คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อย่าเป็น "นักจับผิด" ... (ทุกข์แก้ที่ใจ)

ในสังคมของคนทำงานโดยเฉพาะเป็นรูปแบบขององค์กรที่ต้องมีหน่วยงานย่อย ๆ หลาย ๆ หน่วยอยู่รวมกันจำนวนมาก ๆ ปัญหาที่เรามักจะพบจากเพื่อนร่วมงานที่นิสัยไม่ดีของเราบางคน ก็คือ เป็น "นักจับผิด"
คือ จับผิดแต่คนอื่นที่อยู่รอบ ๆ ตัว แต่มักจะลืมจับผิดตัวเอง ;)...
คนอื่นขยับร่างกายนิดหน่อย ก็ผิดแล้ว ในขณะที่ตนเองขยับจนแผ่นดินแทบไหว ก็ยังไม่เห็นจะว่าอะไร
สุภาสินี ธรรมประเสริฐ เขียนเรื่อง "อย่าเป็นนักจับผิด" เอาไว้ในหนังสือ "ทุกข์แก้ที่ใจ" อยากให้ท่านได้ลองอ่าน ดังนี้ครับ
อย่าเป็นนักจับผิด
 คนที่ชอบจับผิดคนอื่นนั้นเป็นคนที่มีปมด้อยในใจ ขาดความรักและความสนใจมาก่อนจากทางครอบครัวหรือสังคมรอบตัว จึงทำให้เขาขาดความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ขาดเมตตา มักคอยซ้ำเติมคนอื่น คนในสังคมที่ขาดวิจารณญาณก็มักจะเชื่อข้อมูลของคนชอบจับผิด และให้ความสนใจ เขาจะยิ่งหลงตัวเองว่าสำคัญยิ่งขึ้น แนวโน้มที่เขาจะทำผิดกฏหมายและศีลธรรมจะมีได้มากกว่าคนทั่วไป

แล้วทำไม ? ... คนจึงชอบจับผิดคนอื่น
 ๑. ได้ความสะใจ
เหมือนได้แก้แค้นและระบายความอาฆาตที่ผูกใจเจ็บมาก่อน โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นเพื่อนกันหรืออยู่ในแวดวงเดียวกัน ย่อมมีข้อมูลในการจับผิดได้ง่ายกว่าคนอยู่นอกวงการ
(เข้าขั้นโรคจิตนิดหน่อย อาฆาตแค้นสุด ๆ)
 ๒. อิจฉา
ลองสังเกตแววตา ท่าทาง คำพูด ของคนที่ชอบจับผิดคนอื่นดูซิ จะออกแนวเยาะเย้ย ถากถาง ประชดประชัน มองเห็นถึงจิตใจที่ไม่มีความสุข เขามักจะจับผิดคนที่เก่งกว่า ดีกว่า หรือมีคนชื่นชมชื่นชอบมากกว่า หรือคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกันเรียนรู้รุ่นใกล้เคียง หรืออายุไล่เลี่ยกัน ไม่เห็นมีใครไปจับผิดขอทาน หรือคนที่ด้อยกว่าเลย การอิจฉาริษยานี้เป็นนิสัย การจับผิดก็เป็นนิสัยด้วย เราจะเห็นคนที่ชอบจับผิดคนอื่นออกมาปรากฎตัวทางสื่อบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ กัน และในชีวิตประจำวันเราก็จะเห็นคนที่ชอบจับผิดมักมีนิสัยอิจฉาคนอื่น
(เป็นเรื่องง่ายเรื่องเกิน หากเป็นคนที่ขี้อิจฉา บางคนรู้ตัว บางคนไม่รู้ตัว แต่ไม่มีใครกล้าเตือน)
 ๓. มองโลกในแง่ร้าย
จึงมีข้อจับผิดคนอื่นได้มาก โดยมองข้ามข้อดีของคนอื่นไปหมด
 ๔. มักขาดคุณธรรม ขาดเมตตา
มักชอบโทษหรือกล่าวโทษคนอื่นเกินจริง
 ๕. ตัวเองอาจเคยถูกจับผิดมาก่อน
จึงผูกใจเจ็บและหาทางจับผิดคนอื่นเป็นการแก้แค้น
 ๖. เพื่อให้ตัวเองแลดูเก่ง ฉลาด
โดยกดหรือกล่าวว่าคนอื่นมีความผิด
(แบบนี้ก็เยอะครับ)
 ๗. เพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตนเอง
ซึ่งตนเองก็รู้และเกรงว่าคนอื่นจะจับได้ จึงจับผิดคนอื่นให้มาก ๆ เอาไว้ ทำให้คนสนใจความผิดของคนอื่น จะได้ไม่สนใจตัวเขา
(อันนี้อยู่รอบตัวเลย)
 ๘. เอาไว้แก้ตัว
เวลาตัวเองทำผิดและมีคนอื่นจับได้ ก็จะได้บอกว่า ทีคนอื่นทำผิดเล่า ไม่เห็นมีใครว่าอะไร? และก็จะหาทางทำผิดต่อไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง
 ๙. มีลักษณะ Sadistic Personality
ชอบเห็นคนอื่นมีความผิดแล้วตัวเองมีความสุข จึงพบได้บ่อยที่เขายัดเยียดความผิดให้คนอื่นเกินความจริง
 ๑๐. ประเมินตัวเองผิด
คิดว่าเก่งกว่าคนอื่น สามารถจะปราบคนอื่นให้ได้ทั้งหมด จึงใช้วิธีคอยจับผิดคนอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อลดเครดิตคนอื่นลง และตัวเองก็ไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย
(โดยเฉพาะคนที่เรียนสูง ๆ และคนที่มักจะคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น แต่ไม่เหนือกว่าจริง ซ้ำยังดูต่ำกว่าคนอื่นอีก)

ดังคำสอนของท่าน ว.วชิรเมธี ว่า
คนที่คอยจับผิดคนอื่น
แสดงว่าหลงตัวเอง
ว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น
ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง
กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก
คนที่ชอบจับผิด
จิตใจจะหม่นหมอง
ไม่มีโอกาส "จิตประภัสสร"
ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี
"แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข"
 ดังนั้น อย่าคอยจับผิดคนอื่น เพราะมันทำให้ชีวิตเสียเวลา แทนที่เราจะเอาเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับตัวเองและคนอื่น ๆ
 การมองหาข้อบกพร่องของคนอื่น มันไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น กลับแต่จะทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้น เพราะจิตใจเราหมกหมุ่นอยู่แต่กลับการหาวิธีจับผิดคนอื่น
 เช่น คนนั้นอู้งาน คนนี้ขี้เกียจ คนโน้นไม่ทำงานเลย ฯลฯ ทุกคนต่างมีเส้นทางที่แตกต่าง จะมัวไปพะวง และยุ่งกับเรื่องของคนอื่นอยู่ทำไม เลิกเสียกับพฤติกรรมที่คอยจับผิดคนอื่น เพราะมันทำให้จังหวะการเดินทางในชีวิตของเราสะดุด
 อย่าเอาใจใส่ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง
ปล่อยความคิดให้เบา ทำหัวของเราให้ปลอดโปร่ง
เลือกมองแต่เรื่องดี ๆ รอบตัว

........................................................................................................

การจับผิด คือ การทำลายโอกาสของการทบทวนตนเอง ว่าดีหรือไม่ หรือผิดพลาดอย่างไร เราจะได้ปรับตัวและแก้ไขให้ทันกาล ก่อนที่จะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวต่อไปจนตาย
หากมัวแต่ไปยุ่งกับคนอื่น เบียดเบียนคนอื่นอย่างหนัก สักวันกรรมนั้นจะกลับมาเล่นงานให้เราได้ทุกข์ทนเหมือนกันสิ่งที่เราเคยได้ทำกับผู้อื่นเช่นกัน
โปรดเชื่อเรื่อง "กรรม" ผลของกรรม คือ ผลของการกระทำของตัวเราทั้งสิ้น
ดังนั้น อย่าเที่ยวไปโทษใคร หากไม่รู้จริง
อย่าเที่ยวไปคิดว่าตัวเองฉลาด มีสมองเหนือผู้อื่น เพราะมีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ทั้งหมดในโลก หรือแม้แต่เรื่องที่ตัวเองคิดว่า รู้ที่สุด บางทีอาจจะไม่รู้อะไรเลยจริง ๆ ก็ได้ อย่าหลงระเริงจนเกินไป เพื่อนแท้จะหนีหาย แล้วก็ไม่เหลือใครเป็นเพื่อนแท้สักคน
ขอบคุณหนังสือดี ๆ
สุภาสินี  ธรรมประเสริฐ.  ทุกข์แก้ที่ใจ.  กรุงเทพฯ : ณ ดา, ๒๕๕๔

4 ความคิดเห็น:

  1. ดีมากเลยค่ะ/ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ28 กันยายน 2555 เวลา 11:39

    อยากให้คนชอบจับผิดมาอ่ายบ้าง จิตใจจะได้สูงขึ้น

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ12 ธันวาคม 2556 เวลา 14:34

    แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าจับผิด ? ถ้าเรากำลังเฝ้าดูว่าเจ้าหน้าที่บัญชีคนหนึ่งโกงเรื่องการเงินหรือไม่ เรียกว่าจับผิดไหม

    ตอบลบ