คุณเฉลียว วิทูรปกรณ์ผู้บริหารกลุ่มบริษัทตะวันออกโปลิเมอร์ อุตสาหกรรม ซึ่งมีบริษัทในเครือกว่า 10 บริษัท ส่งออกสินค้ากระจายไปใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดที่ตนยึดถือ ซึ่งทำให้ตนประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ไว้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า เส้นของสามเหลี่ยมแต่ละเส้นจะถูกแทนค่าด้วยแต่ละกิจกรรมของชีวิต
"เส้นฐาน" เปรียบได้กับการรู้จักแบ่งสัดส่วนเวลาของชีวิต แบ่งเป็นการจัดสรรเวลาของตัวเอง ระหว่าง เวลาส่วนตัว เวลาสำหรับครอบครัว และเวลาสำหรับอาชีพ ต้องสัมพันธ์กันจึงจะเป็นฐานที่อบอุ่นทำให้มีความฉลาดคิด และฉลาดทางอารมณ์ เรียกว่า มีทั้งไอคิว และ อีคิว
บางคนประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว เพราะลืมแบ่งเวลาความสนใจไปสู่ด้านอื่น ขณะที่บางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพเสียที เพราะอาจจะไม่ใส่ใจกับการแบ่งเวลาให้อาชีพการงาน หากมีตารางจัดสรรเวลาที่ดี ก็จะมีการงานที่มั่นคง ครอบครัวอบอุ่น
หากบางคนจำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนเวลาของชีวิตไปในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ลองแก้ปัญหาด้วยการ "สร้างข้อตกลง" กับคนรอบข้าง จะทำให้สามารถจัดสรรเวลาของชีวิตได้ง่ายขึ้น สุขใจ และสบายใจมากขึ้น เช่น เมื่อแต่งงานมีครอบครัว อาจจะตกลงกันว่าเวลาไหนเป็นเวลาส่วนตัว เวลาทำงาน หรือเวลาที่อยู่ร่วมกัน ข้อตกลงจะสร้างความยืดหยุ่นและความเข้าใจให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน
"เส้นที่สอง" เปรียบได้กับบทบาทของชีวิตที่ต้องพัฒนา เป็นเส้นที่เข้ามาเติมเต็มความอบอุ่นทางใจ ทำให้รู้สภาวะของตัวเอง เพราะคนหนึ่งคนมีได้หลายบทบาท ประกอบด้วย บทบาทของผู้นำ ผู้ตาม และที่ปรึกษา โดยคนหนึ่งจะรับบทบาททั้ง 3 อย่างขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและโอกาส ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ได้
ผู้นำต้องแข็งแรง แต่ไม่แข็งกร้าว แข็งแรงในการตัดสินใจ ยึดหลักกฎ มารยาท กฎเกณฑ์ ไม่ใช่ "กฎหลักกู" ที่มีความแข็งกร้าว และอารมณ์รุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้นำต้องอยู่เหนือคนแต่ทำตนเสมอคน การจะอยู่เหนือคนอื่นได้จริงๆ สำคัญที่สุด คือ ต้องอยู่เหนือหัวใจของคน เหมือนกับน้ำที่ต้องไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ ยิ่งสูงยิ่งต้องรู้ว่าข้างล่างต้องการอะไร ปรับตัวตามสถานภาพ สถานการณ์ให้เหมาะสม
ผู้ตาม คือ ผู้ที่มีภาวะในการปฏิบัติตามผู้นำด้วยความรับผิดชอบ เอาใจใส่ มีระเบียบวินัย และเข้าใจในลำดับชั้นการปกครองที่ดี
บทบาทของปรึกษาที่ดี จะช่วยสร้างบารมีในองค์กร ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ที่จะให้คำปรึกษากับคนได้นั้น ต้องมีคุณลักษณะรู้ในตำรา รู้นอกตำรา ให้คำปรึกษาที่มีประโยชน์และมีจรรยาบรรณ
"เส้นที่สาม" เปรียบได้ในเรื่องอาชีพและชีวิต เป็นเส้นแห่งความมั่นคงต่อเศรษฐกิจและชีวิต หากเส้นนี้ไม่มีความมั่นคง ชีวิตแต่ละส่วนก็จะได้รับผลกระทบ จนอาจเสียความสมดุลได้
สูตรสำหรับสร้างความสำเร็จในอาชีพด้วย 4 ใจ ประกอบด้วย
ใจรักและถนัด ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด เพราะสิ่งเล็กๆ ที่มองข้ามอาจกลายเป็นตัวแปรที่ไม่น่าเชื่อ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของ "ใหญ่กินเล็ก" อย่างเดียว แต่เป็นยุคของ "เร็วกินช้า" และยุคของ "ใหญ่และเร็วกินรวบ" รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รักและถนัด เป็นสัจธรรมของอาชีพ บางทีรักในสิ่งที่ไม่ถนัด โอกาสเติบโตย่อมเชื่องช้ากว่า แต่ถ้ารักด้วยถนัดด้วยก็ไปโลดแน่นอน ยิ่งรักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รักและถนัด ก็เหมือนคุณได้เดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว 50% อยากให้ความฝันข้อไหนของคุณเป็นจริงมากที่สุด ท้าทายมากที่สุด ที่คุณอยากทำแต่ไม่กล้าทำ ยิ่งถ้าค้นหาและค้นพบตั้งแต่เด็ก คุณจะได้รับประโยชน์มากที่สุดใจสู้ เมื่อรักและถนัดที่จะทำ ย่อมไม่ปริปากบ่น อดทนต่อขวากหนาม นานัปการ ขยันและอดทนต่ออุปสรรค ท้อแท้ได้แต่อย่าท้อถอย เพราะความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น หากท้อแท้ให้นึกถึงคำว่า "แรงบันดาลใจ" เป็นคำที่กระตุ้นให้เราเห็นว่าไม่ใช่เราคนเดียวในโลกที่ประสบกับปัญหาหรืออุปสรรคนั้นๆ
ตั้งใจ ความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ชัดแจ้ง เมื่อเกิดปณิธานในชีวิตขึ้นมารับรองว่าจะไม่ท้อถอย ให้ยึดคำกล่าวที่ว่า "คิดการใหญ่ อย่าใส่ใจสิ่งปลีกย่อย" ขอเพียงไปให้ถึงเป้าหมายก่อน
ใส่ใจ หากต้องการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด ทำอย่างดีที่สุด พิถีพิถันที่สุด รอบคอบมากที่สุด จึงจะเป็นความสำเร็จที่เพียบพร้อม สมบูรณ์แบบที่สุด ต้องไม่ลืมว่า อย่าตระหนี่ในการแสดงออกถึงการดีใจ ยินดี และห่วงใย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ให้กับคนที่รัก
เมื่อเราได้เรียนรู้ถึงสามเหลี่ยมแต่ละด้าน ทำให้ได้รู้ถึงเป้าหมาย การสร้างกำลังใจ และการรู้จักนำเครื่องมือที่จะนำไปใช้ ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ทุกข์หรือสุขเป็นของคู่กัน อย่ากังวลกับทุกข์หรือสุข ต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เพียงแต่ต้องรู้จักการบริหารให้เป็น หากใครก็ตามสามารถสร้างสมดุลของเส้นทั้งสามเส้นให้ทำมุม 180 องศาได้ โดยไม่หกคะเมนตีลังกาเสียก่อน นั่นหมายถึง การเดินสู่ความสำเร็จในการใช้ชีวิต
http://th.jobsdb.com/TH/TH/V6HTML/Home/general_editor32.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น