ชีวิตมีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่า เป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว
คนส่วนมากมักจะถามหาความสมบูรณ์แบบ เพื่อมอบให้กับชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ชีวิตไม่มีสิ่งที่มาคอยเติมเต็มให้สมบูรณ์พร้อมได้ทั้งหมดแต่อย่างใด ทว่าคนเราก็มักจะยื้อว่า มันต้องถูกเติมเต็มได้แน่นอน
เมื่อมีความหวังแต่ไร้ความเข้าใจ เราจึงแสวงหาในสิ่งที่คิดว่า ใช่มาทับถมใจให้เต็มอยู่ตลอดเวลา ยอมทำทุกอย่างเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการมาครอบครอง และเพื่อบอกตัวเองให้ได้ว่า "เราสมบูรณ์พร้อมแล้ว เรามีครบทุกอย่างแล้ว"
ทุกอย่างที่ได้มาในด้านวัตถุและเกียรติยศที่ต้องการ เป็นเสมือนสิ่งที่มีอยู่จริงในมิติของชาวโลก ประหนึ่งว่ามีชีวิตที่เพียบพร้อมกว่าใครหลาย ๆ คน ซึ่งน่าจะทำให้มีความสุขได้อย่างที่ใจใฝ่หา
ทว่าเมื่อมองความสุขที่ได้รับจากสิ่งที่เพรียกหา กลับปรากฎว่า ความสุขที่ซ่อนอยู่ในใจ อันเป็นความสุขสงบที่ทำให้เรายิ้มได้ด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย กลับหายไปอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงความคิดที่เข้าข้างตัวเองว่า เรามีความสุขเท่านั้น
หน้าตาของความสุขจากวัตถุและเกียรติยศที่ได้มา ช่างเป็นอะไรที่เปล่ากลวงเหลือเกิน เป็นความสุขที่แห้งแล้งเกินกว่าที่จะตอบตัวเองได้ว่า เรามีความสุขดั่งที่ชีวิตต้องการจริง ๆ
เพราะความจริงของชีวิตในการเกี่ยวข้องกับความสุขแบบฉบับของชาวโลกทั่วไป เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอน ทุกสรรพสิ่งจะถูกลดทอนลงตามกาลเวลา และเปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น อยู่ที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในวันใดเท่านั้นเอง
ความสุขที่เราคาดหวังในสิ่งที่เคยอยากจับจอง จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่า เป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่าเป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา สิ่งที่ได้มาจึงตอบสนองให้ใจสมอยากเพียงชั่ววูบเท่านั้น แล้วทุกอย่างที่จะกลายเป็นภาระใหม่ที่เราอาจจะไม่ต้องการ แต่ก็ต้องยอมก้มหน้าที่จะแบกรับมัน
แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถแสวงหา และก่อให้เกิดเป็นความพร้อมในการดำเนินชีวิตได้ เป็นสิ่งที่มาเพิ่มเติมแล้วทำให้ชีวิตบกพร่องน้อยลง เป็นความลงตัวท่ามกลางความบกพร่องที่มีนั่นคือ การเรียนรู้ชีวิตด้วยความเข้าใจ
เพราะความเข้าใจมิใช่การคิดเอา หรือเดาสุ่มตามความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมา แต่เป็นการกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทันในทุกเรื่องของความจำเป็นที่มีต่อชีวิต เป็นภาวะที่เข้าไปช่วยทำให้ชีวิตมีความสมดุล ตั้งแต่จุดเริ่มต้นทั้งในด้านวัตถุภายนอกและจิตใจภายใน เพื่อให้กระบวนการศึกษาที่มีอยู่ ได้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตทุกมิติที่เราเกี่ยวข้องให้มีความลงตัว
ถือว่า เป็นการรู้จักสร้างวิธีที่ก่อให้เกิดความเหมาะสมในทุกมิติที่ชีวิตต้องทำการศึกษา แม้จะอยู่ในภาวะทีเป็นความบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน แต่ความสมดุลอันเกิดจากความเข้าใจด้วยปัญญา ย่อมประคองให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไปด้วยความราบรืนได้
ดังนั้น การศึกษาชีวิตไม่ว่าในแง่ของวัตถุและจิตใจ หรือในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามา เราไม่ควรประมาทว่า เรารู้แล้วหรือเข้าใจทุกอย่างโดยสมบูรณ์แบบแล้ว
เพราะในรายละเอียดของชีวิต มีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่าเป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว
ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การรู้จักสร้างวิธีเรียนรู้ด้วยความเข้าใจเป็นหลัก เป็นการประสานระหว่างความบกพร่องและความเพียบพร้อมให้มีการสัมพันธ์ต่อกัน เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่กันและกันตราบนานเท่านาน
เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เราจึงต้องใส่ใจทุกรายละเอียดที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเบื่อหน่ายก็ตาม
มีพระหนุ่มรูปหนึ่งได้อยู่ศึกษาธรรมะกับอาจารย์เซนนามว่า อู๋เต๋อ เมื่อแรกเริ่มนั้น เขามีความกระตือรือร้นในการศึกษาเป็นอย่างมาก ทุกการเรียนรู้เต็มไปด้วยความพากเพียรพยายาม
หนึ่งปีผ่านไป พระหนุ่มมีความรู้สึกว่า ตนมีความรู้มากแล้วจึงมีความคิดที่จะออกธุดงค์ เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง เพราะเขาคิดว่า หนึ่งปีที่อยู่กับอาจารย์นั้น ตนมีความรู้สมบูรณ์พร้อมแล้ว
ช่วงขณะที่รอเวลาออกธุดงค์ เขาจึงแสดงอาการเบื่อหน่ายต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เวลาฟังธรรมบรรยายก็ไม่สนใจเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แถมยังแสดงอาการเบื่อหน่ายให้อาจารย์เห็นอยู่บ่อย ๆ
อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากที่อาจารย์ให้โอวาทแก่บรรดาลูกศิษย์จบลง จึงพูดกับภิกษุหนุ่มด้วยความเป็นห่วงว่า
"ดูเธอไม่ค่อยใส่ใจในการศึกษาธรรมะเลยนะ ไม่ทราบว่า เป็นเพราะเหตุใด ?"
เมื่อลูกศิษย์เห็นว่า อาจารย์ต้องการทราบเหตุผลในเรื่องนี้จึงกล่าวความในใจที่ตนมีแก่ท่านว่า
"ท่านอาจารย์ครับ หนึ่งปีที่อยู่ศึกษาที่นี่ มันเป็นอะไรที่รู้หมดแล้ว ผมจึงคิดว่าจะออกธุดงค์ เพื่อหาประสบการณ์อย่างอื่นต่อไป การศึกษาที่นี่มันเป็นอะไรที่พอแล้วสำหรับผม"
"อะไรที่เธอว่าเป็นความพอของเธอ ?"
"พอก็คือเต็มแล้ว คือ บรรจุไม่ลงแล้วครับ"
เมื่ออาจารย์ได้ฟังลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น จึงหยิบถังไม้มาหนึ่งใบ แล้วนำก้อนกรวดเล็ก ๆ เทลงไปจนเต็มถัง หลังจากนั้นจึงถามลูกศิษย์ผู้คิดว่า การศึกษาของตนนั้นเพียงพอแล้วว่า
"ก้อนกรวดในถังใบนี้เต็มหรือยัง ?"
"เต็มแล้วครับท่านอาจารย์"
เมื่อลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น อาจารย์ก็นำทรายละเอียดมาเติมลงไปอีกสามกำมือ ปรากฎว่า ทรายก็สามารถเล็ดลอดก้อนกรวดลงไปได้ทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าถังจะมีพื้นที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดและทรายแล้ว ท่านมองหน้าลูกศิษย์แล้วถามว่า
"สิ่งของในถังนี้เต็มหรือยัง ?"
"เต็มแล้วครับ"
ฝ่ายอาจารย์ก็นำผงหินปูนโรยลงไปในถังอีกหนึ่งกำมือ ปรากฎว่า หินผงก็หายลงไปในถังได้ทั้งหมด อาจารย์จึงถามลูกศิษย์อีกว่า
"คราวนี้เต็มหรือยัง ?"
"ดูเหมือนคราวนี้เต็มแน่นอนแล้วครับ"
แต่แทนที่อาจารย์จะหยุดอยู่แค่นั้น ท่านก็นำน้ำมาเทลงไปในถัง ปรากฎว่า น้ำก็ไหลลงไปได้อีก สามารถไหลผ่านทั้งก้อนกรวด ทราย และผงหินปูนทั้งหมด
"เธอคิดว่า เต็มหรือยัง ?"
เมื่ออาจารย์แสดงให้ดูเช่นนี้ แทนที่ลูกศิษย์จะตอบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา กลับนั่งคุกเข่าลงต่อหน้าอาจารย์ แล้วกล่าวอย่างผู้เข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจของตน
"ท่านอาจารย์ครับ ศิษย์กราบขอบพระคุณท่านมาก และเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอนอย่างแจ่มแจ้งแล้วครับ"
ฝ่ายอาจารย์ก็ยิ้มให้ต่อการแสดงออกของเขา และกล่าวให้ข้อคิดแก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตาว่า
"ก็ดีแล้วที่เธอเข้าใจได้ จงจำไว้นะว่ามีหลายอย่างในชีวิตที่เรายังไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อย่าปิดตัวเองที่จะศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จงตั้งใจศึกษาในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา และรักษาจิตที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน แล้วเธอจะรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาในใจ คือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้โดยไม่มีคำว่า สิ้นสุด"
เล่าให้ฟังจากหนังสือ ชื่อ "ชีวิตวันนี้ที่วุ่นวาย มีที่พักใจหรือยัง ?" เขียนโดยท่านชุติปัญโญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น