หลายคนเกิดคำว่า “เสียดาย” ขึ้นในจิตใจ บางคนถึงกับบ่นออกมาว่า “ไม่น่าเลย รู้อย่างนี้น่าจะทำให้ดีกว่านี้”สาเหตุสำคัญเกิดจากความไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ของมิติแห่งชีวิต การขาดการเชื่อมโยงเหตุและผลของกิจกรรมในชีวิตในแต่ละช่วงเวลา
ชีวิตของคนเรามีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนคือ ร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม และมี 3 มิติคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งทั้ง 3 ส่วนและ 3 มิตินี้ จะมีความสัมพันธ์กันชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว
ถ้ามองในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบ่ต่างๆแล้ว จะเห็นว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ เช่น จิตใจหดหู่ ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและสังคม ในทางกลับกันถ้าร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์จิตใจเข้มแข็ง แต่ถ้าต้องอยู่ภายในสภาวะแวดล้อมที่ไม่มี โอกาสที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจอ่อนแอก็มีมากเหมือนกัน
ถ้ามองในแง่ของมิติของชีวิตจะพบว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ มีอยู่ ในปัจจุบันนั้น เป็นผลพวงที่เกิดจากมิติในอดีตทั้งนั้นเลย เช่น การที่เรามีงานทำเกิดจากการที่เรามีความรู้จากการศึกษา จากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ การที่เรามีบ้านในวันนี้เป็นเพราะเราเก็บเงินสร้างบ้านมาเมื่อหลายปีก่อน ถ้าเราไม่มีเมื่อวาน เราก็คงไม่มีวันนี้
ในขณะเดียวกันสิ่งที่เรากำลังทำ เป็นอยู่ มีอยู่ ในปัจจุบันนี้คือสะพานหรือรากฐานที่จะบันดาลอนาคตของเราเช่นเดียวกันกับที่อดีตสร้างปัจจุบันให้เรา งานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้นี้คือบันไดแห่งความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นในอนาคต ชีวิตครอบที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้คือรากฐานของครอบครัวลูกหลานในวันหน้า ความรู้และประสบการณ์ในวันนี้คือบทเรียนในวันพรุ่งนี้
คนที่ต้องการพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จในชีวิตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารชีวิตบนพื้นฐานของการสร้างความสมดุลของ 3 ส่วนและ 3 มิติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมคงไม่สามารถเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาเหมือนเรื่องอื่นๆได้ เพราะชีวิตใครก็ชีวิตใคร ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับเจ้าของชีวิต ผมเพียงแต่อยากจะให้ข้อคิดเพื่อสะกิดใจให้กับท่านผู้อ่านในบางประเด็นเท่านั้น เชน
- ได้อย่างเสียหลายอย่าง เราจะเห็นว่าคนทำงานที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหลายคน มักจะประสบกับความล้มเหลวด้านร่างกาย เพราะในขณะที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อความสำเร็จอยู่นั้น ขาดการดูแลร่างกาย ขาดการดูแลครอบครัวและสังคมรอบข้าง วันหนึ่งเมื่อความสำเร็จในหน้าที่การงานมาเยือน มันจะชักชวนเพื่อนที่เป็น “โรค” และ “ความล้มเหลวในชีวิตครอบครัว” มาด้วย เรื่องนี้คงจะพอเป็นข้อคิดให้กับผู้อ่านว่า “อย่าเอียง” ไปในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ขอให้เดินทางสายกลาง เพราะวันหนึ่งสิ่งที่ได้มา (ทรัพย์สินเงินทอง หน้าที่การงาน) มันไม่สามารถมาชดเชยกันสิ่งที่จะเสียไป (การเจ็บป่วย ครอบครัวแตกแยก) ไม่ได้
- อดีตคือประวัติศาสตร์ที่แก้ไม่ได้ คนหลายคนที่มีโอกาสที่ “เกือบจะ” ประสบความสำเร็จในชีวิตในด้านต่างๆมากมาย แต่เพราะ “อดีต” เป็นขวากหนามที่สำคัญ ทำให้พลาดโอกาสนั้นๆไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ผู้จัดการบางคนเป็นคนที่เก่งมาก ผลงานในตำแหน่งผู้จัดการดีมาก ถูกเสนอชื่อให้เป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ติดอยู่ที่ว่าเมื่อตอนที่เป็นพนักงาน เคยทำผิดในกรณีทุจริตเล็กน้อยมาก่อน หรือเพียงแค่มีข่าวแว่วๆมาว่าไม่ค่อยโปร่งใส เท่านี้ “ประตูชัยแห่งความสำเร็จ” ก็ปิดรับผู้จัดการคนนั้นไปเกือบสนิทเลยทีเดียว
- คำนึงผลตอบแทนระยะสั้น ด้วยเงื่อนไข “ถ้า(If).......” คนทั่วไปมักจะดึงเอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ตามระดับของปัจจัยดึงดูดที่นิยมเรียกกันว่า “ผลตอบแทนระยะสั้น” หรือ “ระดับความพึงพอใจ” มากเกินไป เช่น ถ้าเงินเดือนขึ้นเยอะก็จะทุ่มเททำงานให้มากขึ้น ถ้าได้เลื่อนตำแหน่งจะพัฒนางานให้มากกว่านี้ ถ้าหัวหน้าด่ามากๆ จะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม และมีอีกหลายถ้า...
- ความสำเร็จคือผลสะท้อนกลับของการกระทำ การกระทำทางกาย วาจา ใจ ต่อตัวเองและผู้อื่นในอดีตจะถูกสะท้อนออกมาเป็นผลสำเร็จหรือล้มเหลวในปัจจุบัน เช่น เราเคยทำร้ายจิตใจคนอื่นมาก่อน วันนี้เขาอาจจะกลับมาทำร้ายร่างกายของเรา ทำลายอนาคตหน้าที่การงานของเรา เราเคยบาดเจ็บทางด้านจิตใจเนื่องจากมีปมด้อยมาก่อน ปมด้อยนั้นอาจจะเป็นแรงฮึดให้เรามาสู่ความสำเร็จในปัจจุบันก็ได้ เช่นเดียวกันกับการบริหารร่างกาย จิตใจ และสังคมของเราในปัจจุบัน จะส่งผลสะท้อนกลับมาหาเราในอนาคตได้เช่นเดียวกัน เช่น วันนี้เราดูแลร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันหนึ่งในอนาคตอาจจะส่งผลให้เรามีร่างกายแข็งแรงเพียงพอที่จะขึ้นไปทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรก็ได้ เพราะคงไม่มีบริษัทไหนจ้างผู้บริหารที่เก่งมาก แต่เจ็บป่วยออดๆแอดๆมาทำงานวันเว้นวันหรอกนะครับ
ก่อนจากกันในวันนี้ผมขอทิ้งท้ายให้คิดกันเล่นๆนะครับว่าในความเป็นจริงของชีวิตแล้ว เราจะพบว่า “ความสำเร็จ” ที่เราภาคภูมิใจมากที่สุดไม่ใช่ความสำเร็จที่เรา “คาดหวัง” แต่เป็นความสำเร็จที่ “ไม่คาดหวัง” มากกว่า เช่น เราทำงานหนักเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง เมื่อเราได้เลื่อนตำแหน่งเราก็ดีใจมาก แต่ถ้าเราได้รับการคัดเลือกให้เป็น “พนักงานดีเด่นประจำปี” ผมคิดว่าเราจะดีใจมากกว่าการได้เลื่อนตำแหน่งหลายเท่า ดังนั้น เพื่อแสวงหา “ความสำเร็จที่ไม่คาดหวัง” จึงอยากกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านทุกคนจงทำงานทุกอย่างให้ดีที่สุดอย่างเต็มศักยภาพที่มีอยู่ แล้วความสำเร็จที่ท่านอยากได้ อยากเป็น จะมาพร้อมกับความสำเร็จที่ท่านไม่คาดหวังนะครับ
ข้อมูลจาก http://www.peoplevalue.co.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น