คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความสุขหลากสี



หาก เปรียบความสุขเหมือนสี..
เราอาจจะให้นิยามสีแห่งความสุขของเราได้แตก ต่างกัน..

มีหลายคนที่บอกว่า..
สีความสุขของเราเป็นสีขาว..
เพราะ เป็นความสุขที่บริสุทธิ์ใจ..

อาจจะมีบางคนที่บอกว่า..
สีความ สุขของเราเป็นสีแดง..
เพราะเป็นความสุขที่ต้องดิ้นรนต่อสู้..

แต่ ก็มีอีกหลายคนที่บอกว่า..
สีความสุขของเราเป็นสีดำ..
เพราะความสุข ที่ได้รับ..แลกมาด้วยความยากลำบาก..

และเกือบทุกคนที่มักจะบอกว่า..
สี ความสุขของเราเป็นสีชมพู..
เพราะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความ รัก..ความเอาใจใส่..

หากนิยามให้ครบทุก ๆ สีแห่งความสุข..
เรา คงได้รับนิยามแห่งความสุขอย่างมากมาย..
แต่จะมีใครรู้บ้างไหมว่า..
หาก เราเอาทุกสีที่มีอยู่บนโลกนี้..มาผสมรวมกัน..
เราจะได้สีแห่งความสุข เป็นสีอะไร ??

ลองทดสอบดู..
เราจะรู้ว่า..สีแห่งความสุข..
เมื่อ นำมาผสมรวมกัน..
จะเป็นสีแห่งความสมดุลของธรรมชาติ..
ที่วาง เปล่า..แบบไม่น่าเชื่อ..

สีแห่งความสุขของเราก็เช่นเดียวกัน..
หาก เราลองรวบรวมประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต..
เหมือนกับการนำสีมาผสมรวมกัน..
สี แห่งประสบการณ์ชีวิตของคนเรา..
ก็มีทั้งสุขและทุกข์..คละเคล้า ปะปนกันไป..

สีแห่งความสุข..
คือ..บทพิสูจน์ที่ว่า..
ความ สุข..ความทุกข์..
เกิดจากการแต่งเติมสีภายในจิตใจของเรา..

เราจะ ปรุงแต่งอารมณ์..ความรู้สึกแบบใด..ลงไปในจิตใจ..
ใจของเรานั่น แหละ..ที่จะบอกเราได้ว่า..
เรามีความสุขหรือความทุกข์..

ขอขอบคุณ http://iam.hunsa.com/rachael/article/45656

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อคิดเตือนใจ

คนเรามักไม่ค่อยคิดถึงสิ่งที่ตนมีอยู่   แต่มักจะคิดถึงสิ่งที่ตนไม่มี"
...เราแทบจะไม่คิดเลยว่า เรามีอะไรบ้าง ?...
แต่เราคิดเพียงว่าเราขาดอะไรบ้างเท่านั้น...
จงรื่นรมย์กับสิ่งที่คุณมี ...ในขณะที่คนโง่พร่ำเพรียกใฝ่หาไม่รู้จบ...
...การสร้างนิสัยให้เกิดความคิด มองหาแต่ด้านดีในทุกสภาพการณ์ ...
เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าได้รับเงินเป็นล้านๆ ในหนึ่งปี...

"คนเราไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางลมได้  แต่เราสามารถปรับใบเรือได้"
...คนมองโลกในแง่ดี คือคนที่เห็นไฟเขียวทุกแห่งหน... คนที่มองโลกในแง่ร้ายจะเห็นแต่ไฟแดง... แต่คนชาญฉลาดที่แท้จริงตาจะบอดสี...
...การสร้างกุศลอันสุดประเสริฐแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น... มิใช่อยู่ที่การเผื่อแผ่ความร่ำรวยไปให้เขาหรือไม่... แต่มันอยู่ที่การทำให้เขาเกิดตาสว่างมองเห็นขุมทรัพย์ที่เขามีอยู่ในตนต่างหาก...
...ไม่มีงานใดที่ต่ำต้อย ขอเพียงงานนั้นสอดคล้องกับทิศทางในชีวิตของท่าน...

"สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของคนเรา คือ ชีวิต และเราจะเป็นเจ้าของชีวิตได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น"
...คุณจะไม่มีวันได้สิ่งที่คุณพอใจ... จนกว่าคุณจะได้เรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่คุณมี...
...อย่าปล่อยให้ชีวิตเป็นไปอย่างไร้จุดหมาย...  ผู้ที่มีชีวิตอยู่แต่ไม่ยอมต่อสู้ชีวิต คือ... ศพเดินได้...
...อุปสรรคที่ใหญ่หลวงที่สุดของความสำเร็จ ก็คือ... การล้มเลิกกลางคัน...

หากปราศจากความกระตือรือร้นย่อมไม่อาจทำสิ่งใดใด้สำเร็จ"
...ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของเรา... ไม่ได้อยู่ที่เราไม่เคยล้ม แต่อยู่ที่สามารถลุกขึ้นได้ทุกคร้งที่เราล้ม...
...ก่อนที่สวรรค์จะมอบภาระหนักอึ้งมาให้... เราทุกคนต่างก็ถูกทดสอบความวิริยะอุตสาหะเป็นอันดับแรก... บางครั้งต้องทนหิว ร่างกายก็อ่อนแอ... สับสนภายในใจ... สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมจนเราแข็งแกร่ง... พร้อมเผชิญอุปสรรค... เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต...
...จงเลือกเดินทางที่ถูกต้องที่สุด... ไม่ว่าทางนั้นจะขรุขระยากลำบากสักเพียงไร... เมื่อคุ้นเคยแล้วก็จะรู้สึกว่ามันราบเรียบเดินสบาย..

"แก่นแท้แห่งชีวิตอยู่ที่ความหมั่นเพียรหากไม่ไขว่คว้า ไหนเลยจะพบความสำเร็จ"
...ชีวิตไม่มีทางเรียนจบ ตลอดชีวิตของเรา...  ชีวิต คือ... การเรียนที่มีบทเรียนให้เรียนได้เสมอ...
...นักศึกษาสมัยก่อนศึกษาเพื่อให้ตนเองมีความสำเร็จในการศึกษา...  นักศึกษาในปัจจุบันศึกษาเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตนมีการศึกษา...
...เรียนรู้ ฝึกฝนความสามารถมิใช่เรื่องยากที่สุด...  รู้จักนำความสามารถไปใช้อย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องยากที่สุด...

ทำงานให้ผู้อื่นไม่เต็มกำลัง  เท่ากับหลอกลวงผู้อื่น ... 
คบเพื่อนฝูงแต่ไม่จริงใจ  เท่ากับหลอกลวงเพื่อนฝูง ...
ศึกษาเล่าเรียนแต่ไม่ทบทวน เท่ากับหลอกลวงตัวเองและอาจารย์ ...
...คนที่มีแต่ความรู้ที่เชี่ยวชาญพิเศษ... จะคล้ายกับสุนัขที่ผึกดีแล้ว... มากกว่าจะเป็นบุคคลเต็มคน...
...หากท่านให้ปลา 1 ตัวแก่คนหนึ่ง... เขาจะยังชีพได้เพียง 1 วัน...  แต่ถ้าท่านสอนวิธีให้เขาตกปลา เขาจะยังชีพได้ตลอดฃีวิต...
...เดินไปกัน 3 คนย่อมมีครูของเราอยู่ด้วย... เลือกข้อดีของเขาแล้วเอาอย่างทำตาม ส่วนข้อบกพร่องของเขา ใช้เป็นข้อคิดปรับปรุงตัวเรา...

ความรู้มาจากการศึกษา....  ความเข้าใจได้จากประสบการณ์...  สติปัญญาเกิดจากการไตร่ตรอง...
3 สิ่งประสานรวมในหนึ่งสมอง คนๆนั้นคือ "ผู้สมบูรณ์แบบ"...
...คนที่นอบน้อมเพียงไร... ย่อมเป็นคนที่ยิ่งใหญ่เพียงนั้น...
...คุณค่าของชีวิตมิได้อยู่ที่มีชีวิตอยู่นานแค่ไหน... หากแต่อยู่ที่เราใช้วันเวลาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างไร...
...ผู้ที่รับผิดชอบหน้าที่ประจำวันของตนได้อย่างดี...  จึงสามารถรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่เมื่องานใหญ่มาถึง...

ความสุข คือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ "
...ถ้าหากเราไม่เฝ้าแต่วุ่นวายอยู่กับการพูดและการกระทำของผู้อื่น... เราจะมีความสงบสุขมากขึ้น...
...ความลับที่ทำให้คนเรามีอายุยืนนานและมีความสุขก็คือ... การให้อภัยทุกคน... ทุกเรื่อง และทุกคืนก่อนที่เราจะนอน...
...การให้อภัยผู้อื่นเป็นคุณธรรมอันสูงส่ง... การให้อภัยตนเองจะเป็นการสูญเสียคุณธรรมไป..

จิตเปรียบดั่งผืนนา... หากไม่หว่านพันธุ์ข้าวที่ดีย่อมจะไม่ได้ข้าวพันธุ์ดี....
...ผู้ที่ให้ความรักแก่ผู้อื่น คือ... ผู้มีบุญ ผู้ที่สามารถขจัดความทุกข์ คือ... ผู้มีปัญญา...
...จงลืมความทุกข์ในอดีต และจงมีชีวิตที่เบิกบานในปัจจุบัน...
...ความโกรธจะทำให้ตนเองเกิดทุกข์ และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน...

ปุถุชนจะแสวงแต่ความมั่งคั่ง...
ส่วนผู้ประเสริฐจะใฝ่หาสัจจธรรม"...
...เมื่อได้ยินคำพูดที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ... จงถือเป็นการบำเพ็ญตนอย่างหนึ่ง...
..เป็นการง่ายที่จะทบทวนความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของตนเอง...  แต่เป็นการยากที่จะแก้นิสัยเสียเล็กๆน้อยๆของตนเอง...
...โชคชะตาเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเข้าใจยาก... แต่เราสามารถกำหนดโชคชะตาด้วยปณิธานของเราเอง...
...การชื่นชมผู้อื่น คือ... การเพิ่มความสง่างามให้แก่ตนเอง...
...คุณธรรม คือ... แสงประทีปอันเจิดจ้าที่ยกระดับจิตใจของเราเอง... มิใช่มีไว้ตำหนิติเตียนผู้อื่น...

"กำลังใจเพื่อวันใหม่"

ขอมอบ "กำลังใจเพื่อวันใหม่" สำหรับทุกท่าน ครับ  หนังสือของ "ธราธร" อีกเล่ม ชื่อ "กำลังเพื่อวันใหม่"
การไม่รักษาคำพูด
อาจเปรียบได้กับทรายกำมือหนึ่ง  เมื่อเราโยนทรายลงไปในบ่อน้ำสักหนึ่งกำมือ
อาจไม่มีความหมายอะไร  แต่เมื่อเราโยนทรายหลายกำมือลงไปเรื่อย ๆ
ในที่สุดบ่อน้ำนั้นอาจตื้นเขินได้ 
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การรักษาคำพูดกับตนเอง
เพราะผู้ที่รักษาข้อตกลงกับตัวเองไม่ได้  อย่าได้คิดว่าจะทำอะไรสำเร็จ
และคงได้แต่สงสัยว่า...ทำไมความใฝ่ฝัน ความหวัง
หรือปณิธานของตนไม่เคยเป็นความจริงเสียที

เมื่อมีคนถามว่าเรามีชีวิตอยู่เมื่อใด คำตอบจะเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจาก "ปัจจุบัน" ได้อย่างไร
เรื่องที่น่าแปลกคือ คนมากมายชอบใช้เวลาอยู่กับอดีต จดจำอยู่แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
หรือไม่ก็ฝันถึงแต่อนาคต เอาแต่นึกฝันหรือคาดหวังเรื่องนั้นเรื่องนี้
ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือเปล่า 
ความจริงก็คือ เราอยู่ในปัจจุบันเสมอมา
ไม่ว่าเราจะทำอะไร  ไม่ว่าจะไปไหน
หรือไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม 
ทำไมเราจึงไม่เลือกที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
วันนี้คุณได้ทำอะไรดี ๆ ให้กับชีวิตบ้าง อาจจะแปรงฟันให้สะอาดจริง ๆ
ออกกำลังกายให้ได้เหงื่อ  อ่านหนังสือสักเล่มที่อยากอ่านและบอกกับตัวเองว่า
"วันนี้คือวันที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา" 
ทำทุกวันให้เป็นวันที่ดี...
เพื่อเวลาของชีวิตจะได้ผ่านไปอย่างคุ้มค่า
การยอมรับคือ  การเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่
การยอมรับไม่ใช่การเห็นด้วย การยินยอม การอนุญาต  การสนับสนุน การเกื้อกูล การเห็นอกเห็นใจ
การยืนยัน การช่วยเหลือ การส่งเสริม  การยอมรับคือ การพูดว่า
"มันเป็นอย่างนี้ และสิ่งที่มันเป็นคืออย่างนี้"
ตราบใดที่เราไม่ได้ยอมรับสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นอย่างแท้จริง
ตราบนั้นเราจะไม่มีวันมองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน
มีคนเคยอุปมาอุปไมยเรื่อง ชีวิตกับตัวหนังสือ ไว้ว่า
ชีวิต คือ พยัญชนะตัวหนึ่งมันอาจจะไร้ความหมาย
หรือเป็นส่วนหนึ่งของความหมายอันยิ่งใหญ่ก็ได้
จงใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และเติบโต
ทุกสิ่งทุกอย่าง  ทุกสิ่งทุกอย่าง  และทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่ว่าคุณจะทำอะไร  ไม่ว่าจะแย่แค่ไหนก็ตาม
ล้วนแต่มีบางสิ่งบางอย่างให้คุณเรียนรู้จากมันได้เสมอ
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ  ไม่ว่ามันจะยุติธรรมสักเพียงไร
ไม่ว่ามันจะผิดพลาดสักแค่ไหนก็ตาม  ย่อมมีบางอย่างที่คุณสามารถหยิบฉวย
เพื่อการเติบโตของคุณได้เสมอ 
เมื่อมีทุกข์ เจ็บปวด หรือมีเรื่องราวเลวร้ายเกิดขึ้นกับคุณ
จงเริ่มมองหาสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อการเรียนรู้และเติบโต
.
เราเติบโตได้ด้วยจินตนาการ
นักฝัน...ฝันจะไต่ขึ้นไป  แม้ท่ามกลางพายุโหมคลั่ง
หรือกระทั่งดวงตาแทบจะมืดหมอง 
คนบางคนละทิ้งจินตนาการ
ยอมศิโรราบให้กับอุปสรรคโดยสิ้นเชิง  ในขณะที่คนซึ่งยังหลงเหลือ
พร้อมจะต่อสู้ต่อไป  จินตนาการทำให้เราไต่ขึ้น
สู่เส้นทางสายปลอดโปร่ง  อันจะทำอะไร
ได้ดั่งหวัง 
ไม่ว่าจะทำอะไร
มีเป้าหมายหรือไม่  ไตร่ตรองความยากลำบาก
และความผิดพลาดของตนเอง  บ้างหรือไม่
ใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยากรู้หรือไม่  เราเดินผ่านวันเวลา
ไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่ 
วันนี้...
เราทำอะไรเพื่อพัฒนาตัวเองแล้วหรือยัง
ขจัดความวิตกกังวลออกไปเสีย  เพราะมีแต่จะทำให้เสียเวลา
ความกังวลเป็นเรื่องหยุมหยิม  เป็นเรื่องของอนาคต
อย่าไปคิดว่า เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส
เพิ่งสมาธิแล้วลองแก้ไขเรื่องที่ทำให้กังวลไปทีละข้อ
เป็นคนใหม่ตั้งแต่นาทีนี้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 
ขอมอบ "กำลังใจเพื่อวันใหม่" สำหรับทุกท่าน ครับ
http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/184991

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แค่ .. อิฐสองก้อน ..

คัดลอกมาจากหนังสือ "ชวนม่วนชื่น" เป็นเรื่องของอาจารย์พรหมหรือพระวิสิทธิสังวรเถร เป็นชาวอังกฤษ เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ก่อนจะไปก่อตั้งวัดป่าโพธิญานใกล้เมืองเพิร์ธ ที่ประเทศออสเตรเลีย

ช่วงก่อตั้งวัดป่าโพธิญานเมื่อปี 2526 พระอาจารย์พรหมเล่าว่า หลังจากซื้อที่ดินแล้ว เงินก็แทบไม่เหลือ ต้องสร้างวัดด้วยมือของตัวเองตั้งแต่ผสมปูน จนถึงการก่อกำแพงอิฐ

ท่านเล่าว่า ตอนที่ลงมือทำก็รู้สึกว่าได้ทำอย่างประณีตที่สุด จนกระทั่งกำแพงอิฐเสร็จสิ้นลง แต่พอถอยออกมายืนดู ก็พบว่าก่ออิฐพลาดไป 2 ก้อน พระอาจารย์พรหมขอเจ้าอาวาสทุบกำแพงทิ้งเพื่อก่อใหม่ แต่เจ้าอาวาสไม่ยอม

จากนั้นเป็นตันมา ทุกครั้งที่มาแขกมาเยี่ยมวัด พระอาจารย์ท่านจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่พาแขกเดินผ่านกำแพงบริเวณนี้ เพราะอายที่ก่ออิฐผิดพลาดไป 2 ก้อน

จนกระทั่งวันหนึ่ง พระอาจารย์พรหมกำลังเดินกับแขกที่มาเยี่ยมวัดคนหนึ่ง เขาเห็นกำแพงนี้แล้วก็เปรยขึ้นมาว่า " กำแพงสวยดีนี่" พระอาจารย์พรหมถามกลับด้วยอารมณ์ขันว่า "คุณลืมแว่นสายตาไว้ในรถหรือเปล่า คุณไม่เห็นหรือว่ามีอิฐ 2 ก้อน ที่ก่อผิดพลาดจนกำแพงดูไม่ดี"

แต่แล้วผู้เยี่ยมชมคนนี้ก็เอ่ยประโยคที่ทำให้พระอาจารย์พรหมเปลี่ยนแปลงทัศนคติทั้งหมดที่เคยมีต่อกำแพงนี้ พร้อมกับเปลี่ยนแง่มุมที่มีต่อชีวิต

เพื่อนๆ รู้มั้ยว่า แขกที่มาเยี่ยมชมได้พูดว่าอะไร

แขกผู้มาเยี่ยมชมได้พูดว่า "ผมเห็นอิฐที่วางไม่ดีสองก้อนนั้น แต่ผมก็ได้เห็นด้วยว่ามีอิฐอีก 998 ก้อนที่ก่อไว้อย่างสวยงาม"

" นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่อาตมาสามารถมองเห็นอิฐก้อนอื่นๆ บนกำแพงนั้น นอกเหนือจากเจ้า 2 ก้อนที่เป็นปัญหา"

ไม่ว่าจะเป็นอิฐที่อยู่ด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย และด้านขวาของเจ้าอิฐ 2 ก้อนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอิฐที่ก่อไว้อย่างดีไม่มีที่ติ ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนอิฐที่ดีมีมากกว่าเจ้าอิฐไม่ดี 2 ก้อนนั้น

ใช่เพื่อนๆ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สายตาขอพระอาจารย์พรหมเฝ้ามองแต่อิฐ 2 ก้อนนั้น ท่านยอมรับว่าสายตาของท่านมืดบอดต่อสิ่งอื่นๆ ท่านอยากทลายกำแพง เพราะมองเห็นแต่อิฐ 2 ก้อนที่ผิดพลาด แต่ทันทีที่ความรู้สึกเปิดกว้าง มองเห็นอิฐก้อนดีๆ จำนวนมากบนกำแพงนี้ กำแพงเดิมที่อยากทลายลงก็กลับงดงามขึ้นมาทันที

"ใช่... กำแพงนี้สวยดี"

พระอาจารย์พรหมหันไปบอกกับแขกผู้มาเยี่ยมคนนั้น

จนถึงวันนี้ พระอาจารย์พรหมก็นึกไม่ออกแล้วว่าอิฐที่ผิดพลาด 2 ก้อนนั้น อยู่ตรงส่วนไหนของกำแพง ทัศนคติในการมองโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อิฐ 2 ก้อนนั้นเลือนหายไปจากความทรงจำ

พระอาจารย์พรหมเปรียบเปรยว่า คู่ชีวิตที่ตัดสัมพันธ์หรือหย่าร้างกัน ก็เพราะทั้งคู่เพ่งมองแต่ "อิฐที่ไม่ดี 2 ก้อน" ในตัวคู่ชีวิตของเขา

คนที่คิดท้อแท้ อยากฆ่าตัวตายก็เพราะเรามองเห็นแต่ "อิฐ 2 ก้อน" ในตัวเราเอง
ทั้งที่ในความเป็นจริง นอกจาก "อิฐ 2 ก้อน" ที่ผิดพลาดแล้ว ยังมี "อิฐก้อนที่ดี" และ "อิฐก้อนที่ดีไม่มีที่ติ" มากมายอยู่ในตัวเรา เพียงแต่เรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง

อย่าให้ความผิดพลาดของ "อิฐที่ไม่ดี 2 ก้อน" ทำให้เราต้องทำลายกำแพงดีๆ จนพัง และในขณะที่เรามองหาข้อดีของตัวเราและคนอื่นแล้ว ให้มองหา "ข้อดี" จาก "ข้อบกพร่อง" ของตัวเราและคนอื่นอีกด้วย แล้วชีวิตนี้จะมีแต่ความสุข
http://www.chongter.com/Articles/general/2blocks.htm

นิ่งสงบเพื่อสยบความเคลื่อนไหว ...

ในกระบวนการฝึกฝนให้ชีวิตมีความสุขนั้น ทุกคนล้วนแสวงหาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็มุ่งที่การสร้างวัตถุเพื่อนำมาตอบสนองให้ชีวิตมีความบริบูรณ์ และเข้าใจว่านั่นคือความสุขที่แท้จริง บางคนก็แสวงหาความสงบทางใจเพื่อเป็นกำไรแก่ตัวเอง
 ทว่าขณะกำลังแสวงหาความสุขให้ชีวิตอยู่นั้น ปราชญ์ทั้งหลายก็เตือนไว้ว่าอย่าประมาท เพราะความประมาทย่อมเป็นสะพานทอดไปสู่หุบเหวแห่งความทุกข์ที่น่ากลัวเสมอ ปราชญ์ได้เสนอต่อไปว่า กระบวนการฝึกฝนชีวิตให้มีความสุขนั้น หลักการอย่างหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ชีวิตมีระเบียบและความสุขมากขึ้นก็คือ "การรู้จักสำรวมวาจา"

เพราะวาจาเป็นสื่อที่ผู้คนต้องมีการใช้สอยอยู่ตลอดเวลา หากใช้สอยเพื่อให้เกิดคุณงามความดี วาจานั้นย่อมชื่อว่า ก่อให้เกิดคุณค่าที่งดงามได้ แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้ว น้อยนักวาจาที่ถูกถ่ายทอดออกไปจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะส่วนมากล้วนเป็นวาจาที่ไร้สติควบคุมดูแล

ยิ่งโดยเฉพาะการฝึกจิตให้พบกับสันติสุขในชีวิตด้วยแล้ว การระวังอารมณ์หรือการสำรวมวาจาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไร้ซึ่งการสำรวมระวังทั้งกาย วาจา และ ใจแล้ว อารมณ์ที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่าน ย่อมมีโอกาสเล็ดลอดเข้ามาสิงสถิตอยู่ในจิตใจได้ง่าย

ครูบาอาจารย์ที่สอนวิธีฝึกจิตท่านจึงกล่าวไว้เสมอว่า การที่เราฝึกสติเพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการกำหนดรู้อารมณ์ของจิตนั้น เป็นเสมือนการมีโอ่งอันเป็นภาชนะใส่น้ำที่ดี การฝึกฝนให้เกิดสติ คือ การเติมน้ำลงไปในโอ่ง สักวันสติย่อมเต็มได้ และพร้อมที่จะใช้งานได้อย่างทรงคุณค่า

แต่ถ้าวันใดไม่สำรวมวาจา คะนองในการพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่เกื้อกูลต่อการพัฒนาจิตใจ ชีวิตก็เปรียบเสมือนการมีโอ่งรั่ว ถึงแม้จะเทน้ำลงไปมากมายเพียงใด โอ่งนั้นก็ไม่สามารถที่จะรองรับได้อย่างบริบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ชีวิตจึงต้องอาศัยมุมสงบของความคิด และการกระทำที่ปราศจากความคึกคะนองทางอารมณ์ด้วย โดยผ่านการแสดงออกทางกิริยาต่าง ๆ เช่น ทางวาจา เป็นต้น เมื่อนั้นชีวิตจึงชื่อว่า มีแนวโน้มที่จะให้ความดีทั้งหลายผลิดอกออกผลตามมาได้

ในเรื่องการรู้จักสำรวมวาจานี้ พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะวาจาใดที่ไม่ใช่ความจริง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิต พระองค์จะทรงเว้นวาจาเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งวาจาที่เป็นความจริงและมีประโยชน์ พระองค์ก็ยังเลือกกาลเวลาที่เห็นสมควรจึงตรัสแสดงออกไป ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ก็เลือกเวลาที่จะตรัส
คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงแม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงแม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ก็เลือกเวลาที่จะตรัส

ฉะนั้น เวลาที่เราจะกล่าวสิ่งใดออกไป จงระมัดระวังวาจาให้จงดี ให้รู้จักสำรวมในการเกี่ยวข้องกับวาจานั้นด้วยสติ เพราะสิ่งที่หลุดออกไปทางวาจาแล้ว ถ้าเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความเสียหายย่อมยากเกินกว่าที่จะดึงกลับมาเป็นความดีงามได้ดั่งเดิม
โปรดคิดทุกเรื่องที่จะพูด แต่อย่าพูดทุกเรื่องที่คิด

มีอาจารย์กับลูกศิษย์กำลังสนทนาถึงเรื่องของการพูดว่า การพูดในรูปแบบใดจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษ ทั้งสองสนทนากันอย่างออกรส พอมาถึงช่วงที่อาจารย์เปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ถาม ลูกศิษย์ก็ปล่อยคำถามออกไปอย่างฉะฉานทันที
"ท่านอาจารย์ครับ มีคุณอันใดอยู่หรือไม่ในการเป็นคนช่างเจรจาพาที ?"

ฝ่ายอาจารย์ก็ให้การวิสัชชนาว่า
"พูดมากนั้นมีอะไรดี ดู "กบ" ในหนองน้ำซิ มันร้องตะเบ็งเสียงอยู่ทั้งวันทั้งคืนจนลิ้นแห้งปากห้อย ร้องจนคอแทบแตกอยู่แล้ว ยังไม่เห็นมีใครสนใจเลย แทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลร้ายต่อตัวเอง ใครที่ได้ยินเสียงกบต่างก็ถืออาวุธ เพื่อหวังไปปองร้ายนำมาทำเป็นอาหารทั้งสิ้น แต่ตรงกันข้ามเสียงของ "ไก่" ที่ขันแสดงบอกเวลาให้แก่คน แม้จะขันเพียงสองหรือสามครั้ง เมื่อตอนใกล้รุ่ง แต่ทุกคนกลับเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ เพราะรู้ว่าเสียงขันของไก่ที่ดังขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าอีกไม่นานจะรุ่งสางแล้ว ดังนั้น เวลาจะพูดสิ่งใด จงพูดแต่พอดี และจงพูดก็ต่อเมื่อมีเป้าหมาย"

การใช้เวลาเพื่อแสดงออกในชีวิตประจำวันของเราก็เช่นกัน ควรรู้จักกาลเวลาที่เหมาะสม รู้จักว่า ควรใช้เวลาในการแสดงออกคราใด และคราใดที่ควรเว้น ด้วยเหตุนี้ วาจานั้นจึงชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
เพราะพูดมากไปจะเสียสองไพเบี้ย นิ่งเสียจะได้ตำลึงทอง

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อเขียนธรรมนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ การเตือนตัวเองเกี่ยวกับการพูด เมื่อพูดแล้วคำพูดจะเป็นนายเรา เราจะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเจตนา หรือ ไม่เจตนาก็ตาม
ชุติปัญโญ (นามแฝง).  วิถีทางแห่งการสร้างสุข.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ใยไหม, 2549.
http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/184177

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความสุขของชีวี มีได้ทุกเวลา

นำข้อเขียนจากหนังสือ ชื่อ "สิ่งที่มีค่ามากกว่าความรัก" ของ "ท่านชุติปัญโญ"
มานำเสนอ แด่ทุกท่าน ดังนี้
ชีวิตของคนเราที่กำลังก้าวไปในแต่ละขณะ ช่างเป็นความท้าทายเหลือเกินว่าจะมีจุดจบเป็นเช่นใด เป็นความท้าทายท่ามกลางความเสี่ยงและความคาดหวังว่า จะได้อะไรกลับมาจากเวลาที่เสียไปความเคลื่อนไปของกาลเวลา จึงทำให้เราได้เห็นสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไป และเห็นถึงความแตกต่างกันตลอดเวลา พร้อมกับสร้างบทเรียนให้ชีวิต ได้ทำการศึกษาอยู่ในตัวของมันเอง
บางคนก็ใช้เวลาให้ดำเนินไป พร้อมกับคุณค่าของชีวิตที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่บางคนก็ให้เวลาหมุนชีวิตไปอย่างไร้เข็มทิศนำทาง คุณค่าของเวลาที่ควรจะทำให้ตัวเราได้เข้าใจสิ่งที่ดีกว่าจึงจืดจางไป พร้อมกับนำพาชีวิตไปสู่ความไร้ค่าอย่างน่าเสียดาย
เพราะหากใช้ตัววัดว่า "นาฬิกา" คือสิ่งที่ใช้บอกเวลาเพื่อสะท้อนให้เราได้มองเห็นความเปลี่ยนไป และชี้วัดว่ามีอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตของเรา แม้แต่เข็มนาฬิกาที่หยุดเดินเพราะถูกใช้งานหลัก ก็ยังสะท้อนให้เห็นคุณค่าตั้งหลายอย่าง
อย่างน้อยก็แสดงความมีค่าตั้งสองครั้งครา เพื่อให้คนเราได้เห็นว่า แม้ในสิ่งที่มองว่าไร้ค่า ก็มีความสำคัญที่ซ่อนอยู่ในนั้น เพราะเมื่อเข็มนาฬิกาชี้บอกเวลาในครั้งแรกว่า "หกโมงเช้า" ครั้งถัดมา เข็มนาฬิกาที่หยุดทำงาน ก็ยังบอกให้รู้ว่า เป็นเวลา "หกโมงเย็น" ได้อีกครั้งด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เราควรถามตัวเองให้มากขึ้นก็คือ วันนี้เราใช้เวลาของชีวิตให้เป็นไปอย่างไร? เราดำเนินชีวิตอย่างมีกำไร หรือเพียงแค่ใช้สอยอย่างคนที่ไม่รู้จักคุณค่าของเวลาที่ได้มา?
 พระพุทธองค์ได้ชี้นำชีวิตของคนเรา ให้รู้จักที่จะมีความสุขทุกโมงยามของการเปลี่ยนแปลง ด้วยการทำความเข้าใจอย่างรู้เท่าทันด้วยปัญญาเริ่มตั้งแต่การรู้จักตั้งคำถามกับตัวเอง กระทั่งรู้จักทำความเข้าใจว่า จะให้ชีวิตนี้เป็นอย่างไร กำไรที่ทรงคุณค่าจึงจะเกิดมีและพร้อมจะยอมรับสิ่งที่มาพลัดพรากสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้จากไป
เพราะเวลาของความสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา มิควรเป็นการร้องขอว่าจะได้อะไรมาครอง แต่ทุกขณะของเวลาที่เปลี่ยนไป เราควรมีคำถามว่า เรามีความเข้าใจในชีวิตมากหรือน้อยเพียงใด
นั่นจึงชื่อว่า เป็นการหมุนเวลา ให้เดินทางอย่างคนที่รู้คุณค่าในชีวิตนี้จริง ๆ"การรู้จักทำชีวิตให้มีความสุขทุกขณะ" 
เวลาที่พัดพาสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต จึงมิใช่สิ่งที่ทำให้เราต้องหวาดกลัว แต่ควรเป็นโมงยามของความสุขใจ ที่สามารถรับรู้ทุกรายละเอียดของสิ่งที่ผ่านเข้ามา แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะร้ายบ้าง แต่นั่นก็เป็นอีกโมงยามหนึ่งของเวลาที่เข้ามาทดสอบ เพื่อทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมชีวิตที่หมุนไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ มิใช่เพียงสักแต่ว่ากล้ำกลืนฝืนทน ที่จะเกี่ยวข้องกันไปอย่างไร้เยื่อใย แต่ควรรู้จักทะนุถนอมแต่ละวินาที อย่างผู้เห็นคุณค่าที่ควรดูแลเป็นการเฝ้าถนอมเพื่อให้ชีวิตมีค่าที่มากกว่าเดิม เผื่อวันหนึ่งที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะได้รับรู้ว่าโมงยามของเวลาที่หมุนไป คือ สิ่งที่ช่วยสร้างความสุขทางใจให้กับเราได้เสมอเพราะชีวิตเป็นสิ่งที่เปราะบาง และต้องเกี่ยวข้องกับเวลาที่เราไม่อาจหยุดยั้งได้ เราจึงควรใช้เวลาที่หมุนไป ให้กลายค่าเป็นโมงยามของความสุขทุกขณะ
ควรให้ชีวิตที่น้อยนิดนี้ ได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างชาญฉลาดที่จะต่อกรกับทุกการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง บนรากฐานของการสร้างปัญญาให้แก่ตน เพื่อจะได้สัมผัสกับทุกบรรยากาศของชีวิตที่ทำให้เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดี ๆ เพื่อตนและคนรอบข้างได้
เราควรให้ชีวิตได้รับรู้ความสุขทุกขณะ ไม่ใช่เพียงแค่ความสุขชั่ววูบ ที่ถูกฉาบทาจากวัตถุภายนอกด้านเดียว แต่ควรให้เวลาเป็นครูสอนวิธีที่จะอยู่กับความสุขนั้นตลอดไป
ขอให้ทุกโมงยามของชีวิต ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาลเวลาของเรา
จงเป็นโมงยามแห่งความสุขทุก ๆ วัน

"หันมาสำรวจตัวเองกันบ้าง"

ปัญหาในสังคมทุกวันนี้
เพราะเราไม่ค่อยเอาใจใส่ ในการรักษาจิตใจของตัวเอง
เราไม่เคยสำรวจตัวเอง
เราคิดว่าเราดีแต่คนอื่นไม่ดีตลอด
เพราะเราดูแต่คนอื่น ไม่เคยดูตัวเอง
เรามัวแต่จ้องจับผิดคนอื่น
จึงทำให้จิตใจของเราฟุ้งซ่าน สับสน เครียด ทุกข์
เรามัวแต่อยากพัฒนาคนอื่น ลืมตัวเอง

การปฏิบัติภาวนารักษาศีล คือ การหยุด
หยุดดูผู้อื่น หยุดตำหนิผู้อื่น
หันมาสำรวจตัวเองบ้าง


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก.  ธรรมะบำรุงใจ.  กรุงเทพฯ: เนชั่นบุ๊คส์, 2550.

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บุญวาสนา กับ ความสุข

เราเคยเห็น "ลม" หรือไม่
ลักษณะรูปร่างของลมเป็นอย่างไรไม่มีใครเคยเห็นโดยตรง แต่เราสามารถรับรู้ได้ว่ามีลมอยู่ เมื่อลมมากระทบกับร่างกายทำให้เรารู้สึกเย็น บุญก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครเคยเห็น "บุญ" แต่เราสามารถรับรู้ลักษณะอาการของบุญได้
บุญจึงเสมือนความเย็นที่มากระทบจิตใจ...ถ้าจิตใจเราสงบสะอาด ร่มเย็น มีความสุข นั่นแหละคือ "ตัวบุญ"
บาปเป็นความสมดุลแต่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับบุญ
ถ้าบุญ คือ ความร่มเย็น...
บาปก็น่าจะเป็นความเร่าร้อน
บาปจึงเสมือนความร้อนที่มากระทบจิตใจ จิตใจที่รุ่มร้อน อยู่ไม่มีความสุข นั่นแหละคือ "ตัวบาป"
ถ้าเราอยากมีความสุข...เราต้องทำความดี เพราะความดีจะส่งให้เกิดผลของบุญ
ถ้าทำความชั่วจะส่งผลให้เกิดผลของบาป
บุญและบาปเกิดที่ใจ
การทำบุญต้องเริ่มที่ใจของเราก่อน
บุญ...เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งต่อจิตใจในเรื่องความบริสุทธิ์ สะอาด
บุญ...ยังสามารถสั่งสมให้เป็นทุกรอนใช้ในภายภาคหน้าได้
ถ้าจิตใจส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย คนที่ทำบุญจึงมีใบหน้าผ่องใส นุ่มนวล และอิ่มเอิบ...นั่นคือ การอิ่มบุญ
การทำบุญทำได้ง่ายไม่ยากอย่างที่คิด
เนื่องจากการทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้น
บุญจึงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากจนบางคนคิดไม่ถึง
ไม่จำเป็นต้องไปทำบุญที่ห่างไกล ที่วัดที่มีชื่อเสียง อยู่ที่ไหนเราก้สามารถทำบุญได้ เช่น อยู่ที่บ้านเราก็ทำความดีโดยการพูดจาไพเราะ อ่อนหวาน การทำความสะอาดบ้าน การดูแลบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น
ขึ้นรถเมล์เราก็สามารถทำบุญได้ เช่น การเสียสละที่นั่งให้แก่สตรี คนชรา เด็ก คนพิการ การมีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบผู้โดยสารคนอื่น ๆ การไม่รบกวนผู้อื่น เป็นต้น
เพราะการทำบุญคือผลจากการทำ "ความดี"
ความดีที่เราทำทั้งกาย วาจา ใจ ย่อมส่งผลบุญ
ผลบุญจึงเป็นความสุข ความสะอาด ความสบาย เกิดที่ใจ เราต้องทำบุญด้วย "หัวใจ"
ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
การทำบุญที่ยิ่งใหญ่คือการทำบุญที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
คือทำด้วย "หัวใจ" จริง ๆ
บางคนทำบุญเพื่อหวังผลตอบแทน เป็นการทำบุญที่ไม่บริสุทธิ์
ลองตั้งสติ คิด ใคร่ครวญผลของบุญว่า เราจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำบุญอย่างไรให้เกิดกุศลผลบุญ และทำให้เกิดความสุข
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและการนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ผู้นำปรัชญาตะวันออกแบ่งวิธีการทำบุญ เรียกว่า บุญ 3 ประการ ได้แก่
1. การให้ (โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน) หรือ การบริจาคแก่ผู้ที่ควรให้
2. การไม่ทำชั่ว ไม่เบียดเบียนและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
3. การฝึกร่างกาย จิตใจให้มีสติ เช่น การมีสติ การนั่งสมาธิ เป็นต้น
จะเห็นว่า บุญจึงไม่ใช่อภินิหารสิ่งเหลือเชื่อและสิ่งลี้ลับอีกต่อไป
เพราะบุญเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ จับต้องได้ (ด้วยหัวใจ) สามารถทดลองและพิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
 จงจำให้มั่น...
การทำความดี คือ การสร้างบุญ และ การสร้างบุญ ก็คือ การสร้างความสุขให้ชีวิตนั่นเอง
สุพจน์  นุ้ยเจริญ.  สุขจริงได้ ง่ายนิดเดียว.  นนทบุรี: ธิงค์ บียอนด์ บุ๊คส์, 2554.