ผู้ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่พวกเขาจะรู้ตัวและยอมรับว่าตัวเองเคยล้มเหลวมาก่อน รวมทั้งต้องเอาชนะอุปสรรคที่ว่าและผ่านมันมาให้ได้ โดยเฉพาะการเอาชนะคำวิพากษ์วิจารณ์จากหลายกลุ่มหลายคนทั้งที่รู้จักและไม่เคยรู้จักมาก่อน (คุณก็รู้ดีว่าเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ ในประเทศนี้จะถูกบอกต่อกันไปรวดเร็วแค่ไหน) ผู้ที่ประสบความสำเร็จ (กลุ่มเดิม) ยอมรับว่าการอยู่รวมกับคำวิจารณ์อย่าง มีความสุข มีความสำคัญเทียบเท่ากับการประสบความสำเร็จในอนาคต พวกเขาจึงต้องปรับตัวยอมรับสารพัดคำวิจารณ์และเรียนรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นอย่างไร ซึ่งต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจคำวิจารณ์ 2 ประเภทที่ส่งผลกระทบและมีอิทธิพลกับคุณโดยตรง
ทำความเข้าใจ 2 ประเภทคำวิจารณ์
ประเภทคำวิพากษ์วิจารณ์มีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะมาใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ในเชิงทำลาย (ล้าง) และเชิงสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามคุณจำเป็นจะต้องจัดการกับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองประเภทด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติกับมันด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป
เชิงทำลาย : คนทั่วไปมักจะมองภาพของการวิพากษ์วิจารณ์ผิดเพี้ยนและมักจะมีอคติว่าทุกว่าทุกคำวิพากษ์จะต้องส่งผลในทางลบต่อสภาพจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาของคนทำงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ยุติธรรมจนสูญเสียความมั่นใจเฉพาะบุคคลเสียสมดุล ทำให้เขาดูด้อยค่าและมีประสิทธิภาพ ลดน้อยลงในการทำงาน
ตัวอย่างที่ดีสำหรับคำวิจารณ์ในลักษณะนี้ไม่ต่างอะไรไปจากการที่หัวหน้าบอกกับคุณว่า “คุณทำเรื่องโง่ ๆ แบบนี้ลงไปได้ยังไง คุณกำลังคิดอะไรอยู่” ไปจนถึงขั้น “ไม่รู้ทำไมผมถึงตัดสินใจ เซ็นอนุมัติจ้างคุณเข้ามาทำงานตำแหน่งสำคัญในบริษัทของเราได้” ถ้าต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ คงยากทีเดียวที่คนมีอีโก้ (Ego) จัดอย่างคุณจะทนไหว ในเวลานั้นคุณอาจได้รับคำปลอบใจที่คุ้นเคยอย่าง “ลองมองในมุมกลับกันสิ เขาอาจกระตุ้นให้เราลุกขึ้นมาแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็ได้” แต่อย่าลืมว่าสำหรับบางคนแล้ว ไม่ใช่! และสุดท้ายก็จบลงด้วยการออกจากงานและทิ้งปัญหาไว้ให้คนข้างหลังต้องสะสางกันต่อซ้ำแล้วซ้ำอีก
เชิงสร้างสรรค์: หลังจากเผชิญหน้ากับคำวิจารณ์ในด้านติดลบ ที่ใช้อารมณ์ ไร้เหตุผล และ ไม่ชี้แนะทางออกให้แล้วต่อไปลองมาพิจารณาคำวิจารณ์ที่ส่งผลในด้านบวกกันบ้าง ตัวอย่างที่ชัดเจน ก็หนีไม่พ้นตัวอย่างเดิม แทนที่จะพูดว่า “คุณทำเรื่องโง่ ๆ แบบนี้ลงไปได้ยังไง คุณกำลังคิดอะไรอยู่” หรือ “ไม่รู้ทำไมผมถึงตัดสินใจเซ็นอนุมัติจ้างคุณเข้ามาทำงานตำแหน่งสำคัญในบริษัทของเราได้” เจ้านายที่น่านับถือควรจะมีวิธีการวิจารณ์แบบประนีประนอมพร้อมข้อเสนอแนะว่า “ขอบคุณสำหรับรายงานของคุณนะ ผมเห็นความพยายามของคุณที่ทุ่มเทให้กับงานแต่ผมยังหวังว่าคุณน่าจะทำมัน ได้ดีกว่านี้อีกหน่อย เนื้อหายังแข็งไป หรือไม่คุณก็น่าจะเพิ่มกราฟ สร้างความน่าเชื่อถือเข้าไป” นี่คือตัวอย่างคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ที่จะทำให้หลายคนมีกำลังใจทำงานต่อไป เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการทำงานเป็นทีมและการแก้ปัญหาร่วมกัน
เปลี่ยนลบเป็นบวก คุณเป็นคนเลือก
ถึงแม้ว่าทัศนคติจะเปลี่ยนยากอย่างที่หลายคนรู้ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปที่จะพลิกสถานการณ์โดยนำการวิพากษ์วิจารณ์เชิงทำลายมาแปลงสภาพให้กลายเป็นเชิงสร้างสรรค์ ถ้าที่ผ่านมาคุณต้องเจอกับสถานการณ์และคำวิจารณ์ลบ ๆ ทั้งจากเจ้านาย ทั้งจากคนรอบตัวรวมทั้งคนที่ไม่รู้จัก ลองทำตามขั้นตอนข้างล่างนี้ดู
ขั้นตอนแรก คุณต้องกลับไปทำความเข้าใจกับสถานการณ์เหล่านั้นว่ามันเป็นความจริงหรือ พวกเขามองคุณผิดไป (ถ้าจริงก็ก้มหน้ายอมรับเสียโดยดี แล้วไปต่อที่ขั้นตอนที่ 2)
ขั้นตอนที่สอง ถาม “นักวิจารณ์” ของคุณตรง ๆ ว่าพวกเขาไม่พอใจงานในส่วนไหนและ เพราะอะไร แล้วลองถามหาข้อเสนอแนะจากพวกเขาดูว่า ถ้าเป็นกรณีของตัวเอง พวกเขาจะแก้มันให้ดีขึ้นยังไง ถ้าพวกเขาเพียงแต่ซ้ำเติมและไม่สามารถช่วยคุณได้จงลืม ๆ คำวิจารณ์เหล่านั้นซะและบอกกับตัวเองว่า คุณได้ทำดีที่สุดแล้ว (เพราะบางคนก็แค่อยากหาเรื่องและซ้ำเติมคนอื่นก็เท่านั้น)
ขั้นตอนที่สาม ไหน ๆ ปัญหาก็เกิดขึ้นและคุณก็ได้รับคำวิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องฮึดสู้และแสดงให้เห็นว่าคุณก็มีวิธีของคุณเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วเหมือนกัน หลังจากนั้นก็จัดการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าคุณมีวิธีการเจ๋ง ๆ ที่จะจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างแนบเนียนอย่างไร
ก่อนจะมาถึงขั้นตอนสุดท้าย ที่เปรียบได้กับการประเมินว่าคุณได้แก้ปัญหาตรงจุดแค่ไหน แล้วตามด้วยการเช็คเรตติ้งเล็ก ๆ ว่า “ใคร ๆ” ในที่ทำงานเลิกมองคุณในทางเสียๆ หายๆ แล้วหรือยังเพียงแค่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนได้ เพราะสุดท้ายคุณก็จะอยากขอบคุณ คำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์ และกู้ภาพลักษณ์ดี ๆ ที่เสียไปให้กับคืนมา
แหล่งที่มา :นิตยสาร GM ฉบับที่ 370 เดือนพฤษภาคม บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น