คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"รู้อะไร" ไม่เท่า "รู้อย่างไร"

            ปัญญารู้เท่าทันชีวิตนั้น ทำให้เรามีความสามารถอยู่ได้ทุกแห่ง เจอได้ทุกสถานการณ์ แม้เรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่คนอื่นเป็นทุกข์ หากเรามีปัญญาก็สามารถหาความสุขได้จากทุกข์นั้น มองเห็นคุณค่า และกลับรู้สึกว่า ความทุกข์นั้นมีประโยชน์ เช่น มองเห็นว่าความทุกข์เป็นครู ความทุกข์นั้นมีประโยชน์ เช่น มองเห็นว่าความทุกข์เป็นครู ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องสนใจ ความทุกข์ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น ทำให้เรามีกัลยาณมิตร ทำให้เรามีศรัทธา นี่เรียกว่าเป็น ผู้มีปัญญา สามารถเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขได้

เปลี่ยน "สุข" เป็น "ทุกข์"
ส่วนคนเขลานั้น แม้ในยามสุข ก็เปลี่ยนสุขให้เป็นทุกข์ได้ เช่น ในยามที่มีความสุข ดันไปวิตกกังวลว่าความสุขมันจะหมดไป หรือในยามที่กำลังมีความรัก แทนที่จะชื่นชมกับความรัก กลับไประแวงว่าคนรักจะเปลี่ยนใจไปชอบคนอื่น หรือวันที่ยังมีกำลังวังชา แทนที่จะทำงานให้เต็มที่ แต่ดันไปวิตกกังวลว่าเราจะแก่ หรือจะทำงานไม่ไหว คิดหวั่นวิตกไปเรื่อย ทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาที่ควรจะมีความสุข กลับไปทุกข์ล่วงหน้าเสียก่อน
แม้ความทุกข์นั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว เช่น ฝนหยุดตกแล้ว แทนที่จะดีใจที่ฟ้าใส แดดสวย แต่กลับไปนั่งพร่ำบ่นกับถนนที่เปียกแฉะ ทุกข์กับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว บางคนก็เสียดาย เสียใจ รู้สึกผิดกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เช่น ขายหุ้นได้กำไรแทนที่จะมีความสุข แต่กลับเสียดายที่ตัวเองซื้อน้อยไป ถ้าซื้อมากกว่านี้อีกเท่าหนึ่ง คงได้กำไรอีกเท่าหนึ่ง กลายเป็นความทุกข์จากอำนาจของความโลภ หรือบางคนทำงานจนประสบความสำเร็จมา ควรจะมีความสุข แต่พอรู้เพื่อนได้ดีกว่า กลับเป็นทุกข์ อิจฉาริษยา ไม่ได้ชื่นชมสิ่งที่เราได้กลับมาเลย บางคนแทนที่จะเอาเวลาหรือสติปัญญาทำเรื่องที่ดี ๆ ก็กลับไปคิดเรื่องที่ไม่ดี ทำร้าย ทำลายคนอื่นจากความอิจฉาริษยา นี่แหละคือ ผู้ที่ไม่มีปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้เทวดา

เปลี่ยน "บุญ" เป็น "บาป"
ในพระไตรปิฎกเล่าไว้ว่า ท้าวสักกะเทวราช จอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่ออดีตชาตินั้นเคยเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อ "มฆมานพ" อาศัยอยู่ในแคว้นมคธ โดยดำเนินชีวิตไปในทางบุญกุศลตลอดเวลา ต่อมาก็ชักชวนเพื่อน ๓๒ คน มาทำสาธารณประโยชน์ พัฒนาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการขุดสระน้ำ ทำถนน ปลูกต้นไม้ ฯลฯ จนเป็นที่เลื่องลือไปถึงหูพระอินทร์ ก็เกิดความกังวล เนื่องจากพระอินทร์นั้น เป็นตำแหน่งของพระราชาแห่งเทพทั้งปวงในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตำแหน่งนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์พระองค์ใดสิ้นบุญหรือหมดบุญที่ตนได้กระทำมา ก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่
ดังนั้น เมื่อเห็นมานพหนุ่มผู้นี้ทำความดีมากเข้า จึงเกรงว่าผลบุญจะส่งเขามาเป็นพระอินทร์แทนที่ตน จึงคิดหาทางขัดขวางงานของมานพหนุ่มไม่ให้ประสบความสำเร็จ แต่ยิ่งขัดขวางเท่าไหร่ อายุขัยของการเป็นพระอินทร์ของท่านก็ยิ่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากความอิจฉาริษยาของตนเอง และในที่สุดผลบุญก็ส่งให้มฆมานพกลายเป็นพระอินทร์องค์เดิม

เปลี่ยน "คุณ" เป็น "โทษ"
นี่คือหนึ่งบทเรียนจากอำนาจความอิจฉาริษยา และการตั้งจิตตั้งใจไว้ไม่ถูก ทำให้เกิดทุกข์อย่างที่เล่ามานี้ ฉะนั้น เมื่อใดที่รู้ว่าจะมีคนมาแทนเรา เช่น ในที่ทำงาน เราก็ควรยินดี และสนับสนุน ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เพื่อคนใหม่จะได้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก แต่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าทำมาเหนื่อยแทบตาย ใครก็ไม่รู้จะมาชุบมือเปิบ อุบไว้ดีกว่า ไม่ยอมบอก ให้มันลองผิดลองถูกเอง จะได้ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเรา
แทนที่จะชื่นชมยินดี มีมุทิตาจิตที่มีคนเก่ง หรือเก่งกว่าเรามาแทนตนกลับไม่รู้สึกยินดีเป็นสุข จิตใจก็เป็นกลายเป็นทุกข์ได้ ซึ่งคนที่คิดแบบนี้ก็ล้วนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งนั้น

เหล่านี้ล้วนตอกย้ำว่า การที่เรา "รู้อะไร" ก็ตามนั้น ไม่สำคัญเท่า "รู้อย่างไร" เพราะรู้แล้วควรเกิดประโยชน์ทางบวก ไม่ใช่ทางลบ ยกตัวอย่างเรื่อง อริยสัจ ๔ หากเรารู้แล้วนำมาปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง แน่นอนว่ามันก็สามารถใช้ดับทุกข์ได้ แต่หลายคนรู้เรื่องอริยสัจ ๔ เพียงเพื่อนำมาท่องอวดคนอื่น หรือข่มคนอื่น แต่ไม่ได้ตอบปัญหาชีวิตของตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ความรู้ไม่ได้มีไว้อวด บางคนถามอะไร รู้หมด แต่ดับทุกข์ไม่เป็น หรือดับทุกข์ไม่ได้ ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือว่ารู้ พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีความรู้ไว้ฝึกฝนตนเองให้พ้นทุกข์ ถ้าเรารู้แล้วนำไปใช้ไม่ถูก หรือนำไปใช้ไม่เป็น รู้เพื่ออวดหรือเพื่อข่มคนอื่น ความรู้นั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ที่แท้จริง
ฉะนั้น คนรู้น้อย แต่นำไปฝึกฝนทำประโยชน์แก่ตนและคนอื่นได้ดีกว่าคนรู้มาก แต่ใช้ได้ไม่เป็น ก็เปล่าประโยชน์ นี่เองจึงทำให้ "รู้อย่างไร" จึงสำคัญกว่า "รู้อะไร"


.....................................................................................................................................


"รู้อย่างไร" สำคัญกว่า "รู้อะไร"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น