิให้น้อยลง...เรารู้จักให้อภัยมากขึ้น
กระโดดให้น้อยลง...เราเดินได้มั่นคงมากขึ้น
กินให้น้อยลง...เราอิ่มมากขึ้น
ก้มหน้าให้น้อยลง...เรามองเห็นได้ไกลขึ้น
พักเหนื่อยให้น้อยลง...เรารู้จักความสบายมากขึ้น
เห็นแก่ตัวน้อยลง...มีคนรอดชีวิตมากขึ้น
แบกของหนักให้น้อยลง...ชีวิตเราเบามากขึ้น
ทะเลาะกับเด็กให้น้อยลง...เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
ทะเลาะกับผู้ใหญ่ให้น้อยลง...เราได้รับการเอ็นดูมากขึ้น
เป่าลมออกให้น้อยลง...เราสูดลมเข้าได้มากขึ้น
แอบฟังให้น้อยลง...เราได้ยินอะไรมากขึ้น
เราคิด เราถามให้น้อยลง...เราเห็นคำตอบมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าเราลดบางอย่างลง...แต่เรากลับได้บางอย่างเพิ่มมากขึ้นจริง ๆ

ให้อภัย... ให้ที่ว่างกับใจตน

การให้อภัย เป็นการให้ที่ว่างกับใจตนเอง
เพื่อไม่ต้องแบกความรู้สึกไม่ดีไว้กับตนเอง
เหนื่อยไหมกับการต้องแบกอะไรไว้ในใจมากมาย
คนที่เคยทำให้คุณเจ็บช้ำ คนที่เคยทำผิดต่อคุณ

ถึงแม้ว่าเวลาอาจรักษาแผลใจได้
แต่ไม่อาจทำให้ความผิด
ของคนๆนั้นหายไปจากใจคุณได้

แต่การให้อภัยจะเป็นการลบความผิดนั้นออกจากใจ
ไม่ต้องให้คุณสร้างแผลใจให้กับตัวเอง
เพราะคนที่ทำผิดกับคุณ
เขาอาจไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับคุณหรอก....


ให้อภัยเป็นการให้ที่วิเศษ
เพราะเป็นการให้สองทาง
นอกจากจะเป็นการปลดปล่อยความผิดของใครบางคน
ก็ยังเป็นการให้ที่ว่างกับใจตนเอง
เพื่อไม่ต้องแบกความรู้สึกไม่ดีไว้กับตัวเอง

การให้อภัย ไม่ใช่การยอมรับความผิดของใครบางคน
แต่เป็นการให้อิสระแก่ใจตัวเอง
เพื่อหลุดพ้นจากความพยาบาท

คนอื่นทำอะไรผิดๆ กับคุณมากมาย
ถ้าคุณให้อภัยเขาเหล่านั้นได้

บางทีคุณควรจะนึกย้อนถึงตัวคุณเองบ้าง
ยังมีสิ่งใดที่ยังค้างคาอยู่ในใจคุณบ้าง
สิ่งที่คุณรู้สึกผิด หรือคุณอาจจะแก้ไขไม่ได้

หลายๆครั้งที่ความผิดของเราเอง
เป็นตัวกีดกั้นเราจากความกล้าที่จะเดินไปข้างหน้า
สิบเท้ายังรู้พลาด
เราเองก็คนธรรมดาคนหนึ่ง
อาจถึงเวลาที่คุณจะให้อภัยตัวเองได้แล้ว

Values ค่านิยมคืออะไร สำคัญอย่างไร

ค่านิยมองค์กร (Corporate Values)  หมายถึงเกณฑ์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใช้ในการตัดสินว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำเพื่อให้ได้รับผลอันพึงปรารถนาร่วมกัน ซึ่งค่านิยมเป็นสิ่งที่กำหนดถึงพฤติกรรมและผลที่ติดตามมา นอกจากค่านิยมจะเป็นบาทฐาน (Basis) ของการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรแล้ว ค่านิยมยังมีประโยชน์อื่นๆอีกได้แก่
ทำให้บุคคลรู้ว่า องค์กรคาดหวังอะไร : ผลงานแบบใด ด้วยวิธีการใด
ช่วยสร้างบรรยากาศที่กลมเกลียวและกลมกลืนในการทำงาน
ช่วยทำให้บุคคลมีแนวทางในการปรับตัวเพื่อให้เกิด Organizational fit

วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture)
หมายถึง วิถีแห่งการดำเนินชีวิตการงานของตน ซึ่งอยู่รวมกันในองค์กรหนึ่งองค์กรใดโดยเฉพาะ ซึ่งวัฒนธรรมจะแสดงให้เห็นถึง พฤติกรรมของการแสดงออกของคนในองค์กรที่สะท้อนถึงความเชื่อร่วมกันของคนในองค์กร และแสดงถึงความต่อเนื่องของประเพณีที่คนในองค์กรกระทำร่วมกันอยางต่อเนื่อง ทั้งนี้วัฒนธรรมองค์กรเป็นผลที่ได้มาจากค่านิยมของคนในองค์กร

ความเชื่อ (Beliefs)
หมายถึงข้อสรุปของสมาชิกองค์กรจำนวนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ต่อพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ต่างๆว่าเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง

บรรทัดฐาน (Norms )
หมายถึงมาตรฐานของพฤติกรรมที่คนจำนวนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่คาดหวังหรือสนับสนุนให้สมาชิกของกลุ่มปฏิบัติตาม

พฤติกรรม (Behavior)
หมายถึงการกระทำหรือการแสดงออกของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คนจำนวนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ในองค์กรที่ประพฤติปฏิบัติในลักษณะเดียวกันอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาหนึ่ง
           
ถ้าเราเปรียบเทียบกับต้นไม้ต้นหนึ่ง
ความเชื่อจะเปรียบเสมือนรากแก้วที่หยั่งลึกลงไปในดิน เพื่อพยุงส่วนต่างๆของต้นไม้ไว้ไม่ให้ล้ม หรือเอียงลงไปตามแรงลม หรือถูกโค่นล้มได้ง่ายเมื่อถูกแรงภายนอกกระทำ บรรทัดฐานเปรียบเสมือนลำต้นที่จะตั้งตรงสง่าอย่างเปิดเผยและแข็งแรง ค่านิยมเปรียบเสมือนกิ่งก้านสาขาของต้นที่แยกออกจากลำต้นแผ่ไพศาลออกไปเพื่อแสดงถึงการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน พฤติกรรมเปรียบเสมือนใบไม้ที่ปกคลุมเป็นพุ่มไม้ที่เล็กและใหญ่ ให้เห็นต้นไม้ที่ใหญ่โตแข็งแรงสูงสง่ามองเห็นได้โดยเด่นชัด หรืออาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลหรือสังคมภายนอกจะมองเห็นถึงลักษณะ หรือตัวตนของเราได้อย่างชัดเจน

(จากเรื่อง ค่านิยมคืออะไรและสำคัญอย่างไร ในหนังสือ spirit บ้านเรา )

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม” ในการดำเนินชีวิต

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เป็นวิธีคิดหนึ่งใน โยนิโสมนสิการที่สำคัญและมีประโยชน์มาก แต่อาจจะเพราะหลักการพื้นๆของแนวคิด ทำให้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลายๆคนมองข้ามไปในการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันซึ่งมีความสับสนวุ่นวายมาก โดยเฉพาะการพัฒนาของระบบการทำงาน และการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยให้การดำเนินการต่างๆ สะดวก รวดเร็วมากขึ้น ทั้งองค์การ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ล้วนต้องการความรวดเร็วในการทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อทำเร็วขึ้นๆ จึงอาจหลงลืมตนเอง และสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตบางอย่าง

หลักการพื้นฐานของคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม คือ การพิจารณาเกี่ยวกับการใช้สอยหรือบริโภค เป็นวิธีคิดเพื่อสกัดหรือบรรเทากิเลส ใช้มากในชีวิตประจำวันเพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง
คุณค่าแท้ หมายถึง คุณค่า หรือ ประโยชน์ ที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงามความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวืตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งตนเองและผู้อื่น โดยอาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่า
คุณค่าเทียม หมายถึง คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา หรือเพื่อเสริมขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ โดยอาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่า
                                                            (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต, 2551)

ยกตัวอย่างเช่น  นาฬิกาข้อมือ จริงๆถ้าจะซื้อกันเรือนหนึ่ง ร้อยกว่าบาทก็ดูเวลาได้ อันนี้คือคุณค่าแท้ของมัน แต่ว่าปัจจุบันนาฬิกาเรือนหนึ่งก็ราคาเป็นหลักล้านก็มี เครื่องประดับที่มันไม่ใช่คุณค่าของมันในการดูเวลา ไปติดที่คุณค่าเทียมของมัน ที่จริงการสอนศาสนาให้คนตั้งอยู่ในคุณธรรม ให้คนอยู่ในสัมมาอาชีวะ  ให้คนเป็นคนดี มันก็เป็นคุณค่าแท้ของสังคม แต่ว่างานทางด้านนี้ค่อนข้างจะอัตคัดขาดแคลน แต่ว่าในบางอาชีพมันไม่มีคุณค่าอะไรต่อสังคม แต่ได้รับการสนับสนุนมากมาย ถ้าเผื่อว่าไปชนะมาอะไรอย่างนี้ ก็จะได้เงินเยอะ

          ความสุขก็เหมือนกัน ก็มีความสุขอย่างแท้จริง ความสุขอย่างเทียม เพราะฉะนั้น ถ้าอยากคิดแบบนี้ให้สมบูรณ์ ให้เป็นประโยชน์ก็ต้องวิเคราะห์ให้ได้ ดูให้ออกว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้ อะไรเป็นคุณค่าเทียม

          ความสุขเทียมก็เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ ถ้าใช้เป็นศัพท์ก็น่าจะเป็น อามิสสุข สุขที่มีเหยื่อ หรือถ้าพูดอย่างชาวบ้านหน่อย ให้มันชัดออกมาหน่อยก็สุขจากอบายมุข มันก็เป็นสุขเทียม นั่งเล่นไพ่ทั้งคืน เฮกันไป ดูว่ามีความสุข อย่างนี้มันเห็นง่าย

          แต่สุขแท้สุขเกิดจากคุณธรรม สุขจากการบำเพ็ญความดี บำเพ็ญกุศล ขยันหมั่นเพียร มันเป็นความสุขที่แท้ แต่มันเห็นยาก ต้องมีปัญญาจักษุหน่อยมันถึงจะมองเห็น หนุ่มๆนั่งรถไปหาสาวๆอยู่ไกลก็ขึ้นรถ รถก็แน่นยืนโหนไปเป็นชั่วโมง แต่ใจก็ยังมีความสุขอยู่ ทั้งๆที่ยืนเมื่อย เหน็บกินแล้วกินอีก ก็ยอมทุกข์ โดยมองว่าเป็นความสุข เพื่อให้ได้สุขที่คาดหวังเอาไว้

กล่าวโดยสรุป เป็นการพิจารณาถึงคุณค่าในการบริโภค หรือ การกระทำต่างๆ ว่าอะไร หรืออย่างไหนที่มีคุณค่าแท้(ต่อการดำเนินชีวิต) และอะไร หรืออย่างไหนที่มีคุณค่าเทียม ทั้งนี้คุณค่าแท้ มักจะเป็นสิ่งที่เกื้อกูลการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต แต่คุณค่าเทียม เป็นสิ่งที่มักถูกปรุงแต่งขึ้น อาจเกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิตและมักแฝงด้วยหลุมพรางบางอย่าง เป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นแต่ต้องการ

ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/247253

คุณลักษณะที่ช่วยให้พ้นจากความล้มเหลว

ในบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จในชีวิตและในธุรกิจทั้งหลายนั้น เขาเหล่านั้นมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่จะนำพาช่วยให้เขาพ้นจากความล้มเหลว  ทำให้เขามีรายได้ที่เพิ่มพูนและมีความสุข
คุณสมบัตินั้นคือ “ความกระตือรือล้น”

ความหมายของความกระตือรือล้น ถ้าจะให้คำจำกัดความ ก็หมายถึง ความขมีขมัน ความที่มีใจฝักใฝ่เร่งร้อน เร่งรีบ หรือสรุปง่ายๆ หมายถึงบุคคลที่มีความ Active มีไฟหรือมีพลังในการทำงานอยู่ในตัวของเขา ตลอดเวลา
ประโยชน์ของการมีความกระตือรือร้น     
  1.ทำให้เราเป็นคนมีความรับผิดชอบ ทำงานได้เสร็จทันตามเวลาหรือที่ได้รับมอบหมาย    
  2.ชีวิตและหน้าที่การงานประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้า
  3.เป็นคนขยันขันแข็ง มีความอดทน คล่องแคล่วว่องไวในการทำงาน
  4.รู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่า สร้างประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
  5.สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง มีความสุข ความร่าเริง เบิกบาน เป็นที่รักของคนอื่น
  6.พยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อันเกิดประโยชน์สำหรับชีวิต
  7.ฝึกให้ตัวเองเป็นคนมีระเบียบวินัย
โทษของการไม่มีความกระตือรือร้น         
   1.กลายเป็นคนเฉื่อยชา มีนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง งานหรือกิจการต่าง ๆ เกิดความเสียหายไม่เสร็จ ตามกำหนดเวลา
   2.ชีวิตและหน้าที่การงาน อาจล้มเหลว
   3.ชีวิตไม่มีความสุข เกิดความท้อแท้ในชีวิต และหน้าที่การงาน
   4.ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มหรือสังคม

ความกระตือรือล้น เป็นคุณสมบัติที่เพาะขึ้นได้ไหม หรือจะต้องมีมาแต่กำเนิดเท่านั้น ขอตอบว่า เป็นสิ่งที่เพาะขึ้นได้ ดังที่วิธีการที่นักเดินตลาดขายกรมธรรม์ประกันชีวิตนาม Frank Bettger ในอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักขายประกันชีวิตจนมีฐานะร่ำรวย ที่สามารถพลิกฟื้นจากความล้มเหลวจากงานอื่นๆที่ผ่านมา เขาได้ทำจนเป็นผลสำเร็จ เขาได้เป็นมนุษย์หุ่นยนต์ไป ด้วยการ บังคับ ให้ตัวเองทำงานอย่างกระตือรือร้นทุกๆวัน

ส่วนหนึ่งของการฝึกของเขาก็คือเขาจะจดข้อความสั้นเพื่อที่จะใช้กระตุ้นตนเองในเรื่องของความกระตือรือล้นใส่กระเป๋าเสื้อ  แล้วก็ท่อง หรือใช้วิธีการพูดย้ำกับตัวเองวันละหลายๆครั้งเท่าที่เป็นไปได้  เมื่อมีโอกาสเขาก็จะหยิบข้อความนั้นมาอ่านหรือท่องจำให้ขึ้นใจ  ตลอดระยะเวลาสักสามสิบวัน แล้วสิ่งที่พูดย้ำกับตนเองบ่อยครั้งนั้น จะฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกของคนเรา แล้วจิตใต้สำนึกนั้นจะสั่งการให้สมองกระทำการนั้น  ด้วยความกระตือรือล้น และเมื่อถูกตอกย้ำในเรื่องของความกระตือรือล้นย้ำบ่อยเข้าทุกๆวัน สิ่งที่ตอกย้ำนั้นก็จะกลายเป็นอุปนิสัยของคนผู้นั้นตลอดไป

ความกระตือรือล้น เป็นคุณลักษณะที่มีค่าสูงสุดในโลก ทั้งนี้ บางทีอาจเป็นเพราะความกระตือรือล้น เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง แต่ก็เป็นคุณลักษณะที่ติดต่อกันได้ง่ายที่สุด  ถ้าท่านรู้สึกกระตือรือล้นแล้วผู้ฟังท่านพูดก็จะรู้สึกกระตือรือล้นไปด้วย ถึงแม้ว่าท่านจะแสดงความคิด ที่โง่ๆในบางเรื่องออกมาก็ตาม ถ้าท่านพูดขายสินค้าของท่านโดยไม่กระตือรือล้นเลย คำพูดของท่านก็จะจืดชืดไม่มีรส
ถ้าผู้ใดมีความกระตือรือล้นมากจนกลายเป็นความตื่นเต้นได้ก็ยิ่งดี ถ้าคนขายของมีความรู้สึกตื่นเต้น เขาก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นตามไปด้วย และแล้วเขาก็จะขายของได้
ความกระตือรือล้น ไม่ใช่อาการที่แสดงออกมาภายนอกเท่านั้น พอท่านเริ่มรู้สึกกระตือรือล้น ความกระตือรือล้นก็จะทำงานภายในตัวท่านทันที ท่านอาจจะกำลังนั่งอยู่ในบ้านของท่าน....ท่านเกิดมีความคิดอย่างหนึ่ง....ความคิดนั้นเริ่มขยายตัว....ในที่สุดท่านก็จะเต็มไปด้วยความกระตือรือล้น....และแล้วก็จะไม่มีสิ่งใดที่จะรั้งท่านไว้ได้
ความกระตือรือล้นจะช่วยให้ท่านเอาชนะความขี้กลัวให้ได้ผลดีในการงาน ให้ได้เงินมากขึ้น มีอนามัยมากขึ้น ร่ำรวยขึ้น และมีความสุขยิ่งขึ้น
   แล้วเมื่อไรเล่า ท่านจึงจะตั้งต้น จงตั้งต้นเสียแต่บัดนี้เถิด  จงพูดกับตัวเองว่า “นี่เป็นสิ่งที่ฉันทำได้”
   ท่านจะตั้งต้นอย่างไร  มีกฎอยู่กฎเดียวว่า
   “จงกระทำด้วยความกระตือรือล้น...แล้วท่านก็จะกลายเป็นคนกระตือรือล้น”
จงปฎิบัติตามกฏข้อนี้สักสามสิบวัน แล้วเตรียมตัวที่จะประสบผลอันแปลกประหลาดของมัน ถ้าท่านทำได้ดังนั้น ชีวิตของท่านอาจจะเปลี่ยนไป อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

  ทุกๆเช้า จงยืนตรง แล้วท่องข้อความต่อไปนี้ด้วยท่าทางเอาจริงเอาจังและด้วยความกระตือรือล้นเต็มที่
  “จงบังคับตัวของตัวเองให้กระทำ ด้วยความกระตือรือล้น แล้วท่านจะกลายเป็นคนกระตือรือล้น”
http://www.oknation.net/blog/choudej/2008/01/20/entry-2

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หลวงตากับคำสอน "ช่าง - มัน - เถิด"

คนโง่...คนฉลาด...คนเจ้าปัญญา


ว่าด้วยความคิด
คนโง่ : ทำก่อนแล้วจึงคิด จึงผิดพลาดอยู่เนืองๆ ต้องเปลืองเวลาและความรู้สึก ตามแก้ปัญหาไม่สิ้นสุด
คนฉลาด : คิดมากก่อนแล้วจึงทำ จึงเพ้อเจ้ออยู่เป็นประจำ แม้ประสงค์จะทำดีทากแต่ทำได้น้อย เพราะเขม่าความคิดปิดกั้นความกล้าหาญ
คนเจ้าปัญญา : คิดไปทำไป จึงทำได้อย่างที่คิด และคิดพอดีที่ทำประหยัดพลังงานและบริหารเวลาได้เหมาะสม ลดความหลอนป้องกันความผิดพลาดขื่นขมและประสบความสำเร็จโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
ว่าด้วยทัศนคติ
คนโง่ : ดูหมิ่นความดี มองโลกในแง่ร้ายด้านเดียว จึงได้รับแต่สิ่งชั่วร้ายมาพาชีวิตตกต่ำ กลายเป็นทาสสถานการณ์ ยามพบสิ่งดีจะไม่เข้าใจจึงพลาดโอกาสใหญ่
คนฉลาด : ชอบทำดีและคิดดี มักมองโลกในแง่ดีด้านเดียว จึงได้แต่สิ่งดีโดยมาก ครั้นพบสิ่งชั่วร้าย จะทนไม่ได้ ทำใจไม่เป็น ต้องถอยหนีสถานการณ์ดวงใจแตกร้าว ชีวิตจึงมีแต่ความระคายเคืองและปฏิฆะเร้นลึก
คนเจ้าปัญญา : ละชั่วเด็ดขาด และทำดีเป็นนิสัย โดยไม่ติดดี แล้วละแม้ความดีเข้าสู่ความบริสุทธิ์ จึงเห็นที่สุดแห่งความเป็นจริงแท้แห่งโลกว่าทุกสิ่งในโลกมีทั้งคุณ โทษ และความเป็นกลางอยู่ จึงบริหารสถานการณ์ได้ และทำใจได้ในทุกภาวการณ์
ว่าด้วยความโง่และความฉลาด
คนโง่ : ชอบคิดว่าตนฉลาดแล้ว จึงดักดานอยู่กับความโง่ของตนตามที่เป็น
คนฉลาด : ชอบคิดว่าตนโง่ จึงชอบแกล้งโง่ และมักโง่ได้สมปรารถนาในที่สุด
คนเจ้าปัญญา : ย่อมเห็นความโง่และความฉลาด ที่ซ้อนกันอยู่ และวิธีที่จะยกจิตสู่ปัญญายิ่งๆขึ้นไป จึงค่อยๆ หายโง่ และเลิกฉลาดโดยลำดับ
ว่าด้วยการพูดจา
คนโง่ : ชอบเถียง เขาจึงได้การทะเลาะ และความบาดหมางแทนความรู้
คนฉลาด : ชอบถาม เขาจึงได้ความรู้ และมิตรภาพมากกว่าความแตกแยก
คนเจ้าปัญญา : ชอบเฉยสังเกตลึก เข้าใจสิ่งต่าง อย่างลึกซึ้งแล้วจึงนำเสนออย่างเหมาะสม
ว่าด้วยการจัดการกับปัญหา
คนโง่ : พอพบกับปัญหาอะไรก็โวยวาย ก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์และความสัมพันธ์อีกหลายชั้น จึงยิ่งเสียหาย......
คนฉลาด : พอพบปัญหาก็วิเคราะห์ เป็นการใช้ความคิดแก้ปัญหา จึงมักติดบ่วงความคิด วนไปวนมา......
คนเจ้าปัญญา : พอพบปัญหาอะไรก็วางก่อน พอเป็นอิสระมีอำนาจเหนือกว่าปัญหาแล้ว จึงจัดการกับปัญหานั้นอย่างเหนือชั้น.......
ว่าด้วยการบริหารและการปกครอง
คนโง่ : พยายามบริหารคน จึงวุ่นวายสับสนตามธรรมชาติของคน
คนฉลาด : พยายามบริหารประโยชน์สัมพันธ์ จึงยุ่งยากซับซ้อนตามปรารถนาอันไม่สิ้นสุด
คนเจ้าปัญญา : พยายามบริหาระบบธรรม จึงสงบลงตัว ณ จุดพอดี.....
ว่าด้วยความคิด
คนโง่ : เห็นแต่ความชั่วร้ายของคนอื่น และโยนความผิดให้ผู้อื่นอยู่เรื่อย เป็นการทำมิตรให้กลายเป็นศัตรู ชีวิตจึงอยู่ในท่ามกลางอันตราย
คนฉลาด : เห็นแม้ความชั่วร้ายในตนเอง จึงกล้ายอมรับความจริงและแก้ไขตัว ทำให้ตนดีขึ้น ทำให้แม้ศัตรูก็ยอมรับได้มากขึ้น ชีวิตจึงเจริญและผาสุกโดยลำดับ
คนเจ้าปัญญา : เห็นความชั่วร้ายสากล จึงเข้าใจทุกคนในทุกสถานการณ์ เห็น***ส่วนการบริหารคนที่เหมาะสม โดยไม่ทำร้ายคน แต่จะทำลายความชั่วสากลให้สิ้นไป จึงสนุกสนานในการบริหารเรื่อยไป......
ว่าด้วยการบริหารธรรม
คนโง่ : ดูหมิ่นธรรมะ ชีวิตจึงหายนะ
คนฉลาด : ศึกษาธรรมะ จึงรู้ลึก และดำเนินชีวิตด้วยดี
คนเจ้าปัญญา : ใช้ธรรมะ จึงดำเนินชีวิตอย่างเหนือชั้น!!.......
ว่าด้วยการทำงาน
คนโง่ : ทำงานเพื่อเงิน จึงได้เงินมาอย่างยากเย็นและมักไม่ได้คุณค่าอื่นๆของงาน
คนฉลาด : ทำงานเพื่องาน จึงได้ผลงานที่ยิ่งใหญ่และได้เงินตามมาโดยง่าย
คนเจ้าปัญญา : ทำงานเพื่อหยิบยื่นคุณค่าแก่สังคม เขาจึงได้ผลงานที่น่าชื่นชม เงิน ชื่อเสียงและมิตรมหาศาลย่อมตามมาเสมอ......
ว่าด้วยการสนองตอบผู้มีพระคุณ
คนโง่ : เนรคุณผู้มีบุญคุณ จึงไม่มีใครอยากทำดีกับเขาอีก
คนฉลาด : กตัญญูผู้มีพระคุณ จึงมีคนอยากทำดีกับเขามากมาย ซึ่งต้องตามชดใช้บุญคุณกันไม่รู้จบ
คนเจ้าปัญญา : ยกระดับผู้มีบุญคุณให้สูงส่งขึ้น จึงทดแทนบุญคุณกันได้หมด และผู้มีพระคุณกลายเป็นหนี้บุญคุณ และพร้อมที่จะให้พระคุณที่ยิ่งกว่า เกิดวงจรการให้ และการรับที่พัฒนาต่อเนื่องทุกฝ่ายจึงได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง
ว่าด้วยความเพียร
คนโง่ : มัวขยันในเรื่องไร้สาระ จึงมักพบปะแต่เรื่องไร้ประโยชน์ แล้วมักตัดพ้อว่า ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี
คนฉลาด : มักขยันในเรื่องที่มีคุณมากมีโทษน้อย จึงได้ประโยชน์มากและมีโทษแทรกบ้าง แล้วมักบ่นว่าอุตส่าระวังอย่างสุดแล้วยังพบเรืองร้ายๆ อีก
คนเจ้าปัญญา : ขยันทำตนให้เหนือคุณและโทษ จึงบริหารสถานการณ์อย่างอิสระ ไม่ปรากฏเสียงตัดพ้อหรือบ่นว่าอีกต่อไป
ว่าด้วยความจริงจัง
คนโง่: เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตเป็นเรื่องจริงจัง จึงเครียดแทบบ้า
คนฉลาด : เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตเป็นเรื่องเล่นๆ จึงสนุกสนานจนไร้สาระ
คนเจ้าปัญญา : เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตเป็นตัวเร่งวิวัฒนาการ จึงรุ่งเรืองรวดเร็ว
ว่าด้วยความประสบความสำเร็จ
คนโง่ : รอให้ความสำเร็จมาหา อาจต้องรอหลายชาติกว่าจะพบซักครั้ง
คนฉลาด : เดินไปหาความสำเร็จ จึงอาจมีโอกาสพบบ้างแม้เหนื่อยยาก
คนเจ้าปัญญา : ปักหลักสร้างความสำเร็จ หากสร้างความสำเร็จแน่ๆ และเหนื่อยน้อยกว่า
ขอขอบคุณสาระ ดีดี จากธรรมะดิลิเวอร์รี่

คำดี ๆ จาก “อาจารย์ในร้านคุกกี้” โดยนิ้วกลม

 
โลกนี้ไม่มีปัญหาและศัตรู มีแต่ครูกับบทเรียน
‘ลบ’ สิ่งที่เราไม่เข้าใจทิ้งไป เพื่อจะได้มีชีวิตที่ทุกข์น้อยลง
เมื่อรัก เราจะให้อภัย เมื่อให้อภัย เราจะรัก
ความปลอดภัย ไม่เคยทำให้ใครเติบโต
ถ้ารู้สึกปลอดภัยเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็แปลว่าเราเริ่มนิ่ง เริ่มหยุดพัฒนาแล้ว
นักสร้างสรรค์มักจะไม่มานั่งบ่นว่าสิ่งที่ไม่ถูกใจ
แต่เขาจะเอาเวลาไปทำสิ่งใหม่ที่ดีกว่ามาเสนอ
เราต่างมีความสามารถมากกว่าที่เราถนัด
ประสบการณ์ไม่ใช่ข้อผิดพลาด เป็นการตัดสินของคุณเองว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดหรือไม่
Hate Something. Change Something.
หากเกลียดสิ่งไหนก็ลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น ทำมันให้ดีขึ้น
ถ้าเราอยากชนะมากพอ เราจะชนะ
คู่แข่ง ยิ่งเอาชนะได้ยากยิ่งดี
จะเก่งได้ก็ต่อเมื่อได้สู้กับคนเก่ง สู้กับคนอ่อนมีแต่จะผ่อนแรง
ความรู้อยู่นอกข้อสอบท่องจำ
ไม่มีเวลาธรรมดา ทุกเวลาคือ ‘เวลาพิเศษ’
เวลาแห่งความสุขผ่านไปไว แต่เวลาแห่งความเหลวไหลผ่านไปไวกว่า
เราไม่เคยเสียดายเวลาที่ใช้ไปกับสิ่งที่เราอยากทำ
แต่มักจะเสียดายย้อนหลังเมื่อใช้มันไปทำในสิ่งที่ไม่ได้อยากทำจริง ๆ
คำถามสำคัญไม่ใช่เราขาดอะไรไป แต่เป็นเรามีอะไรบ้าง
จริงอยู่ว่าโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่มีใครบอกพร่องไปเสียทุกอย่างเช่นกัน
ทุกคนต่างมีบางสิ่งและขาดบางสิ่งด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ใครจะใช้ในสิ่งที่ตัวเองมได้อย่างเต็มที่แค่ไหน
พอแก่แล้วเราก็ยิ่งเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งที่มี
ชีวิตที่ดีไม่น่าจะใช่ชีวิตที่มีแต่ความสุข แต่น่าจะเป็นชีวิตที่สามารถรับมือกับสุขและทุกข์ได้อย่างดีมากกว่า
ความทรงจำที่สวยงามและมิอาจย้อนกลับคืนมา
มีก็แต่จะผุกร่อนเก่าไปตามกาลเวลาชวนให้รู้สึกใจหาย
แต่ในขณะเดียวกันก็หอมหวน
‘หอม’ ทุกครั้งที่ ‘หวน’ กลับไปคิดถึง
หากทำงานรอรับเงินเดือน เราจะมีความสุขเฉพาะปลายเดือน
สิ่งที่ยากที่สุดของการทำอะไรสักอย่างคือการเริ่มต้นลงมือทำ
เวลาเข็นรถขึ้นภูเขา เราไม่ควรหยุดกลางทาง
กุญแจสตาร์ตความสุขใจอยู่ในมือของเรา
สิ่งที่มีค่าต้องรักษาให้ดี สิ่งที่ไม่ดีควรโยนทิ้งไป
ชีวิตจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีเป้าหมาย
ความผิดหวังคือบ่อเกิดพลังที่ดี
ความรักที่ไม่มีหวังก็ต้องตัดใจ ความฝันก็เช่นกัน
ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้สุขในสิ่งที่ฝัน แต่ทุกคนนั้นสามารถสุขได้ในสิ่งที่เป็น
ความผิดพลาดคือเส่ห์ของชีวิต
สงครามเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่หลังสงครามนั้นยืดยาว
แม้ชีวิตจะแสนสั้น แต่เราก็ไม่ควรใช้มันอย่างเร่งรีบ
ที่มา http://www.yimtamphan.com/?p=1117

นิทานที่เปลี่ยนชีวิตผู้ชายคนหนึ่ง

+++…เศรษฐีเจ้าอารมณ์…+++
…ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนเจ้าอารมณ์ และมักจะปวดศีรษะอยู่เป็นประจำ
เขาได้ประกาศว่าจะให้รางวัลอย่างงามแก่คนที่สามารถรักษาอาการปวดศีรษะของเขาได้
หลายคนรวมทั้งหมอที่เชี่ยวชาญต่างก็มาเสนอแนะวิธีรักษาโรคปวดศีรษะของเศรษฐีผู้นี้
แต่ไม่มีใครสามารถทำให้เขาดีขึ้นได้
อยู่มาวันหนึ่ง มีฤาษีคนหนึ่งมาเยี่ยมท่านเศรษฐี เศรษฐีได้บอกเกี่ยวกับโรคประจำตัวของ
เขาให้ฤาษีทราบ ฤาษีจึงบอกกับท่านเศรษฐีว่า ” โธ่เอ้ยวิธีรักษาอาการปวดหัวของเจ้ามันง่ายนิดเดียว นั่นก็คือเจ้าจะต้องมองทุกอย่างให้เป็นสีเขียวตลอดเวลาแล้วอาการโรคของเจ้าจะหายไป”เศรษฐีดีใจมากและคิดว่าสิ่งที่ฤาษีแนะนำเขานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมากวันรุ่งขึ้นท่านเศรษฐีจึงจ้างช่างทาสี หลายร้อยคน มาช่วยกันทาสีของหมู่บ้านให้เป็นสีเขียวทั้งหมดนอกจากนี้ด้วยความที่รวยมาก ยังซื้อเสื้อผ้าให้กับคนในหมู่บ้านทุกคนใส่ในตอนนี้ไม่ว่าท่านเศรษฐีมองไปทางใดก็จะเป็นสีเขียวตลอดเวลาตามคำแนะนำของฤาษีอาการปวดศีรษะของเขาก็เริ่มดีขึ้นๆ เขาเริ่มเป็นคนยิ้มง่ายและมีความสุขมากขึ้น
สองสามเดือนถัดมา ท่านฤาษีได้กลับมาเยี่ยมเศรษฐีอีกครั้งหนึ่ง
แต่ก็ต้องเผชิญกับช่างทาสีคนหนึ่งซึ่งร้องตะโกนว่า
“หยุด หยุด ท่านเข้ามาในหมู่บ้านนี้ในชุดนี้ไม่ได้ เดี๋ยวผมจะทาสีท่านให้เป็นสีเขียวก่อน”
ฤาษีก็รีบวิ่งและหนีเข้าไปในบ้านของเศรษฐีได้ในที่สุด
ฤาษีได้พบกับเศรษฐีในบ้านและตำหนิว่า
“ทำไมเจ้าถึงเสียเงินทองและ เวลามากมาย เพื่อเปลี่ยนสิ่งต่างๆรอบตัวเจ้าเล่า
เราไม่ได้บอกให้เจ้าไปเที่ยวทาสีทุกอย่างให้เป็นสีเขียวเลย
เจ้าเพียงแค่สวมแว่นตาสีเขียวเท่านั้น เจ้าก็จะมองเห็นทุกสิ่งรอบตัวเป็นสีเขียวแล้ว”
หากเราต้องการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัว
เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุกคนหรือทุกอย่าง
เราเพียงแต่เปลี่ยนตัวของเราเองก่อน
แล้วเราจะพบว่าทุกสิ่งรอบตัวของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก http://www.yimtamphan.com

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"เวลาที่เหลือของชีวี มาทำความดีกันเถอะ"

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "ให้ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เหมือนกับว่า วันนี้คือวันสุดท้ายของชีวิต" ซึ่งอาจเห็นหลายคนใช้เวลาไปอย่างไม่คุ้มค่า หากไม่ทราบจะทำอะไร ก็นั่งหายใจทิ้งเล่นไปวัน ๆ พอสอบถามก็ได้ความว่า "ผมกำลัง ฆ่าเวลา อยู่ครับ" ... ฆ่าเวลา เหมือนว่า มนุษย์มีเวลาให้ฆ่าซะมากมายเต็มประดา มนุษย์เรามีเวลากันสักกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นวันกันเชียว ประเดี๋ยวก็ตายแล้ว ทำไมเราไม่ถึงทำเวลาทุก ๆ วินาทีให้มีค่าที่สุดล่ะครับ จริงไหม :)ท่านชุติปัญโญ ได้สอนไว้ในบทความที่ชื่อ "เวลาที่เหลือของชีวิต มาทำความดีกันเถอะ" ในหนังสือ ชื่อ "มองโลกให้งาม ชีวิตก็งาม" เล่มล่าสุดของท่าน จึงขอยกบทดังกล่าว ดังต่อไปนี้ ครับ
 ******************************************************
 นกพิราบสองตัวผัวเมียอาศัยอยู่ในรังแห่งหนึ่ง เมื่อถึงหน้าฤดูผลไม้สุกงอม จะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งคู่ดีใจยิ่งนัก เพราะจะได้หาเสบียงมาเก็บไว้ได้ง่าย ทั้งสองจึงช่วยกันเก็บผลไม้มาไว้จนเต็มรัง
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อฤดูแล้งย่างกรายเข้ามา หลังจากออกไปหาผลไม้แล้วกลับมาที่รัง นกพิราบตัวผู้รู้สึกว่า ผลไม้ลดน้อยลง จึงเริ่มระแวงนกพิราบตัวเมีย
ยิ่งนานวันเข้า ไม่ว่าจะหามาไว้เต็มรังอย่างไร ผลไม้ที่เคยมีอยู่จำนวนมากก็ดูเหมือนลดลงทุกวัน ๆ ทำให้นกพิราบตัวผู้ระแวงนกพิราบตัวเมียมากขึ้นเรื่อย ๆ วันหนึ่งเมื่อทนไม่ไหวจึงพูดขึ้นว่า
"เสบียงที่อยู่ในรังนี้ เราทั้งสองต่างช่วยกันเก็บมา แต่พอข้าเผลอทีไร เจ้าเป็นต้องแอบกินทุกที จนผลไม้ที่เคยเต็มรังลดลงทุกวัน เจ้าทำอย่างนี้ทำไม?"
ฝ่ายนกพิราบตัวเมียเมื่อได้ฟังคำกล่าวหาเช่นนั้น ก็รีบชี้แจงให้สามีของตนรับทราบในทันที
"ฉันไม่เคยแอบกินก่อนเลยนะ เหตุที่ผลไม้มัดูลดลงเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะฉันกิน แต่เป็นเพราะอากาศที่ร้อนจัดต่างหากมาแผดเผาจนมันเหี่ยวแห้งและหดตัว จึงทำให้ผลไม้ที่มีปริมาณเท่าเดิมดูเหมือนหายไป"
แต่นกพิราบตัวผู้กลับไม่เชื่อในคำกล่าวของนกพิราบตัวเมีย หนำซ้ำกลับแสดงความโกรธตอบกลับคืน เพราะคิดว่าคำกล่าวนั้นเป็นข้อแก้ตัวให้ตัวเองพ้นข้อกล่าวหา
เมื่อระงับความโกรธไม่อยู่ นกพิราบตัวผู้ก็กระโดดเข้าจิกตีนกพิราบตัวเมียอย่างรุนแรงด้วยความรู้สึกโกรธแค้น ที่ภรรยาแอบกินผลไม้ก่อน แถมยังโกหกด้วย ในที่สุด นกพิราบตัวเมียก็สิ้นใจตายในเวลาต่อมา
จนกระทั่งเมื่อมีฝนตกลง สิ่งที่มาเปลี่ยนความคิดของนกพิราบตัวผู้ก็เกิดขึ้น คือ เมื่อฝนโปรยปรายลงมา ผลไม้ที่อยู่ในรังที่เหี่ยวแห้ง ก็มีการขยายตัวขึ้น ทำให้รังของนกพิราบกลับมามีผลไม้เต็มรังเหมือนเดิม
เมื่อนกพิราบตัวผู้เห็นปรากฎการณ์เช่นนั้น ก็คิดได้ว่า สิ่งที่เมียรักกล่าวไว้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นคำโกหกแต่อย่างใด นกพิราบตัวผู้จึงรู้สึกผิดในการกระทำของตนที่มัวแต่หวาดระแวงจนเป็นเหตุให้ฆ่านางตาย ทำให้ตัวมันเองต้องบินร้องเรียกหาภรรยา ด้วยความอาลัยรักตลอดมา จนกระทั่งตรอมใจตายในที่สุด
 บางครั้งชีวิตของเราก็ไม่ต่างอะไรกับนกพิราบทั้งคู่ ที่เมื่อแรกเริ่มเราต่างมีความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น หากมีใครมาคอยเคียงข้าง และคอยให้กำลังใจเมื่ออีกฝ่ายพลาดล้มลง
ทว่าเมื่อชีวิตได้มีการเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด แต่ครั้นอยู่ต่อมาเรื่อย ๆ โดยไร้ความเข้าใจ สิ่งที่ตามมาก็มักจะเกิดการกระทบกระทั่งกันเสมอ บางครั้งก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องอยู่ด้วยกันนาน ๆ
จากเมื่อแรกเริ่มที่เคยรัก ก็กลับกลายเป็นความร้ายทุกจังหวะของการเคลื่อนไหวในนามของความรัก กลายเป็นการแสดงออกของความร้ายที่เข้ามาสิงสถิตแทน
จากที่ไม่เคยระแวงก็กลายเป็นความห่วงหวง เพราะคิดว่าตัวเองคือเจ้าของสิ่งนั้น ๆ ที่ต้องคอยจับจ้องมองไม่ให้ห่างตา จนเกิดเป็นความยึดติดในสิ่งนั้นแทน
จากที่เคยเข้าใจก็กลายเป็นเอาแต่ใจ เพื่อให้อีกฝ่ายทำตามที่ความรู้สึกของตนเรียกหา แม้ว่าสิ่งนั้น ๆ จะผิดครรลองครองธรรมก็ตาม
ทุกภาพของการเคลื่อนไหวในชีวิต จึงก่อให้เกิดเป็นรอยร้าว และนำไปสู่ความเลวร้าย เกินกว่าที่จะเยียวยาให้กลับมาดีได้ดั่งเดิม
ชีวิตที่ก้าวไปกับสังคมก็เช่นเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่เรามองมาที่การเข้าข้างตัวเองเป็นหลัก และมองว่าความคิดเห็นของคนอื่นนั้นผิด เมื่อนั้นสิ่งร้าย ๆ ก็พร้อมจะเข้ามาเปลี่ยนชีวีของเราให้แหลกเหลวอย่างไม่มีชิ้นดี
ทำให้ชีวิตที่เกิดมาแล้ว และควรจะได้รับการต่อยอดให้มีกำไรที่งดงามกว่าเดิม เป็นได้แค่เพียงซากชีวิตที่ถูกใช้งานมาอย่างบ้าคลั่ง และพร้อมจะจากไปโดยไม่กล้าบอกใคร ๆ ว่า เรามีคุณค่าที่น่าจดจำแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรกลับมาทบทวนชีวิต และชวนพี่น้องผองมิตร ให้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อกันด้วยใจที่ปรารถนาดี ช่วยกันถักทอความดีเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้น ด้วยจิตที่เอื้ออารีต่อสิ่งที่เราได้มีโอกาสรู้จัก และพร้อมจะต่อยอดให้เป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ในโอกาสต่อไป
 "เวลาที่เหลือของชีวี มาทำความดีกันเถอะ" จึงเป็นถ้อยคำแห่งความหวังดี ที่เราควรเรียกร้องให้เกิดมีในตัวเรา รวมทั้งการขยายความดีที่ทรงคุณค่านั้นไปให้ผู้คนได้รับรู้ถึงความงามที่ควรจะทำให้ปรากฎร่วมกัน
เพราะเมื่อประมวลผลอย่างคนที่รู้เท่าทันชีวิต เวลาที่เราได้มาและเวลาที่เหลืออยู่ของแต่ละคน ช่างน้อยนิดเสียนี่กระไร จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรหลงใหลไปกับมัน
แต่เราควรดึงสติให้กลับมาทำความรู้จักชีวิตด้วยปัญญา หมั่นสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดมีแต่ตัวเรา และโลกใบนี้ที่เราได้อยู่อาศัย ก่อนที่ชีวิตนี้จะต้องกล่าวอำลา เพราะมีความตายมารอพรากให้จากไป
เพราะชีวิตนี้ช่างสั้นนัก จนเวลาที่จะหยุดพักนั้นแทบจะไม่เหลือให้เราได้ชื่นชมกับเรื่องใด ๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรเรียนรู้ที่จะเกี่ยวข้องต่อกันและกัน ด้วยใจที่มีเมตตาคอยนำทาง เพื่อเป็นแสงสว่างและเป็นแรงดลใจให้ชีวิตที่เหลืออยู่ของแต่ละคน ได้มีโอกาสทำความดีที่มากกว่าเดิม
แล้วเราจะไม่เสียใจ หากได้ลงมือเยียวยาชีวิตด้วยความดีที่มีอยู่ และได้ช่วยกันสร้างสิ่งดี ๆ ไว้ อย่างน้อยเราก็ตอบใจตัวเองได้ว่า "เราได้ทำหน้าที่ของคนดีอย่างเต็มที่แล้ว"
 ผู้เขียนเชื่อเสมอว่า ความดีที่ยิ่งใหญ่ ก็มาจากต้นกล้าของความดีที่เล็ก ๆ ความสุขที่สมบูรณ์พร้อม ก็มาจากความสุขที่เล็ก ๆ ที่มีความเข้าใจเป็นบันไดให้ไต่ขึ้นไป สู่ความสุขที่มีปริมาณที่มากกว่าเสมอ
 *********************************************
 ชีวิตของเรา เราเป็นคนเลือกเดิน ... เส้นทางไหนเป็นเส้นทางความดี ก็ควรเลือกทางนั้น ลำบากสักหน่อย ก็เตือนตนว่า การทำความดีย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา เส้นทางไหนไม่ดี ก็ไม่ควรเลือกทางนั้น ถึงแม้ว่า หนทางสบายในช่วงต้น หากจะลำบากหนักในภายหลัง
ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/225458

คติธรรมคำสอน

"....ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆโดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว  แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียวซึ่งเป็นสมบัติของพระะพุทธเจ้า  มาเป็นสมบัติของตน  ด้วยความเข้าใจผิดว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว  ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ  มิได้ลดน้อยลงบ้างเลยจงพากันมีสติคอยระวังตัว  อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย "
..นี่คือคำสอนที่องค์หลวงปู่มั่นเคยพูดอยู่เสมอๆ

"คนไม่สนใจธรรม ธรรมก็ไม่เข้าถึงใจคน จึงกลายเป็นคนก็สักว่าคน
ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ แม้คนจะมีจำนวนมาก
และแสดงธรรมให้ฟังทั้งพระไตรปิฏก จึงเป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา
มันสลัดออกเกลี้ยงไม่มีเหลือ ธรรมจึงไม่มีความหมายในใจของคน
เหมือนน้ำไม่มีความหมายบนหลังหมา ฉันนั้น"
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด

ยุ่งยาก กับ เยือกเย็น
ในยามที่เราพบกับความยุ่งยาก ต้องพึ่งพาความเยือกเย็น
ค่อยๆ ย้อนลงไปแยกแยะสาเหตุแห่งปัญหา ที่ทำให้เราเร่าร้อน
เราจะเอาชนะความยุ่งยากของชีวิตได้ ด้วยการเอาชนะความวิตกกังวล
ที่เกิดขึ้นในใจของเราเสียก่อน
จงมองดูความวิตกกังวลของตนเอง มองูว่ามันทำให้เราเอาชนะปัญหาของเรา
หรือมันทำให้เราหมดพลัง และพ่ายแพ้
ปัญหาต่างๆ ของชีวิตผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความทุกข์ยากที่เราคิดว่ามันแสนสาหัส สำหรับเราในวันนี้ ในวันข้างหน้า เราอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย...
หลวงปู่ทวด

 ตนจะเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดของเราได้ เราต้องฝึกจิตใจของเราให้เชื่อง จิตที่ไม่ได้ฝึกเหมือนม้าป่าที่พยศ อาจจะทำร้ายตัวเราเองได้ จิตที่ผ่านการฝึกฝนจนเชื่อง เราจะสามารถควบคุมได้จะเป็นทั้งเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา เป็นม้าที่เชื่อง ม้ามีพลังอยู่แล้ว เราสามารถใช้พลังอันมหาศาลนี้เพื่อความสุข เพื่อประโยชน์ทั้งของตัวเราเองและผู้อื่นได้ แต่ถ้าเราคุมจิตเราไม่อยู่พลังอันมหาศาลนี้ก็สามารถทำร้ายเราและผู้อื่นได้เช่นกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

"ในขณะที่เรามีความรู้สึกทางลบ หรือเกิดกิเลสขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็น ความโกรธ ความเกลียดชัง ความคิดแค้น ฯลฯ เท่ากับเราทำให้ความทุกข์ของเราเองนั้นมันทวีคูณขึ้นๆ ไป กฏของธรรมชาติเป็นอย่างนี้เอง เมื่อเรามีความคิด ความรู้สึกทางลบ ความทุกข์ของเราก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้สึกมีความสงบสุข ในขณะที่ใจของเราร้อนรุ่มไปด้วยความโกรธ เกลียด แค้น ชิงชัง หรือความโลภ"
"ความสงบสุขและกิเลสอยู่ด้วยกันไม่ได้ เหมือนดั่งความสว่างและความมืดที่อยู่ด้วยกันไม่ได้"
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

สติ (สัมมาสติ, Awareness) และ อุเบกขา (Equanimity) ต้องเท่ากันทั้งขนาดและกำลัง (ความแข็งแรง) เหมือนปีกนกสองข้างที่ต้องสมดุลกัน
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

"มันง่ายมากที่จะยิ้มเมื่อชีวิตของเราราบรื่น แต่คนที่ฉลาด คือคนที่สามารถยิ้มได้ถึงแม้จะเผชิญปัญหาที่หนักมากทั้ง ๘ ด้าน หรือยิ้มได้เมื่อทุกๆ อย่างในชีวิตผิดไปหมด และเราก็รู้ว่าหลายครั้งในชีวิตเราที่ทุกๆ อย่างในชีวิตดูจะผิดไปหมด"
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

พวกเราเวลานึกถึงเรื่องเศร้าในอดีตเราก็ยิ้มได้ เพราะตอนนี้เราหายเศร้าแล้ว
ดังนั้นทำไมเราไม่ยิ้มตั้งแต่ตอนนั้นเลย
ท่านอาจารย์พรหมวังโส

อย่าเสียใจ-อย่าใจเสีย จะเสียอะไร ก็ให้เสียไป อย่าให้เสียใจ หรือ อย่าให้ใจเสีย
คนที่ใจเสีย หรือเสียใจ ก็คือคนที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือ..
หลวงปู่ชา สุภัทโท

"ทุกสิ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในโลกนี้โดยบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมีเหตุทำให้เกิด โดยอาจจะเกิดจากสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกัน เหตุเช่นไรก็จะให้ผลเช่นนั้น เหตุเช่นนี้ก็จะให้ผลเช่นนี้เสมอไป"
คัดลอกมาจากคติธรรมของคุณ เหมียว วรัตดา ภัทโรดม ที่ให้แง่คิดดี ๆ แก่บุคคลทั่วไปhttp://www.meowwarattada.com/about-meow.php

มายาแห่งหลอดด้าย....โดยท่าน ว . วชิรเมธี

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนจาริกปฏิบัติศาสนกิจในฐานะพระธรรมทูตอยู่ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งหลังจบการเสวนาธรรม สตรีสูงอายุคนหนึ่งขอโอกาสเข้ามานั่งคุยกับผู้เขียน ระหว่างการสนทนา ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า น้ำตาเธอคลอหน่วย เมื่อสอบถามถึงสาเหตุเธอจึงตอบว่า ที่น้ำตาคลอหน่วย เพราะรู้สึกดีใจที่ได้มาฟังธรรม แต่พร้อมกันนั้นก็เสียใจจนสะเทือนใจ ที่สะเทือนใจก็เพราะเธอรู้สึกว่า ตนเองได้พบกับธรรมะเมื่ออายุมากแล้ว จึงรู้สึกเสียดายวันเวลาที่ผ่านมา เธอเล่าว่า
"ชีวิตของคนเราก็เหมือนกับเส้นด้าย ที่ถูกดึงออกมาจากหลอดด้ายทีละนิดๆ ขณะที่ดึงด้ายออกมาจากหลอดด้ายนั้น บางทีเราก็รู้สึกกระหยิ่มว่า ยังมีด้ายเหลืออยู่อีกมากมาย จึงชะล่าใจจึงด้ายออกมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว มีด้ายอยู่เพียงนิดเดียว เย็บผ้าได้เพียงนิดหน่อยก็หมด หากแต่ที่เราเห็นว่า ยังคงมีด้ายเหลืออยู่เยอะแยะนั่นเป็นเพราะว่า แกนด้ายมันใหญ่ต่างหาก...แกนด้ายมันหลอกตาให้เราพลอยชะล่าใจ..."
พลันที่เธอเล่าจบ ผู้เขียนก็รู้สึกสว่างโพลงขึ้นมาในใจ ผู้หญิงคนนี้ เธอไม่ได้มาฟังเทศน์เสียแล้ว แต่เธอมาเทศน์ต่างหาก เธอกำลังเทศน์เรื่อง "ความสำคัญของเวลา" และ "คุณค่าของชีวิต" เคยได้ยินคำพูดในทำนองนี้บ่อยๆ ว่า เรามีเวลา ๒๔ ชั่วโมงต่อหนึ่งวันเท่ากัน ทว่าเราได้ประโยชน์จากเวลาไม่เคยเท่ากัน สำหรับบางคนเวลา ๒๔ ชั่วโมงช่างแสนสั้น แต่สำหรับบางคน ๒๔ ชั่วโมง ช่างเป็นเวลายาวนานเหลือแสน ผู้หญิงคนนี้เธอบอกว่า เธอเสียดายที่มีเวลาเหลืออีกไม่มาก อยากจะปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดก็เกรงว่าเวลาจะมีไม่พอ
ผู้เขียนจึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่สำคัญที่เวลา แต่สำคัญที่ "ปัญญา" สำหรับคนมีปัญญากล้าแข็ง อย่าว่าเป็นวันเลย บางที นาทีเดียวก็บรรลุธรรมได้ สำหรับคนเขลา ต่อให้ภาวนาทั้งชีวิต บางทีก็ยังไม่เห็นผล คนที่อยู่ในวัยสนธยา จึงไม่ควรน้อยใจว่า เรามีเวลาไม่พอ แต่ควรจะบอกตัวเองว่า เรายัง "พอมีเวลา" ต่างหาก
แต่คนที่คิดว่า เรายัง "พอมีเวลา" ก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีการคิดด้วยท่าทีที่เป็นบวกอย่างนี้ ก็ทำให้ประมาท และเป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะเร่งรัดทำสิ่งดีๆ
ดังนั้น นอกจากจะคิดว่ายังพอมีเวลาแล้ว ก็ควรจะคิดเพิ่มอีกอย่างหนึ่งว่า "วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต" ด้วย เพราะหากเราคิดว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต เราจะเริ่มคิดถึงสิ่งที่ต้องทำแข่งกับเวลา และนั่นจะทำให้เวลา กลายเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของชีวิตได้ในทุกๆ วัน
เราเคยได้ยินพระท่านสอนอยู่บ่อยๆ ว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า การฆ่าเวลาต่างหากที่เป็นบาปมหันต์ยิ่งกว่า เพราะเมื่อคุณฆ่าสัตว์ หากสำนึกได้ คุณก็อาจจะไปหาสัตว์มาปล่อยเอาบุญ แต่หากคุณฆ่าเวลาด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงแม้คุณจะสำนึกผิด กลับมาเห็นคุณค่าของเวลา ทว่าก็ไม่สามารถย้อนเวลาที่ผ่านไปแล้วให้หวนคืนกลับมาได้อีก เราทุกคนต่างก็มีเวลาที่ไม่อาจรีไซเคิล ไม่ว่าคุณจะมีเงินมหาศาลสักกี่ล้านล้านดอลล่าร์ก็ตามที สำหรับเวลานั้น ผ่านแล้ว ผ่านเลยนิรันดร์
ครั้งหนึ่งลีโอ ตอลสตอย เคยเขียนปริศนาธรรมไว้ว่า
"ใคร คือ คนสำคัญที่สุด
งานใด คือ งานที่สำคัญที่สุด
เวลาใด คือ เวลาที่ดีที่สุด"
ตอลสตอยตั้งคำถามนี้ผ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง และในที่สุดก็เฉลยว่า
"คนสำคัญที่สุด ก็คือ คนที่อยู่เบื้องหน้าเรา
งานสำคัญที่สุด ก็คือ งานที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้
เวลาที่ดีที่สุด ก็คือ เวลาปัจจุบันขณะ"
ทำไมคนที่อยู่เบื้องหน้าเราจึงสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ อาจเป็นไปได้ว่า ในชั่วชีวิตอันแสนสั้นนี้ เรากับเขาอาจมีโอกาสพบกันได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น เราจึงควรทำให้การพบกันทุกครั้ง เป็นเหมือนการเฉลิมฉลองอันแสนวิเศษที่ต่างฝ่ายต่างควรสร้างความทรงจำแสนงามไว้ให้แก่กันและกันตลอดไป
เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์นั้น รู้เกลียดยาวนานกว่ารู้รัก หากการพบกันครั้งแรกนำมาซึ่งความรัก และหากเป็นการพบกันเพียงครั้งเดียวของชีวิตในอนันตจักรวาล นั่นก็นับว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแล้วสำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน
ทำไมงานที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ จึงเป็นงานสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ เพราะทันทีที่คุณปล่อยให้งานหลุดจากมือคุณไป งานก็จะกลายเป็นของสาธารณ์ หากคุณทำงานดี มันก็คือ อนุสาวรีย์แห่งชีวิต และหากคุณทำงานไม่ดี มันก็คือ ความอัปรีย์แห่งชีวิต
ตอนแรกคุณเป็นผู้สร้างงาน แต่เมื่อปล่อยงานหลุดจากมือไปแล้ว งานมันจะเป็นผู้ย้อนกลับมาสร้างคุณ
ทำไมเวลาที่ดีที่สุด จึงควรเป็นปัจจุบันขณะ คำตอบก็คือ เพราะเวลาทุกวินาทีจะไหลผ่านชีวิตเราเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าคุณจะหวงแหนเวลาขนาดไหน มีเงินมากเพียงไร ก็ไม่มีใครสามารถรื้อฟื้นเวลาที่ล่วงไปแล้วให้คืนกลับมาได้
ทุกครั้งที่เวลาไหลผ่านเราไป หากเราไม่ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชีวิตของคุณก็พร่องไปแล้วจากปวงประโยชน์มากมายที่คุณควรได้จากห้วงเวลา
เวลาไม่มีตัวตน แต่หากเรามีปัญญา ก็สามารถสร้างคุณค่าที่เป็นรูปธรรมจากเวลาได้อเนกอนันต์ คน - - แม้มีตัวตนเห็นกันอยู่ชัดๆ แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต่อเวลา ถึงมีตัวตนเป็นคนอยู่แท้ๆ แต่ชีวิตก็อาจว่างเปล่ายิ่งกว่าเวลา
ทุกวันนี้ เราทุกคนกำลังสาวด้ายแห่งเวลาในชีวิตออกมาใช้กันอยู่ทุกขณะจิต เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า เส้นดายแห่งเวลาในชีวิตของเราเหลือกันอยู่สักกี่มากน้อย เราถนัดแต่สาวด้ายออกมาใช้ หรือว่าเราใช้เส้นดายแห่งเวลาอย่างมีคุณค่าที่สุดแล้ว?
มายาการแห่งหลอดด้าย โดย ท่าน ว. วชิรเมธี

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

7 เคล็ดลับใช้ชีวิตให้มีความสุข แบบเศรษฐีหมายเลข 3 ของโลก

วัน ที่ 30 สิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 81 ปี ของ วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ ถึงอายุจะมาก แต่มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีเงิน 1 ล้าน 5 แสนล้านบาท บัฟเฟ็ตต์ก็ยังตื่นแต่เช้า แต่งตัวไปทำงานทุกวัน

บัฟเฟ็ตต์ คิดว่าตัวเองน่าจะอายุยืนอย่างน้อย 88 ปี และตั้งใจว่าถ้าเป็นไปได้จะทำงานจนอายุเกิน 100 ปี

บัฟ เฟ็ตต์ ดูกระฉับกระเฉง พูดจาฉับไวไม่เหมือนคนอายุ 80 เวลาให้สัมภาษณ์มักมีอารมณ์ขันสอดแทรกอยู่เสมอ ไม่ได้เคร่งขรึมตึงเครียดแบบมหาเศรษฐีนักธุรกิจส่วนใหญ่

คนมักจะถาม บัฟเฟ็ตต์เป็นประจำว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จและร่ำรวย ซึ่งบัฟเฟ็ตต์ก็ตอบเหมือนเดิมว่าให้ทำในสิ่งที่ตนรักแล้วความสำเร็จก็จะตาม มาซึ่งก็รวมถึงเงินทองด้วย

เคล็ดลับในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของบัฟเฟ็ตต์นั้นเรียบง่าย แต่ให้ข้อคิดที่ลึกซึ้ง ซึ่งมีหลักๆ อยู่ 7 ข้อ

1. ทำในสิ่งที่ตนเองรัก บัฟเฟ็ตต์บอกว่าในชีวิต เขาไม่เคยต้องเลือกระหว่างเรื่องงานกับเรื่องชีวิตส่วนตัว เขามีความสุขกับการทำงานมาก ทุกวันตื่นเต้นที่ได้ไปทำงาน เรียกได้ว่าแทบจะเต้นแท็บแดนซ์เข้าออฟฟิศเลยทีเดียว และเดินเข้าออฟฟิศอย่างมีความสุขเป็นที่สุด ซึ่งการทำในสิ่งที่ตนรัก และรักในสิ่งที่ตนทำ ผลงานก็จะออกมาดีโดยธรรมชาติ

2. หาความสุขจากความเรียบง่าย บัฟเฟ็ตต์บอกว่าความสุขอย่างเรียบง่ายของเขาคือการเล่นไพ่บริดจ์ออนไลน์ สัปดาห์ละ 12 ชั่วโมง ความสุขอยู่ที่ใจเป็นสิ่งที่หาได้จากสิ่งใกล้ตัว การได้พักผ่อนอยู่กับบ้านนั่งอ่านหนังสือหรือปลูกต้นไม้ก็ถือเป็นความสุข แล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียเงินฟุ่มเฟือยทานอาหารนอกบ้าน หรือท่องเที่ยวต่างประเทศ

3. คิดและทำในสิ่งที่ไม่ซับซ้อน บัฟเฟ็ตต์บอกว่าไม่ว่าจะทำงานอะไร เขาต้องอธิบายสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดได้ ดังนั้น จึงเลือกทำแต่เฉพาะสิ่งที่ตัวเองเข้าใจทะลุปรุโปร่งเพราะความเสี่ยงหรือความ เสียหายเกิดจากการทำในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้

4. ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย บัฟเฟ็ตต์กล่าวว่าในชีวิตส่วนตัวของเขาเขาไม่เคยสนใจว่าคนรวยคนอื่นๆ ทำอะไร ตัวเขาไม่ต้องการมีเรือยอชต์ขนาด 405 ฟุต เพียงเพราะว่าเศรษฐีคนอื่นมีเรือยอชต์ยาว 400 ฟุต

ทุกวันนี้ บัฟเฟ็ตต์ยังคงอยู่ในบ้านหลังเดิมขนาด 550 ตารางเมตร ซึ่งซื้อเมื่อ 43 ปีก่อน ที่เมืองโอมาฮ่า รัฐเนบราสก้า ในราคา 1.3 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 21 ล้านบาท บัฟเฟ็ตต์บอกว่าคนเป็นหนี้บัตรเครดิต แสดงว่าคนคนนั้นใช้ชีวิตเกินฐานะของตัวเอง

5. มีต้นแบบที่ดี ยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต บัฟเฟ็ตต์เคยกล่าวไว้ว่า บอกมาเลยว่าใครคือฮีโร่ในดวงใจของคุณ ผมสามารถทำนายได้เลยว่าในอนาคตคุณจะเป็นอย่างไร เพราะคุณสมบัติของคนที่เราชื่นชมจะเป็นเครื่องนำทางไปสู่คุณสมบัติที่ตัวเรา จะมี ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนเข้าช่วยนิดหน่อยจนพัฒนาเป็นนิสัย

6. เลือกทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่เลือกทำเพราะเงินหรือผลตอบแทน บัฟเฟ็ตต์กล่าวว่า หากเราทำในสิ่งที่เรารัก เราจะทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจที่มีอย่างเต็มที่ ซึ่งผลที่ได้รับก็มักเป็นผลตอบแทนทางการเงิน

ตอนที่บัฟเฟ็ตต์เรียนจบ ปริญญาโท เขาไปทำงานกับ เบ็นจามิน แกรห์ม ซึ่งเป็นหุ้นส่วนบริษัทด้านการลงทุน Graham-Newman Partnership ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ รู้แต่ว่าอยากทำงานกับเบ็น จามิน แกรห์ม เพราะพอได้ทำงานกับคนที่อยากทำ ตื่นเช้าขึ้นมาก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทำงาน เพราะรู้ว่าเมื่อกลับถึงบ้านตอนเย็นหลังเลิกงาน ตัวเองจะฉลาดขึ้นกว่าเมื่อเช้าตอนก่อนออกจากบ้าน

7. แต่งงานกับคนที่ใช่ บัฟเฟ็ตต์บอกว่าถ้าเจอะคนที่เรารักและมั่นใจว่า "คนนี้ใช่เลย" ขอให้แต่งงานโดยไม่ต้องรีรอ

เขาบอกว่าการมีชีวิตคู่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในชีวิต เช่น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ทำให้รู้ว่าตัวเองควรทำงานด้านไหน และ ฯลฯ

การ ทำตัวเป็นพ่อพวงมาลัยหรือเพลย์บอยทำให้ศักยภาพในการทำงานลดลง เนื่องจากเอาเวลาทำงานไปหมกมุ่นเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่งงานซะทุกอย่างก็จบ

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1315390607&grpid=&catid=50&subcatid=5000

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชีวิตไม่มีการเรียนรู้ที่สิ้นสุด ... (ท่านชุติปัญโญ)

ชีวิตมีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่า เป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว
คนส่วนมากมักจะถามหาความสมบูรณ์แบบ เพื่อมอบให้กับชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ชีวิตไม่มีสิ่งที่มาคอยเติมเต็มให้สมบูรณ์พร้อมได้ทั้งหมดแต่อย่างใด ทว่าคนเราก็มักจะยื้อว่า มันต้องถูกเติมเต็มได้แน่นอน
เมื่อมีความหวังแต่ไร้ความเข้าใจ เราจึงแสวงหาในสิ่งที่คิดว่า ใช่มาทับถมใจให้เต็มอยู่ตลอดเวลา ยอมทำทุกอย่างเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการมาครอบครอง และเพื่อบอกตัวเองให้ได้ว่า "เราสมบูรณ์พร้อมแล้ว เรามีครบทุกอย่างแล้ว"
ทุกอย่างที่ได้มาในด้านวัตถุและเกียรติยศที่ต้องการ เป็นเสมือนสิ่งที่มีอยู่จริงในมิติของชาวโลก ประหนึ่งว่ามีชีวิตที่เพียบพร้อมกว่าใครหลาย ๆ คน ซึ่งน่าจะทำให้มีความสุขได้อย่างที่ใจใฝ่หา
ทว่าเมื่อมองความสุขที่ได้รับจากสิ่งที่เพรียกหา กลับปรากฎว่า ความสุขที่ซ่อนอยู่ในใจ อันเป็นความสุขสงบที่ทำให้เรายิ้มได้ด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย กลับหายไปอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงความคิดที่เข้าข้างตัวเองว่า เรามีความสุขเท่านั้น
หน้าตาของความสุขจากวัตถุและเกียรติยศที่ได้มา ช่างเป็นอะไรที่เปล่ากลวงเหลือเกิน เป็นความสุขที่แห้งแล้งเกินกว่าที่จะตอบตัวเองได้ว่า เรามีความสุขดั่งที่ชีวิตต้องการจริง ๆ
เพราะความจริงของชีวิตในการเกี่ยวข้องกับความสุขแบบฉบับของชาวโลกทั่วไป เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอน ทุกสรรพสิ่งจะถูกลดทอนลงตามกาลเวลา และเปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น อยู่ที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในวันใดเท่านั้นเอง
ความสุขที่เราคาดหวังในสิ่งที่เคยอยากจับจอง จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่า เป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่าเป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา สิ่งที่ได้มาจึงตอบสนองให้ใจสมอยากเพียงชั่ววูบเท่านั้น แล้วทุกอย่างที่จะกลายเป็นภาระใหม่ที่เราอาจจะไม่ต้องการ แต่ก็ต้องยอมก้มหน้าที่จะแบกรับมัน
แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถแสวงหา และก่อให้เกิดเป็นความพร้อมในการดำเนินชีวิตได้ เป็นสิ่งที่มาเพิ่มเติมแล้วทำให้ชีวิตบกพร่องน้อยลง เป็นความลงตัวท่ามกลางความบกพร่องที่มีนั่นคือ การเรียนรู้ชีวิตด้วยความเข้าใจ
เพราะความเข้าใจมิใช่การคิดเอา หรือเดาสุ่มตามความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมา แต่เป็นการกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทันในทุกเรื่องของความจำเป็นที่มีต่อชีวิต เป็นภาวะที่เข้าไปช่วยทำให้ชีวิตมีความสมดุล ตั้งแต่จุดเริ่มต้นทั้งในด้านวัตถุภายนอกและจิตใจภายใน เพื่อให้กระบวนการศึกษาที่มีอยู่ ได้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตทุกมิติที่เราเกี่ยวข้องให้มีความลงตัว
ถือว่า เป็นการรู้จักสร้างวิธีที่ก่อให้เกิดความเหมาะสมในทุกมิติที่ชีวิตต้องทำการศึกษา แม้จะอยู่ในภาวะทีเป็นความบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน แต่ความสมดุลอันเกิดจากความเข้าใจด้วยปัญญา ย่อมประคองให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไปด้วยความราบรืนได้
ดังนั้น การศึกษาชีวิตไม่ว่าในแง่ของวัตถุและจิตใจ หรือในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามา เราไม่ควรประมาทว่า เรารู้แล้วหรือเข้าใจทุกอย่างโดยสมบูรณ์แบบแล้ว
เพราะในรายละเอียดของชีวิต มีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่าเป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว
ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การรู้จักสร้างวิธีเรียนรู้ด้วยความเข้าใจเป็นหลัก เป็นการประสานระหว่างความบกพร่องและความเพียบพร้อมให้มีการสัมพันธ์ต่อกัน เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่กันและกันตราบนานเท่านาน
เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เราจึงต้องใส่ใจทุกรายละเอียดที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเบื่อหน่ายก็ตาม

มีพระหนุ่มรูปหนึ่งได้อยู่ศึกษาธรรมะกับอาจารย์เซนนามว่า อู๋เต๋อ เมื่อแรกเริ่มนั้น เขามีความกระตือรือร้นในการศึกษาเป็นอย่างมาก ทุกการเรียนรู้เต็มไปด้วยความพากเพียรพยายาม
หนึ่งปีผ่านไป พระหนุ่มมีความรู้สึกว่า ตนมีความรู้มากแล้วจึงมีความคิดที่จะออกธุดงค์ เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง เพราะเขาคิดว่า หนึ่งปีที่อยู่กับอาจารย์นั้น ตนมีความรู้สมบูรณ์พร้อมแล้ว
ช่วงขณะที่รอเวลาออกธุดงค์ เขาจึงแสดงอาการเบื่อหน่ายต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เวลาฟังธรรมบรรยายก็ไม่สนใจเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แถมยังแสดงอาการเบื่อหน่ายให้อาจารย์เห็นอยู่บ่อย ๆ

อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากที่อาจารย์ให้โอวาทแก่บรรดาลูกศิษย์จบลง จึงพูดกับภิกษุหนุ่มด้วยความเป็นห่วงว่า
"ดูเธอไม่ค่อยใส่ใจในการศึกษาธรรมะเลยนะ ไม่ทราบว่า เป็นเพราะเหตุใด ?"

เมื่อลูกศิษย์เห็นว่า อาจารย์ต้องการทราบเหตุผลในเรื่องนี้จึงกล่าวความในใจที่ตนมีแก่ท่านว่า
"ท่านอาจารย์ครับ หนึ่งปีที่อยู่ศึกษาที่นี่ มันเป็นอะไรที่รู้หมดแล้ว ผมจึงคิดว่าจะออกธุดงค์ เพื่อหาประสบการณ์อย่างอื่นต่อไป การศึกษาที่นี่มันเป็นอะไรที่พอแล้วสำหรับผม"
"อะไรที่เธอว่าเป็นความพอของเธอ ?"
"พอก็คือเต็มแล้ว คือ บรรจุไม่ลงแล้วครับ"

เมื่ออาจารย์ได้ฟังลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น จึงหยิบถังไม้มาหนึ่งใบ แล้วนำก้อนกรวดเล็ก ๆ เทลงไปจนเต็มถัง หลังจากนั้นจึงถามลูกศิษย์ผู้คิดว่า การศึกษาของตนนั้นเพียงพอแล้วว่า
"ก้อนกรวดในถังใบนี้เต็มหรือยัง ?"
"เต็มแล้วครับท่านอาจารย์"

เมื่อลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น อาจารย์ก็นำทรายละเอียดมาเติมลงไปอีกสามกำมือ ปรากฎว่า ทรายก็สามารถเล็ดลอดก้อนกรวดลงไปได้ทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าถังจะมีพื้นที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดและทรายแล้ว ท่านมองหน้าลูกศิษย์แล้วถามว่า
"สิ่งของในถังนี้เต็มหรือยัง ?"
"เต็มแล้วครับ"

ฝ่ายอาจารย์ก็นำผงหินปูนโรยลงไปในถังอีกหนึ่งกำมือ ปรากฎว่า หินผงก็หายลงไปในถังได้ทั้งหมด อาจารย์จึงถามลูกศิษย์อีกว่า
"คราวนี้เต็มหรือยัง ?"
"ดูเหมือนคราวนี้เต็มแน่นอนแล้วครับ"

แต่แทนที่อาจารย์จะหยุดอยู่แค่นั้น ท่านก็นำน้ำมาเทลงไปในถัง ปรากฎว่า น้ำก็ไหลลงไปได้อีก สามารถไหลผ่านทั้งก้อนกรวด ทราย และผงหินปูนทั้งหมด
"เธอคิดว่า เต็มหรือยัง ?"

เมื่ออาจารย์แสดงให้ดูเช่นนี้ แทนที่ลูกศิษย์จะตอบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา กลับนั่งคุกเข่าลงต่อหน้าอาจารย์ แล้วกล่าวอย่างผู้เข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจของตน
"ท่านอาจารย์ครับ ศิษย์กราบขอบพระคุณท่านมาก และเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอนอย่างแจ่มแจ้งแล้วครับ"

ฝ่ายอาจารย์ก็ยิ้มให้ต่อการแสดงออกของเขา และกล่าวให้ข้อคิดแก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตาว่า
"ก็ดีแล้วที่เธอเข้าใจได้ จงจำไว้นะว่ามีหลายอย่างในชีวิตที่เรายังไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อย่าปิดตัวเองที่จะศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จงตั้งใจศึกษาในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา และรักษาจิตที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน แล้วเธอจะรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาในใจ คือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้โดยไม่มีคำว่า สิ้นสุด"


เล่าให้ฟังจากหนังสือ ชื่อ "ชีวิตวันนี้ที่วุ่นวาย มีที่พักใจหรือยัง ?" เขียนโดยท่านชุติปัญโญ