คำคม

ปัญหามีไว้ให้หาปัญญา อุปสรรคมีไว้ให้ฝึกหาทางออก วันไหนที่มีความสุข วันนั้นอย่าทำความสุขในชีวิตหล่นหาย

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิ่งสงบเพื่อสยบความเคลื่อนไหว ...

ในกระบวนการฝึกฝนให้ชีวิตมีความสุขนั้น ทุกคนล้วนแสวงหาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็มุ่งที่การสร้างวัตถุเพื่อนำมาตอบสนองให้ชีวิตมีความบริบูรณ์ และเข้าใจว่านั่นคือความสุขที่แท้จริง บางคนก็แสวงหาความสงบทางใจเพื่อเป็นกำไรแก่ตัวเอง
 ทว่าขณะกำลังแสวงหาความสุขให้ชีวิตอยู่นั้น ปราชญ์ทั้งหลายก็เตือนไว้ว่าอย่าประมาท เพราะความประมาทย่อมเป็นสะพานทอดไปสู่หุบเหวแห่งความทุกข์ที่น่ากลัวเสมอ ปราชญ์ได้เสนอต่อไปว่า กระบวนการฝึกฝนชีวิตให้มีความสุขนั้น หลักการอย่างหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ชีวิตมีระเบียบและความสุขมากขึ้นก็คือ "การรู้จักสำรวมวาจา"

เพราะวาจาเป็นสื่อที่ผู้คนต้องมีการใช้สอยอยู่ตลอดเวลา หากใช้สอยเพื่อให้เกิดคุณงามความดี วาจานั้นย่อมชื่อว่า ก่อให้เกิดคุณค่าที่งดงามได้ แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้ว น้อยนักวาจาที่ถูกถ่ายทอดออกไปจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะส่วนมากล้วนเป็นวาจาที่ไร้สติควบคุมดูแล

ยิ่งโดยเฉพาะการฝึกจิตให้พบกับสันติสุขในชีวิตด้วยแล้ว การระวังอารมณ์หรือการสำรวมวาจาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไร้ซึ่งการสำรวมระวังทั้งกาย วาจา และ ใจแล้ว อารมณ์ที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่าน ย่อมมีโอกาสเล็ดลอดเข้ามาสิงสถิตอยู่ในจิตใจได้ง่าย

ครูบาอาจารย์ที่สอนวิธีฝึกจิตท่านจึงกล่าวไว้เสมอว่า การที่เราฝึกสติเพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการกำหนดรู้อารมณ์ของจิตนั้น เป็นเสมือนการมีโอ่งอันเป็นภาชนะใส่น้ำที่ดี การฝึกฝนให้เกิดสติ คือ การเติมน้ำลงไปในโอ่ง สักวันสติย่อมเต็มได้ และพร้อมที่จะใช้งานได้อย่างทรงคุณค่า

แต่ถ้าวันใดไม่สำรวมวาจา คะนองในการพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่เกื้อกูลต่อการพัฒนาจิตใจ ชีวิตก็เปรียบเสมือนการมีโอ่งรั่ว ถึงแม้จะเทน้ำลงไปมากมายเพียงใด โอ่งนั้นก็ไม่สามารถที่จะรองรับได้อย่างบริบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ชีวิตจึงต้องอาศัยมุมสงบของความคิด และการกระทำที่ปราศจากความคึกคะนองทางอารมณ์ด้วย โดยผ่านการแสดงออกทางกิริยาต่าง ๆ เช่น ทางวาจา เป็นต้น เมื่อนั้นชีวิตจึงชื่อว่า มีแนวโน้มที่จะให้ความดีทั้งหลายผลิดอกออกผลตามมาได้

ในเรื่องการรู้จักสำรวมวาจานี้ พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะวาจาใดที่ไม่ใช่ความจริง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิต พระองค์จะทรงเว้นวาจาเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งวาจาที่เป็นความจริงและมีประโยชน์ พระองค์ก็ยังเลือกกาลเวลาที่เห็นสมควรจึงตรัสแสดงออกไป ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ก็เลือกเวลาที่จะตรัส
คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงแม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงแม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์จะไม่ตรัส
คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ก็เลือกเวลาที่จะตรัส

ฉะนั้น เวลาที่เราจะกล่าวสิ่งใดออกไป จงระมัดระวังวาจาให้จงดี ให้รู้จักสำรวมในการเกี่ยวข้องกับวาจานั้นด้วยสติ เพราะสิ่งที่หลุดออกไปทางวาจาแล้ว ถ้าเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความเสียหายย่อมยากเกินกว่าที่จะดึงกลับมาเป็นความดีงามได้ดั่งเดิม
โปรดคิดทุกเรื่องที่จะพูด แต่อย่าพูดทุกเรื่องที่คิด

มีอาจารย์กับลูกศิษย์กำลังสนทนาถึงเรื่องของการพูดว่า การพูดในรูปแบบใดจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษ ทั้งสองสนทนากันอย่างออกรส พอมาถึงช่วงที่อาจารย์เปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ถาม ลูกศิษย์ก็ปล่อยคำถามออกไปอย่างฉะฉานทันที
"ท่านอาจารย์ครับ มีคุณอันใดอยู่หรือไม่ในการเป็นคนช่างเจรจาพาที ?"

ฝ่ายอาจารย์ก็ให้การวิสัชชนาว่า
"พูดมากนั้นมีอะไรดี ดู "กบ" ในหนองน้ำซิ มันร้องตะเบ็งเสียงอยู่ทั้งวันทั้งคืนจนลิ้นแห้งปากห้อย ร้องจนคอแทบแตกอยู่แล้ว ยังไม่เห็นมีใครสนใจเลย แทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลร้ายต่อตัวเอง ใครที่ได้ยินเสียงกบต่างก็ถืออาวุธ เพื่อหวังไปปองร้ายนำมาทำเป็นอาหารทั้งสิ้น แต่ตรงกันข้ามเสียงของ "ไก่" ที่ขันแสดงบอกเวลาให้แก่คน แม้จะขันเพียงสองหรือสามครั้ง เมื่อตอนใกล้รุ่ง แต่ทุกคนกลับเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ เพราะรู้ว่าเสียงขันของไก่ที่ดังขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าอีกไม่นานจะรุ่งสางแล้ว ดังนั้น เวลาจะพูดสิ่งใด จงพูดแต่พอดี และจงพูดก็ต่อเมื่อมีเป้าหมาย"

การใช้เวลาเพื่อแสดงออกในชีวิตประจำวันของเราก็เช่นกัน ควรรู้จักกาลเวลาที่เหมาะสม รู้จักว่า ควรใช้เวลาในการแสดงออกคราใด และคราใดที่ควรเว้น ด้วยเหตุนี้ วาจานั้นจึงชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
เพราะพูดมากไปจะเสียสองไพเบี้ย นิ่งเสียจะได้ตำลึงทอง

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อเขียนธรรมนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ การเตือนตัวเองเกี่ยวกับการพูด เมื่อพูดแล้วคำพูดจะเป็นนายเรา เราจะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเจตนา หรือ ไม่เจตนาก็ตาม
ชุติปัญโญ (นามแฝง).  วิถีทางแห่งการสร้างสุข.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ใยไหม, 2549.
http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/184177

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น