คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คือกำไรของชีวิต

การทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากความสามารถของตนเองแล้ว ก็ต้องอาศัย เจ้านายจูง เพื่อนฝูงดัน อยู่เหมือนกัน การรักษาสัมพันธภาพความเป็นมิตร เป็นสิ่งสำคัญที่บางคนอาจหลงลืม เมื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าคนอื่นก็คิดว่าตนมีอำนาจ แสดงอำนาจควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชา ตำหนิลูกน้องต่อหน้าคนอื่นเพื่อให้เขายกย่องว่า ตนคือเจ้านาย
บางคนปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานราวกับตนเป็นนาย เพื่อนเป็นบ่าว
เมื่อเป็นอย่างนี้ เจ้านายอาจไม่แลแม้เพื่อนก็ดับหาย สุดท้ายผลงานไม่มี ความดีไม่ปรากฎ เพราะเมื่อเหลือเพียงตัวคนเดียวย่อมทำอะไรไม่ได้ งานก็ไม่ประสบความสำเร็จ
การทำงานร่วมกันก็ต้องปันน้ำใจให้กัน แบ่งพื้นที่ในใจตนเพื่อใส่คนอื่นไว้บ้าง เคารพศักดิ์ศรีความสามารถที่เขามีและหน้าที่ที่เขาทำ
สร้างความเชื่อมั่นและสร้างแรงบันดาลใจ
ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกภูมิใจในตนเอง
ตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานร่วมกัน
เปลี่ยนจากว่า "คุณไปทำ" เป็น "เรามาร่วมกันทำเถอะ"
ไม้แข็งแปลงให้เป็นไม้นวม นิ่มนวลอบอุ่นอ่อนโยน
เปลี่ยนจากชี้นำเป็นแนะแนำ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

ดังเช่นเรื่อง "ลมกับพระอาทิตย์" ที่ทั้งสองแข่งกันว่า ใครจะทำให้คนเดินทางถอดเสื้อคลุมออกได้ เพื่อแสดงพลังอำนาจของตนเอง
ลมพยายามพัดให้แรงที่สุด แต่ยิ่งพัดแรงเท่าไหร่ คนเดินทางก็ยิ่งเอาเสื้อคลุมกระชับตัวเท่านั้น พัดจนคนเดินทางปลิวไปกับลมก็ไม่สามารถทำให้คนเดินทางถอดเสื้อคลุมได้
แต่พระอาทิตย์เพียงส่องแสงแดดไปเรื่อย ๆ คนเดินทางก็เริ่มร้อนจนสุดท้ายทนไม่ไหวจนต้องถอดเสื้อคลุมออก
ไม่มีใครถูกสั่งถูกบังคับ การลงโทษเพียงป้องกันไม่ให้ผิดพลาดได้ชั่วคราว แต่มันไม่ได้ส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน
การชมเชย ยกย่อง หรือให้รางวัลแม้เพียงเล็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางจิตใจ เป็นการให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
ลองพิจารณาดูเถอะว่า
ถ้าเอาแต่ดุด่า ผลตามมาคือ ความหยาบคาย
เอาแต่ติเตียน ผลตามมาคือ ต่อต้าน
เอาแต่แข่งขัน ผลตามมาคือ ใจแคบอิจฉา
เอาแต่ล้อเลียน ผลตามมาคือ ขาดความมั่นใจ
เอาแต่ตามใจ ผลตามมาคือ ไม่ได้ใจ

แล้วลองเปลี่ยนใหม่
เปลี่ยนเป็นเปิดใจ ก็จะได้ความเข้าใจ
เปลี่ยนเป็นแนะนำ ก็จะทำให้มีส่วนร่วม
เปลี่ยนเป็นอ่อนโยน ก็จะได้ความอ่อนน้อม
เปลี่ยนเป็นเมตตา ผลตามมาจะอยู่ด้วยรัก
เปลี่ยนเป็นให้กำลังใจ จะได้ความตั้งใจและร่วมมือ


"อันอ้อยตาล หวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย" สุนทรภู่กล่าวไว้ให้ได้คิด ว่าคำพูดแบบไหนที่จะทำให้จับใจคน หรือทำให้คนเจ็บใจ
พระท่านเรียกคำพูดดี ๆ นั้นว่า "ปิยวาจา" คือ ถ้อยคำที่ทำให้เป็นคนน่ารัก และทำให้คนรัก เช่น พูดจริงใจ พูดไพเราะ ซึ่งบางท่านเรียกว่า "ภาษาดอกไม้" ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังมีทัศนคติเชิงบวก ทั้งต่อตนเองต่อผู้อื่น ตลอดจนต่องานที่กำลังทำอยู่นั้น

ยกตัวอย่างภาษาดอกไม้
สุดยอด! เยี่ยม! แจ๋ว เจ๋ง เหนือชั้นจริง ๆ วิเศษสุด ๆ เลิศจริง ๆ
ขั้นเทพเลยนะเนี่ย ทำได้ดีมาก คุณทำมันได้แน่นอน ผมเชื่อมั่นในตัวคุณ
เราต้องร่วมมือกัน จับมือกันไว้พวกเรา...สู้! เอาเอบวกไปเลย
คุณทำให้หน่วยเรามีสีสัน ผมเห็นความตั้งใจของทุกคน
Take care นะ เป็นกำลังใจให้เสมอนะ ห่วงคุณนะ รักนะ

แม้ยังไม่ได้พูดอะไร แค่ส่งยิ้มให้กันก็แทนคำพูดดี ๆ ได้สักพันคำเชียวละ ฉะนั้น ลองเปลี่ยนสำนักงานบ้านหรือห้องเรียน ให้เป็นสวนดอกไม้อันงดงาม เปลี่ยนไม้นวมเป็นดกไม้สักช่อ
อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่า คนสมัยนี้ ใช้ชีวิตในสำนักงานในโรงเรียนมากกว่าบ้านด้วยซ้ำ เงินเดือนที่ได้อาจไม่คุ้มเลยก็ได้หากว่าช่วงเวลานั้นของชีวิต มีแต่ปัญหา ความทุกข์ ความขัดแย้งแข่งขัน อิจฉาช่วงชิง
เปลี่ยนเวลานั้นให้เป็นเวลาแห่งความสุข สนุกกับการทำงาน

งานก็จะสำเร็จ คนก็จะเป็นสุข
เป็นความสุขที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้น
กำไรที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่ผลประกอบการ
แต่เป็นมิตรภาพและน้ำใจ
คือการทำงานด้วยความสุขใจ
คือกำไรของชีวิต

แหล่งอ้างอิง
ธรรมรตา.  วิชาความสุข.  กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาสน์, 2552.
http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/303474

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น