คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บุญวาสนา กับ ความสุข

เราเคยเห็น "ลม" หรือไม่
ลักษณะรูปร่างของลมเป็นอย่างไรไม่มีใครเคยเห็นโดยตรง แต่เราสามารถรับรู้ได้ว่ามีลมอยู่ เมื่อลมมากระทบกับร่างกายทำให้เรารู้สึกเย็น บุญก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครเคยเห็น "บุญ" แต่เราสามารถรับรู้ลักษณะอาการของบุญได้
บุญจึงเสมือนความเย็นที่มากระทบจิตใจ...ถ้าจิตใจเราสงบสะอาด ร่มเย็น มีความสุข นั่นแหละคือ "ตัวบุญ"
บาปเป็นความสมดุลแต่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับบุญ
ถ้าบุญ คือ ความร่มเย็น...
บาปก็น่าจะเป็นความเร่าร้อน
บาปจึงเสมือนความร้อนที่มากระทบจิตใจ จิตใจที่รุ่มร้อน อยู่ไม่มีความสุข นั่นแหละคือ "ตัวบาป"
ถ้าเราอยากมีความสุข...เราต้องทำความดี เพราะความดีจะส่งให้เกิดผลของบุญ
ถ้าทำความชั่วจะส่งผลให้เกิดผลของบาป
บุญและบาปเกิดที่ใจ
การทำบุญต้องเริ่มที่ใจของเราก่อน
บุญ...เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งต่อจิตใจในเรื่องความบริสุทธิ์ สะอาด
บุญ...ยังสามารถสั่งสมให้เป็นทุกรอนใช้ในภายภาคหน้าได้
ถ้าจิตใจส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย คนที่ทำบุญจึงมีใบหน้าผ่องใส นุ่มนวล และอิ่มเอิบ...นั่นคือ การอิ่มบุญ
การทำบุญทำได้ง่ายไม่ยากอย่างที่คิด
เนื่องจากการทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้น
บุญจึงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากจนบางคนคิดไม่ถึง
ไม่จำเป็นต้องไปทำบุญที่ห่างไกล ที่วัดที่มีชื่อเสียง อยู่ที่ไหนเราก้สามารถทำบุญได้ เช่น อยู่ที่บ้านเราก็ทำความดีโดยการพูดจาไพเราะ อ่อนหวาน การทำความสะอาดบ้าน การดูแลบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น
ขึ้นรถเมล์เราก็สามารถทำบุญได้ เช่น การเสียสละที่นั่งให้แก่สตรี คนชรา เด็ก คนพิการ การมีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบผู้โดยสารคนอื่น ๆ การไม่รบกวนผู้อื่น เป็นต้น
เพราะการทำบุญคือผลจากการทำ "ความดี"
ความดีที่เราทำทั้งกาย วาจา ใจ ย่อมส่งผลบุญ
ผลบุญจึงเป็นความสุข ความสะอาด ความสบาย เกิดที่ใจ เราต้องทำบุญด้วย "หัวใจ"
ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
การทำบุญที่ยิ่งใหญ่คือการทำบุญที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
คือทำด้วย "หัวใจ" จริง ๆ
บางคนทำบุญเพื่อหวังผลตอบแทน เป็นการทำบุญที่ไม่บริสุทธิ์
ลองตั้งสติ คิด ใคร่ครวญผลของบุญว่า เราจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำบุญอย่างไรให้เกิดกุศลผลบุญ และทำให้เกิดความสุข
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและการนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ผู้นำปรัชญาตะวันออกแบ่งวิธีการทำบุญ เรียกว่า บุญ 3 ประการ ได้แก่
1. การให้ (โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน) หรือ การบริจาคแก่ผู้ที่ควรให้
2. การไม่ทำชั่ว ไม่เบียดเบียนและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
3. การฝึกร่างกาย จิตใจให้มีสติ เช่น การมีสติ การนั่งสมาธิ เป็นต้น
จะเห็นว่า บุญจึงไม่ใช่อภินิหารสิ่งเหลือเชื่อและสิ่งลี้ลับอีกต่อไป
เพราะบุญเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ จับต้องได้ (ด้วยหัวใจ) สามารถทดลองและพิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
 จงจำให้มั่น...
การทำความดี คือ การสร้างบุญ และ การสร้างบุญ ก็คือ การสร้างความสุขให้ชีวิตนั่นเอง
สุพจน์  นุ้ยเจริญ.  สุขจริงได้ ง่ายนิดเดียว.  นนทบุรี: ธิงค์ บียอนด์ บุ๊คส์, 2554.

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ21 ธันวาคม 2554 เวลา 09:33

    สุดยอดมากครับ จะรีบไปซื้อหนังสือมาอ่านครับ

    ตอบลบ